(ภาพภ่ายโดย : Agence France-Presse / Vacheron constantin)
เมื่อยุคของ Corona Virus กลายเป็นยุคแห่งการ Survive สิ่งที่สามารถทำให้เราอยู่รอดและปลอดภัยได้นอกจากปัจจัยอย่างอาหารนั้นคือการกักตัวอยู่ภายในที่พักอาศัย เพื่อลดการรับเชื้อไวรัสจากสถานที่ต่างๆ จึงไม่ใช่เรื่องแปลกนักที่ในระหว่างนี้ตามท้องถนนหรือสถานที่ทั่วไปจะเงียบเหงา มองไปทางไหนก็พบเพียงผู้คนน้อยนิด ” สถานการณ์ Corona Virus หรือในอีกชื่อหนึ่งว่า Covid-19 จึงเป็นตัวแปลของภาพถ่ายสถาปัตยกรรมแลนด์มาร์คต่างๆ ที่นำเสนออย่าง Surreal ไร้ซึ่งผู้คนและนักท่องเที่ยวจากวิกฤตคราวใหญ่ แห่งศตววรษที่21 สู่ภาพจำของประวัติการณ์ทั่วโลกที่ใครๆ ก็ต่างไม่อาจลืม”
สถาปัตยกรรมจำศีล
ความเงียบ สงบ ไร้ซึ่งฝูงชน และความวุ่นวาย ของสถาปัตยกรรมที่เป็นแลนด์มาร์คนั้นคงจะเป็นภาพที่ไม่คุ้นตากันสักเท่าไหร่ และคงไม่มีใครเคยคาดคิดว่าจะสามารถทำให้สถาปัตยกรรมเหล่านี้อยู่อย่างโดดเดี่ยวไร้ผู้คนได้ แต่สำหรับในยุคของ Corona Virus กลับสามารถเป็นไปได้ และมันกำลังเกิดขึ้นกับแลนด์มาร์คหลายๆ แห่งบนโลก ซึ่งในอีกมุมหนึ่งของความเงียบไร้ซึ่งผู้คนนั้น เราอาจมองได้อีกมุมหนึ่งที่เห็นอกเห็นใจและนึกถึงสถาปัตยกรรมมากขึ้นได้ว่าอาคารหรือสถาปัตยกรรมที่เป็นแลนด์มาร์คเหล่านี้ คู่ควรแก่การได้พักและจำศีล เช่นเดียวกับพวกเราหรือเปล่า? โดยภาพแลนด์มาร์คที่ได้รวบรวมมาเหล่านี้ส่วนใหญ่ล้วนแต่เป็นสถาปัตยกรรมเก่าแก่โบราณทั้งสิ้น นอกจากการปรับปรุงซ่อมแซมแล้ว การให้สถานที่เหล่านี้ได้พักด้วยการปราศจากการเข้าถึงของผู้คน ก็ถือเป็นเรื่องที่ดีไม่น้อยสำหรับมุมของการอนุรักษ์สถาปัตยกรรมเก่าแก่
ภาพ Duomo Cathedra มหาวิหารสูงเสียดฟ้างานศิลป์แบบโกธิค ที่ก่อสร้างมานับ 400 ปีในกรุงมิลาน ประเทศอิตาลี กับภาพความซบเซาในยุค Corona Virus (ภาพถ่ายโดย : Alberto Bernasconi)
ภาพ Cologne Cathedral มหาวิหาร เมืองโคโลญ ประเทศเยอรมัน สถาปัตยกรรมหอคอยแฝดแบบโกธิค มรดกโลกจากองค์กรยูเนสโก ที่เงียบเหงาไม่ต่างไปจากแลนด์มาร์คอื่นๆ (ภาพถ่ายโดย : AFP)
ภาพ St. Peter’s Basilica มหาวิหารนักบุญเปโตร นครรัฐวาติกัน กรุงโรม ประเทศอิตาลี ที่สามาถจุคนได้มากถึง 60,000 คน แต่ ณ ปัจจุบันนี้กลับไม่มีแม้แต่ผู้ใด (ภาพถ่ายโดย : Robin Gomes)
ภาพ Arc de Triomphe อาร์กเดอทรียงฟ์เดอเลตวล หรือที่รู้จักในชื่อของประตูชัยฝรั่งเศส สถาปัตยกรรมศิลปะคลาสสิคที่ดัดแปลงจากสถาปัตยกรรมโรมันโบราณ อายุกว่า 200 ปี ณ กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส กับการดูแลของผู้รักษาความปลอดภัย เพื่อควบคุมสถานการณ์การแพร่เชื้อของ Covid-19 (ภาพถ่ายโดย : Guignebourg Denis)
ภาพ วิหารโบราณ Pantheon ในกรุงโรม ประเทศอิตาลี วิหารที่มีอายุยาวนานตั้งแต่ยุคกรุงโรมัน กับการออกแบบทางสถาปัตยกรรมที่น่าทึ่งทั้งภายนอกและภายในตัวอาคาร แลนด์มาร์คสำหรับใครหลายคนที่ยามนี้ไม่อาจเข้าไปสัมผัสได้ (ภาพภ่ายโดย : Yiannis Pavlis, Angelo Carconi)
ภาพ A Fontana di Trevi น้ำพุเตรวี ประติมากรรมอันงดงามที่แฝงอยู่ภายในสถาปัตยกรรม กับช่วงเวลาของความเงียบไร้ผู้คนเข้าไปอธิษฐานโยนเหรียญอย่างเคย ณ กรุงโรม ประเทศอิตาลี (ภาพถ่ายโดย : Alberto Lingria/Xinhua)
“โดดเดี่ยว ที่กลับกลายเป็น โดดเด่น”
นอกจากการจำศีลของสถาปัตยกรรมแลนด์มาร์คในหลายๆ แห่งบนโลกแล้ว ความงดงามที่ซ่อนอยู่ภายใต้ “ความโดดเดี่ยว” ก็ช่วยผลักให้สถาปัตยกรรมเหล่านี้ “โดดเด่น” ขึ้นมาด้วยตัวของมันเอง ซึ่งสำหรับเหล่าช่างภาพนั้นในมุมของสถานที่ที่ปราศจากผู้คนคงเป็นช่วงเวลาที่พวกเขารอคอยกันอยู่เสมอมา แต่ถึงอย่างไรภาพของสถาปัตยกรรมที่โดดเดี่ยวโดดเด่นเช่นนี้ กับช่วงเวลาแบบนี้ คงอาจไม่ได้หาดูหรือไปถ่ายกันง่ายๆ เพราะเหล่าช่างภาพหรือแม้แต่ใครๆ ก็คงต้องกักตัวอยู่บ้านเช่นกัน
ภาพ Louvre Pyramid พิระมิดแก้วงานศิลป์ระดับโลก ณ กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส ที่สวยสง่าตระการตา ไร้ซึ่งผู้คนและความวุ่นวาย (ภาพถ่ายโดย : Mis à jour le)
ภาพ Eiffel Tower ณ กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส สถาปัตยกรรมเหล็กแลนด์มาร์คสำคัญของผู้คนที่มาเยี่ยมเยือนกรุงปารีส กับความโดดเดี่ยวที่ไม่อาจพบเห็นได้ในช่วงเวลาที่ผ่านมา (ภาพถ่ายโดย : AFP)
การ Regeneration ของสถาปัตยกรรม ที่เคยคับคั่งไปด้วยผู้คน
ไม่ว่าสถานที่ไหน หรือการผ่านเรื่องราวอะไรมามากๆ ก็ต่างต้องมีการ Regen ฟื้นฟูทั้งนั้น ซึ่งจากที่พบเห็นได้ในหลายๆ มุมมองระหว่างช่วงก้าวผ่านวิกฤต Covid-19 ก็ทำให้พบว่า หลายๆ อย่างกำลังเข้าสู่ช่วงแห่งการฟื้นตัวสู่สภาพที่ควรจะเป็น อย่าง อากาศที่ดีขึ้นจากการสัญจรที่ลดลงบนท้องถนน ธรรมชาติที่อิ่มเอมขึ้นจากปริมาณที่ลดลงของนักท่องเที่ยวและผู้คน รวมถึงสถาปัตยกรรมด้วยเช่นเดียวกัน ที่ถึงแม้จะมีโครงสร้างที่แข็งแรง แต่อย่างไรก็ตามทุกสิ่งล้วนมีการเสื่อมสึกหรอ อย่างที่ได้กล่าวข้างต้นว่านอกจากการบำรุงซ่อมแซมแล้ว การฟื้นฟูในช่วงวิกฤตครั้งนี้จึงอาจเป็นโอกาสของสถาปัตยกรรม ที่หากสถาปัตยกรรมเกิดมีชีวิตและพูดกับเราได้ สำหรับในครั้งนี้เขาอาจจะกำลังขอบคุณเราอยู่
ภาพ Forbidden City พระราชวังกู้กงหรือพระราชวังต้องห้าม อายุหลายร้อยปี ณ เมืองเป่ยจิง ประเทศจีน สถานที่ท่องเที่ยวที่ผู้คนทั่วโลกให้ความสนใจ จึงทำให้ได้รับความนิยมและการเข้าเยี่ยมชมตลอดมาอย่างไม่เคยหยุดพัก (ภาพถ่ายโดย : Mark Schiefelbein)
ภาพ British Museum ณ กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ สถานที่ที่ไม่มีใครเคยพลาดเมื่อมาถึงกรุงลอนดอน เพราะมากด้วยของสะสม และเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ที่ล้ำค่าทั่วทุกมุมโลก จึงไม่แปลกที่ใครๆ ก็ต้องเข้ามาเยี่ยมเยือนอย่างไม่ขาดสาย (ภาพถ่ายโดย : Rick Findler)
ทั้งหมดนี้ล้วนเป็นภาพเล่าและมุมมองถึงสถาปัตยกรรมในยุค Corona Virus รวมถึงการกล่าวถึงภาพจำที่แตกต่างและไม่อาจลืมสำหรับคนยุคใหม่ แต่อย่างไรก็ตามต้องขอขอบคุณภาพถ่าย Surreal จากช่างภาพทุกมุมโลกที่ได้สละความกล้าในช่วงวิกฤตแบบนี้เข้าไปถ่ายภาพมาให้เราได้รับชมกัน และสิ่งสำคัญคือไม่ว่า Corona Virus หรือ Covid-19 จะมีอยู่หรือไม่ ผู้คนจะยังหนาแน่นคับคั่ง หรือไร้ซึ่งใครคนใดคนหนึ่ง “สถาปัตยกรรมก็ยังคงเป็นความสวยงามที่อยู่เคียงข้างเรา แม้เราจะพบกับวิกฤตที่ร้ายแรงเพียงใดก็ตาม “