หากกล่าวถึงชื่อ โอกิ ซาโตะ (Oki Sato) หลายคนอาจจะไม่ค่อยคุ้นหู แต่หากพูดถึง ‘เนนโดะ (NENDO)’ คงจะไม่มีใครไม่รู้จักชื่อนี้อย่างแน่นอน เพราะสถาปนิกหนุ่มชาวญี่ปุ่นคนนี้เป็นที่รู้จักในเมืองไทยในฐานะสถาปนิกผู้ออกแบบ ปรับปรุงสยามดิสคัฟเวอรี่ขึ้นใหม่ กลายเป็นแลนด์มาร์คที่โดดเด่น ด้วยความที่ผลงานของเขามักแสดงตัวตนผ่านความเรียบง่าย แต่ทิ้งความหมายบางอย่างให้นำไปขบคิดต่อ จึงไม่น่าแปลกใจที่ซาโตะ จะทำให้ เนนโดะ กลายเป็นสตูดิโอออกแบบที่มีผลงานมากและโด่งดังที่สุดแห่งหนึ่งของโลก ด้วยวัยเพียง 43 ปี
โอกิ ซาโตะ (Oki Sato) แห่ง Nendo Design Studio
ดีไซน์เนอร์รุ่นใหม่กับผลงานที่ทิ้งความหมายลึกซึ้งชวนขบคิด
ถึงจะมีชื่อเป็นภาษาญี่ปุ่นเต็มตัว แต่แท้จริงแล้วซาโตะเกิดที่เมืองโตรอนโต ประเทศแคนาดา ก่อนจะกลับมาศึกษาปริญญาโทด้านสถาปัตยกรรมที่มหาวิทยาลัยวาเซดะ ณ กรุงโตเกียวประเทศญี่ปุ่น ซึ่งในปีเดียวกันนั้น เขาก็ตัดสินใจก่อตั้งสตูดิโอ Nendo แห่งแรกขึ้นที่กรุงโตเกียว ก่อนจะไปเปิดออฟฟิศที่มิลาน ประเทศอิตาลีในอีก 3 ปี ต่อมา
หลังจากนั้นเพียง 1 ปี เขาได้รับรางวัล The 100 Most Respected Japanese จาก Newsweek Magazine และได้เป็น Designer of the Year หลังทำงานออกแบบได้เพียง 13 ปี ผลงานของสตูดิโอเนนโดะนั้นแตกต่างและเรียกได้ว่าหลากหลาย ตั้งแต่สเกลเล็กอย่างถ้วยบะหมี่ไปจนถึงสเกลใหญ่อย่างสถาปัตยกรรม งานออกแบบตกแต่งภายใน งานเฟอร์นิเจอร์ และยังรวมถึงการแปลงโฉมสินค้าของแบรนด์ระดับโลกมากมาย เนื่องด้วยซาโตะเองมักสนใจและสังเกตรายละเอียดเล็กๆ รอบตัว ก่อนจะเปลี่ยนเป็นงานออกแบบที่เรียบง่ายแต่สนุกสนานส่งผลต่ออารมณ์และความรู้สึกของผู้ใช้งาน เพื่อให้งานดีไซน์กลายเป็นสิ่งที่ทุกคนเข้าถึงได้
กล่าวได้ว่า การออกแบบหลากหลายสเกลที่ไม่จำเพาะอย่างใดอย่างหนึ่ง ทำให้สถาปนิกผู้นี้ค้นพบไอเดียที่สามารถนำไปต่อยอดได้อย่างไม่รู้จบ วัสดุ เทคโนโลยี รวมถึงนวัตกรรมใหม่ที่เขาได้รับจากงานหลากประเภทจึงถูกนำมาปรับใช้ ด้วยการหยิบสิ่งเดิมมาปรับเปลี่ยน ‘วิธีการ’ เกิดเป็นสิ่งใหม่ที่น่าสนใจได้อย่างเหลือเชื่อ
Light-Fragments for The Noguchi Museum + YMER&MALTA (2018)
Photo Credits : http://www.nendo.jp
The Fork
NENDO x Nissin
Photo Credits : http://www.nendo.jp
ส้อมรูปร่างแปลกตาที่เราเห็นเป็นโปรเจ็กต์ที่ Nendo ทำขึ้นร่วมกับ Nissin Cup Noodle บริษัทบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปเจ้าดังจากประเทศญี่ปุ่น The Fork ออกแบบเพื่อแก้ปัญหา Pain Point ของผู้ที่หลงรักการทานบะหมี่ถ้วยโดยเฉพาะ องศาของตัวส้อมที่ออกแบบให้งอขึ้น 128 องศา ในลักษณะโค้งมนไปตามรูปถ้วยบะหมี่ ทำให้สามารถกวาดเอาอาหารที่อยู่ภายในถ้วยขึ้นมาทานได้ง่ายขึ้น นอกจากนั้นยังมีการออกแบบส่วนโค้งระหว่างซี่ของส้อม เพื่อช่วยให้เส้นบะหมี่ที่เคยตักยากตักเย็นกลายเป็นเรื่องง่ายดาย
บริเวณใกล้กับซี่ส้อมยังออกแบบให้มีลักษณะกลมคล้ายช้อน เพื่อให้เราสามารถตักเอาวัตถุดิบอื่นๆ ที่อยู่ภายในถ้วยบะหมี่ได้อย่างสะดวก ไม่ใช่แค่เรื่องการช้อนบะหมี่เท่านั้น สตูดิโอออกแบบเนนโดะยังแสดงความใส่ใจรายละเอียดเล็กๆ ด้วยการออกแบบส้อมทั้งหมดสองสี สีขาวสำหรับคนถนัดมือขวา และสีแดงสำหรับคนถนัดซ้าย โปรเจ็กต์นี้จึงกลายเป็นตัวอย่างที่แสดงให้เห็นว่า แม้การออกแบบสิ่งของเล็กๆ ที่ใกล้ตัวอย่าง ส้อม ก็ช่วยเปลี่ยนการใช้ชีวิตของคนให้ดีขึ้นได้ไม่น้อยเลย
Photo Credits : http://www.nendo.jp
N01 wooden chair
NENDO x Fritz Hansen
Photo Credits : http://www.nendo.jp
Fritz Hansen แบรนด์เฟอร์นิเจอร์สัญชาติเดนมาร์ก เป็นที่รู้จักในฐานะของเก้าอี้หนังสุดเนี้ยบและประณีต และด้วยจิตวิญญาณของความเป็นแกสนดิเนเวียน งานไม้จึงกลายเป็นความเรียบง่ายสุดพิถีพิถันที่แสดงตัวตนอย่างโดดเด่น
ซาโตะได้รับมอบหมายให้ออกแบบ เก้าอี้ไม้ N01 ที่ว่านี้ เมื่อเก้าอี้ต้องมีทั้งความสวยงามและการนั่งที่สบาย สิ่งแรกที่ซาโตะนึกถึงจึงเป็นเรื่องของ ความแข็งแรงมั่นคงในขณะที่ต้องมีน้ำหนักเบา ซึ่งโดยปกติแล้วเก้าอี้ทั่วไปของ Fritz Hansen จะถูกออกแบบข้อต่อของการเชื่อมต่อวัสดุให้มีความแข็งแรงคงทน ทำให้เก้าอี้มีน้ำหนักค่อนข้างมาก ซาโตะออกแบบแก้ปัญหาดังกล่าวด้วยการนำไม้เนื้อแข็งและไม้วีเนียร์ที่ผลิตด้วยฝืมือช่างชาวเดนมาร์กทั้ง 23 ชิ้น มาประกอบเข้าหากันคล้ายกับจิ๊กซอว์ เบาะนั่งและพนักพิง ถูกออกแบบให้มีการลาดเอียงทีละน้อย เพื่อให้มีความโค้งรับกับสรีระ
ซึ่งนี่ถือเป็นครั้งแรกในรอบ 61 ปี ที่ Fritz Hansen จะได้มีเก้าอี้ไม้อีกครั้ง นับตั้งแต่เก้าอี้ Grand Prix Chair ที่ออกแบบโดย ArneJacobsen เรียกได้ว่าซาโตะก็ยังคงสร้างผลงานที่มีความร่วมสมัย แต่ก็ยังคงรักษาประเพณีและความเป็นแบรนด์ Fritz Hansen เอาไว้ได้เป็นอย่างดี
Photo Credits : http://www.nendo.jp
NENDO กับความหมายของดินเหนียวที่พร้อมยืดหยุ่นตลอดเวลา
ดีเอ็นเอของการเป็นนักออกแบบที่ไม่เคยตีกรอบผลงานของตนเอง ความยืดหยุ่นและความหลากหลายในการสร้างสรรค์ผลงานของเขา สอดคล้องกับชื่อภาษาญี่ปุ่นของสตูดิโอ NENDO ซึ่งแปลว่า ‘ดินเหนียว’ ที่มีความยืดหยุ่น สามารถนำมาปั้นขึ้นเป็นรูป พร้อมเปลี่ยนแปลงไปได้อย่างไร้ข้อจำกัด และยังแฝงความสนุก ขี้เล่นเอาไว้ ซึ่งการมองตัวเองเป็นดินเหนียวที่พร้อมจะเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา ทำให้ซาโตะ กลายเป็นดีไซน์เนอร์อันดับต้นของโลกที่เหล่าแบรนด์ดังต่างจับจ้องให้เขามาเป็นผู้ออกแบบ ซึ่งเขาเองเคยรับงานพร้อมกันมากถึง 400 โปรเจ็กต์
Shanghai Times Square for China Resources Land (2020)
Photo Credits : http://www.nendo.jp
% ARABICA Kuwait Abu Al Hasaniya for Arabica (2019)
Photo Credits : http://www.nendo.jp
ในฐานะของนักออกแบบรุ่นใหม่ ซาโตะเองยังคงไม่หยุดที่จะเรียนรู้นวัตกรรม รวมถึงเลือกนำเทคโนโลยีใหม่ๆ มาใช้กับการออกแบบ อย่างเช่น การนำ 3D Printer เข้ามาช่วยทำดีไซน์ในขั้นต้น “เทคโนโลยีอาจเข้ามาเป็นตัวช่วยที่ให้บางสิ่งสามารถใช้งานได้อย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน รวมถึงช่วยเราในเรื่องของความเร็ว หากเราสามารถใช้เทคโนโลยีในการประหยัดเวลาได้ เราก็จะมีเวลาทำงานให้ละเอียด และได้ประสิทธิภาพมากขึ้น ซึ่งปกติโดยทั่วไปเรามีเวลาและงบประมาณจำกัด”
Trace-Container
Photo Credits : http://www.nendo.jp
kaleidoscopic ivy for Sogetsu (2017)
Photo Credits : http://www.nendo.jp
Kojimachi Terrace
for YOKOHAMA EKIMAE BUILDING
อย่างที่เราเห็นกันว่า อาคารสำนักงานทั่วไปมักสร้างเป็นอาคารปิด ขาดความเชื่อมต่อกับสภาพแวดล้อมภายนอกอาคาร แต่สำหรับ Kojimachi Terrace กลับแตกต่างออกไป อาคารนี้ทำหน้าที่เป็นสำนักงาน ตั้งอยู่ในย่านโคจิมาจิใจกลางกรุงโตเกียว ซึ่งสตูดิโอ
เนนโดะออกแบบพื้นที่ระเบียงภายนอกไว้ทั้งหมด 6 ชั้นจากพื้นที่อาคาร 11 ชั้น
เพื่อให้เกิดการทำกิจกรรมที่สร้างความสัมพันธ์ระหว่างพื้นที่ภายในและภายนอก นอกจากนั้นพื้นที่ระเบียงในส่วนนี้ยังสามารถปรับเปลี่ยนตัวเองให้กลายเป็นมุมส่วนตัวเล็กๆ ที่สามารถนั่งเล่น นั่งคุยงาน ได้ด้วยการปิดประตูและหน้าต่างที่ถูกออกแบบให้ซ่อนอยู่โดยรอบ
Photo Credits : http://www.nendo.jp
ฟาซาดไม้ด้านหน้าอาคารได้รับการออกแบบให้มีขนาดและผิวไม้ที่เท่ากัน ถักทอจนเกิดเป็นลวดลายตารางที่ปกคลุมอาคารเอาไว้อีกหนึ่งชั้น สร้างความเป็นธรรมชาติ พรางสายตาจากภายนอก และยังช่วยลดความรู้สึกเรียบนิ่งและแข็งทื่อ ซึ่งเรามักพบเห็นได้ในอาคารสำนักงานส่วนใหญ่
Photo Credits : http://www.nendo.jp
The Stairway House
Private House
Stairway House เป็นโปรเจ็กต์บ้านพักอาศัยส่วนตัวที่ตั้งอยู่ในกรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น โดยมีสมาชิกเป็นครอบครัว 3 รุ่น 3 ช่วงอายุ บวกกับเจ้าแมวอีก 8 ตัว หากมองจากภายนอกจุดเด่นของบ้านหลังนี้ คงจะเป็นขั้นบันไดที่ทอดตัวยาวตั้งแต่พื้นที่ภายนอกเข้าสู่ภายใน ซึ่งนอกจากบันไดแล้ว ซาโตะยังออกแบบ Stairway House โดยเน้นเรื่องการใช้แสงธรรมชาติ การระบายอากาศ และการใช้พื้นที่สีเขียวเข้ามาเป็นองค์ประกอบ
Photo Credits : https://www.archdaily.com
ถึงแม้ฟังก์ชันภายในแต่ละชั้นจะไม่มีส่วนที่เชื่อมต่อเข้าหากัน เพื่อความเป็นส่วนตัวของผู้ใช้งาน แต่โครงสร้างบันไดที่เราเห็นก็ทำหน้าที่เชื่อมโยงพื้นที่ส่วนตัวของคนทั้งสามรุ่นให้รู้สึกเป็นหนึ่งเดียวกัน รวมถึงยังเชื่อมโยงระหว่างสถาปัตยกรรม พื้นที่ภูมิทัศน์ และสภาพแวดล้อมที่อยู่โดยรอบ นอกจากนั้นบันไดนี้ยังทำหน้าที่พิเศษ ด้วยการซ่อนห้องอาบน้ำและสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ ไว้ภายในอีกด้วย
Photo Credits : https://www.archdaily.com
“ไอเดียที่ดีจะต้องเป็นอะไรก็ตามที่คุณสามารถบอกใครๆ ไม่ว่าจะเป็นคุณแม่ของคุณ ไปจนเด็กเล็กๆ ที่ไม่รู้เรื่องอะไรเกี่ยวกับงานดีไซน์ ซึ่งหากพวกเขาคิดว่าผลงานเหล่านั้นมีความน่าสนใจ นั่นแหละ คืองานออกแบบที่ดีสำหรับผม” ซาโตะกล่าว (จากบทสัมภาษณ์ Dezeen)
เชื่อว่างานออกแบบที่ดี ไม่จำเป็นจะต้องมีสเกลใหญ่สะท้อนตัวตนอันโอ่อ่าเพียงอย่างเดียว แต่งานออกแบบชิ้นเล็กๆ ที่พร้อมจะเข้าอกเข้าใจชีวิตประจำวันของคนธรรมดากลับกลายเป็นสิ่งสำคัญที่จะช่วยยกระดับชีวิตของมนุษย์ให้ดีขึ้น เพื่อให้งานดีไซน์ไม่ใช่สิ่งไกลตัวแต่เป็นสิ่งที่ทุกคนสามารถเข้าถึงได้ ดังเช่นผลงานของ โอกิ ซาโตะ แห่ง Nendo คนนี้
อ้างอิงข้อมูลจาก
https://www.forbes.com ,https://www.thehourglass.com ,https://thestandard.co ,https://www.cappellini.com ,https://www.yatzer.com ,https://www.interiordesign.net , https://www.archdaily.com , https://www.dezeen.com