จะว่าไปประสบการณ์การกินชาบูนั้น ก็ดูคล้ายกับการทดลองวิทยาศาสตร์ที่ต้องใช้อุปกรณ์ต่างๆ ที่ต้องผ่านการทดลองหยิบจับนู่นนี่นั่นมาผสมเข้ากันจนเกิดเป็นสิ่งใหม่ๆ คอนเซ็ปต์ของร้าน Shabu Lab จึงถูกถ่ายทอดออกมาให้มีบรรยากาศเหมือนนั่งอยู่ใน ‘ห้องทดลอง’ ที่ใช้อุปกรณ์การกินมากมาย แล้วหยิบจับนำวัตถุดิบต่างๆ อาทิเช่น ผัก เนื้อ หรือเครื่องปรุง ใส่ลงไปในหม้อและตั้งไฟ คลุกเคล้าน้ำซุปหรือน้ำจิ้มจนเกิดเป็นรสชาติใหม่ๆ
ซึ่งจากความสำเร็จในสาขาแรกของ Shabu Lab สาขาสยามสแควร์ ที่ได้รับการต้อนรับอย่างเกินคาด ก็ถึงคราวที่ทางร้านจะขยับขยายสาขาใหม่เป็นแห่งที่ 2 โดยมี IF (Integrated Field) ผู้อยู่เบื้องหลังผลงานสนุกหลากหลายรูปแบบและหลากหลายสเกล ไม่ว่าจะเป็นบ้าน โรงเรียน โรงพยาบาล อาคารจิตอาสา หรือแม้แต่อาร์ตสเปซ มาต่อยอดความสนุกของคอนเซ็ปต์ ‘ห้องทดลอง’ สุดป็อบให้กับโปรเจ็กต์ร้านชาบูในครั้งนี้
คลุกเคล้าส่วนผสมระหว่าง ‘ห้องทดลอง’ และ ‘ชาบู’
คุณนิน-คณิน มัณฑนะชาติ สถาปนิกผู้ออกแบบเล่าว่า “Shabu Lab เป็นคอนเซ็ปต์เกี่ยวกับการทดลอง ซึ่งในสาขาแรกเขาจะมีกิมมิกความเป็น Lab อยู่ในร้าน เช่น ภาชนะต่างๆ ที่ใช้บีกเกอร์หรือหลอดทดลอง มีน้ำซุปและ น้ำจิ้มที่สามารถปรุงเองได้เยอะ คอนเซ็ปต์ที่เขาคิดมาจากอันแรก ค่อนข้างที่จะสื่อสารได้ดีอยู่แล้ว เขาก็เลยยังอยากให้คงคอนเซ็ปต์เดิมไว้ แล้วต่อยอดให้ชัดเจนมากยิ่งขึ้น สาขาที่สองเราเลยพยายามที่จะทำให้ดีไซน์ภายในร้านให้ตรงกับคอนเซ็ปต์ความเป็น Lab มากยิ่งกว่าร้านแรก”
เมื่อเดินเข้ามาจากหน้าปากซอย หากมองจากรูปลักษณ์ภายนอกแล้ว จะเห็นว่าฟาซาดอาคารด้านหน้ามีลักษณะเป็นเหมือนกล่องสี่เหลี่ยมสีขาวเรียบง่ายแต่สะดุดตา โดยสิ่งที่น่าสนใจคือ กิมมิกช่องซ่อนสายไฟ ซึ่งเป็นส่วนที่ออกแบบให้ล้อไปกับบริบท ด้วยการเล่นกับสายโทรศัพท์ที่รุงรังอยู่หน้าร้านให้ดูเหมือนวิ่งทะลุผ่านเข้าไปในอาคาร
“ตรงหน้าร้านตอนแรกเราก็ดีไซน์เรียบๆ มีพื้นที่สำหรับห้อยป้ายไวนิล พอดีกับที่ไซต์มีสายโทรศัพท์ระโยงระยางวิ่งผ่านหน้าร้าน เราเลยรู้สึกว่า สายนี้เราน่าจะทำอะไรกับมันมากไม่ได้แล้ว เอาออกก็ไม่ได้ เลยดีไซน์ให้มีช่องที่สายโทรศัพท์สามารถวิ่งผ่านด้านหลังของตัวฟาซาด แล้ววิ่งออกไป เป็นภาพที่เหมือนสายไฟวิ่งทะลุเข้าไปในตัวร้าน เพื่อให้เข้ากับบริบทโดยการเล่นกับสายไฟไปเลย และให้ Mood ร้านเป็นเหมือนห้องทดลองที่มีพลังงานจ่ายเข้ามา”
ส่วนทางเดินเข้าร้านถูกวางให้อยู่ด้านข้างของอาคาร ซึ่งระหว่างเดินผ่านเข้าไปจะต้องผ่านซุ้มประตูสแตนเลสที่ด้านในออกแบบให้ฝั่งหนึ่งเป็นผนังกระจกเงา ส่วนอีกฝั่งเป็นผนังแม่เหล็ก โดยหากทางร้านมีโปรโมชั่นหรือต้องการที่จะเขียนโน้ตบอกลูกค้าด้วยปากกาไวท์บอร์ด หรือแขวนพร็อบอย่างชุดเสื้อกาวน์ไว้ให้สำหรับคนที่อยากสวมใส่แล้วถ่ายรูปเล่น ก็สามารถเล่นกับตัวผนังที่อยู่ในซุ้มสแตนเลสนี้ได้ทันที
สังเกต + ตั้งปัญหา + ทดลอง = สรุปผล (เพื่อตอบโจทย์การกินชาบู)
เราอาจเคยสังเกตว่า โต๊ะในห้องทดลองมักมีชั้นวางของเพื่อเก็บอุปกรณ์ที่ไม่ได้ใช้ ซึ่งทีมผู้ออกแบบก็นำแนวคิดนี้มาใช้แก้ปัญหาในการกินชาบู โดยออกแบบให้ร้านมีพื้นที่ใช้สอยได้อย่างฉลาด ไม่ว่าจะเป็นการออกแบบให้มีชั้นวางของหรืออุปกรณ์ที่ไม่ได้ใช้ เพื่อให้บนโต๊ะมีความโล่งและมีพื้นที่เพียงพอต่อการใช้งาน รวมถึงมีชั้นที่มีฝาปิดสำหรับจัดเก็บสิ่งของส่วนตัวที่ไม่อยากให้ติดกลิ่นอาหารกลับไป
คุณนินเล่าถึงแนวคิดการออกแบบพื้นที่ใช้สอยว่า “ห้อง Lab จะมีความเหมือนกับ Shabu ตรงที่ของมันเยอะ ต้องมีที่เก็บ เพราะฉะนั้นในโต๊ะปฏิบัติการก็จะมีชั้นวางของ เพื่อจัดเก็บเครื่องมือต่างๆ เราเลยเอาคอนเซ็ปต์นี้มาใช้เหมือนกัน ในร้าน Shabu Lab ที่เราดีไซน์ บนโต๊ะที่เรากินก็จะมีชั้นวางของอยู่ ซึ่งก็สามารถใช้ประโยชน์ได้หลายอย่าง สมมติเรากินเนื้อหมดแล้ว พนักงานยังไม่ได้มาเก็บถาด ปกติถาดมันก็อาจจะกองเกะกะอยู่บนโต๊ะ เราก็สามารถหยิบขึ้นไปวางด้านบนก่อนได้ หรือว่าพวกกาน้ำซุปที่เอาไว้เติม ก็สามารถวางได้ ทำให้โต๊ะโล่งได้โดยใช้ชั้นวางของเสริมขึ้นมา และมันก็จะมีชั้นที่มีฝาปิดที่สามาถเก็บเสื้อหรือกระเป๋าที่เราไม่อยากให้ติดกลิ่นใส่ไว้ในนั้นได้”
ในขณะเดียวกัน ผู้ออกแบบยังใส่ใจในรายละเอียดลงลึกไปถึง ‘ประสิทธิภาพ’ ในแง่การทำงานของพนักงาน โดยออกแบบพื้นที่ครัวให้ง่ายต่อการทำงานมากที่สุด เพื่อช่วยให้มีความคล่องตัวในการทำงานมากขึ้น ลดการรบกวนกันในทางเดินสัญจรระหว่างพนักงานกับลูกค้า รวมถึงยังเป็นการประหยัดพื้นที่อีกด้วย
“โดยปกติถ้าเราไปกินร้านชาบูบางร้าน เราจะเห็นว่ามันมีจังหวะที่พนักงานต้องวิ่งไปวิ่งมาเติมของที่ไลน์บุฟเฟต์ แต่วิธีที่เราออกแบบครัวของ Shabu Lab จะเป็นวิธีการวางพื้นที่ตัวไลน์บุฟเฟต์ให้อยู่ที่เดียวกันกับสเตชั่นทำงาน ยกตัวอย่างง่ายๆ เลยก็คือ โต๊ะหั่นผัก หั่นเนื้อ จะอยู่ด้านหลังของตัวสเตชั่นเลย ส่วนข้างใต้จะเป็นตู้เย็นที่มีไว้แช่อาหารและผักต่างๆ เพราะฉะนั้นพนักงานหนึ่งคน ถ้าเขาจะเตรียมผักออกมาเสิร์ฟ เขาก็จะก้มหยิบของจากตู้เย็นขึ้นมาวางบนโต๊ะ หั่นเสร็จ แล้วเอื้อมไปวางเสิร์ฟได้เลย”
“ซุปกับน้ำจิ้มก็เป็นระบบเดียวกัน พนักงานสามารถยืนเฉยๆ โดยไม่ต้องเดินไปไหน มันก็ช่วยทำให้การใช้งานพื้นที่ในร้านคล่องตัวขึ้น เราจะไม่มีพนักงานวิ่งเตินไปแย่งทางเดินลูกค้า และการที่ไม่ต้องเคลื่อนที่ไปเคลื่อนที่มา มันก็เป็นการทำให้เราสามารถควบคุมความสะอาดของตัววัตถุดิบได้มากขึ้น”
คุณนินยังเล่าเสริมอีกว่า “พอเป็นร้านชาบู อีกเรื่องที่เราต้องคิดให้ดี จะเป็นเรื่องของ Circulation เพราะลูกค้า เขาก็ไม่ได้นั่งอยู่เฉยๆ และเราจะต้องมี Circulation ที่ค่อนข้างเพียงพอสำหรับพนักงานด้วย ถ้าเป็นร้านอาหารทั่วไปเขาสั่งรอบสองรอบต่อโต๊ะก็จบแล้ว แต่ชาบูจะมีการเติมอาหารค่อนข้างบ่อย ซึ่งพนักงานก็จะต้องเข้ามารับออเดอร์เรื่อยๆ เดี๋ยวสักพักลูกค้าก็ต้องเดินไปตักอาหาร ยิ่งในยุคนี้ก็จะเป็นเรื่องของ Social Distance ด้วยที่จะต้องคำนึงถึง”
ปรุงแต่งด้วยรสกราฟิกสีสันจัดจ้าน
แม้ว่า Mood & Tone ของร้านจะบอกเล่าถึงความเป็น ‘ห้องทดลอง’ ได้อย่างสมบูรณ์แบบแล้ว แต่ลักษณะของร้านอาจยังขาดสีสัน และดูนิ่งเกินไป ทีมผู้ออกแบบจึงใช้กราฟิกต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นวลีเด็ดจากนักวิทยาศาสตร์ที่นำมาพลิกแพลงเป็นคำที่ดูมาดกวนอย่างคำว่า ‘ชาบูจินตนาการสำคัญกว่าความรู้’ หรือแม้แต่ผนังกระจกใสด้านหน้าของร้านที่ทีมผู้ออกแบบตั้งใจใส่เนื้อหาทางวิทยาศาสตร์ลงไป ผ่านงานสติ๊กเกอร์ที่เป็นกราฟิกลวดลายตารางธาตุ เข้ามาเติมเต็มคาแร็กเตอร์ให้กับ Interior ที่ดูนิ่งๆ ให้สนุก และสื่อสารง่ายขึ้น
“ในเชิง Interior ไม่ว่าจะเป็นวัสดุหรือดีไซน์ต่างๆ จะค่อนข้างดูเป็น Lab แต่ด้วยความที่เราบอกว่า งานนี้มันต้องป็อบ ต้องสื่อสารง่าย ถ้าเกิดเราดีไซน์ออกมาแล้วมันแห้ง ภาพที่ออกมาอาจจะดูไม่ค่อยเชิญชวน หรือไม่ได้เข้าถึงง่ายเท่าไหร่ สิ่งที่เข้ามาช่วยในโปรเจ็กต์เลยคือ กราฟิกต่างๆ ทั้งที่เป็น Illustrate หรือเป็น Quote นักวิทยาศาสตร์ที่เราเอามาแล้วแก้คำให้กวนๆ ทำเป็นภาพน่ารักๆ ถ้าดูตอนแรกที่ยังไม่มีกราฟิก อาจจะดูจริงจัง แต่พอกราฟิกเข้ามาก่อกวน มาสร้างความปั่นป่วนให้กับ Interior ที่ดูนิ่งๆ ก็ทำให้งานนี้ดู Playful สนุกขึ้น และสื่อสารง่ายขึ้น”
เมื่ออ่านมาจนถึงบรรทัดนี้ ก็คงถึงแก่เวลาที่คุณและเพื่อนๆ เองก็สามารถเป็น ‘นักทดลอง’ กันบ้างแล้ว ซึ่งทุกอย่างของ Shabu Lab ก็กำลังรอความสร้างสรรค์และความอยากกินชาบูของทุกคนให้มาลองปรุงแต่งด้วยตัวเองอยู่
Owner: Shabu Lab
Architect: IF (Integrated Field)
Interior Architect: IF (Integrated Field)
Photographer: Ketsiree Wongwan