OPENING HOURS: MONDAY – SUNDAY: 10.00 AM TO 8.00 PM

info@sitename.com | 987654321

Design Makes A Better Life.

Design Makes A Better Life.

ขับกล่อม 4 ประสาทสัมผัส ด้วยเสน่ห์ของแสงและเงาผ่านบ้าน Shade House

Location: บางพลี สมุทรปราการ
Architect: อยุทธ์ มหาโสม จาก Ayutt and Associates design (AAd)
Photographer: Sofography

นอกจากองค์ประกอบทางสถาปัตยกรรมที่ถูกออกแบบเพื่อรองรับการอยู่อาศัย อีกหนึ่งองค์ประกอบที่มนุษย์มักโหยหาและถูกสอดแทรกอยู่ในบ้านเกือบทุกหลังอย่างเลี่ยงไม่ได้ นั่นคือ ‘ธรรมชาติ’ ซึ่งคงจะดีไม่น้อยหากสถาปัตยกรรมที่สร้างขึ้นจากมนุษย์สามารถไปด้วยกันได้ดีกับธรรมชาติ ช่วยเติมเต็มการอยู่อาศัยให้มีสุนทรียะที่มากขึ้น เช่นเดียวกับบ้าน Shade House ผลงานการออกแบบจาก Ayutt and Associates design (AAd) โดย คุณอยุทธ์ มหาโสม ผู้นำธรรมชาติเข้ามาผสมผสานในงานสถาปัตยกรรม โดยที่ผู้อยู่อาศัยสามารถรับรู้ได้ผ่าน 4 ประสาทสัมผัส ทั้ง  รูป รส กลิ่น และเสียง

นิสัยเฉพาะตัวของผู้อยู่อาศัย สู่เรื่องราวของบ้าน

ในความต้องการใช้สอยของทางเจ้าของนั้นแทบจะเหมือนกับบ้านทั่วๆ ไป แต่สิ่งพิเศษที่เพิ่มขึ้นมา คือ ความต้องการให้บ้านหลังนี้เป็นบ้านหลังเกษียน สามารถพักผ่อนได้อย่างเต็มที่ ทางเจ้าของจึงต้องการพื้นที่สีเขียวที่มากกว่าบ้านปกติ เนื่องจากมีนิสัยรักธรรมชาติมากเป็นทุนเดิม ประกอบกับภรรยาที่มีอาชีพเป็นนักบำบัดจิต โดยมักจะมีคนไข้แวะเวียนมาขอคำปรึกษา ซึ่งในทุกครั้งที่เกิดการบำบัด ทางเจ้าของเองก็มีวิธีระบายความความเครียดและความกดดันที่เกิดจากคนอื่น ผ่านสองผู้ช่วยหลัก นั่นคือ ศาสนา และ ธรรมชาติ ทำให้เจ้าของบ้านค่อนข้างละเอียดอ่อน และซึมซับ ดื่มด่ำธรรมชาติได้มากกว่าคนปกติทั่วไป



หลังจากที่ทราบความต้องการและเน้นโจทย์หนักไปทางเรื่องของการรับรู้ธรรมชาติแล้ว ด้วยศักยภาพของพื้นที่หมู่บ้าน ซึ่งมีทะเลสาบขนาดใหญ่ และแปลงที่ดินมีลักษณะเป็นเนินสูงประมาน 2-3 เมตร ทำให้คุณอยุทธ์ตั้งโจทย์ของการออกแบบหลักๆ โดยวาง Layout ของบ้านให้ไม่โฟกัสไปยังบ้านจัดสรรหลังอื่นๆ และทำให้บ้านมองเห็นวิวทะเลสาบได้มากที่สุด

ธรรมชาติที่มากกว่า คือ ระบบนิเวศ

มากกว่าธรรมชาติจากต้นไม้เพียงไม่กี่ต้น คุณอยุทธ์ตั้งใจเพิ่มพื้นที่สีเขียวขนาดใหญ่ สร้างระบบนิเวศภายในบ้านและปรับเปลี่ยนแนวคิดในตอนแรกของทางเจ้าของที่วางแผนให้เป็นบ้านสองชั้นซึ่งทำให้ฟังก์ชันมากมายถูกกระจายเต็มที่ดิน โดยปรับการออกแบบใหม่ให้กลายเป็นบ้านสามชั้นด้วยการยกสระว่ายน้ำขึ้นไปอยู่บริเวณชั้นสอง เพื่อลดพื้นที่ footprint ของอาคารและเพิ่มพื้นที่เปิดโล่งรอบบ้านให้ได้มากขึ้น


ภาพประกอบแนวความคิดพื้นที่สีเขียวภายในบ้าน
credit : Ayutt and Associates design (AAd)

ซึ่งข้อดีของการนำสระว่ายน้ำยกลอยขึ้นไปไว้บริเวณชั้นสอง ยังช่วยเพิ่มความเป็นส่วนตัวในการว่ายน้ำ และเพิ่มความสุนทรีย์ในการทำกิจกรรมนี้ โดยสามารถมองเห็นวิวทะเลสาบ และว่ายน้ำอยู่ท่ามกลางความเขียวขจีของหมู่ต้นไม้ที่อยู่บริเวณชั้นหนึ่งนอกจากนั้นในส่วนของพื้นที่อาคาร ยังมีการเพิ่มพื้นที่สีเขียวอย่างสวนหลังคาที่สามารถปลูกพืชผักไว้รับประทานได้ หรือ ผนังฟาซาดไม้เลื้อย เมื่อถึงเวลาที่พืชผักเติบโตและครอบคลุมพื้นที่ทั้งหมด จะทำให้พื้นที่สีเขียวมีจำนวนมากถึง 150% ซึ่งถือเป็น 5 เท่าของข้อกำหนดพื้นที่สีเขียวในกรุงเทพฯ และยังตอบสนองต่อความตั้งใจดั้งเดิมของทั้งเจ้าของบ้านและสถาปนิก

ภาพแปลนชั้น 1 credit : Ayutt and Associates design (AAd)

ภาพแปลนชั้น 2 credit : Ayutt and Associates design (AAd)

ภาพแปลนชั้น 3 credit : Ayutt and Associates design (AAd)

“บ้านหลังนี้เป็นเหมือน Prototype ที่เราก้าวกระโดดจากบ้านแบบเดิมๆ เราอยากทำบ้านที่มีระบบนิเวศ เราไม่ได้คาดหวังที่จะต้องพึ่งรัฐบาลอย่างเดียว สำหรับวิชาชีพของเราเอง เราทำให้เต็มที่ในสิ่งที่เราทำได้ ถ้าสถาปนิกทุกคนทำแบบนี้ เดี๋ยวพื้นที่สีเขียวในเมืองมันก็มีจำนวนมากขึ้น”


มิติหลากหลายของคำว่า ‘Shade’

อย่างที่ได้ชื่อว่า Shade House คำว่า Shade ในความหมายแรก คือ มิติของสี โดยบ้านหลังนี้จะถูกออกแบบเป็นสีขาวทั้งหมด เปรียบเสมือน canvas หรือผืนผ้าใบที่รอให้เจ้าของบ้านทำการเปลี่ยนสี ซึ่งฟาซาดและตะแกรงเหล็กสีขาวที่ถูกออกแบบเป็นโครงไว้ จะทำหน้าที่นำทางพันธุ์ไม้เลื้อยต่างๆ ให้เติบโตปกคลุมบ้าน จนในที่สุดบ้านจะเปลี่ยนสีไปตามฤดูกาลของต้นไม้ หรือพันธุ์ไม้นั้นๆ ที่ทางเจ้าของปลูก

“เราทำเพื่อพิสูจน์ว่า เราทำงานสถาปัตยกรรมที่ดีได้ แต่สถาปัตยกรรมที่ดีไม่จำเป็นต้องอยู่ไปตลอด เราอยากให้ธรรมชาติมันเปลี่ยนบ้าน บ้านจะได้มีชีวิต เราอยากให้เจ้าของหรือผู้อยู่อาศัยเอง เป็นคนขีดภาษาของสถาปัตยกรรมใหม่ๆ ขึ้นมา”


ส่วน Shade ในความหมายที่สองคือมิติของแสงและเงาที่เกิดขึ้นจาก ฟาซาดเจาะรู การวางกลุ่มก้อนของฟังก์ชันอาคารที่ซ้อนกันไปมา ตะแกรงเหล็กสีขาวที่ถูกนำมาซ้อนกันหลายเลเยอร์ ทำให้มิติของแสงเงาที่เกิดขึ้นนั้นมีความแตกต่าง ไม่เท่ากัน ซึ่งในส่วนนี้เจ้าของบ้านสามารถรับรู้ได้ถึงความละเอียดอ่อนของแสงจากธรรมชาติเมื่อเข้ามาใช้งานในพื้นที่


ข้อจำกัดหนึ่งของบ้านหลังนี้ คือ เป็นหมู่บ้านที่มีข้อห้ามสร้างรั้ว โครงสร้างตะแกรงเหล็กสีขาวจึงทำหน้าที่พรางตา การที่มันซ้อนกันหลายเลเยอร์ ทำให้คนที่อยู่ภายนอกไม่สามารถมองเห็นภายในได้ แต่ในขณะเดียวกันหากเราเดินเข้าไปอยู่ในมิติของระแนงเหล่านั้น จะรู้สึกถึงความโปร่งที่มากขึ้นเรื่อยๆ และในแง่ของสถาปัตยกรรม ตะแกรงตัวนี้ยังเป็นจุดนำสายตาเพื่อพาให้มองไปสู่แกนของทางเดินเข้าบ้าน นอกจากนั้นยังมีฟังก์ชันเสริมที่คล้ายกับเหล็กดัด โดยตะแกรงนี้จะมีขนาดอยู่ที่ 30×30 ซม. เพื่อป้องกันโจรที่จะเข้ามาขโมยของมีค่าภายในบ้านนั่นเอง

‘ฟาซาด’ ที่เป็นมากกว่าเปลือกอาคาร

 หากสังเกตจะเห็นได้ว่า บริเวณชั้นสอง และชั้นสามฟาซาดจะมีรูปร่างหน้าตาที่เปลี่ยนไป จากฟาซาดตะแกรงบริเวณชั้นหนึ่งที่มีความโปร่งโล่ง พื้นที่ชั้นบนที่มีฟังก์ชันเป็นห้องนั่งเล่นและห้องนอนจะมีความทึบมากขึ้น โดยถูกหุ้มด้วยแผงอลูมิเนียมที่เจาะรู ซึ่งเปิด ปิดได้ เมื่อเกิดการปิด พื้นที่ทั้งหมดจะกลายเป็นกล่องทึบตันเพื่อเพิ่มความปลอดภัยและความเป็นส่วนตัวให้กับผู้อยู่อาศัย และสามารถป้องกันแสงแดดที่เข้ามาภายในบ้านได้ โดยแสงแดดจะเข้ามาตามความถี่ของรูที่เจาะซึ่งถูกคำนวนให้มีปริมาณพอเหมาะที่เข้าได้ 30-80% ขึ้นอยู่กับฟังก์ชันที่อยู่ภายใน หากเป็นพื้นที่ที่ไม่ได้ต้องการแสงมากก็จะมีขนาดรูที่เล็กกว่า

ถึงแม้แผงอลูมิเนียมจะสะสมความร้อน แต่ในอีกแง่หนึ่งแผงนี้จะดูดความร้อนทั้งหมดจากแสงไปอยู่ที่แผงอลูมิเนียม ซึ่งส่วนที่มีการเจาะรูให้ลมผ่าน คุณอยุทธ์จะออกแบบให้มีพื้นที่ Balcony โดยรอบ โดยลมจะพาความร้อนหลังแผงอลูมิเนียมออก ความร้อนที่เกิดขึ้นจึงอยู่เพียงแค่หน้าแผงอลูมิเนียมเท่านั้น ไม่แผ่เข้าสู่ด้านใน



แต่กลับกัน เมื่อเปิด 180 องศา Balcony ที่ยื่นออกไปถึงสามเมตรจะเป็นเหมือนชายคาของบ้าน ทำให้เมื่อเกิดฝนตกหนัก ยังสามารถเปิดหน้าต่างได้ โดยแผงฟาซาดจะเป็นตัวรับแรงปะทะของลม ซึ่งทำให้ได้กลิ่นของไอฝนที่พาธรรมชาติให้เข้าไปอยู่ภายในบ้าน



ฟาซาดที่ถูกเจาะรูยังเกิดขึ้นตามฟังก์ชัน  โดยห้องนอนรูจะเล็กลงเพื่อความเป็นส่วนตัวที่มากขึ้น ห้องนั่งเล่นรูจะใหญ่ขึ้น ทำให้เมื่อปิดบ้านทั้งหมด บ้านยังดูไม่ทึบ สามารถมองทะลุออกไปเห็นธรรมชาติที่อยู่บริเวณรอบบ้านได้ แต่คนที่อยู่ภายนอกจะไม่สามารถมองเห็นภายในได้เลย ในขณะเดียวกัน เวลากลางคืนเมื่อเกิดการเปิดไฟภายใน บ้านจะมีลักษณะเหมือนตะเกียง แสงจะทะลุออกจากรูเหล่านี้ สร้างบรรยากาศที่แตกต่างกับตอนกลางวัน ทำให้บ้านหลังเดิมนั้นดูมีหลายมิติมากขึ้น


รูที่แตกต่างกันของฟาซาดเหล่านี้ยังทำให้มิติของเงาที่เกิดขึ้นมีความแตกต่างกัน  โดยจะทะลุผ่านรูลงมายังพื้น คล้ายกับเงาของใบไม้ สร้างความรู้สึกให้บรรยากาศของการนั่งภายในห้องนั่งเล่น เหมือนกับการนั่งอยู่ใต้เงาไม้ใหญ่  ซึ่งถือเป็นจุดที่เจ้าของบ้านค่อนข้างชื่นชอบและรับรู้ได้เป็นพิเศษ


“เราสร้างรูป รูปก็คือภาพที่เราเห็นทั้งหมด สีเขียวของธรรมชาติที่กลมกลืนไปกับบ้าน กลิ่น คือ การปลูกไม้หอม กลิ่นของฝน กลิ่นของไอแดดที่เข้ามาสู่ภายใน เสียง คือ น้ำของสระว่ายน้ำที่เป็น
overflow และเนื่องจากสระว่ายน้ำอยู่บริเวณชั้นสอง เมื่อเดินเข้าบ้านทุกครั้งจะได้ยินเสียงน้ำของสระว่ายน้ำอยู่เหนือหัว ส่วนรส ก็คือ รสชาติของผลผลิตที่ได้จากการปลูก ดังนั้นมันจะเป็นบ้านที่รับรู้ถึงธรรมชาติได้ทั้ง รูป รส กลิ่นและเสียง



ถึงแม้จะเป็นงานออกแบบในสเกลสถาปัตยกรรมที่เล็กที่สุดอย่าง ‘บ้าน’ แต่แนวคิดไม่ธรรมดาที่ช่วยสร้างความแตกต่าง ทำให้เกิด Shade House หลังนี้กลายเป็นจุดเริ่มต้นและตัวอย่างของบ้านที่นำธรรมชาติเข้ามาเป็นโจทย์ จนสามารถสร้างพื้นที่สีเขียวเพิ่มระบบนิเวศ ซึ่งตอบสนองต่อทั้งเจ้าของ สถาปนิก และเมืองในวงกว้างได้อย่างแท้จริง