Location : โครงการ Stadium One สามย่าน กรุงเทพฯ
Architect : อาทิตย์ ศิริมงคล และ ธัญญ์ ภัคพงษ์พันธุ์ชัย
Owner : จิรพรรณ โอภาสพงศ์
Photographer: พีรดนย์ อริยานุกูลธร ,Yamastudio
สิ่งที่น่าสนใจอีกแง่หนึ่งของสถาปัตยกรรมประเภทร้านค้า คือ การเป็นตัวช่วยเสริมเรื่องราวของแบรนด์นั้นๆ ให้มีความชัดเจนมากขึ้น ทำให้ลูกค้าหรือคนที่เข้ามาเยี่ยมเยียนเกิดความรู้สึกเชื่อมโยงได้ถึงตัวแบรนด์ การออกแบบจึงเข้ามาเป็นองค์ประกอบหลักที่เหล่าแบรนด์ต่างๆ หันมาให้ความสนใจ เช่นเดียวกับ TOOKPAK ร้านอาหารสีสันจัดจ้านแห่งนี้ ที่ คุณหนึ่ง–อาทิตย์ ศิริมงคล สถาปนิกจาก Arti Architect ออกแบบเพื่อส่งเสริมแบรนด์ และสร้างความรู้สึกในการรับประทานอาหารให้ไปด้วยกันได้อย่างน่าสนใจ
เรื่องราวของ TOOKPAK ก่อนนำมาเป็นโจทย์
หากเริ่มจากจุดเริ่มต้น ‘ร้านถูกปาก’ เดิมเป็นร้านอาหารที่ตั้งอยู่ในจังหวัดลำปาง ซึ่งการันตีความน่ารับประทานด้วยรางวัล Trip Advisor Awards 2 ปีซ้อนรวมถึงเป็นร้านอาหารแนะนำของทางจังหวัด ทางเจ้าของกิจการจึงมีแผนที่จะขยับขยายมาเปิดร้านใหม่ที่กรุงเทพฯ โดยมองว่าบริเวณสามย่านและบรรทัดทองนั้นค่อนข้างเป็นแหล่งร้านอาหารที่คนกรุงเทพฯ มักจะมาหาของอร่อยๆ รับประทาน จึงเป็นที่มาของร้านถูกปากสาขาใหม่ในตึกแถว 2 คูหา ที่ตั้งอยู่ในโครงการ Stadium One แห่งนี้
โดยเจ้าของร้านอาหารถูกปากนั้นเป็นกลุ่มผู้หญิงสามคนที่เป็นทั้งเพื่อนและพี่น้องกัน โจทย์หนึ่งที่ทางเจ้าของให้กับสถาปนิกคือ ต้องการร้านอาหารที่แสดงออกถึงรสชาติอาหารของร้านถูกปาก ซึ่งมีความจัดจ้าน รสจัด ชัดเจนในตัวเอง จึงเป็นโจทย์ที่ทำให้คุณหนึ่งต้องถ่ายทอดรสชาติออกมาผ่านงานออกแบบที่เป็นรูปธรรม สามารถมองเห็นและจับต้องได้ มากกว่ารสชาติอาหารที่จะสัมผัสได้ต่อเมื่อเกิดการรับประทานเท่านั้น
รสชาติของความจัดจ้านที่ถูกถ่ายทอดผ่านการออกแบบ
“ผมพยายามคิดว่า ความจัดจ้านของรสชาติอาหารมันจะถูกแปลเป็นอะไรได้บ้าง เราอยากให้อาคารมันสื่อออกมาแบบที่ภายนอกมองดูแล้วจะแอบ sexy นิดหนึ่ง เปรียบเทียบเหมือนกับรสชาติอาหาร ที่ถ้าเราไม่เข้าไปชิมหรือเข้าไปสัมผัส เราก็จะไม่รู้ว่าจริงๆ มันมีความเปรี้ยว เผ็ดอยู่ข้างใน”
ความจัดจ้านของรสชาติอาหาร ถูกถ่ายทอดผ่านผนังกราฟฟิกสีสันฉูดฉาดภายในร้าน โดยผู้ออกแบบเลือกใช้สีสด อย่างสีส้ม แดง น้ำเงิน เขียว ซึ่งหากลองสังเกต สัดส่วนของสีส้มและสีเขียวจะมากกว่าสีอื่นๆ เพื่อให้ผนังส่วนนี้เชื่อมโยงกับโลโก้ร้านซึ่งเดิมเป็นสีส้ม นอกจากสีสดที่เราเห็นยังมีสีนวลๆ อย่างสีครีม หรือสีธรรมชาติจากไม้ แทรกเข้ามาเป็นส่วนผสมในการออกแบบ เพื่อทำให้บรรยากาศโดยรวมดูไม่ฉูดฉาดมากเกินไป และยังให้ความรู้สึกอบอุ่นเหมือนอยู่บ้าน เหมือนกำลังรับประทานอาหารรสมือแม่อยู่นั่นเอง
เพื่อเชื่อมโยงกับทางเจ้าของซึ่งเป็นผู้หญิง คุณหนึ่งจึงสื่อเส้นสายงานออกแบบให้มีความเป็น feminist มากขึ้น โดยเลือกใช้เส้นโค้งเว้า มาออกแบบตัวเคาน์เตอร์จับคู่กับวัสดุตะแกรงเหล็ก ซึ่งเหล็กเจาะรูกลมนี้ยังเชื่อมโยงไปถึงฟาซาดด้านหน้าร้าน
ด้วยความที่ภายในมีสีสันค่อนข้างมาก ภายนอกคุณหนึ่งจึงเลือกออกแบบให้เรียบง่าย โดยนำแผ่นเหล็กเจาะรูที่ถูกตัดในระยะ 60-80 ซม./ 1 ชิ้น มาทำการดัดให้โค้ง กลายเป็นฟาซาดเหล็กโค้งเว้าไปเรื่อยๆ เมื่อมองจากภายนอกเข้ามาจึงมีลักษณะคล้ายผ้าบางๆ ที่คลุมตัวร้านเอาไว้ โดยเฉพาะเวลาโพล้เพล้ที่ฟ้ายังไม่ได้มืดมากนัก เราจะเห็นความเคลื่อนไหวที่เกิดขึ้นในร้านผ่านเหล็กเจาะรูกลม ซึ่งจะเป็นการเห็นแบบวับๆ แวมๆ ชวนให้คนที่เดินผ่านไปมาสนใจและเข้าไปลิ้มลองรสชาติของความจัดจ้านที่อยู่ภายใน
First Impression ที่ขาดไม่ได้ในการออกแบบร้านอาหาร
หากเดินเข้ามาภายในร้าน เราจะเห็นโครงสร้างเดิมที่เป็นเสาคานซึ่งคุณหนึ่งตั้งใจเก็บเอาไว้เพื่อให้เชื่อมโยงกับบริบทซึ่งเป็นตึกแถวสองคูหาที่ทุบต่อกัน เมื่อมองภาพรวมแล้วคานคอนกรีตก็ไม่ได้ให้ความรู้สึกขัดตาแต่อย่างใด เนื่องจากมีเหล่ากระถางต้นไม้ประดับ โคมไฟ ผนังกราฟฟิก และบาร์โค้ง องค์ประกอบเหล่านี้เป็นเหมือน First Impression ที่สร้างภาพจำความประทับใจให้กับลูกค้าตั้งแต่ก้าวเข้ามาในร้าน
ในการออกแบบยังสังเกตได้ว่า เก้าอี้หรือโต๊ะที่ใช้จะถูกจัดวางในลักษณะที่แตกต่างอย่างหลากหลายเพื่อทำให้คนที่เข้ามารู้สึกเป็นกันเองมากขึ้น ดูไม่แข็งทื่อจนเกินไป และลดทอนความรู้สึกเขอะเขินในการเดินเข้ามาหาที่นั่ง ซึ่งโต๊ะที่ถือเป็นพระเอกของร้าน คือ แผ่นไม้กลางร้านที่ถูกออกแบบโดยขึงลวดสลิงไว้กับโครงสร้างพื้นชั้นสอง ซึ่งผู้ออกแบบตั้งใจให้โต๊ะนี้เป็นเหมือน Welcome desk หรือ Reception เพื่อสร้างจุดเด่นที่คนสังเกตได้เป็นจุดแรกเมื่อเข้ามาถึง
แม้แต่องค์ประกอบอย่างโคมไฟที่ใช้ตกแต่ง คุณหนึ่งเลือกใช้วัสดุโคมไฟสาน เพื่อเชื่อมโยงความรู้สึกไปถึงความเป็นภาคเหนือ หรือจังหวัดลำปางอันเป็นจุดเริ่มต้นของร้านอาหารถูกปาก แต่นำมาดัดแปลงด้วยมือเพื่อให้เกิดรูปทรงของโคมไฟที่หลากหลาย ไม่ซ้ำกัน สร้างความน่าสนใจให้กับพื้นที่ภายในมากขึ้นนั่นเอง
“สิ่งที่สำคัญกว่าความสวยงาม คือ การตอบโจทย์ลูกค้า บริบทพื้นที่โดยรอบและตอบโจทย์พื้นที่การใช้งาน เราไม่สามารถสร้างอาคารที่สวยอย่างเดียวได้ แต่เราต้องสร้างอาคารที่มันก่อประโยชน์ให้ทั้งสามฝ่าย ก็คือ คนออกแบบ ผู้ใช้งาน แล้วก็เจ้าของ มันถึงจะเป็นสถาปัตยกรรมที่ดีในมุมมองของผม”
เมื่อได้รับรู้ถึงแนวคิดร้านถูกปากที่ใส่ใจทั้งแบรนด์ การใช้งานของลูกค้า รวมถึงผสมผสานความสวยงามในแบบของสถาปนิก ก็ทำให้เรายิ่งเห็นด้วยกับประโยคที่สถาปนิกกล่าวทิ้งท้าย นอกจากจะรับรู้ถึงแนวคิดการออกแบบแล้ว สำหรับใครที่สนใจแนะนำให้มาลิ้มลองรสชาติอาหารที่รับรองว่าจัดจ้านไม่แพ้งานออกแบบอย่างแน่นอน