OPENING HOURS: MONDAY – SUNDAY: 10.00 AM TO 8.00 PM

info@sitename.com | 987654321

ภาพยนตร์ แสงเงา และบริบทพื้นที่ สู่สถาปัตยกรรมที่ยากจะคาดเดาของ Jean Nouvel

หากพูดถึงโลกสถาปัตยกรรมที่มีการออกแบบโดยก้าวข้ามขีดจำกัดรูปแบบเดิมๆ ผ่านแรงบันดาลใจจากบริบทที่อยู่แวดล้อม คงไม่มีใครไม่รู้จักชื่อของ ฌ็อง นูแวล (Jean Nouvel) สถาปนิกชาวฝรั่งเศส ผู้ออกแบบโครงการชื่อเสียงระดับโลกโดยปราศจากกฏ สไตล์ หรือสิ่งยึดมั่นตายตัว สู่ผลลัพธ์ของผลงานที่แตกต่างอย่างโดดเด่น แฝงด้วยการเล่นแสงและเงาอย่างละเอียดอ่อน ตลอดจนความสมดุลที่กลมกลืนกับบริบทสภาพแวดล้อม ก่อนคว้ารางวัล Pritzker Prize ในปี ค.ศ. 2008 ด้วยคำนิยามของคณะกรรมการที่ยอมรับให้เขาเป็น สถาปนิกที่ ‘กล้าหาญ’ ที่สุดคนหนึ่งของยุค

Louvre Abu Dhabi, United Arab Emirates 2017
Photo credits : https://www.dezeen.com/2017/11/07/jean-nouvel

จุดเริ่มต้นของการเป็นสถาปนิกระดับโลกไม่ง่ายนัก เมื่อทั้งพ่อและแม่ของนูแวลต่างสนับสนุนให้เขาเรียนด้านวิศวกรรมหรือภาษา ด้วยความเป็นวิชาชีพทำเงินที่จะหาเลี้ยงเขาได้ในอนาคต แต่เมื่อนูแวลมีโอกาสได้เรียนวาดรูปกับคุณครูท่านหนึ่ง เขาก็เริ่มหลงใหลในความเป็นศิลปะจนมุ่งมั่นที่จะเดินทางสายการออกแบบอย่างเต็มตัว ซึ่งในท้ายที่สุดทางครอบครัวก็ยอมประนีประนอมและหาจุดลงตัวโดยอนุญาตให้เขาเรียนสถาปัตยกรรม เพราะเห็นว่ามีความเสี่ยงน้อยกว่าการเรียนศิลปะในยุคนั้น
Louvre Abu Dhabi, United Arab Emirates 2017
Photo credits : https://www.dezeen.com/2017/11/07/jean-nouvel

ในปี ค.ศ.1965 นูแวลได้รับรางวัลชนะเลิศจากการแข่งขันระดับประเทศเพื่อเข้าศึกษาต่อ ณ École des Beaux-Arts โรงเรียนศิลปะชื่อดังในปารีส ซึ่งระหว่างนั้นเขามีโอกาสได้ทำงานให้กับบริษัทสถาปัตยกรรมที่ก่อตั้งโดยสถาปนิกยุคโมเดิร์น Claude Parent และผู้เชี่ยวชาญการวางผังเมืองอย่าง Paul Virilio  ด้วยความสามารถที่โดดเด่น เพียงระยะเวลาเพียงปีเดียว นูแวลก็ได้รับมอบหมายให้ควบคุมโครงการก่อสร้าง
อพาร์ทเมนต์ คอมเพล็กซ์ขนาดใหญ่

 

ฌ็อง นูแวล (Jean Nouvel) สถาปนิกชาวฝรั่งเศษผู้คว้ารางวัล Pritzker Prize ในปี 2008
Photo credits : https://en.wikipedia.org/wiki/Jean_Nouvel

นับตั้งแต่นูแวลเริ่มต้นอาชีพสถาปัตยกรรมอย่างจริงจังในปีค.ศ.1970 เรียกได้ว่าสถาปนิกชาวฝรั่งเศสคนนี้ได้ทลายสุนทรียภาพของความทันสมัยแบบดั้งเดิมด้วยภาษาทางการออกแบบที่ตนเองสร้างขึ้นทั้งหมด เขาให้ความสำคัญเป็นอย่างมากในการออกแบบอาคารให้กลมกลืนกับสภาพแวดล้อม กล่าวได้ว่าผลงานการออกแบบของนูเวลจะสะท้อนเอกลักษณ์บางอย่างที่ทำให้เราสามารถรับรู้ได้ถึงบริบทของสถานที่นั้นๆ แต่ในขณะเดียวกันกลับแปลกใหม่ และมีเอกลักษณ์เฉพาะตัวที่คาดเดาไม่ได้โดยสิ้นเชิง
Fondation Cartier pour l’art Contemporain Paris , France 1994
Photo credits : https://www.fondationcartier.com/en/building

สถาปนิกผู้เปรียบเทียบตนเองเป็นนักกำกับภาพยนตร์

“สถาปัตยกรรมดำรงอยู่เช่นเดียวกับภาพยนตร์ มีมิติของช่วงเวลาและการเคลื่อนไหว การสร้างอาคารจึงเป็นการมองหาความแตกต่างและความเชื่อมโยงของที่ว่าง โดยเราไม่สามารถออกแบบให้เหมือนกันได้เสมอไป ความแตกต่างที่เฉพาะตัวในแต่ละสถานที่ สิ่งนั้นคืองานและหน้าที่สำคัญที่สุดของสถาปนิกที่จะต้องค้นหา” นูแวลอธิบาย
100 Eleventh Avenue New York , USA 2007
Photo credits : https://static.frontinc.com , http://www.lawrencevaughangriffin.com , https://www.caandesign.com

แนวคิดหนึ่งที่มักปรากฏในทุกบทสัมภาษณ์ของนูแวล คือ เขามักเปรียบเทียบการออกแบบสถาปัตยกรรมเสมือนการกำกับภาพยนตร์ ทุกความสัมพันธ์ระหว่างพื้นที่ วัตถุและสสาร คือสิ่งที่ถูกออกแบบเพื่อแสดงให้ใครบางคนมองเห็น รวมถึงการลำดับเรื่องราวต่างๆ ก็คล้ายกับการออกแบบพื้นที่ในแต่ละส่วนที่เปลี่ยนไปตามบริบทของการออกแบบสถาปัตยกรรม

ด้วยเหตุนี้เอง ผลงานของนูแวลจึงโดดเด่นด้วยความซับซ้อนของภาพที่ผ่านการจัดเรียงสัดส่วน และเชื่อมโยงองค์ประกอบภายในด้วยการใช้สีและแสงซึ่งทำงานร่วมกันได้อย่างกลมกลืน
Musee du Quai Branly Paris , France 2006
Photo credits : https://www.archdaily.com

Institut du Monde Arabe (IMA) Paris, France 1987

หนึ่งในความสำเร็จของผลงาน ที่ได้รับการยอมรับในระดับนานาชาติของนูแวลเป็นครั้งแรกคือ Institut du Monde Arabe (IMA) สถาบันเผยแพร่วัฒนธรรมอาหรับในกรุงปารีส อาคารนี้รับบทบาทเป็นสถานที่ท่องเที่ยวสำหรับผู้ที่ชื่นชอบสถาปัตยกรรมหรือสนใจประวัติศาสตร์ของทวีปตะวันออกกลาง โดยได้รับความร่วมมือระหว่างรัฐบาลฝรั่งเศสและ The Arab League เพื่อสานสัมพันธ์ระหว่างประเทศทั้งสอง พื้นที่ทั้งหมดประกอบด้วยอาคาร 2 หลังทางเหนือและใต้ โดยอาคารทางเหนือจะมีความสูง 9 ชั้น และอาคารทางใต้สูง 11 ชั้น
Institut du Monde Arabe (IMA) Paris, France 1987
Photo credits : https://www.archdaily.com

อาคารทางใต้โดดเด่นด้วยการออกแบบผนังอัจฉริยะที่คล้ายเลนส์กล้องซึ่งสามารถขยายให้กว้างหรือหรี่ลงได้โดยอัตโนมัติตามสภาพแสงแดดในแต่ละช่วงเวลาของวัน เทคนิคนี้เป็นรูปแบบสถาปัตยกรรมอิสลามในแบบดั้งเดิมที่เรียกว่า Mashrabiya ซึ่งเป็นการนำลวดลายทรงต่างๆ มาสานทอเป็นตาข่ายเพื่อป้องกันแสงแดดสำหรับบ้านในตะวันออกกลาง

นูแวลหยิบบริบทของพื้นที่เหล่านี้มาใช้เป็นแรงบันดาลใจในการออกแบบ โดยออกแบบผนังเหล็กหลากหลายรูปทรงไม่ว่าจะเป็นสี่เหลี่ยมจตุรัส วงกลม หรือแปดเหลี่ยม เมื่อเกิดการใช้งานภายในอาคาร เราจึงมองเห็นความละเอียดอ่อนของแสงและเงาที่เคลื่อนไหวช้าๆ ตลอดวัน สร้างปฏิสัมพันธ์ให้ผู้ใช้งานภายในรับรู้ได้ถึงความปราณีตที่เกิดขึ้นจากการออกแบบ
Institut du Monde Arabe (IMA) Paris, France 1987
Photo credits : https://www.archdaily.com

Agbar Tower, Barcelona, Spain 2005

ไม่เพียงแต่อาคารทางวัฒนธรรม นูแวลยังออกแบบตึกระฟ้าที่มีชื่อเสียงในชื่อ Agbar Tower ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของศิลปะแนว Abstract Expressionism ของเมืองบาร์เซโลนาและยังเป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่ได้รับความนิยมในประเทศสเปน
Agbar Tower, Barcelona, Spain 2005
Photo credits : http://www.jeannouvel.com/en/projects/tour-agbar/

ในการออกแบบรูปลักษณ์ภายนอก นูแวลได้แรงบันดาลใจจากภูเขามอนต์เซอร์รัตในประเทศสเปน ซึ่งรูปทรงลักษณะแท่งของอาคารยังได้รับขนานนามว่าเป็นเสมือนน้ำพุร้อนที่ระเบิดขึ้นสู่ท้องฟ้า คุณสมบัติที่โดดเด่นที่สุดอย่างหนึ่งของอาคารแห่งนี้ คือ การติดตั้งระบบส่องสว่างในเวลากลางคืน ผ่านอุปกรณ์ส่องสว่าง LED จำนวน 4,500 ชิ้นที่ให้เฉดสีที่แตกต่างกันได้มากกว่า 16 ล้านสีทั่วเปลือกของอาคาร ซึ่งสามารถตั้งโปรแกรมคอมพิวเตอร์ให้ลำดับภาพ เคลื่อนไหวจากสีหนึ่งไปเป็นอีกสีหนึ่งได้อย่างรวดเร็ว
Agbar Tower, Barcelona, Spain 2005
Photo credits : http://www.jeannouvel.com/en/projects/tour-agbar/

นอกเหนือจากรูปลักษณ์ภายนอก ภายในยังมีระบบควบคุมอุณหภูมิอัจฉริยะ ด้วยตัวเซ็นเซอร์อุณหภูมิที่ติดตั้งอยู่บนพื้นผิวด้านนอก ทำให้สามารถควบคุมการเปิดและปิดของมู่ลี่ เพิ่มประสิทธิภาพของการใช้พลังงานโดยการประหยัดเครื่องปรับอากาศ ผ่านเอกลักษณ์และบริบทดั้งเดิมของบาร์เซโลนา อาคารแห่งนี้ยังเปลี่ยนโฉมหน้าและฟื้นฟูเมืองอย่างกว้างขวาง ก่อนจะสร้างตัวเองเป็นจุดเด่นที่คนบาร์เซโลนาและทั่วโลกจดจำได้ไม่ยาก
Agbar Tower, Barcelona, Spain 2005
Photo credits : http://www.jeannouvel.com/en/projects/tour-agbar/

National Museum of Qatar Doha , Qatar 2019

ผลงานที่สร้างชื่อให้กับนูแวลในยุคหลังๆ คงหนีไม่พ้น พิพิธภัณฑ์แห่งชาติกาตาร์ หรือ National Museum of Qatar (NMoQ) ด้วยความที่กาตาร์เองเป็นประเทศที่มีประวัติศาสตร์ เอกลักษณ์ ตัวตน และวิถีชีวิตของผู้คนที่โดดเด่นเป็นเอกลักษณ์ โจทย์ของการออกแบบพิพิธภัณฑ์แห่งชาติจึงต้องสะท้อนความเป็นกาตาร์ได้อย่างงดงาม
National Museum of Qatar Doha , Qatar 2019
Photo credits : http://www.jeannouvel.com/en/projects/musee-national-du-qatar/

นูแวลออกแบบอาคารแห่งนี้ด้วยแรงบันดาลใจจาก ‘กุหลาบทะเลทราย’ หรือแร่ที่เกิดจากการตกผลึกของจากทราย เกลือ และลม สามสิ่งอันเป็นจุดเด่นทางพื้นที่ของการ์ตาร์ ด้วยลักษณะรูปทรงอันเป็นเอกลักษณ์ ความโค้งเว้าที่แตกต่างแต่เชื่อมต่อกันได้อย่าวกลมกลืน ทำให้สถาปัตยกรรมชิ้นนี้เปรียบได้กับงานประติมากรรมชั้นดีที่สะท้อนถึงบทบาทของการ์ตาร์ได้อย่างลงตัว รูปทรงโค้งเว้าคล้ายแผ่นดิสก์ที่เห็นถูกสร้างขึ้นจากแผ่นคอนกรีตเสริมใยสีน้ำตาล (fiber-reinforced concrete: FRC) จำนวน 539 แผ่น ที่มีขนาด ความโค้งเว้าแตกต่างกัน เชื่อมต่อและซ้อนทับภายใต้โครงสร้างเหล็กที่สามารถปรับเปลี่ยนได้
National Museum of Qatar Doha , Qatar 2019
Photo credits : https://www.buildernews.in.th/archdesign-cate/36167

พิพิธภัณฑ์เกิดขึ้นจากการบูรณะวังเก่าแก่ของราชวงศ์ผู้ปกครองกาตาร์ ซึ่งทีมผู้ออกแบบแก้ปัญหาอาคารเก่าอย่างยั่งยืนด้วยการใช้วัสดุจากธรรมชาติ ถือได้ว่าเป็นการปกป้องอาคารเก่าไปพร้อมกับการเปลี่ยนภาพลักษณ์ของอาคารไปอย่างสิ้นเชิง อีกทั้งยังได้รับการยอมรับให้เป็นพิพิธภัณฑ์แห่งชาติแห่งแรกของโลกที่ผ่านมาตรฐานอาคารสีเขียว ไม่เพียงสะท้อนตัวตนของคนกาตาร์ อาคารหลังนี้ยังทำหน้าที่เป็นตัวแทนของประเทศเพื่อส่งต่อวัฒนธรรม และเอกลักษณ์น่าชื่นชมของกาตาร์ก่อนออกสู่สายตาทั่วโลก
National Museum of Qatar Doha , Qatar 2019
Photo credits : https://www.buildernews.in.th/archdesign-cate/36167

จากผลงานทั้งสามที่เราหยิบยกมาเล่าให้ฟังในวันนี้ ถึงแม้จะมีรูปลักษณ์หน้าตาที่แตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง แต่เรายังคงมองเห็นถึงแนวคิดที่นูแวลยึดมั่น และมีปรากฏให้เห็นในทุกงาน นั่นคือ การเคารพต่อสภาพแวดล้อม บริบทธรรมชาติ ประวัติศาสตร์ และวัฒนธรรม การสร้างสรรค์อาคารที่ทำให้ผู้มาเยือนระลึกถึงอดีตไปพร้อมกับรูปฟอร์มที่พาวงการสถาปัตยกรรมก้าวสู่อนาคต สิ่งเหล่านี้หล่อหลอมเป็นผลงานของ ฌ็อง นูแวล สถาปนิกผู้ฉีกกฏการดีไซน์ในแบบเดิมๆ ก่อนพาตัวเองเข้าสู่เส้นทางสถาปนิกที่โด่งดังและได้รับการยอมรับไปทั่วโลก

อ้างอิงข้อมูลจาก :
https://www.pritzkerprize.com/ , https://www.britannica.com/ , https://www.archdaily.com/jean-nouvel , https://www.dezeen.com , https://archello.com , https://media.architecturaldigest.com