Location: ถนนพรานนก – พุทธมณฑลสาย 4 บางพรม ตลิ่งชัน กรุงเทพฯ
Owner: Nana Coffee Roasters
Area: 450 ตารางเมตร
Designer: ศุภรัตน์ ชินะถาวร party / space / design
Story: รังสิมา อรุณธนาวุฒิ
Photograph: จิณณวัตร บริหารกิจอนันต์
หากเราเอ่ยชื่อร้าน ‘Nana Coffee Roasters’ เชื่อว่าเหล่าคอกาแฟล้วนรู้จักกันดีในฐานะร้านกาแฟและโรงคั่วที่คัดสรรเมล็ดชั้นดี พร้อมเสิร์ฟกาแฟหอมกรุ่นในแบบ Specialty Coffee ผ่านแชมป์บาริสต้าชื่อดังระดับโลก จากความสำเร็จของ Nana Coffee Roasters สาขาแรก จึงนำมาสู่สาขาต่อมาของ NANA Hunter Coffee Roasters ที่พร้อมสร้างประสบการณ์ใหม่ของการดื่มกาแฟ ด้วยงานดีไซน์อันเป็นเอกลักษณ์แฝงด้วยรายละเอียดยิบย่อยมากมาย ที่รอให้เหล่าคนรักกาแฟเข้ามาเรียนรู้และค้นหาเรื่องราวของกาแฟที่ซุกซ่อนอยู่ภายใต้อาคารโกดังเก่าแห่งนี้ โดยได้ คุณโต-ศุภรัตน์ ชินะถาวร แห่ง party / space / design นักออกแบบร้านอาหารและคาเฟ่ ผู้อยู่เบื้องหลังร้านชื่อดังมากมายอย่าง Nana Coffee Roaster, Roast, Bottomless, Wine Republic , Red Diamond, WWA Café มาเป็นผู้ออกแบบ
NANA Hunter Coffee Roasters กับบทบาทใหม่ของร้านกาแฟ
ย้อนกลับไปยัง Nana สาขาถนนประดิษฐมนูธรรม ซึ่งเป็นสาขาแรกที่เปิดโอกาสให้คอกาแฟสามารถเข้ามาพูดคุย มีการสอนการบดกาแฟ หรือเรียนรู้เรื่องราวของกาแฟได้อย่างเป็นกันเอง แต่ความแตกต่างของ NANA Hunter Coffee Roasters นั้นจะเน้นการคั่วกาแฟเป็นหลัก โดยทำหน้าที่เป็นโรงคั่วกาแฟโดยเฉพาะ มีการนำเข้าเมล็ดหลากหลายสายพันธุ์มาเก็บไว้ ในขณะที่มีพื้นที่บาร์กาแฟ และพื้นที่นั่งรองรับ ให้คนรักกาแฟสามารถดื่มด่ำกับบรรยากาศที่อบอวลไปด้วยกาแฟอย่างหอมกรุ่น
การวางพื้นที่เชื่อมโยงคนทำกาแฟและคนดื่มกาแฟจึงกลายเป็นจุดเด่นที่ทำให้ NANA Hunter Coffee Roasters แตกต่างจากร้านกาแฟทั่วๆ ไป ซึ่งถือเป็นเรื่องแปลกใหม่สำหรับเมืองไทยที่มีโรงคั่วกาแฟที่อนุญาตให้เข้าไปนั่งจิบกาแฟได้ หากเราลองนึกตามให้เห็นภาพอาจจะต้องมองไปถึง Starbucks Reserve Roastery Tokyo หรือสาขาอื่นๆ ทั่วโลก ซึ่งปัจจุบันกลายเป็นหมุดหมายที่เหล่าคอกาแฟล้วนอยากไปลิ้มลองกันสักครั้ง
คำว่า ‘Hunter’ ที่เราเห็นในชื่อร้าน แฝงด้วยความหมายขำๆ ที่ล้อไปกับความเป็นนักล่า อย่าง ‘พรานนก’ ซึ่งเป็นชื่อโลเคชั่นของร้าน แต่ในอีกหนึ่งความหมาย ยังสื่อถึง ‘Coffee Hunter’ หรืออาชีพนักล่าเมล็ดกาแฟ ผู้สืบเสาะหาเมล็ดชั้นดีจากทั่วโลกเพื่อนำเข้าโรงคั่วกาแฟของตัวเอง ก่อนจะส่งต่อให้เราได้ลิ้มลองกัน
จัดการกับ ‘แสงแดด’ ของฟรีจากธรรมชาติ
“ทำอย่างไรให้อาคารโกดังเก่ากลายเป็นร้านกาแฟที่ทุกคนจะยอมมา?” คุณโตกล่าวถึงโจทย์แรกที่คิดขึ้นได้ หลังจากที่มีโอกาสไปลงไซต์ดูสถานที่จริง ด้วยข้อจำกัดในเรื่องตำแหน่งที่ตั้งไกลจากตัวเมือง รวมถึงอาคารเดิมในพื้นที่เคยเป็นโรงงานขนมปังที่ถูกปล่อยร้างไม่มีการทำกิจการต่อ ทีมสถาปนิกจึงต้องมองหาวิธีจัดการกับอาคาร เพื่อให้ยังคงอาคารเดิมเอาไว้ได้บางส่วน ในขณะที่สามารถเปลี่ยนเป็นร้านกาแฟที่สวยงาม ดึงดูดผู้คนให้แวะเวียนไปพร้อมๆ กัน
สิ่งน่าสนใจหนึ่งที่ถูกค้นพบคือ ‘แสงแดดธรรมชาติ’ ซึ่งคุณโตและทีมออกแบบมองว่า ถึงแม้แสงแดดจะเป็นสิ่งที่คนไทยไม่ค่อยชื่นชอบเท่าไรนัก แต่สำหรับต่างประเทศ แสงแดดคือทรัพยากรธรรมชาติซึ่งเป็นของฟรีที่ช่วยส่งเสริมให้พื้นที่นั้นๆ สวยงาม โดดเด่น หรือสามารถใช้ประโยชน์ได้โดยไม่ต้องอาศัยแสงไฟประดิษฐ์เพียงอย่างเดียว
ในขั้นตอนแรกของการออกแบบ ทีมสถาปนิกเริ่มต้นจากเรื่องแสง โดยตั้งใจให้แสงธรรมชาติส่องลงบริเวณกลางร้าน เพื่อให้บริเวณตรงกลางกลายเป็นพื้นที่โดดเด่น รวมถึงบริเวณแกนกลางหรือใจความสำคัญของการออกแบบ จะเป็นส่วนที่ถูกออกแบบให้แสงแดดส่องถึง ซึ่งจะมีเพียงโซนเดียวเท่านั้นที่ห้ามโดนแสงแดดเลย นั่นก็คือ ส่วนคั่วกาแฟและพื้นที่เก็บเมล็ด ทำให้เครื่องคั่วกาแฟ และพื้นที่เก็บเมล็ด จะต้องอยู่ตำแหน่งหลังร้าน ซึ่งเป็นส่วนที่แสงแดดไม่สามารถส่องถึง “เราคิดเรื่องแสงแดดก่อน อะไรที่โดนแสงแดดแล้วสวย อะไรที่โดนแล้วไม่ดี หลังจากนั้นเรานั้นค่อยดีไซน์ขึ้นมาเป็นร้าน” คุณโตกล่าว
ออกแบบประสบการณ์การดื่มกาแฟ ผ่าน ‘สเปซ’
โซนแรกที่สถาปนิกให้ความสำคัญมากที่สุด และเรียกได้ว่าเป็นไฮท์ไลท์ของ NANA Hunter คือ โซนคั่วกาแฟ ซึ่งจะต้องอยู่ในตำแหน่งที่มองเห็นได้ชัดที่สุดแต่ไม่สามารถเข้าถึงได้ โซนคั่วกาแฟจึงถูกวางตำแหน่งค่อนไปทางหลังร้าน โดยออกแบบให้เป็นห้องกึ่งเปิดกึ่งปิด ด้วยการใช้ลูกกรงเป็นตัวกั้นพื้นที่
แปลนร้าน NANA Hunter Coffee Roasters Photo Credits: party / space / design
ถัดมาจากโซนคั่ว จะเป็นโซนเก็บเมล็ดซึ่งถูกออกแบบเป็น Double Space มีพื้นที่เก็บทั้งชั้นล่างและชั้นบน เพื่อให้ลูกค้าสามารถเดินดู ถ่ายรูปกับเมล็ดหลากหลายสายพันธุ์ผ่านบันไดเวียนตรงกลางซึ่งออกแบบให้เท่ โดดเด่นด้วยเหล็กทั้งชิ้น โดยโครงสร้างของบันไดจะตั้งอยู่บนเสาเพียงต้นเดียว รวมถึงมีการสร้างช่องบันไดพิเศษเพื่ออำนวยความสะดวกให้กับลูกค้าที่ต้องถือแก้วกาแฟเดินขึ้น-ลง สามารถเข้าไปหลบได้เมื่อมีการเดินสวนกัน
เมื่อร้าน NANA Hunter Coffee Roasters ทำหน้าที่ขายกาแฟเพียงอย่างเดียว บาร์กาแฟจึงเป็นสิ่งที่ทีมสถาปนิกให้ความสำคัญ เพื่อออกแบบให้พื้นที่หัวใจสำคัญของร้านกาแฟออกมาดูสวยงาม และโดดเด่นมากที่สุด “ถ้าเราจะขายกาแฟอย่างเดียว ด้วยเมล็ดที่มีเยอะมากกว่า 40 สายพันธุ์ แสดงว่าลูกค้าเขาอาจจะมากินกาแฟวันละหนึ่งเมล็ด ณ ที่ที่เดิม 40 ครั้ง เราจะทำอย่างไรให้เขามาโดยที่รู้สึกไม่เบื่อบาร์นี้ และยังรู้สึกว่าบาร์นี้สวยและใหญ่ที่สุดเสมอ” บริเวณกลางร้านจึงถูกออกแบบเป็นบาร์ขนาดใหญ่ที่ดึงความสนใจจากผู้คนด้วยแสงธรรมชาติที่ส่องลงตรงกลางพื้นที่ ล้อมรอบด้วยโซนที่นั่งทั้งชั้นหนึ่งและชั้นสองที่เปิดให้ลูกค้าสามารถเดินถ่ายรูป มองลงมาจากด้านบนได้โดยรอบ
การออกแบบสเปซของทีมสถาปนิกจาก p/s/d จึงไม่เพียงแต่คำนึงถึงความเหมาะสมเท่านั้น แต่ยังใส่ใจประสบการณ์ของผู้ที่เข้ามาใช้งาน ผ่านการออกแบบสเปซแต่ละจุดโดยคำนึงถึงมุมมอง สร้างปฏิสัมพันธ์ระหว่างลูกค้า บาริสตาและเรื่องราวของกาแฟให้กลมกล่อมเป็นหนึ่งเดียวกัน
‘Steampunk’ สเน่ห์จากอดีตส่งตรงถึงปัจจุบัน
หากเราพูดถึง ยุคปฏิวัติอุตสาหกรรมที่เรารู้จักกันในชื่อ Steampunk หลายคนคงมีภาพรถไฟขับเคลื่อนด้วยระบบไอน้ำ รถวินเทจ หรือต้นกำเนิดของเครื่องจักรประเภทต่างๆ แต่สำหรับคุณโตแล้ว สิ่งที่น่าสนใจคือ ‘Espresso Machine’ ที่ถือกำเนิดขึ้นในยุคนั้นและเป็นเครื่องจักรเพียงไม่กี่อย่างที่ยังคงตกทอดมาจนถึงปัจจุบันโดยไม่มีอะไรมาแทนที่ได้
คุณโตเลือกนำ ‘Steampunk’ มาใช้เป็นแนวคิดหลักในการออกแบบ สร้างบรรยากาศเสมือนว่าโรงงานเก่านี้ถูกสร้างมาตั้งแต่ยุคปฏิวัติอุตสาหกรรมแต่เพิ่งถูกค้นพบ ซึ่งหลังจากที่ถูกค้นพบ เพียงแค่เช็ด ปัดฝุ่น และทำความสะอาดนิดหน่อยก็สามารถเปิดขายกาแฟได้เลย ทั้งหมดนี้คือ Storytelling ที่คุณโตต้องการสื่อผ่านการออกแบบดีเทลดีไซน์ในจุดต่างๆ เพื่อสร้างประสบการณ์ให้ลูกค้า เกิดปฏิสัมพันธ์และเกิดอารมณ์ร่วมกับพื้นที่ไปพร้อมๆ กัน
บริเวณบาร์แสดงความเก่า ผุกร่อนโดยมีการทุบออกบางส่วนเผยให้เห็นเครื่องจักรใหญ่ที่กำลังทำงานซ่อนอยู่ภายใน โดยวัสดุที่ต้องทุบออก สถาปนิกเลือกใช้ ‘ปูน’ เพื่อให้รู้สึกถึงความดิบมากที่สุด ช่วยเน้นสิ่งของสำคัญอย่างอุปกรณ์ชงกาแฟต่างๆ บนเคาน์เตอร์บาร์ให้โดดเด่นขึ้นมาแทน
ส่วนบริเวณท็อปเคาน์เตอร์บาร์ คุณโตออกแบบรายละเอียดโดยได้แรงบันดาลใจจากเมนูของร้านที่มีชื่อว่า Dirty ซึ่งเป็นกาแฟเข้มข้นที่หยดลงบนนม สีของท็อปบาร์จึงถูกออกแบบให้เป็นสีน้ำตาลสนิม คล้ายกับเมนูดังกล่าว ด้วยการใช้วัสดุ ‘หินเอ็มพาราโด’ นำมาขัดผิวให้เกิดเป็นเส้น ที่ดูเป็นร่องรอยความเก่า แต่ยังคงความหรูหรา น่าใช้งาน คุณโตยังออกแบบรายละเอียดของบาร์กาแฟโดยซุกซ่อนวัฒนธรรมและเรื่องราวกว่าจะมาเป็นกาแฟในยุคปัจจุบัน ผ่านการแกะสลักสีทองเหลืองลงไปบนสันของเคาน์เตอร์เพื่อสร้างกิมมิคเล็กๆ ที่น่าสนใจ รอให้คนที่มีใจรักในสิ่งเดียวกันเข้าไปค้นหาได้อย่างใกล้ชิด
Dtips: แผ่นหินถูกนำมาขัดให้เก่าด้วยเทคนิคที่เรียกว่า Aging เพื่อทำให้บาร์ดูเก่าแบบมีสไตล์ รวมไปถึงภาพรวมของตึกทั้งหมดยังถูกทำให้เก่าด้วยการใช้น้ำกรดและน้ำเกลือเพื่อทำให้เกิดสนิม
ส่วนภายนอกสถาปนิกใช้วิธีสร้าง Storytelling ด้วยการทำให้โครงสร้างเหล็กภายนอกดูเก่าด้วยการทำให้เกิดสนิม เพื่อให้อาคารดังกล่าว แตกต่างและโดดเด่นจากวัดหรือบ้านเรือนในละแวกนั้นๆ ส่วนบรรยากาศภายในมีการตกแต่งภาพรวมด้วยการใช้ไม้เผาไฟ เพื่อให้ได้ผิวสัมผัสและลวดลายที่เข้ากับเหล็กสีดำได้อย่างลงตัว นอกจากนั้นยังมีคุณสมบัติป้องกันการลามไฟได้ “เราอยากสร้างประสบการณ์ให้ภายนอกมันดูเหมือนตึกเก่ามากๆ แต่พอเข้าไปแล้วเราเจออะไรที่มัน futuristic แต่เป็นความ futuristic ที่อยู่กับ steampunk และตึกเก่าอีกทีหนึ่ง ซึ่งผมนี่คือประสบการณ์ใหม่ที่ทำให้ร้านนี้แตกต่าง” คุณโตเล่าเสริม
หลังจากที่ค้นพบว่า ‘Espresso Machine’ ยังคงอยู่มาจนถึงปัจจุบัน ทำให้เกิดความคาบเกี่ยวระหว่างยุคเก่าและยุคใหม่ของโลกกาแฟที่น่าสนใจ คุณโตจึงต้องการหยิบประเด็นดังกล่าวมาเล่าภายในร้านผ่านสัญลักษณ์บางอย่างของการออกแบบ “เรายังมาไม่ถึงยุคใหม่กันเลย เราอยู่ในยุคปัจจุบัน ของใหม่สำหรับวงการกาแฟอาจจะต้องใช้เวลาอีกประมาณ 5-10 ปี ในการที่คนจะเริ่มยอมรับวิธีการชงแบบใหม่ เมล็ดแบบใหม่” คุณกุ้ง-วรงค์ ชลานุชพงศ์ เจ้าของแบรนด์ NANA เล่า ซึ่งคุณโตหยิบเอาแนวคิดของคุณกุ้งมาเล่าผ่านลูกโลก 3 ใบที่โดดเด่นอยู่บริเวณกลางร้าน เป็นสัญลักษณ์แทน อดีต ปัจจุบัน อนาคต โดยเน้นลูกโลกใบกลางที่กำลังหมุนอยู่แทนโลกกาแฟยุคปัจจุบันที่กำลังขับเคลื่อนไปตามกาลเวลา โดยมี NANA Hunter Coffee Roasters เป็นฟันเฟืองหนึ่ง
“พอประสบการณ์แต่ละร้านไม่เหมือนกัน เราเลยรู้สึกสนุกทุกครั้งที่ออกแบบ แต่ละโมเมนท์จะใช้เครื่องมือในการออกแบบไม่เหมือนกัน ถ้าเราอยากสร้างให้เขาชอบ เราอาจจะต้องดีไซน์ร้านให้เขาประทับใจ ถ้าอยากสร้างให้เขานั่งนานๆ อาจจะต้องใช้เพลงหรือใช้ความสบายของเก้าอี้มาช่วย ถ้าอยากให้เขากลับมาอีกอาจจะต้องใช้เรื่องการถ่ายรูป การออกแบบเมนู ดังนั้นเราจะเป็นเหมือนช่างที่มีอุปกรณ์พร้อม ถ้ามีอะไรเสียหรืออยากทำอะไร เราก็แค่หยิบอุปกรณ์นั้นๆ ไปแก้ไข ไปซ่อม นี่คือวิธีที่ทำให้ทุกคนเข้ามามาในร้านแล้วรู้สึกว่า ชอบร้านนี้จังเลย ร้านนี้แตกต่างจากร้านทั่วไป”
Dtips: ในการออกแบบร้านกาแฟ สิ่งสำคัญที่สุด คือบาร์กาแฟที่ต้องพอเหมาะพอดีกับบาริสตาราวกับตัดสูท เพื่อให้ได้ขนาดและตำแหน่งที่เหมาะสมกับการทำงานจริง ซึ่งส่งผลโดยตรงต่อการขาย
ในบางครั้ง รายละเอียดเล็กๆ ที่ไม่ใช่งานดีไซน์โดยตรง กลับกลายเป็นเรื่องสำคัญในการออกแบบคาเฟ่ที่หลายๆ คนยังมองข้ามไป แต่คุณโตเองเลือกที่จะออกแบบภาพรวม รายละเอียดทั้งหมดตั้งแต่ ชุดพนักงาน เพลง เฟอร์นิเจอร์ เมนูอาหาร โดยอาศัยความชื่นชอบและความหลงใหลที่มี จากความชื่นชอบในการแต่งตัว นำมาซึ่งชุดพนักงานที่เหมาะกับแนวคิดร้าน ความเป็นสถาปนิกที่ชื่นชอบการวาดภาพ นำมาซึ่งเมนูอาหารที่โดดเด่นไม่เหมือนใคร หรือแม้แต่ความหลงใหลในกาแฟก็ส่งผลทำให้คุณโตเข้าใจข้อมูลเชิงเทคนิคของบาร์ และเครื่องชงกาแฟ สิ่งเหล่านี้้ล้วนประกอบ หลอมรวมให้ร้านกาแฟแต่ละร้านที่คุณโตออกแบบ โดดเด่น เป็นเอกลักษณ์ มีเรื่องราวที่ไม่เหมือนใคร เช่นเดียวกับ NANA Hunter Coffee Roasters
แผนที่ร้าน :