OPENING HOURS: MONDAY – SUNDAY: 10.00 AM TO 8.00 PM

info@sitename.com | 987654321

คอนกรีตธรรมชาติจากใบกัญชง HempCrete ที่ยั่งยืน ปลอดภัยและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

เมื่อพืชพรรณที่พบเห็นได้ทั่วในทางภาคเหนืออย่าง ‘ใบกัญชง’ ถูกนำมาดัดแปลงสู่วัสดุก่อสร้าง เฮมพ์คอนกรีต (Hemp Concrete)  คอนกรีตจากธรรมชาติที่มีคุณสมบัติแข็งแรง ทนทาน สามารถใช้ในการก่อสร้างอาคารได้อย่างน่าเหลือเชื่อ และยังใส่ใจถึงความยั่งยืน ส่งผลดีต่อสิ่งแวดล้อม รวมถึงพร้อมไปด้วยคุณสมบัติที่เอื้อต่อการใช้งานและการอยู่อาศัย

 อะไรคือ Hemp?

เฮมพ์ (Hemp) ที่ว่านี้มีชื่อในภาษาไทยว่า ‘ใบกัญชง’ ซึ่งเป็นพืชล้มลุกอายุสั้น ที่นิยมปลูกกันมากทางภาคเหนือในประเทศไทย ด้วยความที่เติบโตได้ง่าย  มีเส้นใยเหนียวนุ่ม น้ำหนักเบา เส้นใยจากต้นกัญชงจึงนิยมมาใช้ถักทอผ้า โดยถือเป็นเส้นใยคุณภาพสูง ยืดหยุ่นและแข็งแรงทนทานขัดกับภาพลักษณ์พืชล้มลุกอย่างไม่น่าเชื่อทีเดียว
หากเราลอกเส้นใยออกจากลำต้นของกัญชงออกทั้งหมด แกนลำต้นที่เหลืออยู่มักจะถูกเรียกกันว่า ‘แกนเฮมพ์’ (Hemp shives) ซึ่งมีน้ำหนักเบา มีรูกลวง มีสีขาวอมน้ำตาล ที่สำคัญคือมีคุณสมบัติในการดูดซับกลิ่น น้ำ หรือน้ำมันได้ดี ไม่ใช่อาหารของปลวกและแมลง และไม่มีฝุ่น ในวงการผลิตภัณฑ์วัสดุจึงนำแกนเฮมพ์มาพัฒนาต่อจนสามารถนำไปใช้ในอาคารอย่างแพร่หลาย
Dtips : หลายคนอาจสงสัยว่า กัญชงกับกัญชานี่ใช่พืชใบเดียวกันหรือเปล่า? ถึงแม้กัญชงจะเป็นพืชในตระกูลเดียวกับกัญชา แต่คุณสมบัติถือว่าแตกต่างกันมากพอสมควร โดยในใบกัญชงจะมีสารที่ทำให้เมา เคลิบเคลิ้มหรือสาร THC (Tetrahydroconnabinol) น้อยกว่าใบกัญชา ซึ่งในใบกัญชงจะมีสาร CBD (Canabidiol) ที่ถูกสกัดออกมาเพื่อประโยชน์ทางการแพทย์มากกว่านั่นเอง

จากใบกัญชงสู่วัสดุก่อสร้าง Hempconcrete

ใบกัญชงถูกนำมาพัฒนาเป็นวัสดุเฮมพ์กรีต (Hempcrete) หรือ เฮมพ์-ไลม์ (Hemp-Lime) ซึ่งเป็นวัสดุก่อสร้างทางชีวภาพที่เกิดจากการผสมแกนหรือเส้นใยเฮมพ์เข้ากับปูนไลม์และน้ำ เมื่อปูนไลม์ทำปฏิกิริยาทางเคมีกับแกนเฮมพ์จะจับตัวกลายเป็นวัสดุแข็ง ซึ่งจะแข็งแรงมากเมื่อสัมผัสกับอากาศเป็นระยะเวลานาน จึงมักนำมาทำเป็นวัสดุก่อสร้างประเภทต่างๆ อย่างการก่อผนัง เทพื้น วัสดุโครงสร้าง หรือแม้แต่ฉนวน แต่ยังไม่สามารถรับน้ำหนักได้มากนัก เนื่องจากคุณสมบัติที่มีน้ำหนักเบา ความหนาแน่นต่ำ นอกจากนั้นเฮมพ์กรีตยังคลายความร้อนได้เร็ว ดูดซับกลิ่น ไม่ลามไฟ และสามารถดูดซับก๊าซคาร์บอนไดร์ออกไซด์ได้ดี
แต่ในภายหลัง มีการคิดค้นและพัฒนาขึ้นเรื่อยๆ จนเกิดเป็นวัสดุ เฮมพ์คอนกรีต (Hemp Concrete) ซึ่งนำเฮมพ์กรีตที่ผ่านการปรับปรุงคุณภาพแกนเฮมพ์ด้วยสารอลูมิเนียมซัลเฟต มาผสมร่วมกับปูนซีเมนต์ปอร์ตแลนด์ เถ้าถ่านหินบางส่วน น้ำ และมวลรวมธรรมชาติ และนำมาขึ้นรูปโดยการอัดหรือหล่อก้อนตามขนาดที่ใช้งานทั่วไป

คุณสมบัติอันโดดเด่นของวัสดุจากธรรมชาติ

ด้วยคุณสมบัติที่มีความหนาแน่นปานกลางช่วยลดน้ำหนักของโครงสร้างหลัก ทำให้เฮมพ์คอนกรีตมีความเป็นฉนวนในตัว คลายความร้อนได้ดี และรับน้ำหนักได้มากกว่าเฮมพ์กรีต  เหมาะสำหรับทำวัสดุโครงสร้างประเภทรับน้ำหนัก ส่วนเฮมพ์คอนกรีตที่หล่อและอัดขึ้นรูปเป็นบล๊อก สามารถนำมาใช้ก่อ ฉาบ หรือตกแต่งผิวได้เหมือนวัสดุก่อทั่วไป โดยสามารถใช้ปูนก่อ หรือปูนฉาบที่มีขายตามท้องตลาดได้เลยนอกจากนั้นวัสดุชนิดนี้ยังมีต้นทุนการผลิตที่ไม่สูงเมื่อเทียบกับวัสดุก่อสร้างประเภทอื่น และยังเป็นการนำวัสดุธรรมชาติมาประยุกต์ใช้ในการก่อสร้าง สร้างความยั่งยืนให้สิ่งแวดล้อมรวมไปถึงการอยู่อาศัยภายในอาคาร
ถึงแม้วัสดุชนิดนี้จะมีน้ำหนักเบาและมีรูพรุน แต่เส้นใยของมันก็สามารถกักเก็บพลังงานได้อย่างรวดเร็วและสามารถปล่อยออกมาทีละน้อย ทำให้เหมาะสมกับสภาพอากาศที่มีการเปลี่ยนแปลงอุณหภูมิระหว่างวันสูง

สำหรับใครที่สนใจ เฮมพ์กรีตมีให้เห็นมากในต่างประเทศ แต่สำหรับในประเทศไทยยังคงมีการวิจัยทดสอบและทดลอง เพื่อพัฒนาให้วัสดุชนิดนี้สามารถนำมาใช้ได้อย่างสมบูรณ์แบบมากที่สุด นับเป็นเรื่องที่น่าสนใจและน่าติดตามในการทำให้พืชพรรณเก่าแก่ที่มีในบ้านเรา กลายเป็นวัสดุก่อสร้างที่ช่วยเปลี่ยนบ้านให้ยั่งยืน มีประสิทธิภาพ เป็นมิตรต่อการอยู่อาศัยและสิ่งแวดล้อมไปพร้อมๆ กัน
ขอบคุณที่มาภาพและข้อมูล
www.nstda.or.th
(วิจัยและพัฒนาโดยผศ.ดร.ธีรวัฒน์ สินศิริ, ดร.ศักดิ์สิทธิ์ พันทวี และ นายพุฒิพัทธ์ ราชคำ สาขาวิชาวิศวกรรมโยธา สำนักวิชาวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี)
https://urbannext.net/hemp-concrete/
https://www.britannica.com/plant/hemp
https://www.archdaily.com

Cannabric (Hemp-Clay Bricks)


http://www.pinterest.co.uk/
www.astm.org
www.hempbuild.ie
homeworlddesign.com