“พอเราเริ่มทำ Kidative สิ่งที่เราเห็น คือ ความพิเศษของเด็กแต่ละคนที่เริ่มชัดเจนขึ้น สิ่งที่เราค้นพบมีอย่างเดียวเลยคือ เด็กทุกคนมีความพิเศษในตัวเองสูงมาก และความพิเศษนี้เอง เป็นโจทย์ที่ท้าทายของ Kidative ในทุกๆ วัน”
KIDative: Innovation and Design Lab for Kids หรือศูนย์การเรียนรู้สร้างสรรค์สำหรับเด็ก ตั้งอยู่ในโครงการฮาบิโตะ ย่านพระโขนง ถึงแม้จะมีชื่อว่าศูนย์การเรียนรู้ แต่ภาพที่เราเห็นกลับแตกต่างจากศูนย์การเรียนรู้หรือโรงเรียนทั่วๆ ไป บรรยากาศสนุกสนาน สดใส ร่าเริงของเด็กๆ ที่ได้เล่นสนุกไปพร้อมกับการแสดงความคิดของตัวเองอย่างเต็มที่ ทำให้เราสนใจและติดต่อมาพูดคุยกับสองผู้ก่อตั้ง คุณตอง -นพปฏล เทือกสุบรรณ ผู้ทำงานอยู่ในแวดวงสถาปัตยกรรมรวมถึงงานออกแบบภายใน และ คุณกอล์ฟ -วรุตม์ เหลืองวัฒนากิจ ผู้ทำงานวางแผนกลยุทธ์ทางการตลาด และงานในแวดวงโฆษณา ถึงจุดริเริ่มของโครงการ Kidative ที่เปี่ยมไปด้วยอุดมการณ์และความเชื่อมากมายที่มุ่งหาความพิเศษในตัวเด็กทุกคน
สองผู้ก่อตั้ง KIDative คุณกอล์ฟ -วรุตม์ เหลืองวัฒนากิจ และคุณตอง -นพปฏล เทือกสุบรรณ
Dsignsomething: Kidative มีที่มาจากอะไร ?
คุณตอง : เริ่มมาจากเมื่อ 5 ปีที่แล้ว เรามีโอกาสได้ร่วมงานสถาปนิก ในบริเวณพื้นที่ส่วนกลาง ปีนั้นเป็นปีแรกที่ทางสมาคมสถาปนิกสยามในพระบรมราชูปถัมภ์ อยากให้นักออกแบบจัดกิจกรรมเพื่อถ่ายทอดกระบวนการคิดในเชิงออกแบบของสถาปนิกให้กับเด็กๆ ปีนั้นเราจัดกัน 5 วันติด โดยมีพี่ๆ น้องๆ ที่เป็นนักออกแบบหมุนเวียนกันมาเพื่อแลกเปลี่ยนถ่ายทอดมุมมองต่างๆ รวมถึงโจทย์ที่เปลี่ยนไปให้กับเด็กด้วย นั่นถือเป็นจุดเริ่มต้นของ Kidative ที่ได้รับเสียงตอบรับดีมาก หลังจากปีนั้นเราก็มีแนวความคิดที่จะจัดเวิร์คชอปอย่างจริงจังให้กับเด็กๆ โดยมุ่งหวังผลลัพธ์แบบเดียวกัน คือการถ่ายทอดกระบวนการคิดแล้วก็แนวคิดของการออกแบบให้กับเด็กๆ
Dsignsomething: ซึ่งนั่นถือเป็นจุดเริ่มต้นของ Kidative ที่เราเห็นในปัจจุบันเลยหรือเปล่า?
คุณตอง : จริงๆ ในปีถัดจากนั้น เราก็มีโอกาสได้ร่วมงานกับ คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ทางอดีตคณบดีได้ให้โอกาสพวกเราใช้พื้นที่จัดกิจกรรมในเชิง Event-based ในวันเสาร์-อาทิตย์ การเรียนรู้จากกิจกรรมในช่วงนั้นทำให้เรามีแนวความคิดใหม่ๆ ในการที่จะสร้างสตูดิโอของพวกเราขึ้นมาเอง โดยให้เด็กๆ มีโอกาสได้เลือกแนวทางในการเรียนรู้ของเขาเอง แยกตามประเด็นหรือความสนใจของเขา จากวันนั้นมาจนถึงวันนี้เราก็พัฒนาสตูดิโอมาประมาณ 4 ปี มีการปรับเปลี่ยนรูปแบบอยู่ตลอดเวลา เพื่อให้ตอบความต้องการของเด็กๆ ที่เป็น Young Generation ของเรา
ตลอด 4 ปีที่เราพัฒนาตัวสตูดิโอขึ้นมา เราก็มีการพัฒนาองค์ความรู้ในการที่จะผลักดันแนวความคิดของเด็กๆ เราเริ่มมีองค์ความรู้ หรือแนวทางในการเรียนการสอนที่เป็นรูปแบบเฉพาะตัว เริ่มมีโปรเจ็กต์ที่หลากหลายมากขึ้น เริ่มมีโปรเจกต์เพื่อสังคม เริ่มมีโปรเจ็กต์ที่ให้เด็กๆ ได้ลงไปสัมผัสกับปัญหาจริงๆ จากวันแรกที่จัดเวิร์คชอปให้กับสมาคม จนถึงตอนนี้ก็ถือว่า Kidative เดินทางมาค่อนข้างไกลมากจากจุดแรก (หัวเราะ)
Dsignsomething: อย่างตอนแรกที่มาทำ Kidative คาดหวังอะไรบ้าง ?
คุณกอล์ฟ : อย่างปัญหาที่เราเห็น บางทีเด็กๆเอง จะรู้สึกว่าคุณพ่อคุณแม่ไม่สามารถช่วยเหลือเขาได้ ก็เลยกลายเป็นว่าอาจจะต้องพาไปกิจกรรมที่นู่นที่นี่ ซึ่งบางทีกิจกรรมที่เขาพาไปจะค่อนข้างมีรูปแบบที่ชัดเจน สมมติเด็กชอบวาดรูป คุณแม่ก็จะคิดว่าเด็กชอบศิลปะ ก็จะพาไปโรงเรียนสอนศิลปะ เราก็เลยคาดหวังให้ Kidative เป็นเหมือนศูนย์เรียนรู้ที่ไม่ได้มองสิ่งที่เขาทำเป็นปลายทาง แต่มองว่ามันคือจุดเริ่มต้น ถ้าเราได้คุยกับเขา ได้ฟังเขาอย่างจริงๆ ได้มีโอกาสตั้งคำถามที่ช่วยให้เขาได้พัฒนาต่อยอดสิ่งที่เขาคิดได้ เราจะเห็นความพิเศษของเด็กแต่ละคนค่อนข้างชัด และอาจช่วยเหลือให้เขาพัฒนาไอเดียต่อไปจนประสบความสำเร็จได้
คุณตอง : แก่นแท้ของสิ่งที่ Kidative อยากให้เป็น คือ การที่เด็กๆ ได้มีองค์ความรู้ในการที่จะทำให้ความต้องการของเขาเป็นจริงขึ้นมา ในวันหนึ่งที่เขามีโปรเจ็กต์อื่น เขาจะสามารถใช้กระบวนการที่เรียนรู้จาก Kidative ในการทำให้โปรเจ็กต์ของเขาเป็นจริงขึ้นมาด้วยตัวเอง
Dsignsomething : รูปแบบการเรียนของ Kidative เป็นอย่างไร?
คุณตอง : จริงๆ ไม่อยากใช้คำว่าการเรียนเนอะ ขอเรียกว่า รูปแบบการเล่นอย่างจริงจังแล้วกัน (หัวเราะ) จากการคุยกับเด็กๆเราค้นพบว่าเด็กหลายคนมีความชัดเจนในตัวเองมาก Kidative ก็เลยเอาความสนใจที่ชัดเจนของเด็กๆ นั้นเป็นตัวตั้ง แล้วก็เริ่มตั้งโจทย์กับเด็กๆ ว่า เราจะเริ่มสร้างโปรเจกต์จากความสนใจนั้นได้อย่างไร ซึ่งในส่วนนี้เราจะทำงานร่วมกับเขาในลักษณะพาร์ทเนอร์ เป็นการทำงานร่วมกันว่าในปลายทางของเขา เขาต้องการอะไร แล้วระหว่างที่เขาจะไปถึงจุดนั้น จะมีวิธีไหนบ้างที่จะทำให้มันเป็นจริง มันเป็นเหมือนการสร้างโปรเจกต์ด้วยกัน หาวิธีทำด้วยกัน ทดลอง ลองผิดลองถูก ล้มเหลว สำเร็จ และภาคภูมิใจด้วยกัน
Dsignsomething : ด้วยรูปแบบการสอนนี้หรือเปล่า ที่ทำให้ Kidative มีคาแรคเตอร์ที่แตกต่างจากโรงเรียนทั่วๆไป?
คุณกอล์ฟ: ผมว่าอย่างนึงที่ Kidative ค่อนข้างชัดเจนคือ Kidative มีความเป็นอิสระมาก ไม่เหมือนกับสถาบันหรือว่ากิจกรรมอื่นๆ ที่เวลาเขาทำ เขาจะมีจุดมุ่งหมายที่ค่อนข้างชัดเจน แต่ว่าจุดมุ่งหมายของ Kidative เอง มันคือการหาความพิเศษของเด็กหนึ่งคนให้เจอ แล้วเราก็ทำหน้าที่เอื้อให้ความพิเศษนั้นมันสามารถเจริญงอกงามได้ในแบบของเขา เพราะฉะนั้นการทำ Kidative ก็เลยเป็นเหมือนการชวนเด็กๆ มาเล่น แต่มันเป็นการเล่นที่ทำให้สิ่งที่ทำให้เด็กๆคิด มันสามารถที่จะเจริญงอกเงยไปได้
Dsignsomething : การออกแบบคอร์สเรียนต่างๆ มีแนวคิดมาจากอะไร?
คุณกอล์ฟ : การตั้งโจทย์เป็นเรื่องที่ค่อนข้างสำคัญมากสำหรับเรา มันต้องเป็นโจทย์ที่เด็กๆ นำไปคิดต่อได้ แต่ในขณะเดียวกันก็ไม่ได้กรอบความคิดเขาให้ไปในทิศทางเดียวกันทั้งหมด แกนนึงที่ค่อนข้างสำคัญ คือ เราพยายามให้เขาคิดเพื่อคนอื่น เพราะถ้าเขาคิดถึงตัวเองก่อน มันก็จะตามมาด้วยการที่เขาบอกว่าอันนี้โอเค ทำได้ อันนี้เขายอมได้ อันนี้เขาไม่เป็นไร แต่พอไปคิดถึงคนอื่น มันเริ่มไม่ได้แล้ว มันคือคนใช้จริงที่เกิดขึ้น มันก็จะเริ่มมีวิธีการอะไรบางอย่างที่ทำให้เด็กๆ รู้จักแก้ปัญหา โจทย์ของ Kidative ส่วนใหญ่เลยกลายเป็นเรื่องของการแก้ปัญหา แต่เน้นการแก้ปัญหาให้คนอื่น ไม่ใช่การแก้ปัญหาให้กับตัวเอง
Dsignsomething : ในแต่ละโปรเจ็กต์นั้น มีขั้นตอนการเรียนรู้หรือการเล่นอย่างไรบ้าง?
คุณตอง : อันดับแรกเลยคือ ต้องทำความเข้าใจกับเด็กๆ ก่อน หลังจากนั้นเราก็จะใช้วิธีพูดคุย ยกตัวอย่างเช่น เขาอยากจะช่วยเพนกวินที่กำลังไม่มีที่อยู่เนื่องจากน้ำแข็งขั้วโลกละลาย หากเขาคิดจากมุมมองของตัวเขาเองอย่างเดียว เขาอาจจะเอาเพนกวินมาจับขังใส่กรงแล้วทำสวนสัตว์ลอยอยู่กลางทะเลก็ได้ แต่เรามักจะคุยกับเขาว่า ถ้าเขาเป็นเพนกวินเขาจะคิดยังไง เขาจะต้องการอะไร เพราะฉะนั้นช่วงเวลาในการคุย ในการมองหามุมมองต่างๆ กับเด็กๆ เป็นช่วงเวลาที่เราให้เวลาค่อนข้างเยอะ หลังจากนั้นเราเรียกว่าเป็นช่วงการตั้งโปรแกรม เราจะต้องหาวิธีการเพื่อที่จะแก้ปัญหานั้น ซึ่งก็ต้องการเวลาและเปิดกว้างทางความคิดมากๆ เพื่อให้เด็กๆ สามารถมีไอเดียให้เยอะที่สุด
ภาพโปรเจ็กต์ Penguin Homestay : สร้างที่อยู่อาศัยเพื่อช่วยเหลือเพนกวินจากปัญหาน้ำแข็งขั้วโลกละลาย จากน้องมีตังค์
เราเชื่อว่าการจะได้ไอเดียใหม่ๆ เราจะต้องได้ไอเดียที่เยอะก่อน เพราะฉะนั้นเราจะต้องใช้เวลาในการที่จะเปิดกว้างเพื่อรับไอเดียจากเด็กๆ โดยที่มีข้อแม้อย่างเดียวที่ Kidative จะต้องท่องให้ขึ้นใจก็คือ ไม่มีคำว่าเป็นไปไม่ได้ เราต้องเชื่อก่อนว่าทุกๆ ไอเดียเป็นไปได้
เมื่อเราได้กลุ่มก้อนของไอเดียใหม่ๆ แล้ว เราก็ให้เขาทดลองทำต้นแบบขึ้นมา ต้นแบบตรงนี้จะช่วยเช็คว่าสิ่งที่เขาคิดมีความเป็นไปได้มากน้อยแค่ไหน เมื่อเขาจินตนาการถึงการที่คนเข้าไปมีประสบการณ์ร่วมจริงๆ กับงานของเขา มันมีข้อเสีย มีข้อดีอย่างไรบ้าง เราก็มักจะเอาสิ่งเหล่านั้นมาพูดคุยแล้วก็พัฒนาโปรเจ็กต์ขึ้นไปอีก อีกหนึ่งองค์ความรู้ที่เราอยากให้เด็กๆ ได้ซึมซับ ก็คือ การพร้อมที่ปรับเปลี่ยนแก้ไข เปิดใจรับฟังมุมมองที่เขาอาจจะคิดไม่ถึง แล้วเมื่องานของเขามีข้อผิดพลาด เขาจะต้องรู้สึกพร้อมที่จะยอมรับกับข้อผิดพลาดนั้นและพัฒนาขึ้นไปได้
Dsignsomething : ในฐานะที่คุณตองเป็นสถาปนิกและคุณกอล์ฟเองก็เรียนจบด้านนิเทศศาสตร์มา คิดว่ากระบวนการคิดเหล่านั้น ถูกถ่ายทอดออกมาให้เด็กๆ อย่างไร?
คุณตอง : กระบวนการทั้งหมดที่ใช้เป็นเหมือน DNA ที่ได้รับการถ่ายทอดมาจากโรงเรียนสถาปัตย์ที่จบมา สมัยตอนผมเรียน อาจารย์ของผมหลายท่านไม่เคยบอกเลยว่า ไอเดียที่คุณทำมาเป็นไปไม่ได้ แต่พอจบมาทำงานจริงๆ เรารู้ว่าโลกของความเป็นจริงกับโลกของการเรียนมันต่างกันโดยสิ้นเชิง โลกของความเป็นจริงมันเต็มไปด้วยคำว่าเป็นไปไม่ได้เป็นข้อจำกัดเยอะแยะไปหมด แต่เรายังยืนหยัดมาได้เพราะเราเชื่อว่ามันจะมีวิธี ไม่ว่าข้อจำกัดมันจะมีมากน้อยขนาดไหนในชีวิตจริง อย่างโลกใบนี้ที่มันเป็นอยู่ สถาปัตยกรรมที่เรามองเห็นรอบๆ ตัว ย้อนกลับไปในอดีต มีหลายอย่างที่ถูกมองว่าเป็นไปไม่ได้ แต่มันก็เป็นไปแล้ว และมันก็เป็นตัวขับเคลื่อนโลกใบนี้ แนวความคิดแบบนั้นถูกปลูกฝังให้เด็ก Kidative ทุกคน ถ้าหนูกล้าคิด มันจะหาวิธีไปถึงตรงนั้นให้ได้ ไม่ว่าไอเดียนั้นมันจะล้ำขนาดไหนก็ตาม
คุณกอล์ฟ: จริงๆ ก่อนหน้าที่จะทำ Kidative ผมทำงานโฆษณาแล้วก็ทำงานพาร์ทที่เป็นดิจิตอลแล้วก็เทคโนโลยีมา ทั้งสองส่วนมีผลค่อนข้างมากกับการทำงานร่วมกับเด็กๆ อย่างเด็กหลายๆ คนที่มาเรียน เราเจอว่าปัญหาคือ เขาไม่สามารถจะเรียบเรียงความคิดของเขาได้ หรือบางทีทำงานออกมาแล้วไม่รู้จะเล่าอย่างไร บางทีงานที่ดูแล้วมันดีมากๆ แต่พอขาดวิธีการเล่าไปมันทำให้เสน่ห์ของงานมันหายไป เราจึงพยายามปลูกฝังกระบวนการคิดและกระบวนการเล่าเรื่องให้กับเขาด้วย
Dsignsomething : คิดว่า Kidative จะช่วยแก้ปัญหา หรือส่งผลต่อการศึกษาในอนาคตได้อย่างไร?
คุณกอล์ฟ : ในระบบการศึกษาทั่วไป ก็จะมีเรื่องของหลักสูตร วิธีการ การที่คุณครูจะต้องดูแลเด็กหลายๆ คน แต่ Kidative เราดูแลเด็กในจำนวนที่เล็กลงเยอะ สิ่งสำคัญเลย คือเราให้คุณภาพของการสร้างบทสนทนาที่เกิดขึ้นระหว่างครูผู้สอนกับเด็กๆ เพราะฉะนั้นมันจะทำให้เราเริ่มเห็นสิ่งที่เกิดขึ้นต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของทักษะ บุคลิกภาพ ก้าวผ่านปัญหาอะไรบางอย่างที่เขารู้สึกว่าเขาติดอยู่ ซึ่งก็ต้องยอมรับว่าจริงๆ ในระบบการศึกษาที่เป็นสายหลัก อาจจะยังไม่ได้ให้ความสำคัญตรงนี้เยอะมาก เราเชื่อว่าจริงๆ แล้ว ณ วันนี้ข้อมูลหรือความรู้ในโลกมันหาได้ง่าย ทุกอย่างมีใน Google แต่สิ่งสำคัญที่เด็กๆ ไม่มีเลยคือ คนที่จะค่อยๆ เดินไปกับเขา แล้วก็เห็นค่าของความพิเศษที่เขามี
คุณตอง : เราพยายามสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อที่สุดให้เขาสามารถใช้ความคิดของเขาได้อย่างเต็มที่ ทำให้เขารู้สึกสบายใจที่จะเสนอไอเดียที่แตกต่างออกมา ไม่ใช่เฉพาะในเวลาที่เขายังเป็นเด็ก แต่เรามองไปถึงตอนที่เขาโตขึ้นด้วย สิ่งที่ Kidative คาดหวังที่สุด คือ นับตั้งแต่วันแรกที่เขาเกิด คนที่ใกล้ชิดเขาที่สุดอย่างคุณพ่อคุณแม่ เข้าใจกระบวนการเลี้ยงลูกแบบเปิดกว้างทางความคิดแบบนี้ คุณครูในโรงเรียน อาจารย์ในมหาลัย รวมถึงเพื่อนๆ ในที่ทำงานหรือหัวหน้างานของเขาในอนาคต มีกระบวนการคิดแบบเดียวกัน รวมถึงตัวเขาเองก็ต้องกล้าที่จะนำเสนอมุมมองใหม่ๆ และพิสูจน์ว่าสิ่งนั้นเป็นไปได้ ถ้าสภาพแวดล้อมเหล่านี้เชื่อมโยงถึงกัน อีกไม่นานประเทศเราจะเปลี่ยนไปในทิศทางที่สร้างสรรค์และดีขึ้นแน่นอน
“มันเป็นเรื่องน่ากลัวอย่างหนึ่งตรงที่ว่า ในขณะที่ทุกคนพูดเหมือนกันหมดว่า โลกเปลี่ยนไปเร็ว เราจะมีเรื่องของ AI เรื่องของหุ่นยนต์ต่างๆ มาแทนที่งานที่ถูกทำซ้ำๆ แบบเดิมๆ แต่เรายังใช้แบบเรียนเมื่อ 30 40 ปีอยู่ ยังต้องเรียนเรื่องที่มันเหมือนๆ กัน แข่งขันเข้าโรงเรียน แข่งขันเข้ามหาวิทยาลัย ถ้าเรายังใช้วิธีการแบบนี้อยู่ เด็กๆ อาจจะไม่มีภูมิต้านทานพอที่จะอยู่รอดได้ในโลกอนาคต เพราะฉะนั้นสิ่งที่ kidative พยายามทำ ก็คือการเตรียมพร้อมเขาให้พร้อมสู่โลกที่มันกำลังจะเกิดขึ้นจริงๆ”
ในสังคมของความเป็นจริง การศึกษาถือเป็นรากฐานสำคัญที่ช่วยพัฒนาสังคม ซึ่งคงจะดีไม่น้อย หากการศึกษาในปัจจุบันจะมีปรับและเปลี่ยนตัวเองเพื่อรองรับความคิด พฤติกรรม ของเด็กที่เปลี่ยนแปลงไปตามสมัย เพื่อดึงศักยภาพของเด็กออกมาได้อย่างถูกวิธีและเต็มที่มากที่สุด ซึ่งคุณกอล์ฟก็ทิ้งท้ายด้วยประโยคที่ชวนให้เราตั้งคำถามถึงปัญหาการศึกษาในปัจจุบันได้เป็นอย่างดีทีเดียว