OPENING HOURS: MONDAY – SUNDAY: 10.00 AM TO 8.00 PM

info@sitename.com | 987654321

Design Makes A Better Life.

Design Makes A Better Life.

“God is in the details” คุยกับ Draftman ถึงเบื้องหลังอาชีพ ผู้เปลี่ยนงานดีไซน์ของสถาปนิกให้เป็นแบบพร้อมสร้างได้จริง

กว่าสถาปัตยกรรมจะออกมาเป็นสามมิติ จับต้องและเข้าไปใช้สอยได้อย่างที่เรามองเห็น ย่อมเกิดขึ้นจากบุคคลหลายวิชาชีพ หลายแขนง หนึ่งในนั้นคือ ‘Draftman หรือ ช่างเขียนแบบ’ ผู้ทำหน้าที่เปลี่ยนแบบสเก็ตช์ แบบร่างงานออกแบบของสถาปนิก ให้กลายเป็นแบบก่อสร้างที่มีขนาด ระยะที่ถูกต้องพร้อมนำไปสร้างจริง ถึงแม้จะเป็นกลไกหนึ่งในงานสถาปัตยกรรม แต่เชื่อเลยว่าหลายคนอาจจะยังเข้าใจผิด หรืออาจยังไม่รู้จักอาชีพนี้มากนัก วันนี้เราจึงถือโอกาสดีที่ได้คุยกับ คุณพงศ์-สุรพงศ์ เอกภาพสากล ผู้ทำงานในตำแหน่ง Job Captain ฝ่ายเขียนแบบของบริษัท Plan Architect ถึงเบื้องหลังของวิชาชีพที่ช่วยให้เราเข้าใจอาชีพนี้มากขึ้น


คุณพงศ์-สุรพงศ์ เอกภาพสากล 
Job Captain ฝ่ายเขียนแบบของบริษัท Plan Architect

Dsign Something : คุณพงศ์เรียบจบด้านไหนมา และทำงานเป็น Draftman มานานแค่ไหนแล้ว?
คุณพงศ์ : ผมจบปวส.เป็นช่างเทคนิคสถาปัตยกรรม คือ จบมาเพื่อจะทำงานเขียนแบบเลย ซึ่งจริงๆ ตอนเรียนผมได้ข้อมูลที่ไม่ถูกต้องเท่าไร ว่าเรียนมาด้านนี้เพื่อจะเป็นสถาปนิก แต่ทางสายอาชีพมันไม่ได้ไปทางนั้น มันมาที่ช่างเขียนแบบมากกว่า ซึ่งพอได้มาทำงานมันก็มีความสุขดี งานก็ท้าทายดี ผมทำงานเป็น Draftman ที่ Plan Architect ได้ 30 กว่าปีแล้ว ตั้งแต่ปี พ.ศ.2529 แต่จะมีช่วงประมานปี 34-35 ที่ผมออกไปทำบริษัทอื่น พอเข้าปี 2541 ผมก็กลับมาทำงานที่นี่ใหม่ ทำมาจนถึงปัจจุบัน

Dsign Something : การทำงานของ Draftman เป็นอย่างไร ?
คุณพงศ์ : สมัยก่อนที่เขียนมือ สถาปนิกก็จะวาด สเก็ตช์ร่างแบบ ช่างเขียนแบบก็มีหน้าที่ทำให้รูปภาพที่วาดออกมาเป็นแบบที่มีสัดส่วน มีระยะ ที่ถูกต้องสามารถเอาไปก่อสร้างได้ เพื่อส่งให้คนอื่นทำงานต่อ ทั้งวิศวกร งานระบบ หรืออาจจะมีงานออกแบบภายใน ออกแบบแลนด์สเคปด้วย ทุกอย่างมันมีจุดเริ่มต้นมาจากแบบทางสถาปัตยกรรมทั้งหมด แต่สมัยนี้พอเปลี่ยนมาทำงานใช้โปรแกรม ทางสถาปนิกเขาก็ออกแบบด้วยโปรแกรมคอมพิวเตอร์ ทำให้เขาสามารถทำงานจนใกล้เคียงกับแบบที่เกือบจะเอามาก่อสร้างได้เลย งานของช่างเขียนแบบก็จะน้อยลง คือเราสามารถนำข้อมูลที่ทางสถาปนิกเขาทำเป็นไฟล์ไว้แล้ว เอามาทำได้ง่ายขึ้น เอามาทำให้มันละเอียดขึ้น และจัดรูปแบบของแบบให้มันครบถ้วนสำหรับก่อสร้าง สำหรับขออนุญาตต่อไป


Dsign Something : ในการทำงานกับสถาปนิก มันมีข้อจำกัดตรงไหนเป็นพิเศษไหม?
คุณพงศ์ : ส่วนใหญ่มันจะเป็นเพราะว่างานมันมีข้อจำกัดเรื่องของพื้นที่ เรื่องของกฏหมายที่เกี่ยวข้องในพื้นที่นั้นๆ มากกว่า เวลาสถาปนิกทำงานเขาก็จะเอาสิ่งเหล่านี้มาเป็นข้อจำกัดของการออกแบบ แล้วก็เอาโจทย์ของลูกค้ามาผสม บางทีที่ลูกค้าอยากได้ กฏหมายมันทำไม่ได้อย่างนั้น ก็ต้องมีการปรับแบบกันเพื่อให้มันถูกต้องตามกฏหมายและถูกใจลูกค้า เราซึ่งเป็นคนเขียนแบบก็จะทำให้ตรงนี้ เพื่อทำให้แบบมันออกมาก่อสร้างได้ถูกต้องตามกฏหมายจริงๆ

Dsign Something : ในตัวขอบเขตงานของ Draftman ต้องรับผิดชอบส่วนไหนบ้าง?
คุณพงศ์ : ก็ขึ้นอยู่กับแต่ละบริษัทด้วยนะ ส่วนเนื้อหาหลักที่กำหนดว่าเราจะต้องทำอะไร ข้อแรกเลยก็คือ กฏหมาย จะเป็นตัวกำหนดว่าถ้าจะขออนุญาตก่อสร้าง ต้องส่งแบบอะไรบ้าง เช่น ผังบริเวณ รูปด้าน รูปตัด แบบขยายบันไดหรือห้องน้ำ สอง คือ ในการออกแบบก่อสร้างสถาปนิกต้องการอะไรก็เพิ่มรายละเอียดเข้าไป การที่จะทำตรงนี้ออกมา คนที่จัดเพลทแบบ* ทั้งหมดคือฝ่ายดราฟแมน ทางสถาปนิกก็จะออกแบบแค่ภาพรวมหรือเนื้อหาของงานว่าเป็นอย่างไร

พอทำเสร็จ ก็ต้องเช็คเรื่องความถูกต้องกับทางสถาปนิกว่าตรงกับที่เขาต้องการไหม ถ้าถูกต้อง แบบก็จะออกมาในรูปแบบของพิมพ์เขียว เป็นแบบก่อสร้าง แบบขออนุญาต ซึ่งจะจบที่แบบก่อสร้าง ไม่เกี่ยวกับขั้นตอนการก่อสร้าง งานของเราจะจบแค่ส่วนของกระดาษเท่านั้น

Tips : *เพลทแบบ คือ เล่มแบบก่อสร้าง โดยแบ่งเป็นหมวดหมู่ เช่น รูปด้าน รูปตัด แบบขยาย ตามที่กฏหมายต้องการให้มี ในการใช้ขออนุญาตก่อสร้างอาคารนั้นๆ


Dsign Something :
เคยเจอเคสที่ทำงานยากมากๆ ไหม?

คุณพงศ์ : ที่ยากส่วนใหญ่ มันยากเพราะเรายังไม่เคยทำมาก่อน อย่างงานฟรีฟอร์ม รูปทรงแปลกๆ เจอครั้งแรกเราก็งงเลย คือไม่รู้จะทำอย่างไรกับมัน จะทำอย่างไรให้รูปแบบนี้สามารถที่จะใส่ระยะได้ เอาไปก่อสร้างได้ แต่พอผ่านตรงนั้นมา ทุกอย่างมันก็จะมีทางแก้ของมัน ยิ่งเดี๋ยวนี้ก็ไม่ค่อยยากแล้ว เพราะมีโปรแกรมช่วยได้เยอะ ซึ่งหลักๆ โปรแกรมที่ใช้คือ Autocad  แต่สถาปนิกเขาจะทำมาเป็นไฟล์ในโปรแกรมสามมิติอย่าง Sketchup หน้าที่ของเราก็คือเอามาเปลี่ยนให้อยู่ในการเขียนแบบของโปรแกรม Autocad ที่ระยะถูกต้องพร้อมก่อสร้าง

Dsign Something : เขียนแบบด้วยมือ กับการเขียนแบบด้วยโปรแกรม ต่างกันมากไหม ?
คุณพงศ์ : เขียนมือมันเห็นได้ง่ายกว่า อย่างสมมติปกติแบบเป็นแผ่นขนาด A1 พอเขียนเสร็จก็จะวางไว้ คนอื่นก็จะเห็นว่าเราทำอะไรไปแล้ว มีอะไรบ้าง อะไรผิดอะไรถูกคือสามารถเห็นหมดทุกอย่าง คนอื่นๆ สามารถเข้ามาช่วยดูช่วยตรวจได้ง่าย แต่ถ้าเป็นคอมพิวเตอร์ ทำในโปรแกรม มันไม่มีใครรู้ จนกว่าจะพิมพ์ออกมาเป็นกระดาษ การที่เขียนวางไว้บนโต๊ะมันเห็นข้อผิดพลาดได้ชัดเจนกว่า สามารถที่จะแก้ไขกันได้ตอนนั้นเลย แต่ข้อเสียคือมันช้ากว่าการทำโปรแกรม และมันต้องใช้เวลาแก้ไขค่อนข้างเยอะ


Dsign Something :
การเป็น Draftman ที่ดีต้องมีคุณสมบัติอะไรเป็นพิเศษ ?

คุณพงศ์ : ถ้าในมุมมองผม ผมว่าต้องละเอียดสักนิดหนึ่ง อย่างสมมติถ้าคุณแก้งาน แต่ส่วนที่เกี่ยวข้องคุณไม่ได้ไปดูเลย แบบก็จะขัดแย้งกัน ที่จุดเดียวกันไม่ตรงกัน เพราะฉะนั้นคนที่จะทำงานเขียนแบบต้องละเอียด ไม่อย่างนั้นข้อผิดพลาดจะค่อนข้างเยอะ และอาจะส่งผลเสียขนาดใหญ่ได้ ซึ่งแบบจะดีหรือไม่ดีผมมองว่าส่วนหนึ่งอยู่ที่ประสบการณ์ ถ้าทำงานมานานจะรู้ว่าการก่อสร้างมันต้องการข้อมูลอะไรบ้าง

อย่างเวลาสถาปนิกออกแบบ อะไรที่เขาสร้างขึ้นมาเป็นจุดเด่นในงาน สิ่งนั้นก็จะต้องมีรายละเอียดค่อนข้างเยอะ เพื่อสร้างให้ได้ตามแบบที่เขาต้องการ นี่คือส่วนที่ทางผู้เขียนแบบจะต้องเอามาเขียนให้ครบ เขียนให้เอาไปสร้างได้ บางทีทำแบบออกไปก็จะมี feedback กลับมาว่า ตรงนี้ไม่ถูก ตรงนี้จะต้องเป็นแบบนี้ มันจะต้องมีการแก้ปัญหาหน้างาน ซึ่งคนที่ไปดูการสร้างหน้างานจริงก็จะกลับมาถ่ายทอด มาแชร์ความรู้กับทุกคน เพื่อที่จะได้รู้ว่าดีเทลแบบนี้ทีหลังอย่าทำนะ มันไม่ดี

Dsign Something : คนที่มาเป็น Draftman มีข้อจำกัดไหมว่าต้องเรียนจบอะไรมา ?
คุณพงศ์ : ความจริงไม่มีนะ ผมเคยเจอคนหนึ่งที่จบบริหาร แต่เขาไปเรียนใช้โปรแกรม Autocad ดังนั้นเขาใช้โปรแกรมเป็น แต่เรื่องงานก่อสร้างคือศูนย์เลย แต่เขาทำงานได้เพราะเขามีสถาปนิกที่เก่งมากๆ คอยชี้ให้เขาว่าคุณต้องทำอย่างนี้ มันก็จะเป็นการทำตามคำสั่ง เป็น Draftman เพียวๆ เลย แต่ถ้าจะเป็น Draftman ที่ดี ควรจะมีความรู้ แล้วก็เป็นผู้ช่วยสถาปนิกมากกว่า คุณจะต้องมีความรู้ว่าสิ่งที่คุณทำอยู่คืออะไร บางอย่างคุณสามารถให้ความรู้กับสถาปนิกได้ มันจะทำให้ความรู้มันไปด้วยกันได้ เป็นการถ่ายเทความรู้ให้กัน

Dsign Something : ในมุมมองของคุณพงศ์ มองว่าความสำคัญของ Draftman คืออะไร ?
คุณพงศ์ : ถ้ามอง ณ ปัจจุบัน ช่างเขียนแบบมันแทบจะไม่มีแล้ว โรงเรียนที่ผลิตช่างเขียนแบบออกมาน่าจะมีเฉพาะโรงเรียนเอกชนแล้ว เพราะโรงเรียนของรัฐบาล ทุกคนก็จะจบมาเป็นสถาปนิก ทุกคนคิดว่าเราจะออกแบบ ไม่มีใครคิดว่าเราจะออกมาเพื่อเขียนแบบ แต่จริงๆ แล้ว ขั้นตอนของงานสถาปัตยกรรมก็ต้องมาเริ่มจากตรงนี้ก่อน  คุณต้องมีประสบการณ์ในระดับนึง อาจจะต้องไปหน้างานบ้าง ไปรู้ว่าการก่อสร้างจริงๆ มันเป็นอย่างไร สิ่งที่คุณเขียนมา เขาเอาไปสร้างได้ไหม ถึงจะมีประสบการณ์ ช่วยให้สถาปนิกทำงานได้ดีขึ้น ยิ่งถ้ามีประสบการณ์ก็สามารถแนะนำสถาปนิกจบใหม่ได้ว่า งานก่อสร้างมันเป็นแบบนี้นะ เพื่อให้คนออกแบบสามารถออกแบบได้ดีกว่าที่เคยเป็น


Dsign Something : สำหรับอาชีพ Draftman ในอนาคต คุณพงศ์มองว่าจะเป็นอย่างไร?
คุณพงศ์ : พอสมัยนี้มันไม่มีการผลิตคนที่จบเขียนแบบโดยเฉพาะมาแล้ว ต่อไปอาจจะต้องเป็นสถาปนิกที่จบใหม่มาทำหน้าที่ตรงนี้ คือคุณจบมา คุณอาจจะไม่สามารถเป็นนักออกแบบได้เลย คุณอาจจะต้องมาเขียนแบบก่อน อันนี้คิดในกรณีที่ดราฟแมนหมดโลกไปแล้วนะ (หัวเราะ) อาจจะต้องเขียนแบบจนมีประสบการณ์ก่อน แล้วค่อยไปทำดีไซน์

Dsign Something : แสดงว่าการเขียนแบบอาจจะกลายเป็นพื้นฐานของการเป็นสถาปนิกในอนาคต ?
คุณพงศ์ : ผมเข้าใจว่าสถาปนิกเมืองนอกก็ทำแบบนี้ คือ เขาไม่มีช่างเทคนิคที่เขียนแบบ แต่บ้านเราอาจจะไม่ใช่ อาจจะโลกที่สาม สมัยก่อนเขาเร่งผลิตช่างเทคนิคมาเยอะมาก เพื่อที่จะออกมาในตลาดแรงงาน จากที่คุณจบปริญญาตรี คุณก็จบ ปวส. แล้วออกมาทำงานตรงนี้ได้เลย แต่พอโลกมันเปลี่ยนไป ทุกคนจบปริญญาตรีหมด ไม่มีใครอยากจะออกมาทำตรงนี้ แต่ตัวเนื้องานมันยังมีอยู่ ในอนาคตอาจจะเป็นสถาปนิกจบใหม่ที่ต้องมาทำ เพราะต่อให้สถาปนิกออกแบบหวือหวามากแค่ไหน แต่ไม่มีแบบก่อสร้าง มันก็ไม่เกิดสถาปัตยกรรมขึ้นจริงๆ ต่อไปโรงเรียนออกแบบอาจจะต้องพัฒนาหลักสูตร ที่สอนการเขียนแบบเพิ่มมากขึ้น เพื่อให้สถาปนิกอยู่รอดในการทำงาน เพราะไม่มีคนที่จะมาช่วยเขียนแบบแล้ว อันนี้เป็นเรื่องของอนาคต ซึ่งผมว่าอีกนาน


Dsign Something :
ในฐานะที่ทำงานในวงการนี้มานาน คุณพงศ์มีอะไรที่อยากฝากถึงสถาปนิกรุ่นใหม่ไหม ?

คุณพงศ์ : หาประสบการณ์ ออกหน้างานบ้างให้รู้ว่าเขามีขั้นตอนอย่างไร ถ้ามีโอกาส ลองผ่านสักโปรเจกต์หนึ่งที่ทำด้วยตัวเองตั้งแต่ต้นจนจบ จนสร้างเสร็จ เราจะรู้ขั้นตอนทุกอย่าง อาจจะไม่ต้องเก่งเขียนแบบก็ได้เพราะจ้างคนอื่นเขียนได้ แต่ต้องรู้ขั้นตอนการก่อสร้าง ต้องเข้าใจทั้งหมด ไม่ใช่เป็นแค่สถาปนิกออกแบบอย่างเดียว แต่คุณจะต้องรู้โครงสร้าง งานระบบ คุณถึงจะทำงานตรงนั้นได้ดี

จากการได้มีโอกาสคุยกับคุณพงศ์ในวันนี้ ทำให้เราตระหนักได้ถึงคุณค่าของอาชีพ Draftman หรือช่างเขียนแบบ ผู้เป็นฟันเฟืองที่สำคัญ ซึ่งแน่นอนว่าหากขาดฟันเฟืองนี้ไป สถาปัตยกรรมย่อมเกิดขึ้นไม่ได้จริง รวมถึงข้อคิดดีๆ อย่างการพึ่งพาความรู้รอบด้านของคนที่ทำงานร่วมกันหลากหลายฝ่าย ที่ย่อมส่งผลให้งานนั้นๆ ยิ่งออกมาละเอียดละออ สมบูรณ์แบบในทุกๆ องค์ประกอบ คล้ายกับที่วลีคุ้นหูในวงการสถาปัตยกรรมบอกเอาไว้ว่า “God is in the details”

Discover more from Design Makes A Better Life.

Subscribe now to keep reading and get access to the full archive.

Continue reading