ในช่วงเวลาของการอยู่อาศัย สิ่งหนึ่งที่ทำให้บ้านเป็นมากกว่าที่อยู่อาศัย นั่นคือความสุขจากการอยู่ร่วมกันของคนในครอบครัว ‘บ้าน’ จึงเป็นสถานที่หนึ่งที่เปรียบเสมือนจุดศูนย์กลางที่คนในครอบครัวได้ใช้เวลาร่วมกัน ซึ่ง The other’s own place เป็นอีกหนึ่งตัวอย่างของบ้านที่ให้ความสำคัญกับการอยู่อาศัยร่วมกันของครอบครัวขนาดใหญ่ที่ประกอบไปด้วยผู้อยู่อาศัยหลายช่วงอายุ โดยได้ คุณหนึ่ง–เอกภาพ ดวงแก้ว จาก EKAR architects มาเป็นผู้ออกแบบ
คุณหนึ่ง-เอกภาพ ดวงแก้ว สถาปนิกผู้ออกแบบจาก EKAR architects
“เวลาออกแบบบ้าน ผมจะมองว่าบ้านมันคือชีวิต เราจะอ้างอิงจากโปรแกรมที่ลูกค้าบอกเราอย่างเดียวไม่ได้ เพราะเราไม่ได้ออกแบบแค่ฟังก์ชันแต่เราออกแบบทั้งชีวิตให้เขา เขาอ่านชีวิตตัวเองได้ออกในฐานะที่เขาเป็นเจ้าของชีวิต แต่เขาไม่ได้เรียนรู้ว่าจะนำสิ่งเหล่านั้นมาปรับใช้กับสถาปัตยกรรมอย่างไร”
เริ่มต้นงานออกแบบด้วยโจทย์จากเจ้าของบ้าน
ถ้าจะเล่าจากจุดเริ่มต้นของบ้านหลังนี้ คงต้องเริ่มจากโจทย์ที่ทางเจ้าของบ้านซึ่งก็คือคุณตูนและคุณฝ้ายได้ให้กับทางผู้ออกแบบ เริ่มจากบ้านหลังนี้ เดิมเป็นบ้านของครอบครัวคุณฝ้าย ซึ่งเป็นบ้านหลังเก่าบนที่ดินสองแปลงที่ถูกต่อเติมบริเวณชั้นหนึ่งให้กับคุณยายที่ป่วย คุณตูนและคุณฝ้ายจึงตัดสินใจที่จะสร้างบ้านอีกหนึ่งหลังขึ้นบนที่ดินแปลงนี้ เพื่อที่จะได้ดูแลคุณยายและคนในครอบครัวได้อย่างใกล้ชิดมากขึ้น ทำให้ผู้อยู่อาศัยภายในบ้านเพิ่มจำนวนมาเป็น 8 คน ซึ่งก็คือ ครอบครัวคุณตูน คุณฝ้าย และลูกสาววัย 5 ขวบ คุณพ่อ คุณแม่ คุณยายของคุณฝ้าย รวมถึงน้องชายและภรรยา ซึ่งในแต่ละอาทิตย์จะมีคนผลัดกันมาดูแลและมาเยี่ยมคุณยายที่ป่วยเป็นกิจวัตรประจำของบ้านหลังนี้
โดยบ้านเก่าบนที่ดินสองแปลงนี้ บ้านบนที่ดินฝั่งหนึ่งจะเป็นบ้านของน้องชาย ส่วนอีกหนึ่งฝั่งจะเป็นบ้านที่กำลังจะออกแบบขึ้นใหม่ อีกหนึ่งความต้องการของทางคุณตูนและคุณฝ้ายจึงอยากให้บ้านฝั่งของน้องชายและบ้านใหม่ที่กำลังจะทำขึ้นนั้น ดูไม่แตกต่างกันมากนัก บ้านใหม่จะต้องดูกลมกลืนจนไม่แย่งความโดดเด่นจากบ้านน้องชายไปเสียหมด
เมื่อความต้องการจากเจ้าของผสมผสานกับความต้องการของผู้ออกแบบ
ด้วยความที่บ้านหลังนี้ เดิมเป็นบ้านหลังเดียวที่มีพื้นที่ด้านหน้าเป็นสวน แต่จากความต้องการของทางเจ้าของ ทำให้ฟังก์ชันที่จะเกิดขึ้นค่อนข้างที่จะอัดแน่นเพื่อรองรับกิจกรรมของทุกคนในบ้าน สิ่งที่คุณหนึ่งต้องการเพิ่มเข้ามา จึงเป็นการเก็บพื้นที่สวนเอาไว้ให้มากที่สุด เพื่อสร้างพื้นที่ผ่อนคลายสำหรับทุกคนโดยเฉพาะคุณยาย ประกอบกับความเชื่อของคุณหนึ่งเองที่มองว่า ‘ธรรมชาติ’ เป็นองค์ประกอบหนึ่งที่ทำให้การอยู่อาศัยภายในบ้านดำเนินไปได้อย่างมีความสุข
“เรื่องหนึ่งที่นอกเหนือจากโปรแกรมที่ทางเจ้าของให้เรามา ก็คือเรื่องของสวน ผมมีความเชื่อว่า การที่จะทำให้การอยู่อาศัยดำเนินไปใกล้เคียงความเป็นบ้านมากที่สุด คือต้องอาศัยธรรมชาติเข้ามา เพราะฉะนั้นทุกงานผมจะพยายามเก็บตรงนี้ไว้ เป็นเหมือนของล้ำค่า เพราะมันจะทำให้คุณภาพการอยู่อาศัยนั้นดีขึ้น”
‘ผสมผสานโปรแกรม’ ประหยัดพื้นที่และสร้างความหลากหลายในเวลาเดียวกัน
จากความต้องการของทางเจ้าของและความต้องการของผู้ออกแบบที่ต้องการจะเก็บสวนไว้ในพื้นที่บ้านมากที่สุด ทำให้การวางฟังก์ชันภายในบ้านนั้นค่อนข้างที่จะอัดแน่น คุณหนึ่งจึงเพิ่มแนวคิดในการผสมผสานโปรแกรมของบ้านทั้งสามส่วนไว้ด้วยกัน นั่นก็คือ บ้านของน้องชาย บ้านของคุณตูนคุณฝ้ายและส่วนพื้นที่ชั้น 1 ของคุณยาย โดยปรับเปลี่ยนพื้นที่ใช้งานของคุณพ่อไปอยู่ในส่วนบ้านของน้องชาย ส่วนพื้นที่ชั้น 1 ของคุณยายจะอยู่ในพื้นที่บ้านหลังใหม่ พื้นที่ห้องครัวจะอยู่ในพื้นที่ดินของบ้านน้องชาย ส่วนพื้นที่รับประทานอาหารและห้องนั่งเล่นจะอยู่ในบ้านหลังใหม่ เพื่อให้เกิดการใช้งานของพื้นที่ที่คุ้มค่ามากที่สุด การผสมผสานปรับเปลี่ยนโปรแกรมในลักษณะนี้ ยังทำให้ฟังก์ชันบางอย่างได้ขนาดของพื้นที่เพิ่มมากขึ้นด้วย
ในเรื่องของการวางผังของบ้าน จากโจทย์ทั้งสามอย่างหลักๆ ฟังก์ชันของบ้านที่ต้องมีให้ครบ บวกกับเงื่อนไขของคุณยายที่ต้องอยู่ชั้น 1 และพื้นที่สีเขียวที่ต้องการจะเก็บ คุณหนึ่งจึงเลือกที่จะวางผังบ้านโดยการเพิ่มพื้นที่บ้านใหม่เข้ามาโดยการบิดแกนของบ้านให้เป็นแนวแทยง เส้นแนวแทยงที่ยาวที่สุดจะทำให้พื้นที่ระหว่างบ้านเก่าและบ้านใหม่นั้นเชื่อมต่อกัน และยังทำให้ผู้อยู่อาศัยรู้สึกว่าบ้านกว้างกว่าที่ควรจะเป็นและพื้นที่ทรงเหลี่ยมที่เกิดจากการบ้านบิดแกนยังสามารถสร้างพื้นที่สีเขียวเล็กๆ สำหรับบ้านใหม่ได้อีกด้วย
โดยฟังก์ชันของบ้านหลังนี้ บริเวณชั้น 1 จะทำหน้าที่เป็นพื้นที่ส่วนรวมและพื้นที่ของคุณยายเป็นหลัก ซึ่งจะประกอบไปด้วยห้องรับประทานอาหาร ห้องนั่งเล่น และพื้นที่ของคุณยายที่เชื่อมไปยังระเบียง พื้นที่สีเขียวและที่จอดรถบริเวณด้านหน้า ส่วนพื้นที่ชั้นสองจะเป็นพื้นที่ที่มีความเป็นส่วนตัวมากขึ้น ซึ่งจะเป็นพื้นที่ห้องนั่งเล่น ห้องรับประทานอาหาร ห้องครัวของครอบครัวคุณตูนและคุณฝ้าย และมีฟังก์ชันห้องนอนของคุณแม่ด้วย ส่วนชั้นที่สามจะเป็นพื้นที่ส่วนตัวมากที่สุด นั่นก็คือ พื้นที่ห้องนอนของคุณตูนและคุณฝ้ายนั่นเอง
ภาพแปลนบ้าน The other’s own place ชั้น 1
ภาพแปลนบ้าน The other’s own place ชั้น 2
ภาพแปลนบ้าน The other’s own place ชั้น 3
อีกหนึ่งข้อดีของการวางผังในลักษณะนี้ คือ บ้านหลังใหม่ที่โอบล้อมบ้านหลังเก่า บรรยากาศช่วงบ่ายของบริเวณคอร์ดบ้านนั้นจึงร่มรื่น และสามารถใช้งานได้เต็มพื้นที่ เนื่องจากมีลมพัดผ่านและไม่มีแดดส่องถึง
อีกหนึ่งพื้นที่ที่ถือว่าเป็นหัวใจหลักของบ้าน นั่นก็คือระเบียงหน้าบ้าน ซึ่งทำหน้าที่เป็นเหมือนสเปซที่เข้ามาทักทายทุกคนก่อนที่แยกย้ายเข้าไปสู่พื้นที่ของตัวเอง โดยระเบียงหรือชานบ้านตัวนี้ถือเป็นฟังก์ชันเดียวที่สามารถเชื่อมความสัมพันธ์ของบ้านทั้งสองหลังและยังเป็นพื้นที่ที่เชื่อมต่อกับสวนที่ทุกคนสามารถมานั่งทำกิจกรรมร่วมกันได้
‘contrast’ แนวคิดสร้างภาพลักษณ์ของบ้าน
สำหรับบ้านหลังนี้ เมื่อมองจากภายนอกจะค่อนข้างเรียบง่าย โดยคุณหนึ่งเล่าถึงแนวคิดในการใช้วัสดุออกแบบบ้านหลังนี้ให้เราฟัง “ผมเชื่อว่า มนุษย์เราจะรับรู้ถึงสิ่งใดสิ่งหนึ่งเป็นพิเศษขึ้นมาได้เมื่อมันมีความเปลี่ยนแปลง เพราะฉะนั้นถ้าเราอยากให้ประสบการณ์การอยู่อาศัย รับรู้ถึงความกว้าง เราต้องทำให้มันรู้สึกว่ามันเป็นพื้นที่ที่แคบมาก่อน ถ้าอยากให้รู้สึกโปร่ง มันก็ต้องค่อยๆ ทึบมาระดับนึงถึงจะค่อยมาโปร่ง แล้วความรู้สึกนั้นมันจะกลายเป็นความรู้สึกประทับใจเป็นพิเศษ”
เราจึงเห็นพื้นที่ภายนอกของบ้านหลังนี้มีลักษณะที่ค่อนข้างทึบตัน ซึ่งถือว่ามีข้อดีในเรื่องของความเป็นส่วนตัว แต่เมื่อเข้ามาภายในจะพบกับความแตกต่างอย่างสิ้นเชิง โดยจะรับรู้ได้ถึงความโล่ง โปร่งของพื้นที่และมองเห็นพื้นที่สีเขียวที่ซ่อนอยู่ภายใน นอกจากนั้นผู้ออกแบบยังสร้างขอบเขตของพื้นที่ด้วยจังหวะของช่องเปิด โดยบริเวณห้องนั่งเล่นชั้นสองนั้นจะมีการออกแบบช่องเปิดด้านข้างให้อยู่ในสัดส่วนที่สูงมากกว่าปกติ เพื่อให้คนที่ใช้งานในพื้นที่โฟกัสกับช่องเปิดที่เห็นพื้นที่สวนได้มากกว่านั่นเอง
ช่องเปิดในแต่ละจุดนั้น จะถูกออกแบบให้มีขนาดสูงเลยฝ้าทุกจุด เพื่อสร้างความรู้สึกของการมองเห็นให้คนที่มองรู้สึกว่าไม่ใช่เพียงแค่หน้าต่าง แต่เป็นบริเวณที่เอาไว้มองท้องฟ้า ช่องเปิดในบ้านหลังนี้จึงถือเป็นองค์ประกอบหนึ่งที่ช่วยดึงความเป็นธรรมชาติให้เข้ามาใกล้บ้านได้มากขึ้น และคุณหนึ่งยังมีการทดลองใช้วัสดุที่โปร่งแสง โดยสกรีนลายหินเอาไว้ที่บานกระจก เมื่อมองจากภายนอกหรือเมื่อมีแสงเข้ามาจะเกิดมิติที่สวยงามและล้อไปกับวัสดุภายนอกได้ด้วย
เมื่อผู้อยู่อาศัยหลากหลาย โจทย์หรือความต้องการในการอยู่อาศัยย่อมมากขึ้นตามไปด้วย การออกแบบสเปซที่รองรับฟังก์ชันส่วนตัวและฟังก์ชันที่ทำให้คนในครอบครัวได้ปฏิสัมพันธ์กัน จึงถือเป็นทางออกที่ช่วยทำให้ทุกคนในครอบครัวใหญ่อยู่ร่วมกันได้อย่างลงตัวและมีความสุข