OPENING HOURS: MONDAY – SUNDAY: 10.00 AM TO 8.00 PM

info@sitename.com | 987654321

Design Makes A Better Life.

Design Makes A Better Life.

“บ้านจะเปลี่ยนไปอย่างไร?” หาก WFH กลายเป็นการทำงานรูปแบบใหม่ในอนาคต คุยกับคุณอินทนนท์ จันทร์ทิพย์ แห่ง INchan Atelier

จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVID-19 ช่วงที่ผ่านมา หลายคนจึงต้องกักตัวอยู่ที่บ้านและ Work from Home (WFH) ทำให้พื้นที่พักผ่อนและพื้นที่ทำงานต้องอยู่ร่วมกันอย่างเลี่ยงไม่ได้ เราจึงเกิดคำถามว่า หากในอนาคต การทำงานที่บ้านกลายเป็นทางเลือกหนึ่งที่คนหันมาให้ความสนใจ สถาปัตยกรรมที่ถูกเรียกว่า ‘บ้าน’ นี้จะเปลี่ยนไปอย่างไร โดยเรามีโอกาสได้พูดคุยกับคุณนนท์ -อินทนนท์ จันทร์ทิพย์ สถาปนิกและเจ้าของบริษัท INchan atelier ผู้อยู่เบื้องหลังงานออกแบบมาแล้วมากมาย

คุณนนท์ -อินทนนท์ จันทร์ทิพย์ สถาปนิกและเจ้าของบริษัท INchan atelier

 

Dsign Something: คุณนนท์คิดว่าแก่นหรือหัวใจสำคัญของการออกแบบบ้านคืออะไร?
คุณนนท์ : ผมคิดว่ามันเป็นเรื่องของการสร้างความผูกพันระหว่างผู้อยู่อาศัยกับตัวบ้าน สถานที่อื่นๆ ที่เราชอบ ไม่ว่าจะเป็นร้านกาแฟ โรงแรม รีสอร์ทหรือที่ที่เราประทับใจ มันจะต่างกับบ้านตรงที่ว่า เราไม่ได้ผูกพันกับที่ตรงนั้นเท่ากับบ้าน เพราะฉะนั้นในการออกแบบบ้าน ผมมักจะคุยกับลูกค้าและพยายามทำความเข้าใจเขาด้วยเหตุผลเดียวเลย คือ เขาเป็นคนแบบไหน เขาผูกผันกับสิ่งไหน เราต้องพยายามประคองแล้วก็นำพาให้สิ่งที่เขาอยากจะสร้างความผูกพันด้วย ให้มันอยู่ในสิ่งแวดล้อมของเขาให้ได้ มันอาจจะฟังดูกว้างๆ แต่มันแปลงออกมาเป็นกายภาพได้พอสมควร

โปรเจกต์ Baan Vibhavadi  Photo credit : พีรพัฒน์ วิมลรังครัตน์

Dsign Something: แล้วถ้าพูดถึงการออกแบบออฟฟิศ หรือพื้นที่สำนักงาน หัวใจสำคัญของมันคืออะไร?
คุณนนท์ : สำนักงานมันเป็นจะเรื่องของตัวประสิทธิภาพและประสิทธิผลของการทำงาน ซึ่งก็ขึ้นอยู่กับแต่ละองค์กรว่าเขามองอย่างไร เขาควรจะมีสิ่งแวดล้อมแบบไหนเพื่อให้เขาได้สองสิ่งนั้น บางออฟฟิศความเป็นระเบียบเรียบร้อยมีผลต่อผลลัพธ์ของเขา หรือบางออฟฟิศความสนุกสนานเป็นผลลัพธ์ของการได้มาซึ่งประสิทธิภาพของเขา ในการออกแบบสำนักงาน เราจึงต้องเข้าใจเขาว่าเขาอยากได้ประสิทธิภาพในการทำงานมากแค่ไหน เพื่อให้เขาได้ประสิทธิผลจากการทำงานที่เขาต้องการ

โปรเจกต์ Steps with Theera (Concept Design) Co-working + Learning Space    Credit : INchan Atelier

Dsign Something: จากการ WFH ในปัจจุบัน ถ้าในอนาคตคนเปลี่ยนรูปแบบการทำงาน โดยที่เข้าออฟฟิศน้อยลง หันมาทำงานอยู่กับบ้านมากขึ้น คุณนนท์มองว่ามันมีโอกาสเป็นไปได้ไหม?
คุณนนท์ : ผมว่ามันเป็นไปได้ แต่เป็นไปทั้งหมดไม่ได้ เพราะว่าการทำงานที่บ้านมันเกิดขึ้นในสิ่งแวดล้อมของการทำงานแบบคนเมือง รูปแบบของงานเป็นการทำงานร่วมกันผ่านอุปกรณ์สมัยใหม่ แต่แน่นอนว่ามันมีงานหลายประเภทที่ไม่สามารถใช้อุปกรณ์ทันสมัยทำงานร่วมกันได้ ทำให้ยังต้องออกไปทำงานอยู่เหมือนเดิม อย่างเช่น ผู้รับเหมา หนึ่งในอาชีพที่ต้องเกี่ยวข้องกับสถาปนิก มันหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่เขาจะต้องออกไปดูงาน สิ่งที่เขาทำที่บ้านได้มันก็คือปริมาณงานเดิมที่มีอยู่แล้ว เช่น งานบัญชี งานประชุมที่ยังเกี่ยวข้องกับเอกสาร

โปรเจกต์ Baan Vibhavadi  Photo credit : พีรพัฒน์ วิมลรังครัตน์


Dsign Something:
แล้วถ้างานบางประเภทที่สามารถทำที่บ้านได้ เปลี่ยนรูปแบบการทำงานมาเป็น WFH มากขึ้น มันจะส่งผลให้การออกแบบบ้านเปลี่ยนไปอย่างไร?

คุณนนท์ : ผมบอกได้เป็นแนวทางกว้างๆ อยู่อันหนึ่ง คือความคิดหรือปัญญามันมักจะเกิดเมื่อระเบียบมันมา ผมเชื่อเรื่องนี้พอสมควร ความเป็นระเบียบ ความเป็นที่เป็นทางของพื้นที่ใช้สอยมักจะทำให้พื้นที่ทำงานมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล เรื่องนี้อาจจะเป็นเรื่องที่ต้องมาคิดกันมากขึ้น ถ้าเราต้องทำงานที่บ้าน แสดงว่าเราจะมีงานที่ต้องมาอยู่กับเรามากขึ้น มันอาจจะต้องมีพื้นที่บางอย่างที่สามารถจัดเก็บงานเหล่านั้นให้เป็นระเบียบเรียบร้อยได้ ซึ่งพื้นที่เหล่านั้นมันควรจะเข้าใจโดยธรรมชาติของคนที่ทำงานนั้นๆ อยู่แล้ว

ยกตัวอย่างเช่น ถ้าทำงานเกี่ยวกับกฏหมาย มันแทบจะเลี่ยงไม่ได้เลยกับเรื่องเอกสารที่จำเป็นต้องใช้ หรือถ้าทำงานในโลกดิจิตอลตลอดเวลา ใช้ชีวิตอยู่กับหน้าจอคอมพิวเตอร์ หน้าจอกับคุณภาพแสงที่จะเข้ามาในห้องทำงานควรจะสัมพันธ์กัน เพราะฉะนั้นความเป็นไประหว่างพื้นที่ทำงานกับธรรมชาติของการทำงานเพื่อให้ได้ประสิทธิภาพสูงสุด มันคงเป็นหน้าที่ของสถาปนิกที่ต้องทำหน้าที่ดัดแปลงพื้นที่อยู่อาศัยให้เข้ากับรูปแบบการทำงานของเขา บนพื้นฐานของความเป็นระเบียบเรียบร้อย

โปรเจกต์ Baan Huamark9 credit : พีรพัฒน์ วิมลรังครัตน์

Dsign Something: ความเป็นระเบียบเรียบร้อยนี้ รวมถึง การแยกพื้นที่เป็นสัดเป็นส่วนด้วยไหม?
คุณนนท์ : ผมคิดว่าใช่นะ เพราะว่าพื้นที่พักอาศัยกับพื้นที่การทำงาน ถ้ามันแยกออกมาเป็นสัดเป็นส่วนมันก็ลดการรบกวนกัน อย่างผมมีลูก ถ้าพื้นที่ทำงานของผมกับพื้นที่บ้านมันไม่ได้แยกจากกัน เราคงต้องเลี้ยงลูกตลอดเวลาแน่นอน ผมก็จะไม่ได้ทำงาน แต่ในขณะเดียวกันถ้าเกิดสมาชิกในบ้านของเราสามารถดูแลลูก เราสามารถเดินเข้ามาในพื้นที่ทำงานของเรา และเราก็สามารถกลับเข้าไปอยู่ในพื้นที่บ้านของเราทุกครั้งเมื่อจำเป็นได้ อันนี้มันก็น่าจะดีกว่าจะจับทุกอย่างมาปนกันทั้งหมด

Dsign Something: อย่างบ้าน Huamark 09 ของคุณนนท์ที่เป็นทั้งสำนักงานสถาปนิก บ้านพักอาศัย รวมถึงพื้นที่ทำงานศิลปะ มีวิธีจัดการพื้นที่อย่างไร?
คุณนนท์ : เราแบ่งวิธีการใช้อาคารด้วยการแบ่งชั้น และเชื่อมโยงการใช้สอยระหว่างชั้นด้วยพื้นที่สีเขียว ที่สำคัญคือเป็นพื้นที่สีเขียวที่ชะลูดขึ้นแนวตั้ง เพราะเราอยากให้วิวที่เกิดขึ้นจากพื้นที่ใช้สอยแต่ละชั้นมองออกไปในทิศทางเดียวกัน เป็นการเชื่อมโยงระหว่างชั้นในทางความรู้สึก เรารู้ว่าถ้าเรามองไปที่ต้นไม้หรือพื้นที่สีเขียวที่ระดับความสูงประมาณนี้มันคือระดับที่ห้องรับแขกมองเห็น สูงขึ้นไปอีกหน่อย บริเวณพุ่มหรือยอด มันคือห้องนอนของเรา และพอเลยยอดไป เห็นเป็นท้องฟ้า มันคือพื้นที่งานศิลปะของเราที่อยู่ชั้นบน

โปรเจกต์ Baan Huamark9 Photo credit : พีรพัฒน์ วิมลรังครัตน์

แต่ถ้าพูดในเชิงฟังก์ชัน เราจะออกแบบให้แต่ละชั้นมันทำหน้าที่ของมันเอง ชั้นหนึ่งเป็นสำนักงานสถาปนิก ชั้นสองเป็น Common Area ของพื้นที่บ้าน ชั้นสามเป็นพื้นที่บ้านซึ่งเป็นส่วนตัว ชั้นสี่เป็นสตูดิโอเก็บสะสมงานศิลปะของผมเอง ทั้งสี่ชั้นจะถูกจัดการโดยระบบบันไดที่ไม่เหมือนกันเลย เราจะมีการออกแบบบันไดให้มีลักษณะที่มันเป็นตัวจัดการความเชื่อมโยงของแต่ละชั้นอย่างชัดเจน เพราะฉะนั้นเวลามีแขกของออฟฟิศมาที่บ้าน เขาจะไม่เห็นบันได เราจะเก็บพื้นที่บันไดไว้ในส่วนที่หลบมุม ส่วนใครที่อนุญาตให้ขึ้นไปที่ชั้นสอง เขาก็จะไม่เห็นบันไดที่จะขึ้นไปที่ห้องนอนเหมือนกัน บันไดมันเลยเป็นตัวจัดสรรและจัดการฟังก์ชันภายในบ้านระหว่างสำนักงาน บ้าน และสตูดิโองานศิลปะ

โปรเจกต์ Baan Huamark9 credit : พีรพัฒน์ วิมลรังครัตน์

Dsign Something: ย้อนกลับมาพูดถึงพื้นที่สีเขียว หากในอนาคต คนใช้เวลาที่บ้านมากขึ้น คิดว่าในการอยู่อาศัย คนจะต้องการพื้นที่สีเขียวมากขึ้นไหม?
คุณนนท์ : ผมว่ามันส่งผลมากๆ เลย ผมมองว่า พื้นที่สีเขียวมันหย่อนใจมากตรงที่ มันมีเวลาไม่เหมือนมนุษย์ มันเป็นไปตามฤดูกาลของมันเอง มันจะเขียวเข้ม เขียวอ่อน เหลือง ออกดอก แล้วความแตกต่างกันระหว่างเวลาของพื้นที่สีเขียวซึ่งเป็นธรรมชาติ กับเวลาที่เราต้องตื่นไปทำงาน กินข้าวอยู่ทุกวัน วนลูปเป็นรูทีน ตรงนี้แหละที่ทำให้เราเกิดความรู้สึกหย่อนใจจากธรรมชาติ เมื่อเราต้องเอาสถานที่ทำงานมาอยู่กับบ้าน ในอีกด้านหนึ่งมันแปลว่ามันจะปนเปกัน ทั้งชีวิตส่วนตัวและชีวิตทำงาน เราอาจจะทำงานได้ยาวนานขึ้น หรือเราจะขี้เกียจทำงานให้เหลือสั้นลง แต่ถามว่าเราต้องการความหย่อนใจไหม แน่นอนว่าต้องการ เพราะเราไม่ต้องการตึงจนเกินไปในการทำงาน

Dsign Something: ซึ่งพื้นที่หย่อนใจก็อาจจะไม่จำเป็นต้องเป็นพื้นที่สีเขียวเสมอไป?
คุณนนท์ : ถ้าพูดถึงพื้นที่หย่อนใจ มันจะมีสองแบบ ก็คือพื้นที่หย่อนใจที่อยู่ในกมลสันดารของเรา ผมคิดว่าพื้นที่สีเขียวตอบโจทย์ได้ทุกคน มันจะเขียวมากเขียวน้อยแล้วแต่คน แต่อย่างไรทุกคนก็ต้องการให้มีสีเขียว แต่ว่าพื้นที่หย่อนใจในอีกหมวดหนึ่งคือ พื้นที่หย่อนใจในลักษณะของงานอดิเรก เป็นความชอบส่วนตัวที่เราต้องเลือกให้ความสำคัญกับมัน

อย่างถ้าสมมติ เรานึกถึงคนที่ชอบงานอดิเรกอย่างดาราศาสตร์ เขาคงไม่ได้มองพื้นที่สีเขียวอย่างเดียว เค้าคงรอเวลากลางคืน เวลาฟ้าเปิดแล้วได้ส่องกล้อง เขายอมทำงานทั้งวันเลยก็ได้ เพื่อมาเจอกิจกรรมนี้แล้วเกิดความสุข ในการเอาพื้นที่ทำงานเข้ามาอยู่ในพื้นที่พักอาศัย สิ่งที่สำคัญก็คือ เราจะต้องหาพื้นที่หย่อนใจของเราเองให้ได้ สีเขียวมันเป็นเพียงแค่สามัญสำนึกของคนเฉยๆ ไม่ว่าคุณจะชอบดาราศาสตร์ ฟังเพลงหรือทำอาหาร พื้นที่สีเขียวก็ตอบโจทย์ได้กับทุกคน

โปรเจกต์ Baan Huamark9 Photo credit : พีรพัฒน์ วิมลรังครัตน์

Dsign Something: คุณนนท์คิดว่า บ้านในอนาคตจะต่างจาก Home Office ในปัจจุบันไหม ?
คุณนนท์ : ผมว่าต่างเลย ผมว่าสิ่งแรกที่มันจะต่าง มันจะไม่ได้เริ่มที่ตัวสถาปัตยกรรม แต่ว่ามันจะไปเริ่มต้นที่ผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์ก่อน ซึ่งเขาก็ต้องคิดว่า เมื่อคนจำเป็นต้องมีชั่วโมงกับที่พักอาศัยมากขึ้น เขาควรจะมีข้อเสนออะไรที่มากขึ้น ซึ่งมันก็จะส่งผลมาถึงตัวผู้ออกแบบ ทุกคนต้องหาให้เจอว่าอะไรบ้างที่เรียกว่าเป็นพื้นที่ชีวิตจริงๆ เพราะมันจะสามารถสลับไปสลับมาในช่วงเวลาไหนก็ได้ อย่างเมื่อก่อนเราดูละครหลังข่าว เพราะมันเป็นเวลาที่เรากลับจากทำงาน หลังกินข้าวเสร็จ แต่เมื่อแพลทฟอร์มมันเปลี่ยน เราจะดูตอนไหนก็ได้ พฤติกรรมของคนมันก็เริ่มเปลี่ยน ส่งผลให้การออกแบบต้องเปลี่ยน
ซึ่งผมมองว่า ครัว พื้นที่หย่อนใจ พื้นที่จัดเก็บของ สามอย่างนี้ต้องเปลี่ยนอย่างแน่นอน อย่างครัวมันจะไม่ใช่แค่ครัวโชว์แล้ว แต่จะเป็นครัวที่ต้องรองรับการทำอาหารจริงๆ เพราะการปรุงอาหารก็คงจำเป็นขึ้น เรื่องของพื้นที่หย่อนใจ ก็ต้องละเมียดมากขึ้นในการออกแบบ ส่วนเรื่องของการหมวดของการจัดเก็บของ ผมเชื่อว่าจำเป็น เพราะมันจะมีของที่เข้ามาอยู่กับเราเยอะขึ้น ทั้งของจากการทำงานและของที่จำเป็นในชีวิตประจำวัน และถ้าทำงานอยู่บ้าน ยังไงก็ต้องมีการประชุมออนไลน์ ภายในบ้านอาจจะต้องมีการจัดฉากนึง คล้ายกับ youtuber ที่มีมุมหนึ่งของบ้านที่เราจัดไว้แล้วว่าจะให้ทุกคนเห็น ซึ่งผมมองว่าในช่วงเวลาที่ได้อยู่บ้านมากขึ้น มันเป็นเหมือนโอกาสดีที่ทุกคนได้ทบทวนชีวิตของตนเอง จัดการพื้นที่อาศัยของตัวเองให้เข้าที่เข้าทาง และเป็นโอกาสที่ได้ใช้ชีวิตแยกออกจากไลฟ์สไตล์ได้อย่างชัดเจน