เมื่อพูดถึง ‘ขนมพาย’ ความกรอบของแผ่นแป้งด้านนอกกับความนุ่มละมุนลิ้นจากเนื้อแป้งและไส้หลากรสภายในได้กลายเป็นเอกลักษณ์ของขนมพายที่ครองใจใครหลายคน แต่ตอนนี้ เอกลักษณ์เหล่านั้นได้ถูกนำมาตีความใหม่สำหรับการออกแบบบ้านที่น่าสนใจหลังหนึ่งในจังหวัดเชียงใหม่ ภายใต้ชื่อ ‘PIE HOUSE’
บ้านที่ถอดมาทั้งรูปลักษณ์เส้นสายสามเหลี่ยมของขนมพาย จนไปถึงความอบอุ่นในสเปซของบ้าน ที่สถาปนิกจาก GREENBOX DESIGN นำโดย คุณสุรัตน์ พงษ์สุรรณ์ ที่ได้รับความไว้วางใจจาก คุณภัสรัญ ตรีวัฒนกูล และ คุณดิษย์ศิรินทร์ จึงอยู่สุข เจ้าของบ้านให้มาช่วยพิจารณากันตั้งแต่การเลือกซื้อที่ดินก่อนการสร้างบ้านเลยทีเดียว
OWNER : ภัสรัญ ตรีวัฒนกูล และ ดิษย์ศิรินทร์ จึงอยู่สุข
ARCHITECTURAL DESIGN : สุรัตน์ พงษ์สุรรณ์ : GREENBOX DESIGN
PHOTOGRAPHER : Panoramic Studio
STRUCTURE DESIGN : TWODEEINTER
CONTRACTOR : 2KM CONSTRUCTION
สิ่งสำคัญก่อนการออกแบบบ้านทางคุณสุรัตน์ พงษ์สุรรณ์ ได้ขอให้ทางเจ้าของบ้าน ‘ลบ’ ภาพจำเดิมของบ้านที่เคยผ่านตาทั้งหมดไปก่อน เนื่องจาการออกแบบบ้านนั้นเปรียบเสมือนการสั่งตัดเสื้อผ้าที่จำเป็นต้องพอดีกับเจ้าของในทุกรายละเอียด ดังนั้นไม่มีทางที่บ้านของคนอื่นจะกลายเป็นบ้านของเราได้อย่างแท้จริง
ผังพื้นชั้น 1
ผังพื้นชั้น 2
จุดเริ่มต้นของบ้านหลังนี้เกิดจากเจ้าของบ้านซึ่งเป็นสุภาพสตรีทั้งสองคนตั้งใจจะมีบ้านเพื่อสร้างครอบที่อบอุ่นด้วยกัน รวมไปถึงจะเปิดคาเฟ่เล็กๆ ในบริเวณด้านหน้าด้วย ดังนั้นที่ดินจึงถูกแบ่งเป็นสองส่วน ซึ่งนอกจากเรื่องของการออกแบบที่ต้องคำนึงถึงไลฟ์สไตล์ของทั้งคู่แล้ว ยังต้องดูบริบทต่างๆ คาเฟ่ที่จะสร้าง และที่สำคัญคือลูกของทั้งคู่ ซึ่งฟังก์ชันและสเปซสำหรับเด็กเล็กนั้นถือเป็นอีกหนึ่งปัจจัยสำคัญที่ส่งผลต่อภาพรวมของบ้าน ทั้งเรื่องของรูปลักษณ์และการจัดวางฟังก์ชั่น
จากข้อจำกัดของที่ดินสู่กำแพงสามเหลี่ยมอันโดดเด่น
PIE HOUSE ตั้งอยู่บนที่ดินขนาด 180 ตร.ว. ใช้เวลาออกแบบและก่อสร้างประมาณ 2 ปีจึงจะแล้วเสร็จ ซึ่งหากพิจารณาจากภายนอกปฏิเสธไม่ได้เลยว่าเส้นเฉียงของกำแพงและตัวบ้านสีขาวนั้นรวมถึงเฉดเงาจากต้นไม้ที่ตกกระทบบนผนังได้สร้างภาพจำให้กับผู้พบเห็นเป็นอย่างมาก แต่ในอีกมุมหนึ่งก็เกิดคำถามถึงที่มาของเส้นเฉียงเหล่านี้ในเวลาเดียวกัน
เมื่อมองจากภายนอก กำแพงบ้านที่เห็นเป็นแนวทแยงนั้นเกิดจากขอบเขตของที่ดินที่เป็นเหลี่ยมมุม ซึ่งฟังก์ชันด้านหลังกำแพง คือ สระว่ายน้ำ สถาปนิกจึงลดระดับกำแพงด้านที่ต่ำให้ตรงกับตำแหน่งสระว่ายน้ำ เนื่องจากพฤติกรรมของคนว่ายน้ำ ระดับการมองเห็นจะลดลงไปตามระดับความลึกของพื้นสระ ดังนั้นเมื่ออยู่ในสระว่ายน้ำกำแพงที่มีระดับต่ำกว่าปกติจึงยังสามารถบังสายตาได้เป็นอย่างดี ส่วนด้านที่สูงของกำแพงนั้นตรงกับบริเวณพื้นที่ส่วนกลางของบ้านที่สมาชิกในครอบครัวมักจะมาพักผ่อนและทำกิจกรรมร่วมกัน ความสูงของกำแพงด้านนี้จึงสร้างความเป็นส่วนตัวได้อย่างดี
ส่วนเส้นเฉียงจากตัวบ้านนั้นเกิดจากทางสถาปนิกวิเคราะห์ถึงไลฟ์สไตล์และความชอบของสมาชิกในบ้านจนตกผลึก จึงมีแนวความคิดในการออกแบบให้บ้านหลังนี้มีความสูงหนึ่งชั้นครึ่ง ด้วยเหตุผลทั้งในเรื่องของฟังก์ชันที่เอื้อต่อไลฟ์สไตล์ทั้งสำหรับเจ้าของบ้านและลูกน้อย ซึ่งมีทั้งคอร์ทยาร์ดและสระว่ายน้ำ รวมถึงสถาปนิกได้พิจารณาแล้วว่าสำหรับครอบครัวนี้ การทำบ้านสองชั้นนั้นอาจไม่เหมาะสำหรับการเลี้ยงดูเด็กทารก อีกทั้งช่วงระยะเวลา 1-5 ปี แรก ส่วนใหญ่เด็กๆ ยังนอนกับผู้ปกครองเป็นหลัก นั่นจึงทำให้สถาปนิกออกแบบพื้นที่ทำงานรวมกับพื้นที่เลี้ยงเด็กไว้บริเวณโถงบันไดก่อนขึ้นไปยังชั้นครึ่ง เพื่อให้พื้นที่ส่วนนี้ทำหน้าที่เชื่อมต่อทั้งในด้านของฟังก์ชันที่บนชั้นครึ่งนั้นเป็นพื้นที่ส่วนตัวของลูกในอนาคต
รวมไปถึงยังเชื่อมต่อทางด้านความรู้สึกระหว่างสมาชิกในครอบครัวที่สามารถเห็นกันและกันได้ตลอดเวลา ดังนั้นเมื่อฟังก์ชันของบ้านหลังนี้ลงตัวที่ชั้นครึ่ง ภายนอกอาคารจึงมีความลาดเอียงของหลังคาและแผงกรองแดดเหนือบริเวณสระว่ายน้ำตามสัดส่วนของบ้านเพื่อให้ทั้งเส้นสายของบ้านและรั้วเกิดเป็นองค์ประกอบทางสถาปัตยกรรมที่เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน
ตี [กรอบ] พื้นที่ เพื่อสร้างฟังก์ชันภายในที่อบอุ่น
เมื่อผนังบ้านและกำแพงสุดโฉบเฉี่ยวคือ ‘กรอบ’ ฟังก์ชันที่ถูกโอบล้อมภายในจึงทำหน้าที่เป็นความอบอุ่นให้กับสมาชิกในบ้าน สถาปนิกจึงออกแบบฟังก์ชันแบบตรงไปตรงมาโดยจัดวางแปลนในลักษณะตัวยู (U) เริ่มจากวางตำแหน่งทางเข้าหลักอยู่ทางทิศใต้ แล้วค่อยๆ จัดวางลำดับของฟังก์ชันตามความเป็นส่วนตัว และแบ่งแต่ละส่วนออกจากกันด้วยสเต็ปแทนการสร้างกำแพงกั้นห้อง เนื่องจากสถาปนิกต้องการให้พื้นที่ 450 ตร.ม. นั้นโปร่งโล่งและแสดงศักยภาพออกมาได้สูงสุด ด้วยระยะของคอร์ทยาร์ดที่ค่อนข้างกระชับประมาณ 8 เมตร จึงส่งผลให้ช่องเปิดบริเวณคอร์ทกรุกระจกใสขนาดใหญ่ทุกด้าน เพื่อดึงให้แสงที่มีคุณภาพจากทิศเหนือเข้าสู่ภายในบ้านในปริมาณที่เพียงพอ
และใช้ประโยชน์จากแสงแดดจากทิศใต้สำหรับบริเวณซักล้าง ส่วนการตกแต่งภายในนั้นทางสถาปนิกเน้นความเรียบง่ายอย่างที่ทางเจ้าของบ้านต้องการ ภายในบ้านจึงเป็นสีขาวเช่นเดียวกับภายนอก แต่ดึงความอบอุ่นให้บ้านกลายเป็นบ้านได้อย่างสมบูรณ์ยิ่งขึ้นด้วยการใช้กระเบื้องยางลายไม้ เสริมด้วยการเลือกโทนสีและขนาดของเฟอร์นิเจอร์ให้พอดีกับแต่ละฟังก์ชันเพื่อส่งเสริมกันและกัน
เมื่อ PIE HOUSE เสร็จสมบูรณ์ทางสถาปนิกผู้ออกแบบถึงกับเอ่ยปากว่า ‘บ้านหลังนี้ขายต่อยาก’ ไม่ใช่ในแง่เรื่องของความสวยหรือไม่สวย ทำเลดีหรือไม่ไม่ใช่ประเด็น แต่ทั้งหมดนั้นคือ เรื่องของความพอดีของฟังก์ชันที่ตอบโจทย์เฉพาะกับเจ้าของบ้าน อย่างบ้านที่ [กรอบ] นอกแต่นุ่มในหลังนี้ที่ก็จะมีเพียงคุณภัสรัญ ตรีวัฒนกูลและคุณดิษย์ศิรินทร์ จึงอยู่สุข เท่านั้นที่จะอยู่แล้วเป็นตัวของตัวเองได้อย่างเต็มร้อยในทุกๆ สเปซ