OPENING HOURS: MONDAY – SUNDAY: 10.00 AM TO 8.00 PM

info@sitename.com | 987654321

VaSLab ARCHITECTURE วสุ วิรัชศิลป์ สถาปนิกที่ขับเคลื่อนห้องแล็ปแห่งการทดลองด้วยความเชื่อและไดนามิกดีไซน์

ในวันนี้ภาพของความสำเร็จอาจเป็นภาพที่ใครหลายคนเห็น เมื่อมองไปยัง VaSLab (Vertere Architecture Studio Laboratory) สตูดิโอออกแบบแนวหน้าของเมืองไทย แต่สิ่งที่หลายคนไม่รู้ คือ ทุกเบื้องหลังของ คุณวสุ วิรัชศิลป์ นั้นไม่เคยง่ายดาย อาจด้วยสไตล์การออกแบบที่เป็นเอกลักษณ์ผ่านการตีความงาน Deconstruction จนเกิดเป็นสไตล์การออกแบบที่แสดงตัวตนได้อย่างชัดเจน แน่นอนว่างานสไตล์นี้มีความเฉพาะสูงและมีไม่น้อยที่ต้อง ‘เปิดใจ’ ในการมองความสวยงามที่ไม่คุ้นชิน แต่อะไรคือเหตุผลที่ทำให้คุณวสุนั้นยังคงขับเคลื่อนความเชื่อมั่นในการออกแบบของตัวเอง อีกทั้งยังประสบความสำเร็จโดยไม่สูญเสียตัวตนไปในระหว่างทาง

จากความฝันที่อยากเป็น ‘หมอ’ สู่การเลือกเรียนคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์

ตอนเด็กๆ ผมมีความฝันว่าอยากจะเป็นหมอนะ อาจด้วยเพราะว่าคุณพ่อคุณแม่ของผมเป็นหมอ แล้วเราก็เห็นชีวิตท่านทำงานหนัก แต่ก็เป็นการทำงานหนักที่มีความสุขนะครับ ก็ยังมีความฝันว่าจะเป็นหมอเรื่อยมาจนมาช่วงมัธยม ตอนนั้นผมเริ่มสนใจวิชาศิลปะมากขึ้น เริ่มวาดรูป เริ่มมีความคิดด้านครีเอทีฟ แล้วก็จำได้ว่าเราค่อนข้างได้เกรดดีในวิชาศิลปะครับ จนกระทั่งตอนเอ็นทรานซ์เราก็เลยเลือกคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร

จากความประทับใจบรรยากาศของมหาวิทยาลัย สู่นักศึกษาคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร

จำได้ว่าไปติวที่ศิลปากร แค่ครั้งแรกครั้งเดียวหลงรักเลย รู้สึกว่ามันมีคณะแบบนี้อยู่ด้วยเหรอ แล้วพอสอบเข้าไปได้นี่แฮปปี้มากเลย จำได้ว่าผลเอ็นทรานซ์ออกทางทีวี แล้วมีชื่อเรา เราน้ำตาไหลเลย ทีนี้พอเข้าไปได้ก็อิสระเกินไปมั้ง คือ กิจกรรมเยอะก็เลยทำให้เทอมแรกเกรดร่วงมาก แต่เราไม่เคยทิ้งวิชาดีไซน์ วิชาดีไซน์เป็นวิชาเดียวที่เราหลงใหลมาก วิชาอื่นก็เหมือนกับมันไม่ค่อยขยัน เทอมต่อมาเราก็ Pick up ขึ้นมาแล้วก็เรารู้สึกว่า เราเริ่มเรียนดีขึ้นมีปีแรกนี่แหละ มันเหมือนกับเพิ่งเข้าไปแล้วมันเหลิง หมายถึงว่า เราเอ็นทรานซ์ติดอันดับ 1 แล้ว แล้วก็ลืมตัวไป เพราะว่ามันมีกิจกรรมเยอะ

เหมือนชีวิตนักศึกษาศิลปากรจะไปได้ด้วยดี แต่ก็มีจุดเปลี่ยนที่ทำให้ตัดสินใจไปเรียนต่อที่นิวยอร์ก

จริงๆ ไม่ดีเท่าไหร่ครับ เพราะว่าปีแรกเทอมแรกนี่ผมติดโปรเลยนะ แต่ปีต่อมาก็ค่อยๆ ดีขึ้น แต่จุดเปลี่ยนจริงๆ ที่ทำให้ผมสนใจที่จะไปเรียนต่อที่ต่างประเทศคือ ผมไปเห็นงานสไตล์ Deconstruction ที่ห้องสมุดแล้วเกิดสนใจมากๆ บวกกับรู้สึกว่าระบบการศึกษาเมืองไทยมันอาจจะยังไม่ได้เอื้อในการให้เราได้เจอสิ่งที่เราชอบที่สุด เหมือนเราเรียนเพื่อเอาเกรด ประจวบเหมาะกับว่าช่วงนั้นคุณอาของผมกลับมาจากนิวยอร์กพอดี แล้วแกก็บอกว่ามันมีมหาลัยชื่อ Pratt นะ อาร์ตมากเลย มันเหมือนศิลปากรแต่อยู่นิวยอร์ก แล้วก็ผมก็ไปดูข้อมูล แล้วก็รู้สึกชอบ และอีกอย่างที่ Pratt จะมี Vertical Studio ที่พอขึ้นไปปี 2-3 เขาเปิดให้เลือกอาจารย์ที่อยากเรียนด้วย แล้วมันเกี่ยวข้อง เพราะว่าอาจารย์ทุกคนที่สอน มีงานปฏิบัติจริง แล้วเราก็ไปดูงานเขาว่าเขาทำอะไร ถ้าเราชอบ และเราชอบวิธีการคิด เราก็อยากศึกษากับเขา เพราะรู้สึกว่าถ้ามันมีทางเลือก เราก็อยากไป คือผมเชื่อใน Destiny นะ มันเหมือนกับว่า อาผมกลับมาปุ๊บ คุยกันปั๊บ ผมตัดสินใจเลย

ความเชื่อมั่นในทิศทางที่เราชอบคือสิ่งสำคัญที่ได้จากการไปเรียนที่นิวยอร์ก

ต้องบอกว่าวิชาสถาปัตยกรรมมันเปิดโอกาสให้เรามีความคิดของตัวเอง โดยเฉพาะเรื่อง Creativity ซึ่งมันไม่มีอะไรผิดไม่มีอะไรถูก ตอนไปเรียนที่ Pratt แล้วอาจารย์แต่ละคนที่ผมเลือกใน Vertical Studio ก็เป็น Architect ที่ผมชอบทั้งนั้น อย่างที่ผมบอกตอนเรียนเมืองไทย ผมรู้สึกว่าเราทำเพื่อเกรดหรือว่าเราทำเพื่อตัวเอง แต่พอไปเรียนที่นิวยอร์กผมได้เกียรตินิยม โดยที่ผมไม่ได้ตั้งใจว่าต้องได้ มันไม่เหมือนกันนะ ผม Fulfill ตัวเองมากเหมือนคนเห็นค่าในงานผม และตรงนั้นมันตอบคำถามเรื่องที่เราได้เดินมาทางที่ถูกต้องแล้ว

การเรียนระดับปริญญาโทและประลองฝีมือกับเด็กอินเตอร์ที่ Columbia University

จบปริญญาตรีแล้วผมกลับมาไทยก่อนครับ แต่ก็สมัครปริญญาโทที่ Columbia U. ที่นิวยอร์กไว้ ตอนนั้นตัดสินใจว่าถ้าไม่ได้เรียนที่นี่ก็จะตั้งใจทำงาน หลังจากสมัตรก็ทำงานได้ไม่ถึง 6 เดือนครับ ก็ได้รับจดหมายจาก Columbia มาว่าเราเข้าได้ ก็กลับไปเรียนต่อ Advanced Architecture Design จริงๆ มันคือโปรแกรมมาสเตอร์สำหรับ Master of Science in Advanced Architecture Design สำหรับสถาปนิกที่จบปริญญาตรีทางด้านสถาปัตย์แล้ว มีโปรแกรมนี้เท่านั้นที่ต้องเรียนก็คือปีครึ่ง แต่สำหรับตัวผม Foundation จริงๆ คือปริญญาตรี ตอนเรียนปริญญาโทเหมือนกับเอาตัวเองไปประลองกับเด็กอินเตอร์จากทุกทวีปเลยนะยกเว้นแอฟริกา เราศึกษาว่าเขาคิดอะไร ซึ่งก็ได้เห็นว่า International Level งานมันระดับไหน แต่อย่างที่บอกว่ามันก็เหมือนกับการทดลองมากกว่า เพราะว่าปริญญาโท หลักสูตรของ Columbia มันเหมือนกับทำให้เรามี Vision ที่เห็นอนาคตว่า แต่จริงๆ แล้วความเชื่อของผมมันยังอยู่ที่ปริญญาตรีอยู่

เส้นทางของการทำงานสถาปนิกในประเทศไทย

ตอนกลับจากจบโทตอนนั้นผมมาสอนที่ ABAC พร้อมเพื่อนๆ ที่จบ Columbia มาด้วยกัน แล้วก็สอนในวิธีที่เราแฮปปี้มาก พยายามดันเด็กให้ไปในสิ่งที่เขาไม่เคยเจอมาก่อน จนกระทั่งมีคนติดต่อให้ออกแบบบ้านให้ ชื่อคุณกาจบดินทร์ สุดลาภา บรรณาธิการบริหารและผู้ก่อตั้งนิตยสาร Daybeds เขาต้องการสถาปนิกรุ่นใหม่มาออกแบบ แล้วผมก็ทำงานเป็นฟรีแลนซ์ แต่ระหว่างนั้นก็ยังสอนอยู่นะครับ จนกระทั่งพองานนี้เสร็จต่อมาก็มีมาเรื่อยๆ 2-3 งาน จนผมเริ่มไม่ไหว เลยเอาเด็ก ABAC จบรุ่น1 มาเป็นผู้ช่วยประมาณ 4 คน เริ่มจากเปิดออฟฟิศอยู่ตรงโรงรถคุณตา ตอนนั้น Steve Jobs ยังไม่มานะ ผมทำก่อนเลย พื้นที่ประมาณ 40 ตารางเมตร จากนั้นเพื่อนคุณน้าก็มีงานค่อนข้างใหญ่มาให้ออกแบบ เราเลยรู้สึกว่าต้องเปิดบริษัทแล้ว ปี 2003 เราเลยเปิด VaSLab ขึ้นมาครับ

VaSLab กับความเป็นมาที่ไม่ซับซ้อน แต่มีความหมาย

ตอนแรกผมก็คิดง่ายๆ ว่าผมชอบตัว V เพราะเป็นชื่อ แล้วก็ทำยังไงให้ชื่อมันคล้องกับชื่อเรา แต่ไม่เอา Vasu Architect ผมว่ามันดูเชย ก็ลองหาคำอะไรที่มันเกี่ยวข้องกับ Architecture คิดอยู่นาน จนตัว V ผมชอบความหมายของคำว่า Vertere มันแปลว่าเปลี่ยนแปลง A นี่แน่นอน Architecture ส่วน S คือ สตูดิโอ คำสุดท้ายได้มาจาก Columbia U. คือ Laboratory หมายถึงห้องแล็บแห่งการออกแบบของการทดลอง มันก็เลยมาเป็นความเชื่อของผมด้วยว่า สถาปัตยกรรมมันต้องไม่หยุดนิ่ง มันต้องทดลองไปเรื่อยๆ ครับ ก็เลยมาเป็นที่มาชื่อ VaSLab (Vertere Architecture Studio Laboratory) ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมาและบังเอิญมากเลย เมื่อสัก 5 ปี ผมไปเจอคำว่า Vaslab มันเป็นชื่อเมืองหนึ่งของโรมาเนีย

เมื่อต้องนิยามความเป็น VaSLab ด้วยคำ 3 คำ

Architecture, Studio และ Laboratory ครับ ก็ 3 อย่าง เพราะว่า 3 อย่างนี้เป็นตัวที่ผมคิดว่าเป็น Core หลักของสิ่งที่เราทำอยู่ เรารักในสถาปัตยกรรม สถาปัตยกรรมมันก็คือ รูปแบบหนึ่งของการทดลองที่เราอยากทำอยู่ทุกวันนี้ คือการออกแบบกับการทดลอง อันสุดท้ายก็คือ Studio เราทำงานเป็นแบบสตูดิโอ ไม่ใช่ Corporate อันนี้สำคัญ เพราะว่าสังคมของ Corporate กับสังคมของ Studio ไม่เหมือนกัน ผมรู้สึกว่า Business นำดีไซน์ แล้วมันจะทำให้โลกของดีไซน์ไม่เหมือนเดิม

การทำงานในแบบ VaSLab ที่ให้ความสำคัญกับไซต์และบริบทอย่างพิถีพิถัน

ผมเชื่อเรื่องของไซต์มากครับ ก่อนอื่นเลยถ้าลูกค้าติดต่อมาส่วนมากจะชอบบอกโปรแกรมมาอย่างเช่น อยากทำโรงแรม อยากทำบ้าน อยากทำออฟฟิศ แน่นอนพวกนั้นคือ บรีฟที่สำคัญไม่แพ้กัน แต่สำหรับผมนั้นต้องไปดูไซต์ทุกที่เพราะไซต์จะเป็นต้นกำเนิดไอเดียในหลายๆ อย่าง ทุกองค์ประกอบของไซต์นั้นสำคัญมากกับคิดไอเดียในการออกแบบครับ จนเมื่อผ่านกระบวนการออกแบบจนได้ Master Plan แล้วก็ต้องมาดูว่าบริบทของไซต์มีผลกระทบต่อสิ่งรอบข้างในประเด็นใดและมากน้อยแค่ไหนด้วยครับ เพราะเราแต่ออกแบบแค่โครงการเราสวยดูดีจะไปทำให้พื้นที่โดยรอบถดถอยลงกว่าเดิมไม่ได้ ทุกอย่างต้องดีไปพร้อมๆ กัน

VaSLab ให้เวลากับการคิดไอเดียเยอะมาก เปรียบเสมือนการเริ่มต้นติดกระดุมให้ถูกตั้งแต่เม็ดแรก

เราคนเดียวแล้วดูทุกคนเป็นเหมือน Top Down มันทำไม่ได้ตลอดไป แล้วผมเชื่อว่าการสร้างคนมันก็เหมือนกับการให้โอกาสเขา ก่อจะเริ่มโปรเจ็คใหม่ผมจะแค่บรีฟสั้นหรือสเก็ตคร่าวๆ แล้วให้เขาไป Develop ต่อเลย จากนั้นก็เอามาแชร์กัน คือเราจะไม่ค่อยอยู่กับทางเลือกเดียวครับ เราจะทำมาให้ดูหลายๆ อย่าง ทั้งข้อดี ข้อเสีย แล้วก็มาดีเบตกัน ซึ่งผมจะให้เวลากับ Primary หรือ Schematic Design เยอะที่สุดเลย เพราะว่าถ้าลูกค้าชอบหรือว่าเราคิดมาดีมากตั้งแต่แรก ตอนหลังๆ Develop ไม่เหนื่อยเลย เพราะว่าเราเข้าใจอยู่แล้วว่าเราต้องทำอะไรยังไง

Honda Big Wing โครงการสำคัญที่กลายจุดเปลี่ยนสำคัญในการทำงานสถาปนิก

โปรเจ็คที่ท้าทายที่สุดในชีวิตก็ยังต้องย้อนไปปี 2007 เป็นอะไรที่ผมคิดว่าเป็นช่วงเวลาที่ตื่นเต้นที่สุดครั้งหนึ่งของชีวิตทำงานครับ คือ Honda Big Wing เพราะว่าเป็นโปรเจ็คประกวดแบบเอกชนที่เราเข้าครั้งแรกด้วยการได้รับการติดต่อจากเจ้าของโปรเจ็ค คือ ทาง A.P. Honda จำได้ว่าพอได้รับการติดต่อ เราทำเต็มที่เลย เขาให้เวลา 1 เดือน เราคิดคอนเซ็ปต์ประมาณ 3 อาทิตย์ คิดไปคิดมาจนกระทั่งอาทิตย์สุดท้าย แล้วก็ทำรวดเดียวอาทิตย์เดียว แบบไม่ได้สวยมากเพราะว่าเวลามันน้อย แต่ไอเดียเราน่าจะตอบโจทย์ที่สุด เราก็เลยไปมองเรื่องของ Attitude of Winning ว่า ว่า Honda เขามีความพยายามพัฒนาสินค้าของเขาให้มันดีเสมอ You can’t always be number 1 แต่ว่าสิ่งที่คุณทำได้คือทำให้ดีที่สุด ผมก็เลยเอาเรื่องนี้มาพูด แล้วมันไปเชื่อมกับ Big Bike ยังไง ผมก็ไปดูใน Vesting Track ว่า Winning Moment มันอยู่ที่ตอนเข้าโค้ง และบังเอิญไซต์เป็นสามเหลี่ยมถนนเลียบด่วน เอกมัย-รามอินทรา ปรากฏว่าวาง Plan ไปมา มันวาดเป็นรูปบูมเมอแรงได้ แล้วมันก็ตรงกับสิ่งที่ผมคิดตอนนั้นว่า Big Bike Attitude of Winning มันคือ Winning Moment คือการเข้าโค้ง มันก็เลยสัมพันธ์กัน พอทำกราฟฟิกให้เขาเข้าใจว่าความคิดเรามาจากอะไร จนกระทั่งรูปฟอร์มหรือว่า Space ของ Honda Bigwing ณ ปัจจุบัน แล้วเราก็ได้เลือกเป็นอันดับ 1 งานนี้เป็นงาน Commercial งานแรกของบริษัทเลยครับทำให้คนรู้จัก VaSLab ตั้งแต่ปีนั้นเป็นต้นมาเราก็ได้งานใหญ่ๆ ต่อมาเรื่อยๆ

การประสบความสำเร็จอยู่ที่ Goal ของเรา ว่าเรามองอะไรเป็นที่ 1

ทุกวันนี้ผมมองความสำเร็จในแต่ละสเต็ป คือผมไม่ได้มองว่าวันนี้ผมประสบความสำเร็จแล้วทุกอย่าง ผมมองในแต่ละสเต็ปว่า เช่น ตอนนี้ประสบความสำเร็จเรื่องเรียนหรือทำงาน ต่อมาเราประสบความสำเร็จเรื่องการตั้งออฟฟิศ เรื่องของการมีงานต่อเนื่อง 10 ปี 10 ปีแรกประสบความสำเร็จ มันก็บอกได้หลายอย่าง เช่น มีเงินในออฟฟิศพอเพียงสำหรับการรันต่อ มีน้องๆ ที่รักเรา อยู่กับเรามานาน มีงานที่ประสบความสำเร็จ จากนั้นก็แต่งงานมีครอบครัว มีลูก 2 คน มีความสุข ตอนนี้ก็ประสบความสำเร็จกับชีวิตครอบครัว มันก็ค่อยๆ เป็นสเต็ปของมัน

ฝากอะไรถึงน้องๆ ที่เรียนคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์

ผมพูดมาตลอดนะว่าทุกคนต้องมี Passion ทุกทางเลือกของการเรียน ถ้าคุณไม่รักในสิ่งที่คุณจะเรียน อย่าเรียน เพราะว่าจบไปคุณก็อาจจะไม่มีความสุข หรือคุณอาจจะไม่ได้ทำงานในสิ่งนั้นๆ ด้วยความชอบที่แท้จริง Passion มันจะพาทุกอย่างมาหาคุณเอง โดยถ้ามีโอกาสนะ ถ้า Factor มันผลักดันให้เป็นทางนั้นได้

ส่วนน้องๆ ที่เพิ่งเริ่มทำงานเป็นสถาปนิก

สำหรับน้องๆ สถาปนิกที่เพิ่งเริ่มทำงาน แนะนำว่าต้องรู้จักการทำงานในรูปแบบบริษัทก่อนที่จะทำงานด้วยตัวเอง เพราะว่าบางที คนที่เก่ง เรียนเก่ง Creative สุดๆ ไอเดียดีมาก แต่พอไปทำบริษัทตัวเองคนเดียวแล้วคิดว่ามันง่าย มันไม่ง่ายนะครับ เพราะว่าการเปิดบริษัทมันไม่ได้ใช้ Creativity อย่างเดียว มันใช้วาทศิลป์ มันใช้การเข้าสังคม เพราะเวลาคุณไปเจอลูกค้า คุณรู้หรือเปล่าว่าเขาเป็นใคร เราต้องรู้ว่าเราต้องคุยกับเขายังไง แล้วสิ่งที่จะช่วยได้คือ ทำงานบริษัทก่อน เพราะว่าบริษัท บางทีเราเข้าไปประชุม เราอาจเป็นตัวเล็กๆ นะ แค่ให้ไปฟังเขาวิธีการคุย ฟังเจ้านายเขาพูดอะไร เราต้องรู้จักการเข้าสังคม เพราะสถาปนิกเป็นวิชาชีพอันนึงที่ต้องทำงานกับคนหลายประเภท ถ้าคุณอยากตั้งบริษัทเอง คุณต้องรู้หลายอย่างมากเลย นี่ผมยังไม่นับเรื่องกรมสรรพากรนะ จด Vat 3% อะไรพวกนี้ การทำบริษัทมันก็ต้องเจอเรื่องที่มันเกี่ยวข้องกับ Business เรื่องของเอกสาร

แนะนำให้เก็บเกี่ยวประสบการณ์ในทุกๆ ด้านให้มากที่สุดก่อนจนมั่นใจ แล้วถึงค่อยมาเปิดบริษัท

ใช่ครับ มันต้องเรียนรู้ร่วมกันหมด คือ Creativity เราก็ต้องเรียนรู้ว่า บางทีสมมติเจ้านายเราเก่ง หรือรุ่นพี่คนนี้เก่งจังเลย เราก็ต้องไปดูว่าเขาคิดงานยังไง อันนั้นก็อีกเรื่องนึง แต่เรื่องทำออฟฟิศนี่ผมรู้สึกว่ามันเป็นอีกโลกหนึ่งของ Creativity อย่างที่ผมบอกว่า คุณมีความคิดสร้างสรรค์เก่งอย่างเดียวไม่พอ เพราะผมเห็นมาเยอะแล้ว คนที่เรียนเก่งแต่ว่า Practice ไม่ได้ เพราะว่าคุณดีลคนไม่ได้ Convince คนไม่ได้ Convince ลูกค้าก็เป็นอีกศาสตร์หนึ่งนะ ไม่มีสอน

จนถึงวันนี้ วันที่คุณวสุ วิรัชศิลป์ได้พาห้องแล็บแห่งการออกแบบมาได้ไกลจากจุดเริ่มต้นเล็กๆ ในโรงรถของคุณตามาไม่น้อย แน่นอนว่านอกจากการตัดสินใจที่แน่วแน่ในทุกๆ ทางเลือกในชีวิต หรือความขยันและอดทนในวิชาชีพที่ซุกซ่อนอยู่เบื้องหลังในทุกงานที่ออกแบบนั้น ทุกสิ่งทุกอย่างล้วนถูก Passion อันแรงกล้าในความรักในวิชาชีพผลักดันจนเกิดเป็นงานออกแบบที่มีเส้นสายทางสถาปัตยกรรมที่ชัดเจน แต่ยังคงความ Timeless เอาไว้ในทุกรายละเอียดในแบบของ VaSLab

วสุ วิรัชศิลป์

  • ปริญญาตรี (เกียรตินิยม) สถาปัตยกรรมกรรมศาสตร์ Bachelor of Architecture (B. Arch.), Pratt Institute, Brooklyn, New York, USA, 1996, Honors
  • ปริญญาโท ออกแบบสถาปัตยกรรมชั้นสูง Master of Science in Advanced Architectural Design (MSAAD) Columbia University,  New York, USA, 1998