OPENING HOURS: MONDAY – SUNDAY: 10.00 AM TO 8.00 PM

info@sitename.com | 987654321

KAIZEN Coffee แบรนด์กาแฟชื่อญี่ปุ่น สัญญาติไทยที่ชวนมาลิ้มลองความหลากหลายของกาแฟ ผ่านวัสดุในงานออกแบบ

Location : คอนโดมิเนียม C Ekkamai  สุขุมวิท 63 กรุงเทพฯ
Architect : นพชัย อรรฆยะพิศุทธิ์ และสาธิกา เจียรจรูญศรี
Owner : อนันต์ วัฒนาพร
Photographer: เกตน์สิรี วงศ์วาร

คงปฏิเสธไม่ได้ว่า บรรยากาศหรือความรู้สึกที่เกิดขึ้น ณ สถานที่นั้นๆ ส่วนหนึ่งเกิดขึ้นจากสถาปัตยกรรมคืองานออกแบบ ซึ่งมักนำพาให้เรามีอารมณ์ร่วมไปกับสถานที่ เช่นเดียวกับอาคารกระจกใสสองชั้นแห่งนี้ ซึ่งเป็นที่ตั้งของร้านกาแฟ Kaizen Coffee สาขาสามที่ชวนมาลิ้มลองกาแฟคุณภาพจากหลากหลายแหล่งทั่วโลก ผ่านการออกแบบ ทดลองวัสดุในรูปแบบใหม่ๆ โดยได้สถาปนิกแห่ง Space+Craft มาเป็นผู้ออกแบบ


สำหรับชื่อ Kaizen Coffee นั้นอาจจะเป็นที่คุ้นเคยกันดีสำหรับคอกาแฟ ย้อนกลับไปที่จุดเริ่มต้น Kaizen Coffee เปิดตัวครั้งแรกในยุคที่ร้านกาแฟทางเลือกยังไม่ติดตลาด และ cafe hopping ยังไม่ได้รับความนิยมในปัจจุบัน ซึ่ง Kaizen เองถือเป็น
แบรนด์กาแฟแห่งแรกในไทยที่เสิร์ฟในรูปแบบ Nitrogen-infused ผ่านการนำเสนอกาแฟ Nitro Cold Brew แบบกดเสิร์ฟจากแทป ซึ่งสิ่งพิเศษที่ทางเจ้าของตั้งใจเพิ่มในสาขาใหม่ นั่นคือ ส่วนของร้านอาหาร ซึ่งคัดสรรอาหารรสชาติดี รวมถึงขนมหวานและขนมอบ ผสมผสานการตกแต่งภายในที่มองดูแล้วออกจะเข้ม ขรึม และเท่ห์คล้ายคลึงกับเอกลักษณ์ของกาแฟอยู่ไม่น้อย


รูปร่างหน้าของ Kaizen Coffee ที่เปลี่ยนไปจากเดิม

“เราเคยทำร้าน Kaizen สาขาแรกๆ ให้ดูสีขาว สะอาดตาในยุคที่ร้านกาแฟต่างๆ ส่วนมากเป็นแบบอินดัสเทรียล พอมันเกิดการแข่งขัน เราก็พยายามจะฉีก พยายามหาว่าจะทำอย่างไรให้มันน่าสนใจมากขึ้น อย่างสาขาใหม่ เลยตั้งใจว่าเราอยากทำให้ Kaizen ไม่เหมือน Kaizen ไปเลย

สถาปนิกเล่าถึงจุดเริ่มต้น ซึ่งมีจุดมุ่งหมายหลักๆ 2 อย่าง อย่างแรก คือ การที่ลูกค้าประจำได้เปลี่ยนบรรยากาศจากภาพลักษณ์ความเป็น Kaizen ในแบบเดิมๆ ส่วนอย่างที่สอง คือ การดึงดูดกลุ่มเป้าหมายที่ไม่เคยรู้จัก Kaizen มาก่อน และด้วยความที่ปัจจุบันเราเห็นคาเฟ่ ร้านกาแฟในแบบมินิมอล ตกแต่งเน้นสีขาวคลีนมากมาย สถาปนิกจึงเลือกสร้างภาพลักษณ์ของ Kaizen สาขาใหม่นี้ให้แตกต่าง ด้วยการหันไปใช้โทนสีเทาเข้มในการออกแบบ ผสมผสานด้วยสีอ่อนจากไม้อันเป็นธรรมชาติ เพื่อช่วยให้บรรยากาศดูเป็นกันเอง เข้าถึงคนง่ายมากขึ้น และลดความเกร็งเมื่อเดินเข้ามาภายในร้าน ไม่ได้ดูเนี้ยบจนเกินไป


ห้องทดลอง
‘วัสดุ’

“ปกติเวลา space+craft ทำงาน เราจะไม่ได้มี concept ที่หวือหวา หรืออธิบายเป็นคำ เป็นวลีได้อย่างนั้น แต่เราพยายามเอา วัสดุใหม่ๆ มาใช้ หรือการทดลองจัดวัสดุในรูปแบบต่างๆ ลองเอามาเรียงใหม่ๆ จนมันเกิดเป็นความสวยงามในรูปแบบใหม่

ด้วยสถานที่ตั้ง ซึ่งเป็นอาคารกระจกสองชั้น หน้าคอนโด ซี เอกมัย ติดกับถนนใหญ่ รายล้อมไปด้วยตึกสูง และเป็นย่านที่ค่อนข้างมีชีวิตชีวาแห่งหนึ่งในกรุงเทพฯ การตกแต่งภายในจึงต้องโดดเด่นเพื่อดึงดูดคนให้เข้าไปใช้บริการ ซึ่งหากมองจากภายนอก เราจะมองเห็นแผ่นไม้โอ๊คทรงกลมขนาดใหญ่บริเวณผนังกลางร้านที่แกะสลักด้วยตัว ‘K’ อันเป็นสัญลักษณ์แบรนด์ซึ่งออกแบบรองรับด้วยไฟ LED เพื่อดึงดูดสายตา ให้คนที่ผ่านไปมาสังเกตได้ง่ายจากถนน

ความโดดเด่นของร้านยังถ่ายทอดผ่านสองวัสดุหลัก คือ ไม้โอ๊คธรรมชาติและอิฐมอญสีเทาเข้ม ซึ่งเป็นการผสมผสานที่ลงตัว และแสดงความสวยงามของงานออกแบบผ่านโครงสร้างที่ไม่จำเป็นต้องมีการปิดผิวให้ดูเรียบเนียนมากนัก ซึ่งไม้โอ๊คที่เราเห็นจะเป็นตัวสร้างความรู้สึกอบอุ่นในขณะที่อิฐสีเทาเข้มจะสร้างความรู้สึกซับซ้อนในรูปแบบใหม่ที่ทำให้ร้าน Kaizen มีคาแรคเตอร์ที่น่าสนใจมากขึ้น



โดยอิฐสีเทาเข้มเหล่านี้จะถูกนำมาเรียงในแพทเทิร์นที่วางสลับไปมา โดยฝังเข้าไปในผนังปูนหรือเกาะกับโครงสร้างเดิมของผนังและเคาน์เตอร์ เพื่อลดความเสี่ยงในการแตกและพังทลาย ส่วนพื้นภายในร้านจะทำจากวัสดุหินขัด ซึ่งเพิ่มลูกเล่นด้วยการนำเส้นสายโลโก้จากแบรนด์มาเป็นตัวแบ่งจอยซ์เพื่อลดการแตกของหินขัด และช่วยสร้างมุมมองที่แตกต่างสำหรับคนที่มองลงมาจากชั้นบน


Seating ที่หลากหลาย ลดความเขอะเขิน

สำหรับร้านอาหารหรือร้านกาแฟที่มีสองชั้น ปัญหาส่วนมากที่มักเจอ คือพื้นที่ชั้นสองจะกลายเป็น Dead Area หรือไม่มีคนเข้าไปใช้งาน ทำให้เกิดการใช้สอยพื้นที่ไม่คุ้มค่า ผู้ออกแบบจึงเลือกวางแปลน และวางโต๊ะ เก้าอี้นั่งในรูปแบบที่หลากหลายและแตกต่าง เพื่อดึงดูดให้คนที่เข้ามาใช้บริการรู้สึกถึงการนั่งที่ไม่เหมือนกันในแต่ละมุม ซึ่งจะช่วยลดบรรยากาศที่คล้ายกับโรงอาหารที่มีโต๊ะเก้าอี้วางในรูปแบบเดียว ซึ่งมองแล้วอาจจะไม่ค่อยรื่นรมย์มากนัก


ด้วยขนาดและรูปแบบโต๊ะที่จัดไว้อย่างหลากหลาย มีทั้งมุมเล็กๆ หรือมุมกว้าง ทำให้รองรับลูกค้าได้หลากหลายรูปแบบและจำนวน และยังช่วยลดความเขอะเขินของลูกค้าที่อาจจะมานั่งทานกาแฟเพียงแก้วเดียว หรือหามุมทำงานเล็กๆ คนเดียวได้นั่นเอง


“สิ่งที่ยากในการออกแบบร้านกาแฟ คือ ร้านกาแฟมันมีเยอะ ทุกคนพยายามจะทำให้แตกต่าง ทำอย่างไรให้น่านั่ง สิ่งเหล่านี้คือการแข่งขันที่สูง ก็คิดว่าสิ่งเหล่านี้คือการแข่งขันที่สูง เราก็ต้องทำงานออกแบบของเราให้ออกมาในลักษณะที่แปลกใหม่ น่าจดจำ และทำให้ดีที่สุด”

สถาปนิกกล่าวทิ้งท้าย ทำให้เราได้เห็น Kaizen Coffee แห่งนี้เป็นส่วนผสมที่ลงตัวของความกลมกล่อม เข้มข้นในแบบของกาแฟภายใต้งานออกแบบที่สร้างเอกลักษณ์ไว้ได้อย่างน่าสนใจ ซึ่งสำหรับใครที่สนใจหรือเป็นคอกาแฟ เราขอแนะนำให้มาลิ้มลองกาแฟสูตรพิเศษของ Kaizen ที่รับรองว่าจะต้องติดใจจนต้องมาอีกครั้งอย่างแน่นอน

แผนที่ร้าน Kaizen Coffee :