OPENING HOURS: MONDAY – SUNDAY: 10.00 AM TO 8.00 PM

info@sitename.com | 987654321

WM Management สถาปัตยกรรมที่หลากหลายในหนึ่งเดียว

เมื่อความต้องการปรับเปลี่ยนที่อยู่อาศัยและขยับขยายธุรกิจภายใต้พื้นที่ผืนเดิมของครอบครัว ทำให้คุณหญิง-มณีรัตน์ มณีพันธ์ เจ้าของ‘WM Management’ บริษัทยูนีคโมเดลลิ่งเอเจนซี่ ที่มีผลงานคว่ำหวอดในวงการแฟชั่นกว่า 13 ปี ตัดสินใจเนรมิตพื้นที่แห่งนี้ให้กลายเป็นออฟฟิศ ที่พักอาศัย ที่พักของเหล่านางแบบนายแบบชาวต่างชาติ และรีโนเวทบ้านหลังเดิมให้กลายเป็นบ้านคุณพ่อคุณแม่ที่ออกแบบสำหรับผู้สูงอายุโดยเฉพาะ ด้วยฝีมือการออกแบบของ คุณตี๋-ณรงค์ โอถาวร สถาปนิกจาก ‘SO Architect’ ที่แบ่งสรรปันส่วนพื้นที่แห่งนี้ใหม่เพื่อสร้างสรรค์สถาปัตยกรรมหลากฟังก์ชันที่ถอดคาแร็กเตอร์ของเจ้าของ พร้อมทั้งเล่าเรื่องราวของวัสดุผ่านพื้นผิวสัมผัสได้อย่างน่าค้นหา

ไม่ใกล้ไม่ไกลจากสนามม้านางเลิ้งเก่า ณ ที่ตั้งของ ‘WM Management’ แห่งใหม่นี้ ภาพแรกที่สะดุดตาคือซุ้มโค้งอันโดดเด่น ซึ่งนอกจากสถาปนิกออกแบบให้เป็นทางเข้าหลักแล้ว ยังเป็นเส้นทางที่แบ่งอาคารออกเป็นสองฝั่งอย่างชัดเจน เนื่องจากการที่จะรวมทุกฟังก์ชัน ไว้ภายใต้อาคารเดียวกันจะทำให้อาคารมีขนาดใหญ่ อาจส่งผลกระทบในเรื่องของทิศทางแสงและลมไม่ดีเท่าที่ควร โดยอาคารในฝั่งซ้ายเป็นอาคารสามชั้น ชั้นแรกเป็นออฟฟิศ ชั้น2-3เป็นที่พักอาศัยของคุณหญิงและลูกสาว ส่วนอาคารฝั่งขวาเป็นอาคาร4ชั้น ชั้นล่างเป็น Common Space เช่นฟิตเนสและพื้นที่นั่งเล่น ชั้นที่เหลือแบ่งพื้นที่เป็นห้องพักทั้งหมด 13 ห้องสำหรับโมเดลที่เดินทางมาทำงานที่ไทยจากต่างประเทศ และส่วนสุดท้ายเป็นบ้านพักอาศัยของคุณพ่อคุณแม่ที่รีโนเวทจากบ้านที่มีอยู่เดิม

ส่วนที่พักและ Common Space

ส่วนออฟฟิศและบ้านพักอาศัยบนชั้นสอง

บ้านรีโนเวทสองชั้นที่ออกแบบเป็นบ้านผู้สูงอายุโดยเฉพาะ

“เป็นไปได้ไหมที่จะออกแบบแต่ละด้านของอาคารให้มีความแตกต่างกัน มองแล้วราวกับว่าเป็นคนละอาคาร แต่ซ่อนจุดร่วมบางอย่างที่เชื่อมต่อรูปด้านเหล่านี้ให้เป็นหนึ่งเดียวกัน” คุณณรงค์เริ่มต้นเล่าแนวคิดของการออกแบบอาคารทั้งสองฝั่งนี้ ว่ามาจากประเด็นการออกแบบรูปด้านอาคารที่ตนกำลังสนใจและศึกษาอยู่ ซึ่งเกิดขึ้นผ่านการที่เคยเดินทางไปดูโบสถ์ในฝรั่งเศสที่มีชื่อว่า Ronchamp ออกแบบโดย Le Corbusier สถาปนิกผู้ออกแบบโบสถ์นี้ให้มีรูปด้านในแต่ละด้านค่อยๆเปลี่ยนแปลงไป ทำให้ในแต่ละมุมมองรูปด้านมีความแตกต่างกัน คุณณรงค์จึงนำแรงบันดาลใจนี้มาปรับใช้ออกแบบรูปด้านทั้งสี่ของอาคารทรงสี่เหลี่ยมให้รูปร่างหน้าตาต่างกัน โดยแต่ละด้านมีความสัมพันธ์กับบริบท คำนึงถึงทิศทางของแสงแดดและสายลม รวมถึงเชื่อมต่อทุกด้านผ่านเรื่องราวของวัสดุ

รูปด้านทั้งหมดของอาคารฝั่งขวา

รูปด้านทั้งหมดของอาคารฝั่งซ้าย

‘คอนกรีต’ เป็นวัสดุหลักที่ถูกเลือกมาใช้ทั้งพื้นที่ภายในและภายนอกของอาคาร แต่ทว่าสิ่งที่พิเศษกว่าความเป็นคอนกรีตฉาบเรียบทั่วไปคือ รูปแบบที่หลากหลายของพื้นผิวคอนกรีต ที่สถาปนิกตั้งใจออกแบบไว้ทั้งหมด 3 ระดับด้วยกัน ได้แก่ ผิวหยาบมาก ผิวหยาบกลาง และผิวเรียบเนียน เพื่อสร้างเรื่องราวให้กับวัสดุธรรมชาติ บนพื้นฐานความหลากหลายและความเป็นไปได้ผ่านลวดลายบนผิวคอนกรีตที่สถาปนิกทดลองออกแบบเอง

ตัวอย่างลวดลายบนผิวคอนกรีต ระดับหยาบมาก หยาบกลาง ไปจนถึงเรียบเนียน

นอกจากนี้ยังมีวัสดุง่ายๆอย่างบล็อกแก้ว วัสดุโปร่งแสงที่เราคุ้นเคยในการตกแต่งบ้านโดยเฉพาะฉากกั้นห้องน้ำ แต่สำหรับงานนี้ถูกนำมาใช้อย่างสร้างสรรค์มากขึ้นผ่านผนังอาคารในส่วนของออฟฟิศ และภายในบ้าน ที่ช่วยกรองแสงที่ผ่านเข้ามาโดยที่ยังให้ความเป็นส่วนตัวแก่พื้นที่อยู่

“ในมุมมองของผม เจ้าของบ้านค่อนข้างเป็นผู้หญิงสายสตรอง ทั้งในด้านของความคิดและจิตใจ เราจึงถอดคาแร็กเตอร์นี้ถ่ายทอดผ่านเส้นสายทางสถาปัตยกรรมที่ตรงไปตรงมา พื้นที่ทั้งหมดออกแบบให้เป็นเส้นตรงที่ตั้งฉาก มุมชนมุม 90 องศา รวมถึงช่องเปิดต่างๆเป็นไปในรูปแบบเรียบง่าย และมีขนาดกว้าง เพื่อเชื่อมต่อพื้นที่ผ่านมุมมองสายตา เปิดรับแสงธรรมชาติซึ่งทำให้พื้นที่ดูโปร่งโล่ง”

บานหน้าต่างทั้งหมด สถาปนิกเลือกใช้งานกรอบประตูหน้าต่างของทอสเท็ม (TOSTEM) กับทุกๆฟังก์ชันภายในโครงการ จากการที่ได้ทดลองใช้มาหลายๆงานออกแบบ แม้แต่ที่บ้านของสถาปนิกอาศัยอยู่เอง สิ่งที่ประทับใจคือกันเสียงได้ดีมาก กันน้ำก็ดีไม่แพ้กัน มีการติดตั้งที่แน่นหนา ระบบล็อก 3 ชั้นที่ง่ายต่อการใช้งาน รวมถึงสามารถตอบโจทย์ขนาดตามงานดีไซน์ที่มีความหลากหลายได้ตามต้องการในทุกๆฟังก์ชัน ไม่ว่าจะเป็นหน้าต่างบานสไลด์ หรือหน้าต่างบานฟิกซ์ ก็ออกมาสวยงามอย่างที่ต้องการ

ด้วยความหลากหลายของฟังก์ชัน ทำให้การจัดสรรพื้นที่ภายในบ้านต้องคำนึงถึงความเป็นสัดส่วนและความเป็นส่วนตัวมากเป็นพิเศษ อย่างผนังในส่วนของบ้านพักอาศัยถูกออกแบบให้ด้านหนึ่งทึบเพื่อปิดกั้นมุมมองจากอาคารอีกฝั่ง แต่ภายในบ้านนั้นเปิดช่องแสงจากด้านบนหรือ Skylight ทดแทน พร้อมทั้งออกแบบหน้าต่างกระจกกว้างภายในบ้านเองเพื่อเชื่อมต่อมุมมองและทำให้บ้านนั้นโปร่ง มีแสงและลมธรรมชาติเข้าถึงได้เป็นอย่างดี ในขณะที่รู้สึกเป็นส่วนตัวอยู่ตลอดเวลา

แม้แต่ภายในห้องน้ำเองก็มีหน้าต่างที่สามารถเปิด-ปิดเพื่อรับแสงธรรมชาติจากภายนอก และช่วยในเรื่องของการระบายอากาศ และความชื้นไปพร้อมๆกัน

“ส่วนบ้านเดี่ยวสองชั้นที่อยู่ด้านหลังสุดของพื้นที่นั้น เป็นบ้านหลังเดิมที่เจ้าของบ้านอาศัยอยู่มาตั้งแต่แรก แต่เมื่อมีโปรเจกต์จะสร้างบริษัทที่นี่ด้วย ถ้าจะให้คุณพ่อคุณแม่ท่านขึ้นไปอยู่บ้านใหม่ที่อยู่ชั้นบนของออฟฟิศคงไม่สะดวกในการขึ้นลงสักเท่าไหร่ ทางเจ้าของบ้านก็เลยตัดสินใจรีโนเวทบ้านหลังนี้ใหม่ให้กลายเป็นบ้านที่เหมาะสมกับการใช้งานกับผู้สูงอายุ ตัวอย่างเช่นออกแบบให้มีห้องนอนอยู่ชั้นล่างสุด มีแรมป์บริเวณทางเข้า พื้นที่ระหว่างทางเดินและห้องน้ำไม่มีระดับ ทำให้รถเข็นสามารถผ่านได้อย่างสะดวกสบาย รวมถึงทุบพื้นชั้นสองทิ้งบางส่วน เพราะคานเดิมมีระดับค่อนข้างต่ำ เพื่อทำให้บ้านดูโล่งโปร่งสบาย น่าอยู่อาศัยมากขึ้น”

เพราะผู้อยู่อาศัยหลักภายในบ้านหลังนี้เป็นผู้สูงอายุ สถาปนิกจึงเลือกออกแบบมูดแอนด์โทนให้เรียบง่าย โดยใช้สีขาวแมชเข้ากับพื้นไม้เพื่อสร้างบรรยากาศอบอุ่นของความเป็นบ้านให้น่าอยู่ขึ้นอีก พร้อมทั้งเลือกใช้ประตูหน้าต่างบานสไลด์แบรนด์ทอสเท็ม (TOSTEM) รุ่น P7 ในสีเบจ เพื่อให้มูดแอนด์โทนภายในบ้านเป็นไปในทิศทางเดียวกัน นอกจากจะสบายตาแล้ว อุปกรณ์หน้าบาน ตัวล็อค และระบบรางเลื่อนยังใช้งานง่าย ตอบโจทย์สำหรับบ้านนี้ที่มีสมาชิกเป็นผู้สูงวัยอีกด้วย

สุดท้ายแล้ว ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นภายในพื้นที่นี้ ไม่เพียงแต่ออกแบบฟังก์ชันและพื้นผิวของวัสดุที่หลากหลายให้รวมเป็นหนึ่งเดียวได้อย่างลงตัว แต่ยังออกแบบสถาปัตยกรรมเพื่อตอบโจทย์ด้านการใช้งานของผู้อยู่อาศัยภายใต้บรรยากาศที่แสนสะดวกสบายอีกด้วย

ขอขอบคุณ
คุณตี๋-ณรงค์ โอถาวร จาก SO Architect
TOSTEM Thailand