“วันแรกที่เราไปถึงตัวไร่ บอกตรงๆ ว่าเราก็คิดอะไรไม่ออกเหมือนกัน เพราะปกติเวลาเราทำบ้านในกรุงเทพฯ มันเต็มไปด้วยข้อจำกัด ทั้งกฏหมาย ทั้งบริบทโดยรอบ แต่สำหรับบ้านหลังนี้ เรียกได้ว่าข้อจำกัดมันเป็นศูนย์”
หลายครั้ง โจทย์ของการสร้างบ้านมักเริ่มต้นด้วยข้อจำกัดของพื้นที่ที่เป็นตัวกรอบให้การออกแบบดำเนินไปในทิศทางที่เหมาะสมกับทั้งสถานที่และผู้อยู่อาศัย แต่เมื่อข้อจำกัดของบริบทไม่ส่งผล Baan Talia หลังนี้จึงมองหาประโยชน์จากตำแหน่งที่ตั้ง ซึ่งรายล้อมไปด้วยทิวทัศน์ภูเขาที่สามารถมองเห็นได้แบบพาโนรามา และกลับไปพูดคุยถึงสิ่งที่เบสิกที่สุดอย่าง แสงแดด สายลม เม็ดฝน และสีเขียวของธรรมชาติที่เกิดขึ้นภายในไร่ เพื่อให้สถาปัตยกรรมที่ถูกรังสรรค์ขึ้นมาสามารถอยู่ร่วมกับบริบททางธรรมชาติได้อย่างกลมกลืนและงดงามมากที่สุด
แวดล้อมด้วยความเป็นธรรมชาติและวิวพาโนรามาโดยรอบ
บ้านกลางไร่หลังนี้ เริ่มต้นขึ้นจากคุณตุ๋ย-อมรรัตน์ จันต๊ะ เจ้าของบ้านและเจ้าของร้านอาหารที่มีชื่อว่า ‘ชาติไทย’ ในเมืองซิดนีย์ ประเทศออสเตรเลีย ซึ่งมีการทำไร่ออร์แกนิกเป็นทุนเดิมก่อนจะนำประสบการณ์ที่ตนเองถนัดมาเปิด ‘ไร่พลิศา’ ไร่ออร์แกนิกพืชหมุนเวียนบนผืนที่ดินขนาดกว้างในอำเภอหัวหิน ด้วยพื้นที่รายล้อมไปด้วยบรรยากาศของพืชไม้นานาพรรณที่ตนเองหลงใหล คุณตุ๋ยตั้งใจปลูกบ้านหลังหนึ่งเอาไว้ในตำแหน่งกลางไร่ โดยมอบหมายให้ คุณกาจวิศว์ ริเริ่มวนิชย์ สถาปนิกจาก Physicalist เข้ามารับหน้าที่ออกแบบ
สถาปนิกเล่าว่า “สิ่งสำคัญที่สุดของพื้นที่นี้ ซึ่งเราเห็นตรงกันกับเจ้าของ คือบรรยากาศ เราทำบ้านเพื่อให้อยู่ในบรรยากาศของไร่นี้แล้วมองเห็นวิวพาโนรามาโดยรอบตลอดเวลา อันนี้เป็นคีย์คอนเซ็ปต์ของมัน” ท่ามกลางที่ตั้งที่แวดล้อมด้วยธรรมชาติ การออกแบบบ้านหลังนี้กลับไปสู่โจทย์อันเรียบง่าย โดยมุ่งหวังให้สถาปัตยกรรมเป็นตัวรองที่ช่วยขับกล่อมให้ธรรมชาติได้ทำหน้าที่อย่างโดดเด่นเสียมากกว่า
ด้วยความที่ต้องการให้บ้านสามารถมองวิวพาโนรามาได้เต็มที่ สถาปนิกเลือกแบ่งฟังก์ชันออกเป็นสองส่วนอย่างชัดเจน แบ่งเป็นพื้นที่ส่วนตัวที่เจ้าของใช้งานทั้งหมดจะอยู่บริเวณชั้นสองเพื่อให้สัมผัสวิวทิวทัศน์ได้กว้างมากที่สุด และบริเวณชั้นล่างออกแบบเป็นส่วนเซอร์วิสและครัวส่วนกลางซึ่งเปิดให้มีกิจกรรมเวิร์คช็อปที่เปิดรับคนนอกให้เข้ามามีส่วนร่วมได้ ตามความตั้งใจของคุณตุ๋ย
ถึงแม้บ้านหลังนี้จะเน้นช่องเปิด แต่เพื่อให้ผู้อยู่อาศัยที่อยู่ภายใน รู้สึกถึงความสบาย ปลอดภัย และเป็นส่วนตัว ช่องเปิดเหล่านั้นจึงต้องนำแสงธรรมชาติเข้ามาในปริมาณที่พอเหมาะ เพื่อให้ผู้อยู่อาศัยสามารถใช้งานพื้นที่ได้ตลอดทั้งวันโดยไม่ร้อน
จากความพยายามให้บ้านสามารถมองภาพทิวทัศน์สุดลูกหูลูกตา เป็นบ้านที่กันแดด และกันฝน สองประเด็นนี้ถูกขมวดปมเป็นบ้านหลังคาจั่วหน้าตาบ้านๆ ที่ทั้งสถาปนิกและเจ้าของบ้านต่างเห็นภาพตรงกัน โดยตั้งใจให้สถาปัตยกรรมชิ้นนี้แสดงเจตจำนงของอาคารกสิกรรมที่ตอบสนองสภาพภูมิอากาศและบริบทอย่างตรงไปตรงมา โดยไม่จำเป็นต้องนำเสนอตนเองให้โดดเด่นไปในเชิงอื่น
ฟังก์ชันกระจายตัว รับลม วิวและแสงธรรมชาติ
จากโจทย์บนพื้นที่ดินไร่พลิสาขนาดกว้างที่เคยไร้ซึ่งข้อจำกัด ถูกเปลี่ยนรูปเปลี่ยนร่างเป็นบ้านกลางไร่ที่สถาปนิกเริ่มต้นวางผังอาคารให้สัมพันธ์กับแนวทิศ เพื่อให้ผู้อยู่อาศัยเริ่มต้นเช้าวันใหม่ไปพร้อมกับการมองเห็นวิวพระอาทิตย์ขึ้นและตก แต่เพื่อป้องกันไม่ให้อาคารได้รับแสงแดดที่สาดส่องพื้นที่ภายในมากเกินไป หลังคาจึงถูกออกแบบด้วยทรงจั่วเอียง 10 องศา และมีขอบเขตยื่นออกจากบ้านประมาณ 2.5 เมตรตามแนวทิศตะวันออกและตะวันตกซึ่งเป็นวิวหลักที่ผู้อยู่อาศัยมองเห็น
ผังอาคารถูกวางฟังก์ชันเรียบง่ายตรงไปตรงมาเช่นเดียวกับรูปลักษณ์ภายนอก โดยชั้นล่างออกแบบในลักษณะใต้ถุนที่เราคุ้นเคยแบบบ้านไทยโบราณ เปิดให้ลมธรรมชาติพัดผ่านเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของการอยู่อาศัย ถัดเข้าไปสถาปนิกไล่ลำดับการเข้าถึงด้วยการเป็นครัวขนาดใหญ่ และส่วนเซอร์วิสต่างๆ โดยพื้นที่บริเวณชั้นหนึ่งถูกออกแบบให้มีขนาดที่กระชับกว่าเพื่อให้โครงสร้างชั้นสองช่วยบังแดดให้ไปในตัว
บริเวณชั้นสองประกอบไปด้วยห้องนอนคุณตุ๋ย ห้องนอนของน้องชาย ห้องนอนแขก ห้องนั่งเล่นและส่วนรับประทานอาหาร ซึ่งความพิเศษอยู่ที่การจัดวางฟังก์ชันแต่ละส่วนให้กระจายตัวแยกออกจากกัน และนำห้องปิดอย่างห้องน้ำจับกลุ่มเข้าไว้ด้วยกัน ทำให้แต่ละห้องสามารถมองเห็นวิวพาโนรามาได้มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ รวมถึงลมธรรมชาติที่สามารถเดินทางผ่านเข้าสู่ตัวบ้านได้ตลอดเวลา พร้อมทิวทัศน์และบรรยากาศของแสงอาทิตย์ที่สาดส่องเข้าสู่ตัวบ้านให้ผู้อยู่อาศัยดื่มด่ำได้ในทุกวัน
แปลนชั้น 1 และชั้น 2 บ้านทาเลีย Photo Credits : Physicalist
อาคารเรียบง่ายในแบบลูกครึ่ง ‘ปูน และ เหล็ก’
ด้วยการจัดวางฟังก์ชันที่กระจายตัวอย่างตรงไปตรงมา เมื่อเรามองอาคารชั้นบนจากภายนอก จะเห็นได้ถึงภาษาทางสถาปัตยกรรมที่ไล่เรียง ปรากฏตัวออกมาอย่างเรียบง่าย โดยแบ่งเป็นผืนกระจก ช่องเปิดทะลุ และผนังทึบ บริเวณชั้นล่างจะเปิดโล่งด้วยพื้นที่ใต้ถุน แทรกด้วยกระจกบางส่วนตามความเหมาะสมของฟังก์ชันนั้นๆ อย่างตรงตัว ส่วนบริเวณหลังคาออกแบบให้เป็นช่องเปิดสกายไลท์ที่ดึงแสงธรรมชาติลงส่วนกลางของพื้นที่ เพื่อให้บ้านสว่างอยู่ตลอดเวลาองค์ประกอบภายนอกของอาคารยังคงความเรียบง่ายด้วยการใช้วัสดุพื้นฐานอย่าง ปูนและเหล็ก โดยชั้นล่างถูกออกแบบด้วยงานปูน เนื่องจากปิดทึบได้มากกว่า สร้างความเป็นส่วนตัวและป้องกันสัตว์ตัวเล็กตัวน้อยที่มาจากไร่ได้ ต่างจากชั้นบนที่ถูกเปลี่ยนคาแรคเตอร์อย่างสิ้นเชิงด้วยการใช้เหล็กสีเทาเข้ม ลดความชัดเจนของอาคารลงเพื่อให้พืชพรรณหลากชนิดภายในไร่แสดงตัวตนขึ้นมาโดดเด่นแทนที่ พร้อมให้ผู้อยู่อาศัยสามารถใช้เวลาดื่มด่ำกับการมองวิวอันงดงามภายนอกแทนความสวยงามจากตัวสถาปัตยกรรม
“พวกโครงสร้างเหล็กและหลังคาเราตั้งใจออกแบบให้มันมีความบาง เบา พอมันดูเบา เราจะรู้สึกเหมือนว่ามันลอยอยู่” สถาปนิกพูดถึงโครงสร้าง โดยออกแบบโครงสร้างจันทันวิ่งตามแนวระยะของบ้าน แต่เพื่อให้พื้นที่ภายในสามารถเปิดโล่งได้โดยไม่จำเป็นต้องมีเสาตรงกลางสถาปนิกจึงออกแบบโครงสร้าง Truss เสริมเพื่อช่วยรับน้ำหนัก และตีผนังปิด เกิดเป็นมิติของชุดผนัง ที่ให้ความรู้สึกคล้ายกับซุ้มประตูเมื่อเราเดินผ่าน
“การที่บ้านพยายามตอบสนองบรรยากาศอย่างตรงไปตรงมา มันทำให้ตัวบ้านดูเป็นธรรมชาติ ไม่ถูกปรุงแต่ง มันเป็นของพื้นที่นี้อย่างแท้จริง เหมือนเราขับรถเข้าไปแล้วมีบ้านหลังหนึ่งลอยอยู่ท่ามกลางผิวสัมผัสของพรรณไม้ที่เป็นไร่ พื้นผิวที่เต็มไปด้วยสี ใบไม้ต่างๆ หลังคาอาคารเป็นจั่วแบบง่ายๆ บ้านเป็นเรือนยาวๆ มีกระจก ผนังทึบ ช่องเปิด เราชอบที่มันไม่พยายามเป็นอะไรไปมากกว่านี้ ไม่ได้พยายามมีตัวตน หรือนำเสนอตัวเองเพื่อที่จะมีความหมายมากกว่าบริบทที่มันตั้งอยู่”
ในขณะที่ต้นไม้นานาพรรณส่งมอบความสดชื่นผ่านสีเขียวชะอุ่มที่รายล้อม แสงอาทิตย์รำไรยามเย็นที่ส่องกระทบพื้นที่ภายในบ้าน ลมธรรมชาติที่พัดผ่านเข้ามาทักทาย ชวนให้ผู้อยู่อาศัยออกมาสูดอากาศท่ามกลางทิวทัศน์ไร้ขอบเขตที่สามารถมองไปได้ไกลสุดลูกหูลูกตา บ้านครึ่งปูนครึ่งเหล็กในชื่อ Baan Talia หลังนี้ กลับปล่อยให้ตัวเองค่อยๆ กลืนหายไปกับบริบทรอบด้านอย่างกลมกลืน กลายเป็นเพียงโครงสร้างสถาปัตยกรรมที่แสดงตนบนผืนที่ดินนี้อย่างแท้จริง เช่นเดียวกับที่คุณกาจวิศว์ สถาปนิกกล่าว
Location : ไร่พลิศา ตำบลทับใต้ อำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์
Gross Built Area : 450 ตารางเมตร
Owner : อมรรัตน์ จันต๊ะ
Architect : กาจวิศว์ ริเริ่มวนิชย์ , กนก นพวงศ์ และสิทธิโชค ชุ่มดี Physicalist Architects
Structure Engineer : อิทธิพล คนใจชื่อ
M&E Engineer : Turnkey All Company Limited
Construction : APE 2016 Co.,Ltd
Photographer : ศุภกร ศรีสกุล และกึกก้อง ถิรธำรงเกียรติ