Location: บริเวณชั้น 1 เกษรวิลเลจ
Designer: Atelier of Imaginarists (aim) วรัมพร ศิริเจริญ, วฤณพร ตรีโสภา และภัทรกฤต ปทุมาสูตร
Owner: นัชชา เหตระกูล
Story: เสาวภัคย์ อัยสานนท์
Photographer: จิณณวัตร บริหารกิจอนันต์
Britannica Brasserie เป็นโปรเจ็กต์ร้านอาหารที่เกิดขึ้นจากความตั้งใจที่จะทลายกำแพงอาหารแบบ fine dining สู่ casual fine dining ที่ใครๆ ก็สามารถมากินได้ พร้อมทั้งบอกเล่าเรื่องราวระหว่างการเดินทางในต่างแดนของเจ้าของอย่างคุณส้ม-นัชชา เหตระกูล การออกแบบร้านให้มีบรรยากาศน่าจดจำ คำนึงถึงประสบการณ์ของผู้ใช้งาน และสร้างความทรงจำดีๆ ให้กับลูกค้าผู้มาเยือน จึงเป็นโจทย์สำคัญของทางร้าน โดยมี Atelier of Imaginarists (aim) มาเป็นผู้ออกแบบ
ที่ตั้งของของร้านเดิมมีลักษณะค่อนข้างเป็นจุดบอดที่ผู้คนมองไม่เห็นมากนัก โดยตั้งอยู่บริเวณด้านในสุดของชั้น 1 ที่เกษรวิลเลจ ความท้าทายของการออกแบบอย่างแรกเลยคือ การปรับปรุงให้พื้นที่ของร้านสามารถดึงดูดสายตาคนให้ได้มากที่สุด
“ถ้าดูจากพื้นที่ตอนแรกจะเงียบมาก เพราะอยู่ข้างใน แต่จริงๆ แล้วสเปซตรงนี้มันสวยมาก สามารถมองเห็นได้จากด้านบน เดินผ่านทางเข้ามาก็เจอเลย ซึ่งเรามองว่ามันเป็นพื้นที่ที่สวยมากนะ แต่วันที่เรามาดูไซต์ มันแทบจะขายไม่ได้เลย สิ่งสำคัญของโปรเจ็กต์นี้เลยเป็นการที่เราจะทำยังไงให้พื้นที่ตรงนี้สามารถดึงดูดสายตาคนให้ได้มากที่สุด ทำยังไงให้ว้าว เรียกคนเข้ามาได้ อยู่ได้ และขายได้ในระยะยาว”

เพื่อให้เกิดมุมมองที่น่าสนใจและเรียกคนได้ สถาปนิกจึงวางรูปแบบของแปลนใหม่ โดยคำนึงถึงประสบการณ์ของผู้ใช้งาน และพยายามสร้างทางสัญจร (Circulation) ที่เหมาะสม เพื่อเปิดเส้นทางไหลเวียนให้คนเข้าไปถึงด้านในด้วยความรู้สึกสบายใจและไม่เคอะเขิน
“ร้านนี้ไม่มีประตูร้าน เพราะเราไม่อยากให้รู้สึกว่า Britannica Brasserie เป็นร้านอาหาร fine dining ที่เข้ามาแล้วต้องรู้สึกเกร็งหรือทำตัวไม่ถูก เราอยากสร้างบรรยากาศที่ทำให้ลูกค้าเข้ามาแล้วได้นั่งชิลล์ มี circulation ที่เป็นการไหลเข้ามา แล้ววางสเปซจากประสบการณ์ของผู้ใช้งาน ตั้งแต่เจอเคาน์เตอร์บาร์ด้านหน้า คุณมาซื้อกาแฟ ด้านขวาของคุณมีเชฟกำลังทำขนม คุณได้เห็นและได้กลิ่น พอคุณเดินเข้ามาด้านในก็มีพนักงานเดินเข้ามาสวัสดีทักทาย เราอยากให้เกิดบรรยากาศแบบนั้น เราเลยสร้าง circulation ที่เมื่อเดินเข้ามาแล้ว จะรู้สึกว่ามันไหลเข้ามาเอง”
หลักการทำงานของ Atelier of Imaginarist (aim) ที่เราเห็นว่าน่าสนใจคือ การค่อยๆ คิด แล้วก็สนุกไปกับกระบวนการในแต่ละขั้นตอน โดยเริ่มจากศึกษาพฤติกรรมของผู้ใช้งานและตีโจทย์จากสิ่งที่ owner ต้องการ ภายใต้ความเชื่อว่า การท่องเที่ยวเป็นเหมือนคลังความรู้ ยิ่งพบเห็นสิ่งใหม่ๆ มากเท่าไรก็ยิ่งเรียนรู้ในสิ่งที่ไม่เคยเห็นได้มากเท่านั้น
“เรามองว่าร้านอาหารเป็นเหมือน Journey ที่คนเข้ามาแล้วมีความทรงจำที่ดีๆ เกี่ยวกับมัน เราเลยอยากสร้าง Journey ที่คนเข้ามาแล้วรู้สึกถึงความสนุกบางอย่างในพื้นที่นี้”
นอกเหนือจากการสร้างบรรยากาศที่เป็นประตูสู่โลกแห่งความอร่อย จุดมุ่งหมายของสถาปนิกยังต้องการให้ดีไซน์เป็นส่วนเสริมให้ลูกค้าได้รับประสบการณ์จากสารพัดความรู้เสมือนอยู่ในห้องสะสมความรู้ และเลือกที่จะสร้างคาแรกเตอร์ของ Britannica Brasserie ด้วยการเล่นกับเรื่องราวของประสบการณ์ที่เจ้าของร้านเคยพบเจอมา
สารานุกรมบริแทนนิกา (Britannica)
ผ่านคำว่า Britannica ที่มาจากชื่อของสารานุกรมที่ได้รับการเชื่อถือและยอมรับมากที่สุดในโลกอย่าง ‘สารานุกรมบริแทนนิกา’ อันเป็นแหล่งรวบรวมความรู้ต่างๆ ซึ่งมีการตีพิมพ์ฉบับแรกในภาษาอังกฤษในช่วงปี พ.ศ. 2311–2314 ในเมืองเอดินบะระ ประเทศสกอตแลนด์ องค์ประกอบต่างๆ ของสารานุกรมบริแทนนิกาจึงถูกถ่ายทอดออกมาเป็นตัวร้านได้อย่างน่าสนใจและมีเรื่องราวให้เล่นสนุก
“สีที่เลือกใช้ ลูกค้าเป็นคนเลือกเอง โดยมีสีขาว สีดำ สีแดง และสีทอง ทำไมลูกค้าถึงเลือกสีนี้ มันก็กลับมาที่คำตอบเดิมคือ มันเป็นสีของหนังสือ Britannica ซึ่งสารานุกรมนี้มีสองเวอร์ชั่นคือ สีดำและสีแดง เปิดมาเป็นกระดาษสีขาวออกเบจ มีสีขอบที่เป็นสีทอง ซึ่งโทนสีเหล่านี้ก็ค่อนข้างจะเป็นอะไรที่ timeless ด้วยก็เลยออกมาเป็นร้าน Britannica”
เส้นสายส่วนโค้งที่ร้อยเรียง
ตั้งแต่ทางเข้าหน้าร้านสู่บริเวณภายใน จะเห็นได้ว่า ‘เส้นโค้ง’ ถูกนำมาใช้เป็นองค์ประกอบหลักที่ร้อยเรียงลื่นไหลไปตามส่วนต่างๆ อย่างเชื่อมโยงกัน ซึ่งเกิดจากการใช้วิธีนำวัสดุอย่างไม้อัดมาเรียงต่อกัน แล้วค่อยๆ จัดฟอร์มจนขึ้นรูปเป็นส่วนของความโค้ง โดยขอบโค้งจะถูกเน้นด้วยการตัดขอบสีดำ และใช้เทคนิก Stucco ที่ทำให้ได้งานผนังที่มีเสน่ห์ราวกับงานศิลปะด้วยผิวสัมผัสที่ดูเป็นธรรมชาติ จากองค์ประกอบที่เรียบง่ายจึงเกิดเป็นเส้นสายที่ทำให้สเปซส่งต่อความรู้สึกประทับใจ แล้วยังช่วยทำให้ภาพรวมของโปรเจ็กต์เป็นภาพลักษณ์ที่เตะตาและน่าจดจำได้อย่างสมบูรณ์แบบ
สื่อถึงความหรูหราที่เข้าถึงได้ง่าย
วัสดุส่วนใหญ่ที่สถาปนิกเลือกใช้ สั่งทำขึ้นมาโดยเฉพาะจากช่างทำมือฝีมือคนไทย ตั้งแต่พื้นหินขัด ซุ้มเพดานโค้ง รวมถึงเฟอร์นิเจอร์และของตกแต่งต่างๆ ภายในร้าน เพื่อขับคาแร็กเตอร์ของตัวร้านที่มาพร้อมกับความหรูหราอ่อนช้อย และแฝงไปด้วยกลิ่นอายของยุโรป นอกจากนี้ ยังมีผู้ร่วมออกแบบคนสำคัญอย่าง Rom design ที่มาช่วยรังสรรค์โลโก้ ลวดลายบนพื้น จานชาม และกระดาษเช็ดมือ ทำให้คาแรกเตอร์ของ Britannica Brasserie ยิ่งมีความเฉพาะตัวสูงและมีความโดดเด่นมาก
“โจทย์ของร้านคือต้องมีความลักซูรี แต่ก็ต้องไม่ทำให้รู้สึกว่าแพงมาก ซึ่งก็คงหนีไม่พ้นกับการใช้วัสดุที่มีความเงา คำว่า ลักซูรี ที่เรามองไม่ใช่ความหรูหราหมาเห่า แต่คือความพึงพอใจ เราไม่อยากให้ร้านดูแพงแล้วดูแก่ แต่อยากให้ร้านดูแพงแล้วยังมีความเป็นวัยรุ่นอยู่”
สถาปนิกยังเล่าถึงปัญหาระหว่างการทำงานที่ผ่านมาไว้ว่า “ถ้าเราปลดล็อกปัญหาของแปลนได้ ทุกอย่างก็จะง่ายขึ้น” เพราะอุปสรรคสำคัญที่ทีมผู้ออกแบบต้องเจอคือ เรื่องของแปลนและงานระบบ เนื่องจากบริเวณของพื้นที่เดิมไม่ได้ถูกออกแบบเพื่อการสร้างร้านอาหารหรือคาเฟ่มาตั้งแต่ต้น “เราต้องขอเดินระบบไฟใหม่ทั้งหมด เพราะมีผลต่ออาหารของร้าน ถ้ากำลังไฟไม่พอ เมนูอาหารที่เสิร์ฟแต่ละครั้งจะไม่เหมือนเดิม พอเป็นการทำงานในห้างฯ จะต้องทำงานเฉพาะช่วงกลางคืนเท่านั้น อีกอย่างหนึ่งคือเรื่องของแสง จริงๆ มันเป็นข้อดี แต่ในช่วงกลางวันจะมีปัญหาตรงที่มันร้อนมาก ซึ่งถ้าสังเกตจะเห็นว่าเฟสนี้ของห้างมีแสงเข้ามามาก เราเลยเลือกที่จะนำผ้าม่านมาปิด และใช้ระบบแอร์เข้ามาช่วย”

“สิ่งที่เราต้องการคือการทำให้พื้นที่มันว้าว ลากคนเข้ามาได้ อย่างที่สองคือเรื่องของสเปซที่เราจะต้องเข้ามาแก้ไขจาก dead area ให้เปลี่ยนมาเป็นจุดที่น่าสนใจ และอย่างสุดท้ายคือการออกแบบที่คำนึงถึงประสบการณ์ของผู้ใช้งาน รวมถึงสร้างความทรงจำดีๆ ไม่ว่าจะเปลี่ยนคอนเซปต์เป็นอะไรก็แล้วแต่ สามสิ่งนี้จะต้องคงอยู่ ซึ่งถ้าจะบอกว่าคอนเซปต์หลักของร้านคือบรรยากาศของรถไฟ สนามบิน หรือหนังสือก็คงไม่ใช่ เพราะคอนเซปต์หลักของเราก็คือสามแกนที่ได้กล่าวถึงไปแล้วข้างต้นมากกว่า”
การทำ Britannica Brasserie ไม่ใช่แค่เรื่องของการสร้างภาพลักษณ์ที่สวยงาม แต่ต้องตอบโจทย์ในเรื่องของฟังก์ชัน ประสบการณ์และความรู้สึกของผู้ใช้งาน ทุกรายละเอียดของการทำร้านอาหารแห่งนี้จึงเกิดจากความใส่ใจของสถาปนิกที่สนุกไปกับกระบวนการในแต่ละขั้นตอน และต้องการสร้างให้เกิดร้านอาหารที่ชวนผู้มาเยือนหยุดเวลาไว้ที่ Britannica Brasserie ให้นานที่สุด