หากไม่นับถึงเหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่ทางภาคใต้ของประเทศไทยที่เพิ่งเกิดขึ้นไปหมาดๆ ในช่วงปีที่ผ่านมาเรามักเห็นภาพข่าวความสูญเสียหลังวิกฤตทางธรรมชาติและภัยพิบัติหลายต่อหลายครั้ง ตั้งแต่สเกลเล็กจนถึงสเกลใหญ่ ไม่ว่าจะเป็นสเกลไหนก็ไม่เคยเป็นเรื่องน่ายินดีเลย ดังนั้นคงจะดีไม่น้อยถ้าการออกแบบสามารถรับมือ ช่วยให้เราสามารถดำรงชีวิตอยู่กับภัยพิบัติและอนาคตที่ไม่แน่นอนได้ Dsign Something จึงรวบรวมผลงานการออกแบบน่าสนใจทั้งสเกลเล็ก ใหญ่ที่มีแนวคิดออกแบบป้องกันและรับมือกับภัยพิบัติในรูปแบบต่างๆ เพื่อให้เราสามารถอยู่ร่วมกับธรรมชาติได้อย่างเข้าใจ
หากจะกล่าวถึงความยืดหยุ่นหรือ ‘Resilience Design’ ให้เห็นภาพง่ายๆ ความยืดหยุ่นที่ว่านี้ คือ การออกแบบที่สามารถปรับตัวพร้อมรับสถานการณ์หรือภัยพิบัติต่างๆ ได้ ไม่ว่าจะเป็นน้ำท่วม ภัยแล้ง การอพยพของกลุ่มคน หรือแม้แต่การเพิ่มขึ้นของประชากรผู้สูงอายุ ซึ่งแท้จริงก็ไม่ใช่เรื่องใหม่สำหรับวงการการออกแบบเท่าไรนัก และในปัจจุบันเราก็ยังเห็นเหล่าดีไซน์เนอร์ผลิตผลงานที่นำแนวคิดนี้มาใช้เป็นจำนวนมาก อาจเพราะสภาพอากาศ หรือเหตุการณ์ภัยพิบัติต่างๆ ทั่วโลกที่เกิดขึ้นและเปลี่ยนแปลงรวดเร็วจนเราตามไม่ทัน คำว่า ‘ยืดหยุ่น‘ (Resilience) จึงกลายเป็นคีย์เวิร์ดสำคัญที่นักออกแบบและนักวางผังเมืองมักใช้เป็นแนวคิดในการทำงานเพื่อชุมชน
The Core House
Sorsogon City, Philippines
ในปัจจุบัน เราพบผู้ประสบภัยพิบัติทางธรรมชาติมากถึง 20 ล้านคนต่อปีและมีแนวโน้มจะเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งลองคิดกันเล่นๆ ผู้ประสบภัยพิบัติกลับมีจำนวนมากกว่าผู้ลี้ภัยสงครามเสียอีก! ด้วยความตั้งใจที่จะตอบสนองต่อภัยธรรมชาติที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วและคร่าชีวิตคนนับล้าน ธนาคารโลกและองค์การสหประชาชาติ UN Habitat จึงร่วมมือกับ Airbnb, Build Academy และ Global Facility for Disasters Reduction and Recovery จัดการแข่งขันออกแบบบ้านขนาดเล็ก ที่สามารถปรับตัวให้ยืดหยุ่นพร้อมทั้งอยู่ได้อย่างยั่งยืน ผ่านแนวคิด ‘transitional housing’ โดยต้องมีราคาถูก ก่อสร้างได้จริง นอกจากนี้โครงสร้างของบ้านจะต้องแก้ปัญหาน้ำท่วมและพายุลมแรง
โครงการ Core House ถูกออกแบบด้วยโครงสร้างไม้ไผ่ที่สามารถก่อสร้างได้ง่ายด้วยตนเอง ต้นทุนต่ำและมีความยั่งยืนสูง สามารถทนต่อน้ำท่วมที่เกิดซ้ำได้ โดยบ้านออกแบบให้ยกตัวขึ้นจากการเสริมถังน้ำ PVC เข้าไปข้างใต้เพื่อให้สามารถลอยน้ำได้หากเกิดน้ำท่วมและสามารถถอดออก เปลี่ยนตำแหน่งได้หากน้ำลด นอกจากนี้ยังมีการคำนึงถึงสภาพภูมิอากาศของพื้นที่ซึ่งอาจได้รับผลกระทบจากภัยพิบัติน้ำท่วมด้วยการคำนวนแรงลมและปริมาณน้ำที่จะเกิดขึ้นหากเกิดพายุ
มองจากภายนอก Core House ยังมีการออกแบบโครงสร้างฟาซาดขนาดใหญ่ที่ใช้สำหรับปลูกพืชแนวตั้งช่วยกรองแสงและลดอุณหภูมิของบ้านลงในขณะที่ยังยอมให้แสงหรืออากาศธรรมชาติไหลผ่านได้ รวมถึงมีการออกแบบช่องว่างบริเวณหลังคาเพื่อให้อากาศถ่ายเทได้สะดวก และมีการใช้พลังงานหมุนเวียนด้วยการนำน้ำที่กักเก็บไว้กลับมาใช้ใหม่
อีกหนึ่งจุดเด่น คือ การออกแบบโดยคำนึงถึงการขยายตัวของเมือง ไม่เพียงแค่บ้านหนึ่งหลัง แต่ Core House ยังสามารถปรับขนาดของยูนิตให้เหมาะสมกับผู้อยู่อาศัยในแต่ละบ้านได้อีกด้วย การศึกษาและออกแบบให้บ้านเกิดความยั่งยืนตั้งแต่การเลือกใช้วัสดุไปจนถึงการใช้พลังงานหมุนเวียนได้รับการชื่นชมอย่างมากจากเหล่ากรรมการ และทำให้ The Core House ได้รับรางวัลชนะเลิศ Resilient Homes Design Challenge ในปี 2018
อ้างอิงข้อมูลจาก
https://www.behance.net , https://poliflash.polito.it ,https://buildacademy.com
19 Residential Towers
Manhattan , New York
เพื่อแก้ไขปัญหาการเพิ่มจำนวนของประชากร การขาดแคลนที่อยู่อาศัยที่ราคาเข้าถึงได้ รวมถึงแก้ไขปัญหาระดับน้ำทะเลที่เพิ่มสูงขึ้น DFA บริษัทออกแบบสถาปัตยกรรมจากเมืองนิวยอร์ค จึงทำการเปลี่ยนพื้นที่ท่าเรือเก่าที่ทรุดโทรมของแมนฮัตตันให้กลายเป็นโครงการอพาร์ทเมนท์ พื้นที่พักผ่อนหย่อนใจ พื้นที่เชิงพาณิชย์ พื้นที่จอดรถและสนามฟุตบอล
ด้วยน้ำทะเลที่ยังสูงขึ้นเรื่อยๆ DFA คาดการณ์ว่าพื้นที่ภูมิทัศน์ทั้งหมดจะจมอยู่ใต้น้ำอย่างสมบูรณ์ภายในปีพ.ศ. 2593 หากมองจากภาพ เราจะเห็นได้ว่าส่วนล่างของหอคอยจะมีลักษณะเป็นฐานที่เรียวบางกว่าปกติ ซึ่งพื้นที่อพาร์ทเมนท์จะเริ่มต้นเหนือส่วนฐานขึ้นไป เพื่อป้องกันไม่ให้ส่วนที่พักอาศัยได้รับความเสียหายในกรณีที่เกิดน้ำท่วมหรือระดับน้ำทะเลยกสูง ส่วนพื้นที่สาธารณะส่วนอื่นๆ ที่ออกแบบไว้ใช้งานในปัจจุบัน อย่างสนามฟุตบอลหรือพื้นที่พักผ่อนจะกลายเป็นเกาะลอยน้ำที่ยอมให้น้ำท่วมถึง ซึ่งทาง DFA ได้ออกแบบทางสัญจรรองรับสองเส้นทาง ส่วนแรกจะอยู่บนระดับพื้นดินเหนือท่าเรือสำหรับใช้งานในปัจจุบัน และส่วนที่สองเป็นทางยกระดับเชื่อมต่ออาคารทั้งหมดเข้าไว้ด้วยกัน เผื่อสำหรับการใช้งานเมื่อเกิดน้ำท่วมสูง
นอกจากจะปรับตัวเพื่อเอื้อต่อการเปลี่ยนแปลงของเมืองในอนาคตแล้ว โปรเจกต์ริมน้ำที่ว่านี้ยังช่วยฟื้นฟูพื้นที่อุตสาหกรรมเดิมอย่าง ท่าเรือเก่า เปลี่ยนตัวเองเพื่อให้เข้ากับสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว และยังช่วยสร้างผลกำไรจากพื้นที่โดยไม่จำเป็นต้องทิ้งร้างดังเช่นปัจจุบัน
อ้างอิงข้อมูลจาก
https://inhabitat.com , https://nextcity.org
Etania Green School
Beaufort , Malaysia
ในรัฐซาบาห์ ประเทศมาเลเซีย เด็กไร้สัญชาติหลายพันคนต้องกลายเป็นคนชายขอบเนื่องด้วยสถานะทางกฎหมาย โรงเรียน Etania จึงถูกสร้างขึ้นเพื่อเป็นศูนย์การเรียนรู้สำหรับเด็กด้อยโอกาสเหล่านี้ ด้วยความตั้งใจของ Harvard Business School ซึ่งมีแผนที่จะสร้างโรงเรียน 30 แห่งขึ้นในซาบาห์ โดยมอบหมายให้สตูดิโอออกแบบ billionBricks มานำร่องออกแบบโรงเรียนต้นแบบเป็นที่แรกสำหรับเด็กอายุ 5-13 จำนวน 350 คน
ความท้าทายแรกที่ทีมออกแบบต้องเจอ คือโรงเรียนตั้งอยู่ริมแม่น้ำที่มีประวัติน้ำท่วมใหญ่ทุกๆ 10 ปี เนื่องจากการทำลายป่าเดิมที่มีอยู่และการปลูกปาล์มน้ำมันทดแทน โรงเรียนแห่งนี้จึงออกแบบให้มีการยกระดับจากพื้นดิน ด้วยการใช้เสาและตู้คอนเทนเนอร์เป็นฐานล่างรับน้ำหนักที่แข็งแรง เพื่อป้องกันไม่ให้น้ำท่วมพื้นที่ห้องเรียนของเด็กๆ โดยตู้คอนเทนเนอร์ยังซึ่งมีฟังก์ชันภายในเป็นห้องเก็บของและห้องน้ำสำหรับเด็กนักเรียน
พื้นดินใกล้กับแม่น้ำถูกขุดเป็นบ่อเพื่อใช้เป็นที่รองรับน้ำ ในช่วงที่ฝนตกหรือมีน้ำมากกว่าปกติ ซึ่งดินที่ถูกขุดขึ้นจะนำไปถมบริเวรอาคารเพื่อให้เกิดเป็นพื้นดินต่างระดับ ก่อนจะวางอาคารเรียนทั้งสามบล็อก ในลักษณะเยื้องกัน โดยอาคารสองบล็อกจะแบ่งเป็นห้องเรียนสี่ห้อง ส่วนบล็อกที่สามบนเนินดินจะเป็นพื้นที่ห้องครูและห้องสมุด ซึ่งอาคารจะวางในแนวทิศตะวันออก-ตะวันตกเพื่อให้ได้รับความร้อนในปริมาณที่น้อยที่สุด อีกทั้งห้องเรียนทั้งหมดยังหันหน้าไปทางแม่น้ำ เพื่อให้อากาศไหลเวียนภายในทางแนวเหนือ-ใต้ได้อย่างสะดวก
อ้างอิงข้อมูลจาก
https://www.billionbricks.org/etania-school ,http://architecturebrio.com , https://www.archdaily.com
Fostering Resilient Ecological Development
New York , USA
เพื่อเตรียมพร้อมกับการรับมือและปรับตัวต่อภัยพิบัติรูปแบบต่างๆ การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานภายใต้แนวคิดความสัมพันธ์ระหว่างอาคารที่พักอาศัยและภูมิทัศน์จึงยังถูกรังสรรค์ออกมาอย่างต่อเนื่อง Fostering Resilient Ecological Development (F.R.E.D) โครงการออกแบบพื้นที่ชุมชนเชิงบูรณาการ เพื่อนำมาปรับใช้กับรูปแบบที่พักอาศัยบริเวณริมชายฝั่ง Rockaway , New York City
ด้วยการออกแบบระบบนิเวศที่สร้างความยืดหยุ่นและเชื่อมโยงให้เกิดความสัมพันธ์ระหว่างอาคารกับภูมิทัศน์ได้อย่างยั่งยืน ผ่านการทำความเข้าใจและศึกษาถึงโครงสร้างพื้นฐานของมนุษย์แต่ละชั่วอายุคน ร่วมกับนิเวศที่มีลักษณะเป็นเกาะชายฝั่ง เพื่อให้แนวคิดในการออกแบบสามารถช่วยเพิ่มประโยชน์สูงสุดและตอบสนองพื้นที่พักอาศัยของชุมชนแถบชายฝั่ง Rockaway ได้จริงในระยะยาวภายใต้สภาพแวดล้อมที่มีความผันผวน
Ennead Architects จึงได้ออกแบบตั้งแต่แถบป้องกันริมชายฝั่ง โครงสร้างและการจัดการกับคลื่นพายุ ไปจนถึงประสิทธิภาพของการใช้พลังงานภายในชุมชนให้กับ Fostering Resilient Ecological Development เพื่อมุ่งเน้นให้ความเป็นเมืองและระบบนิเวศพร้อมที่จะปรับและยืดหยุ่นต่อกันได้อย่างเข้าใจ
อ้างอิงข้อมูลจาก
http://www.ennead.com/work , https://awards.re-thinkingthefuture.com
Boston Living with Water Competition
Boston , USA
ด้วยชุมชนเมืองที่มีขนาดขยายใหญ่ขึ้นของ Boston , USA และระดับน้ำทะเลที่เพิ่มสูงขึ้นในพื้นที่ 100 เอเคอร์ การพัฒนาเมืองในอนาคตของโครงการ RESILIENT LINKAGES ภายใต้กลยุทธ์การจัดการกับระบบน้ำที่ดี ไปจนถึงการบำบัด และออกแบบภูมิทัศน์ที่เป็นน้ำ จึงเป็นแนวคิดที่น่าสนใจไม่น้อย ด้วยการออกแบบพื้นที่ให้สอดคล้องไปกับกระแสน้ำและระดับน้ำทะเลที่เพิ่มสูง
โดยปรับเปลี่ยนบริบทของพื้นที่ให้สามารถรองรับน้ำทะเล และเปิดโอกาสให้กระแสน้ำสามารถเดินทางเข้ามาหมุนเวียนภายในพื้นที่ได้ในระดับระนาบพื้น เกิดเป็นภูมิทัศน์สีฟ้าและสีเขียวของสวนหย่อมพักผ่อนหย่อนใจในเวลาเดียวกันกับการบำบัดและระบายน้ำกลับคืนสู่ทะเล ที่นอกจากจะเป็นการรับมือต่อปริมาณน้ำที่สูงขึ้นแล้ว ยังเป็นการออกแบบเชิงพื้นที่ที่ช่วยตอบสนองโครงสร้างพื้นฐานให้กับชุมชนได้มีสวนสาธารณะสำหรับทำกิจกรรมร่วมกันอีกด้วย
อีกทั้งระดับน้ำที่พัดเข้ามาหมุนเวียนภายในพื้นที่ชุมชนก็ยังมีการวางแผนถึงการจัดการและบำบัดที่ดี ที่เรียกได้ว่าน้ำจะใสสะอาดจนสามารถลงไปเล่นได้ ซึ่งเป็นการออกแบบระบบน้ำและภูมิทัศน์ของ NBBJ ที่ค่อนข้างสร้างสรรค์และช่วยมอบคุณภาพชีวิตให้กับผู้อยู่อาศัยภายในชุมชนได้อยู่ร่วมกับระบบนิเวศได้อย่างลงตัว
อ้างอิงข้อมูลจาก
http://groundinc.com/boston-living-with-water
Sunken pools and planting
Copenhagen , Denmark
อีกโปรเจ็กต์น่าสนใจที่มีแนวคิดเพื่อรับมือกับวิกฤตภัยทางธรรมชาติ และต้องการที่จะช่วยปรับปรุงคุณภาพชีวิตของทุกคนให้ดีขึ้น มาจากทางฝั่งประเทศเดนมาร์ก นั่นก็คือ ‘Sunken pools and planting’ ที่ได้รับการออกแบบและพัฒนาโดยทีมภูมิสถาปนิกอย่าง SLA และบริษัทวิศวกรรม Ramboll เพื่อแก้ปัญหาในการรับมือกับฝนที่ตกกระหน่ำ และช่วยป้องกันน้ำท่วมในย่านโคเปนเฮเกน พวกเขาจึงคิดวิธีการแก้ปัญหาอย่างเป็นธรรมชาติ โดยการสร้างพื้นที่ของเมืองขึ้นมาใหม่ด้วยระบบนิเวศที่จะช่วยบรรเทาอุทกภัย รวมถึงยังสร้างพื้นที่สีเขียวอมฟ้าแห่งนี้ให้เป็น ‘พื้นสาธารณะ’ ที่ทุกคนสามารถเข้าถึงและเข้ามาใช้ร่วมกันได้
โดยทีมนักออกแบบมุ่งเน้นไปที่สวนสาธารณะที่มีชื่อว่า ‘Hans Tavsens’ และสร้างทางเดินที่ทำหน้าที่เชื่อมต่อระหว่างสวนสาธารณะกับทะเลสาบ Peblinge เข้าไว้ด้วยกันอย่างกลมกลืน แล้วยังกลายเป็นพื้นที่เพาะปลูก และแอ่งน้ำใหม่ นับว่านี่ก็เป็นอีกโปรเจ็กต์น่าสนใจที่มีการสร้างสรรค์สิ่งใหม่ ๆ สำหรับชาวโคเปนเฮเกนทุกคน เพราะไม่เพียงแค่รับมืออุทกภัยแต่ยังเป็นการสร้างเมืองใหม่ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและเป็นธรรมชาติมากขึ้น
อ้างอิงข้อมูลจาก
https://www.dezeen.com