OPENING HOURS: MONDAY – SUNDAY: 10.00 AM TO 8.00 PM

info@sitename.com | 987654321

Design Makes A Better Life.

Design Makes A Better Life.

City Gable House บ้านเล็กกลางเมืองใหญ่ ออกแบบการใช้ชีวิตจากคอนโดมิเนียม สู่ความเป็นบ้าน

Location: รัชดา กรุงเทพฯ
Architects: Monotello โดย ปัทมา พรภิรมย์ และ สหวุฒ ปานะภาค
Photographer: ศุภกร ศรีสกุล

ถ้าพูดถึงการใช้พื้นที่เพื่ออยู่อาศัยระหว่าง บ้าน และ คอนโดมิเนียม สถาปัตยกรรมทั้งสองประเภทนี้ ย่อมมีความแตกต่าง ทั้ง การใช้งาน และการดูแลที่แตกต่างกัน ซึ่งหลายคนมักจะเริ่มต้นจากการอาศัยอยู่คอนโดมิเนียมแล้วขยับขยายไปสร้างบ้านของตัวเองสักหนึ่งหลัง เช่นเดียวกับเจ้าของบ้าน City Gable House ซึ่งยังคงเคยชินกับการใช้พื้นที่แบบเต็มประสิทธิภาพในรูปแบบคอนโดมิเนียม จนนำมาเป็นส่วนหนึ่งของโจทย์ในการออกแบบบ้านหลังนี้ โดยได้สถาปนิกจาก Monotello มาเป็นผู้ออกแบบ

บ้านอยู่ดี ดูแลง่าย 

จากความต้องการมี ‘บ้าน’ ของครอบครัวขนาดเล็ก ซึ่งประกอบไปด้วยสมาชิกทั้งหมด 3 คน นั่นคือ พ่อ แม่และลูกชาย เนื่องจากการใช้งานของพื้นที่ใช้สอย ร่วมกับพื้นที่สาธารณะในรูปแบบคอนโดมิเนียม ไม่สามารถตอบสนองการใช้ชีวิตครอบครัว ความต้องการพื้นที่แนวราบ และความต้องการความเป็นส่วนตัวจึงเพิ่มมากขึ้น

ทางเจ้าของจึงตัดสินใจเลือกที่จะกลับมาจัดการที่ดินแปลงเล็กที่มีอยู่ใจกลางเมือง ย่านรัชดา ซึ่งเป็นการจัดสรรความต้องการพื้นที่ใช้สอย ภายใต้ข้อจำกัดของขนาดที่ดิน งบประมาณ รวมถึงรูปแบบการใช้พื้นที่เต็มประสิทธิภาพของการอยู่อาศัยแบบคอนโดมิเนียม ซึ่งทางเจ้าของเองมองว่า ความสะดวกสบาย ดูแลง่าย และความปลอดภัยในแบบคอนโดมิเนียมนั้น ยังคงเป็นรูปแบบการใช้งานที่ต้องการในบ้านหลังนี้

คอนโดมิเนียม สู่ความเป็น บ้าน

ด้วยข้อจำกัดของขนาดที่ดินที่มีอยู่ เพื่อให้เพียงพอต่อความต้องการพื้นที่ ฟังก์ชันการใช้งานภายในบ้านจึงถูกจัดการพื้นที่ใช้สอยเป็นรูปแบบบ้าน 3 ชั้น ซึ่งมีพื้นที่ใช้สอยประมาณ 350 ตารางเมตร โดยที่ชั้นล่างของบ้าน จะมีการใช้งานค่อนข้าง Semi-public สำหรับรับรองแขกคนสำคัญของครอบครัว คล้ายคลึงกับความเป็น Lobby หรือ Reception ของคอนโดมิเนียม ส่วนชั้นสองจะเป็นพื้นที่ส่วนกลางของครอบครัวที่มีการใช้งานประจำ โดยที่ชั้นบนสุดจะเป็นส่วนของห้องนอน

“ถ้าถามว่าบ้านหลังนี้นำแนวคิดรูปแบบการใช้งานของคอนโดมิเนียมมาใช้อย่างไร กล่าวคือเมื่อ ‘ความเป็นบ้าน’ เริ่มขึ้นที่ชั้นสอง จึงทำให้เจ้าของนั้น รู้สึกถึงความเป็นพื้นที่ส่วนตัวของครอบครัว การดูแลรักษา การใช้งานพื้นที่ได้เต็มประสิทธิภาพ การเชื่อมพื้นที่ใช้สอยเข้าหากัน แต่ในขณะเดียวกันมีการแบ่งพื้นที่ใช้งานให้เป็นสัดส่วน ไม่ได้เป็นการกั้นห้องต่อห้อง สิ่งนี้เป็นความรู้สึกที่เจ้าของยังอยากสัมผัส คล้ายกับเวลาที่อยู่คอนโด”

ด้วยแนวคิดข้างต้น บ้านหลังนี้จึงมีการจัด zoning ที่ค่อนข้างกระชับ โดยบริเวณชั้นสองซึ่งเป็นใจกลางหลักของบ้าน จะเป็นสเปซก้อนใหญ่ที่แบ่งโซน ให้กลายเป็นพื้นที่ห้องนั่งเล่น ส่วนครัว ส่วนรับประทานอาหาร และพื้นที่นั่งทำงาน ที่เชื่อมถึงกันในลักษณะ Open Plan ซึ่งทุกคนในครอบครัวสามารถมาทำกิจกรรมทุกอย่างในชั้นนี้และมองเห็นซึ่งกันและกัน รวมถึงมีพื้นที่ห้องซักผ้า อบผ้า รีดผ้า ที่จบในชั้นสอง เพื่อที่ทางเจ้าของจะสามารถใช้ชีวิตทั้งวันได้โดยไม่จำเป็นต้องลงไปที่ชั้น 1

ภายนอกมีระเบียงไม้ ที่มีระยะถอยร่นห่างจากรั้วบ้าน เพื่อให้มีความเป็นส่วนตัวจากมุมมองบริบทภายนอกสู่ภายใน บดบังด้วยตำแหน่งของต้นไม้ใหญ่ที่ถูกปลูกขึ้นจากบริเวณคอร์ดทางเข้าบ้านชั้น 1 และเป็นการเชื่อมพื้นที่กับการใช้งานภายในบ้าน ทำให้เวลามองออกไปภายนอก ยังรับรู้ได้ถึงขอบเขตที่ดินของบ้าน ช่วยเพิ่มความรู้สึกให้ผู้อยู่อาศัยรู้สึกถึง ‘ความเป็นบ้าน’ มากขึ้น


ภาพแสดงแนวคิดบ้าน City Gable House

ภาพแปลนบ้าน City Gable House ชั้น 1

ภาพแปลนบ้าน City Gable House ชั้น 2

ภาพแปลนบ้าน City Gable House ชั้น 3

ส่วนชั้นสามจะเป็นห้องนอนทั้งหมด โดยตำแหน่งของห้องนอนมาสเตอร์จะมองเห็นระเบียงไม้ชั้น 2 และสามารถมองลงไปเห็นพื้นที่นั่งเล่นภายในได้บางส่วน จากเงื่อนไขของที่ดินรวมถึงงบประมาณที่มีอย่างจำกัด สถาปนิกจึงนำเสนอหลังคาทรงสูง เพื่อเพิ่มฟังก์ชันการใช้งานบริเวณหลังคาให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ห้องนอนของลูกจึงมีลักษณะเป็นสองชั้น โดยมีพื้นที่ใต้หลังคาเป็นพื้นที่สำหรับการนอน ซึ่งถือว่าตอบโจทย์ความต้องการของทางเจ้าของทั้งงบประมาณ ที่ดินที่จำกัด และกลายเป็นกิมมิคเล็กๆ ที่ถูกใจเด็กผู้ชายอีกด้วย

วัสดุพื้นฐาน สู่เกราะป้องกันภายนอก

 
อย่างที่เราบอกไปข้างต้นว่า เจ้าของบ้านมีการแบ่งสัดส่วนสำหรับงบประมาณเอาไว้ชัดเจน ผู้ออกแบบจึงตัดสินใจเลือกวัสดุพื้นฐานที่ความสามารถในวงการก่อสร้างบ้านเราสามารถทำได้ดีและไม่ซับซ้อน ซึ่งก็คือ งานก่ออิฐฉาบปูน สร้าง Vertical Double wall  ช่วยเพิ่มความเป็นส่วนตัวให้กับเจ้าของบ้านจากบริบทภายนอก โดยสร้างแพทเทิร์นกรอบสี่เหลี่ยมบล็อก เป็น Buffer บังสายตา และช่วยระบายอากาศ รวมถึงกรองแสงแดดที่ส่องเข้ามายามบ่ายได้อีกด้วย

ถ้าลองสังเกตจากภายนอก จะเห็น Double wall ตัวนี้ มีลูกเล่นของช่องแสงที่เล็ก ใหญ่สลับกันไป เพื่อเป็นช่องเปิดสำหรับผู้อยู่อาศัยภายในที่อยากจะมองออกมาภายนอกบ้าง ขนาดของช่องเปิดเหล่านี้จะเป็นลูกเล่นที่แฝงความน่ารักของครอบครัวเอาไว้อย่างแนบเนียน ล้อไปกับความเป็น พ่อ แม่ ลูก โดยมีช่องขนาดใหญ่แทนสเกลคุณพ่อ ช่องขนาดกลางแทนสเกลของคุณแม่ และช่องเล็กแทนสเกลของลูกนั่นเอง

ส่วนการออกแบบภายในจะเน้นโทนสีสะอาดตา เนื่องจากทางเจ้าของมีนิสัยชอบสะสมของตกแต่งบ้านต่างๆ ผู้ออกแบบจึงเลือกใช้ผนังโทนสีขาว เทา คล้ายกับฉากรับรูปที่รอให้เจ้าของบ้านมาเต็มเติม ภายในบ้านจึงเป็นเหมือนแกลลอรี่ส่วนตัวของทางเจ้าของไปด้วยในตัว

บ้านสีขาวที่ดูเรียบง่ายหลังนี้ ต่างแฝงไปด้วยการออกแบบที่ตอบโจทย์ทางเจ้าของ ไม่ว่าจะเป็นลักษณะนิสัย งบประมาณ ที่ดินที่มีจำกัด หรือแม้แต่ความชื่นชอบส่วนตัว ซึ่งเท่านั้นก็คงเพียงพอแล้วสำหรับผู้อยู่อาศัย
“ระหว่างทาง เมื่อมันเกิดปัญหาและอุปสรรค เครื่องมือในการตัดสินใจว่าจะเลือกทางไหน  เรามักจะตั้งต้นที่ความสุขเจ้าของบ้านเป็นหลัก อะไรที่ทำแล้ว เจ้าของบ้านมีความสุข บางครั้งมันอาจจะกลับมาเป็นโจทย์ให้เราต้องกลับไปทำ ถึงแม้โจทย์นั้นจะยาก ต้องใช้เวลา แต่เราก็จะช่วยทำให้มันเกิดขึ้นร่วมกัน แน่นอนว่าบ้านทุกหลังที่ผ่านการออกแบบ สถาปนิกย่อมคำนึงถึงโจทย์ของผู้อยู่อาศัยเป็นหลัก อีกนัยหนึ่งก็คงพูดได้ว่า สถาปนิกไม่เพียงแต่ออกแบบรูปลักษณ์ของบ้านให้สวยงามเท่านั้น แต่เป็นการออกแบบวิถีชีวิตของผู้อยู่อาศัย ให้ดำเนินไปอย่างสมบูรณ์และมีความสุขนั่นเอง

Discover more from Design Makes A Better Life.

Subscribe now to keep reading and get access to the full archive.

Continue reading