OPENING HOURS: MONDAY – SUNDAY: 10.00 AM TO 8.00 PM

info@sitename.com | 987654321

Design Makes A Better Life.

Design Makes A Better Life.

House Enfold เปลี่ยนบ้านธรรมดาให้แสนพิเศษ ด้วยสเปซที่โอบกอดธรรมชาติ

Location: เทพารักษ์ สมุทรปราการ
Architects: เศรษฐการ ยางเดิม และภาพิศ ลีลานิรมล จาก TOUCH Architect
Owner: สิริยศ ภูนุช และกายแก้ว อัมพรวิวัฒน์
Photographer: จิณณวัตร บริหารกิจอนันต์

 

ถ้าเราตั้งคำถามว่า ความสำคัญในการออกแบบบ้านสักหนึ่งหลังนั้นคืออะไร? คำตอบที่ผู้ออกแบบมักตอบตรงกันคือ บ้านจะต้องตอบสนองต่อความต้องการของผู้อยู่อาศัย บ้านที่ดีจึงไม่เพียงแต่ถูกใจผู้ออกแบบเท่านั้น แต่ต้องเป็นบ้านที่ใส่ใจโจทย์จากทางเจ้าของเพื่อให้การอยู่อาศัยเป็นไปอย่างสมบูรณ์มากที่สุด เช่นเดียวกับบ้าน House Enfold หลังนี้ที่มีจุดเริ่มต้นมาจากความต้องการอันหลากหลายของเจ้าของผสมผสานกับงานออกแบบเพื่อแก้ปัญหาและเพิ่มความสวยงามให้บ้านได้อย่างลงตัว โดยได้ คุณเอฟ-เศรษฐการ ยางเดิม และ คุณจือ-ภาพิศ ลีลานิรมล จาก TOUCH Architect มาเป็นผู้ออกแบบ

คุณจือ-ภาพิศ ลีลานิรมล และคุณเอฟ-เศรษฐการ ยางเดิม สถาปนิกจาก TOUCH Architect

 ความต้องการของทางเจ้าของสู่จุดเริ่มต้น

สำหรับบ้าน House Enfold นั้น ด้วยความที่ที่ดินมีลักษณะเป็นสี่เหลี่ยมจัตุรัสขนาดประมาณ 50 ตร.วา แต่ความต้องการจากทางเจ้าของค่อนข้างมีฟังก์ชันหลากหลาย โดยต้องการพื้นที่เกือบๆ 3 ห้องนอน พื้นที่ห้องนั่งเล่นที่มองเห็นสวน พื้นที่สำหรับคุณพ่อคุณแม่ที่อาจจะย้ายมาอยู่ด้วยกันในอนาคต รวมถึงห้องครัวที่ทำอาหารได้จริงเนื่องจากเป็นกิจกรรมที่ทางเจ้าของบ้านชื่นชอบ ความต้องการเหล่านี้จึงกลายเป็นโจทย์ที่ท้าทายเนื่องจากขนาดของพื้นที่ไม่ได้ใหญ่มากนัก



“ผมมองว่าด้วยพื้นที่เท่านี้ ค่อนข้างออกแบบลำบากเหมือนกันให้มันได้สุนทรียะ อันนี้เป็นเหมือนโจทย์แรกที่เราเจอ เราจะแก้ปัญหานี้อย่างไรให้มันมีพื้นที่ครบตามความต้องการของเจ้าของ ทำอย่างไรให้มันประหยัดพื้นที่มากที่สุดแล้วมันไม่ดูเป็นบ้านจัดสรรทั่วๆ ไป”

ด้วยโจทย์นี้ทำให้สองผู้ออกแบบเลือกที่จะโฟกัส Circulation หรือทางสัญจรเป็นอย่างแรก เพื่อทำให้ประหยัดพื้นที่ได้มากที่สุด เพราะหากประหยัด Circulation ได้มากเท่าไร ส่วนที่เหลือจะเป็นพื้นที่ที่ได้กลับมามากเท่านั้น


Circulation ที่โอบล้อมทุกฟังก์ชันไว้ด้วยกัน

บ้านบนที่ดินผืนนี้ เดิมเป็นหมู่บ้านจัดสรร ซึ่งพื้นที่หมู่บ้านจัดสรรทั่วไปที่เราเห็น มักจะถูกแบ่งเป็นสัดส่วนรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัสเพื่อให้ได้พื้นที่ใช้สอยมากที่สุด แต่ด้วยความที่เป็นรูปทรงสี่เหลี่ยมจัตุรัส ทำให้ทางสัญจรสามารถเกิดได้หลายรูปแบบ จึงเปลืองพื้นที่มากกว่า เมื่อเทียบกับบ้านทรงยาวที่มีเส้นทางสัญจรเพียงเส้นเดียว (Linear Shape)

ภาพแสดงแนวความคิดการออกแบบ credit: TOUCH Architect

คุณเอฟและคุณจือจึงนำแนวความคิดเส้น Linear นี้มาใช้ในการออกแบบทางสัญจรของบ้าน แต่เพื่อให้ลงตัวในที่ดินทรงสี่เหลี่ยมจัตุรัส จึงเกิดการหักและพับเส้นสัญจรทรง Linear นี้ เป็นระดับที่ต่างกันขึ้นไปเรื่อยๆ ซึ่งวิธีนี้จะมีข้อดีตรงที่ประหยัดพื้นที่ในการสร้างทางสัญจร  ได้ช่องเปิดภายในและภายนอกเพิ่ม รวมถึงได้พื้นที่คอร์ดตรงกลาง และได้พื้นที่ภายในที่สามารถแบ่งโซนฟังก์ชันได้อย่างชัดเจน

‘Enfold’ ที่มาของชื่อสู่แนวคิดโอบกอดธรรมชาติ

คำว่า Enfold ถ้าแปลอย่างตรงตัวจะแปลว่า โอบล้อม หรือ โอบกอด ส่วนคำว่า Fold นั้นสามารถย่อยออกมาเป็นความหมายแฝงที่แปลว่า การพับ ซึ่งทั้งสองคำล้วนเป็นแนวคิดหลักของบ้าน ด้วยการพับทางสัญจรขึ้นไปเรื่อยๆ ฟังก์ชันที่เกิดขึ้นรอบทางสัญจรจะกลายเป็นแมสอาคารที่โอบกอดทั้งทางสัญจรและคอร์ดต้นไม้เอาไว้เป็นก้อนเดียวกัน

ภาพแสดงแนวความคิดการออกแบบ credit: TOUCH Architect

การออกแบบที่โอบล้อมธรรมชาติในลักษณะนี้ ทำให้พื้นที่ทุกส่วนในบ้านสามารถมองเห็นต้นแก้วเจ้าจอมที่อยู่กลางบ้านได้ทั้งหมด ซึ่งทางเจ้าของเองก็มีนิสัยชอบจัดสวน ปลูกต้นไม้ แต่ด้วยหน้าที่การงานทำให้ไม่ค่อยมีเวลา การมีพื้นที่สวนเล็กน้อยที่จัดการได้จึงถือว่าตอบโจทย์ของทางเจ้าของ และยังเป็นวิว ช่วยสร้างบรรยากาศที่ดีให้กับการอยู่อาศัยภายในอีกด้วย

ในการวางผังเราก็สามารถมองเห็นต้นไม้ได้ตั้งแต่ทางเข้าบ้าน แต่หากยืนอยู่บริเวณกลางคอร์ดจะสามารถมองเห็นพื้นที่ภายในบ้านทั้งหมดได้ เพื่อสร้างความเป็นส่วนตัวให้การอยู่อาศัย สถาปนิกจึงเลือกใช้แพทเทิร์นระแนงจากแผงเหล็กสีขาว เพื่อสร้างความเป็นส่วนตัว แต่ก็ไม่ทึบจนตัดขาดระหว่างภายนอกและภายในมากเกินไป


เมื่อผ่านตัวระแนงนี้จะพบกับทางเข้าหลักของบ้านที่ออกแบบเล่นกับความรู้สึก โดยค่อยๆ เปลี่ยนสเปซขึ้นเรื่อยๆ สังเกตได้จากทางเข้าที่ค่อนข้างมืด ใช้แสงไฟเพียงเล็กน้อยและไม่มีแสงสว่างส่องถึง รวมถึงใช้วัสดุ ไม้ เพียงชนิดเดียว ต่อเนื่องทั้งพื้น ผนัง และเพดาน เพื่อให้คนที่เดินผ่านรู้สึกเหมือนกล่อง เป็นอุโมงค์ ที่พาให้มาเจอกับสเปซโซนนั่งเล่น โซนรับประทานที่โปร่ง โล่ง สว่างจากแสงธรรมชาติที่ส่องเข้ามาทั่วทั้งบ้าน


พื้นที่บริเวณชั้นล่างยังรวมฟังก์ชันโซนของคุณพ่อคุณแม่ที่อาจจะย้ายมาอยู่ด้วยกันในอนาคต โดยแยกโซนมาอยู่ด้านหน้าอย่างชัดเจน เพื่อเพิ่มความเป็นส่วนตัวให้กับเจ้าของ และเป็นโซนที่มีระดับเตี้ยกว่า มีเส้นทางที่สั้นและสะดวกกว่าเผื่อสำหรับการใช้รถเข็นในอนาคต ติดกับโซนของคุณพ่อคุณแม่จะเป็นห้องน้ำที่อยู่กลางบ้าน ซึ่งสามารถใช้แชร์ได้ทั้งแขกที่มาบ้านและโซนของคุณพ่อคุณแม่ ถัดจากนั้นจะเป็นพื้นที่ห้องครัวซึ่งเป็นครัวไทยผสมครัวฝรั่ง กั้นขอบเขตพื้นที่ชัดเจนโดยสามารถเปิด หรือปิดได้เมื่อใช้ห้องครัว แต่ถึงแม้จะปิด วัสดุที่เป็นกระจกก็ทำให้มองเห็นกิจกรรมที่เกิดขึ้นภายนอกและสามารถมีส่วนร่วมกับคนที่นั่งรับประทานอาหารหรือดูโทรทัศน์อยู่ได้

ภาพแปลนบ้านชั้น 1 credit: TOUCH Architect

ภาพแปลนบ้านชั้น 2  credit: TOUCH Architect

เมื่อผ่านช่องบันไดที่ถูกซ่อนไว้หลังแผงโทรทัศน์ จะพบกับพื้นที่ชั้นบน ซึ่งจะมีฟังก์ชันหลักๆ 3 อย่างด้วยกัน คือ ห้องนอนหลัก ห้องนอนลูกในอนาคต และส่วน rooftop เพดานสูงที่ถูกดันขึ้นไปจากส่วนห้องนั่งเล่นของชั้น 1 จะถูกใช้เป็น rooftop ด้านบน ซึ่งหากเดินผ่านเส้นทางที่ถูกพับขึ้นไปเรื่อยๆ Rooptop จะเป็นเหมือนฟังก์ชันสุดท้ายที่เป็นตัวจบให้กับทางสัญจรนั่นเอง


Daylight วัตถุดิบสำคัญที่เติมเต็มการอยู่อาศัย

“ช่วงบันไดหรือทางสัญจรเป็นเหมือนพระเอกของบ้านเลย มันคือทั้งคอร์ดตรงกลางที่โอบล้อมและมองเห็นธรรมชาติตรงกลาง ถ้าเราไปยืนบริเวณชั้นสองแล้วเดินขึ้นบันไดหรือลงบันไดเราจะเห็นท้องฟ้าในตอนกลางคืนและเห็นทุ่งหญ้าด้านหลัง รวมถึงมี Daylight ที่ส่องจากช่องบันไดลงมาทั่วทั้งบ้าน สามารถนั่งอ่านหนังสือได้โดยไม่ต้องเปิดไฟ  แทนที่บันไดมันจะเป็นแค่ทางสัญจร แต่เรากลับได้ฟังก์ชันอื่นเพิ่มขึ้นมา”


Daylight
หรือ แสงจากธรรมชาติ ถือเป็นอีกหนึ่งแนวคิดที่ทำให้บ้านหลังนี้แตกต่าง เนื่องจากขนาดของบ้านที่จำกัดและเต็มไปด้วยฟังก์ชัน สองสถาปนิกจึงเลือกออกแบบบรรยากาศของบ้านให้แสงธรรมชาติส่องเข้ามาอย่างทั่วถึง ทำให้บ้านดูโปร่งและสว่างโดยไม่จำเป็นต้องเปิดไฟในตอนกลางวัน ช่วยทำให้บ้านดูกว้างมากขึ้น และยังช่วยเพิ่มสุนทรียะในการอยู่อาศัยให้ใกล้ชิดกับธรรมชาติอีกด้วย


ระนาบสร้างสเปซ

เมื่อมองจากภายนอก จะเห็นบ้านหลังนี้โดดเด่นเป็นก้อนอาคารสีขาวอันเรียบง่าย แซมด้วยองค์ประกอบระแนงและวัสดุจากไม้ผสมผสานอยู่อย่างนิดละหน่อย ซึ่งการใช้สีอ่อนจะช่วยให้บ้านที่มีขนาดจำกัดนั้นดูกว้างมากขึ้น และด้วยความที่ต้องการให้ Daylight เข้ามาเป็นจุดสำคัญในบ้าน สีขาวจึงเหมาะสมที่สุดเนื่องจากมีคุณสมบัติในการสะท้อนแสงได้ดี แต่ในขณะเดียวกันถ้าบ้านเป็นสีขาวไปทั้งหมด อาจจะดูนิ่งมากเกินไป ผู้ออกแบบจึงนำไม้เข้ามาเป็นส่วนผสมที่ช่วยทำให้บรรยากาศอบอุ่นขึ้นมาอย่างที่มันควรจะเป็น


“เราชอบอะไรที่มันเป็นระนาบ ต่อให้มันเป็นองค์ประกอบเล็กๆ อย่างระแนง เราก็ชอบที่จะจับมันมาเรียงให้เกิดเป็นระนาบ เพราะถ้าเป็นระแนงโดดๆ แบบแรนดอม มันจะดูเป็นงานตกแต่ง เราชอบหยิบเอาวัสดุที่ใช้ตกแต่งนั่นแหละ มาสร้างเป็น
สเปซมากกว่า”

การนำวัสดุตกแต่งมาสร้างระนาบอย่างที่คุณเอฟและคุณจือบอก ถือเป็นความชอบส่วนตัวจนกลายเป็นเอกลักษณ์ของงาน TOUCH Architect เลยก็ว่าได้ เช่นเดียวกับบ้านหลังนี้ที่เราจะเห็นฟาซาดด้านหน้าเป็นระนาบที่ประกอบด้วยระแนงไม้โค้งยื่นออกไปในลักษณะที่ไม่ได้ขนานกับตัวบ้าน เพื่อให้เกิดเงาพาดเข้ามาทำให้ภายในบ้านนั้นร่มได้มากกว่า และยังรับลมเข้ามาได้มากขึ้นด้วย ฟาซาดชิ้นเดียวกันนี้ที่ต่อเนื่องไปจนถึงด้านข้างของบ้าน ก็เพื่อบังงานระบบที่อยู่ด้านข้างและสร้างความต่อเนื่องในการมองเห็น



ส่วนช่องเปิดที่ติดกับห้องนั่งเล่น ก็เลือกใช้วัสดุเป็นระแนงไม้เช่นเดียวกัน เพื่อกรองแสงแดดที่จะสาดเข้ามาในตอนบ่าย ส่วนในเวลาเช้าที่ร่ม ก็สามารถเปิดบานระแนงนี้เพื่อให้เกิดการไหลเวียนของลมเข้ามาภายในบ้านโดยไม่จำเป็นต้องเปิดแอร์ และด้วยความที่ด้านหลังของบ้านนั้นติดกับบึง เป็นที่ว่างโล่ง ระแนงในส่วนนี้จึงทำหน้าที่เป็นเหมือนเกราะป้องกันสัตว์เลื้อยคลานต่างๆ ที่จะแอบเข้ามาภายในบ้านหรือช่วยกันขโมยได้อีกทางหนึ่งด้วย


“การออกแบบบ้าน สิ่งที่ต้องใส่ใจมากจริงๆ คือ มันจะต้องเกิดปัญหาน้อยที่สุด มันเป็นเรื่องของระยะยาว แนวคิดมันจะต่างจากพวกร้านอาหาร คาเฟ่เพราะมันมีคนเข้าไปอยู่อาศัยจริง มันจะไม่ใช่ความหวือหวาตามเทรนด์ เรากลับมองบ้านที่มันเรียบง่าย ตอบโจทย์ มันมักจะอยู่ได้นาน”
สถาปนิกกล่าวทิ้งท้าย