OPENING HOURS: MONDAY – SUNDAY: 10.00 AM TO 8.00 PM

info@sitename.com | 987654321

Design Makes A Better Life.

Design Makes A Better Life.

ฝ่าวิกฤติ COVID-19 : 6 แนวคิด ออกแบบอินทีเรียอย่างไรให้ปลอดภัยจากเชื้อ CoronaVirus

เปิดรับต้นปี 2021 ด้วยข่าวที่ไม่ค่อยสู้ดีนัก กับการแพร่ระบาดของเชื้อ Covid19 ที่ยังคงมีทีท่าว่าจะยังคงอยู่กับเราไปอีกยาวนาน หลายคนคงเริ่มกลับมา Work from Home และใช้เวลากักตัวอยู่กับบ้านเพื่อลดการแพร่ระบาด หรือบางคนก็ยังต้องไปทำงานที่สำนักงานและต้องเผชิญความเสี่ยงในทุกๆ วัน

เพื่อให้บ้านหรือพื้นที่ที่เราต้องเผชิญในทุกวันกลายเป็น Safe Zone ที่ปลอดภัยจากเจ้าเชื้อไวรัสตัวร้ายนี้  Dsign Something จึงมีไอเดียการออกแบบอินทีเรีย เพื่อเปลี่ยนพื้นที่ให้ปลอดภัย ลดสิ่งสกปรก เชื้อโรคต่างๆ รวมถึงช่วยลดปัจจัยเสี่ยงของการติดเชื้อ Coronavirus ได้อีกทางหนึ่ง
Photo Credits : https://allhandlesandpulls.co.uk

มือจับทองแดงและทองเหลืองกลับมามีบทบาทอีกครั้ง

ในผลงานวิจัยของ National Institutes of Health, CDC, UCLA และ Princeton University นักวิทยาศาสตร์ได้ศึกษาว่าเชื้อโคโรนาไวรัสจะแพร่เชื้อและมีชีวิตอยู่บนวัสดุต่างๆ ได้นานเพียงใด ซึ่งเชื้อโรคชนิดนี้ดูเหมือนจะชื่นชอบและอยู่ได้นานที่สุดบนพื้นผิววัสดุเรียบ เช่น พลาสติก (72 ชั่วโมง) และสแตนเลส (48 ชั่วโมง) และใช้เวลาน้อยกว่าบนวัสดุจำพวกกระดาษแข็ง หรือเสื้อผ้า (24 ชั่วโมง) ที่น่าประหลาดใจที่สุด คือ เมื่ออยู่บนวัสดุจำพวกทองเหลืองหรือทองแดง ไวรัสมีชีวิตอยู่ได้เพียง 4 ชั่วโมงเท่านั้น

นี่จึงอาจเป็นหนทางหนึ่งที่เราสามารถนำมาประยุกต์ใช้กับการออกแบบได้ง่ายๆ อุปกรณ์ฮาร์ดแวร์อาคารที่ให้ลุควินเทจอย่างทองเหลืองหรือทองแดงจึงกลับมามีบทบาทอีกครั้ง กลายเป็นทางเลือกที่เราสามารถนำมาหยิบใช้กับการออกแบบมือจับ บานประตู หรืออุปกรณ์ที่เราจำเป็นต้องสัมผัสบ่อยๆ หรือต้องสัมผัสโดยตรง เพราะนอกจากความสวยงามแล้ว ยังช่วยลดอัตราการติดเชื้อได้อีกด้วย

เลือกใช้วัสดุพื้นที่ทำความสะอาดง่ายที่สุด

แน่นอนว่า พื้นเป็นองค์ประกอบสำคัญและเป็นจุดหนึ่งที่เชื้อโรคมักจะเกาะกลุ่มรวมกัน เพราะละออง ฝุ่นหรือเชื้อโรคที่แพร่กระจายตามอากาศ ท้ายที่สุดแล้วก็จะตกลงสู่พื้นก่อนที่เราจะเหยียบและพาเอาเชื้อโรคเหล่านี้กระจายออกไปตามจุดต่างๆ ของบ้าน วัสดุพื้นที่เราเลือกใช้จึงควรทำความสะอาดง่ายมากที่สุด นอกจากนี้การลดใช้พรม หรือวัสดุที่ทำจากผ้า ยังช่วยลดการแพร่กระจายของเชื้อโรคได้ เพราะมักจะเป็นจุดหมักหมมที่เช็ดทำความสะอาดได้ยาก

วัสดุที่มีรอยต่อน้อย เช่น วัสดุประเภทคอนกรีต กระเบื้อง และหินขัด Terrazzo ก็เป็นทางเลือกที่ตอบโจทย์ เพราะสามารถทำความสะอาดได้อย่างง่ายดาย และสามารถทำความสะอาดได้บ่อยโดยไม่ส่งผลเสียกับตัววัสดุ อีกหนึ่งวัสดุที่น่าสนใจ คือ ไม้คอร์กที่ทำจากธรรมชาติ ซึ่งมีคุณสมบัติในการต่อต้านเชื้อแบคทีเรียสูง และยังทำความสะอาดได้ง่าย

Dtips : วัสดุที่อาจจะต้องหลีกเลี่ยงในช่วงนี้ คือ ‘ไม้’ ซึ่งพื้นไม้สำเร็จรูปส่วนใหญ่ในปัจจุบันมักจะเป็นเพียงชั้นโพลียูรีเทนบางๆ ปิดด้านบน ทำให้เราไม่สามารถทำความสะอาดได้อย่างเต็มที่ เนื่องจากน้ำจะแทรกซึมเข้าสู่ภายในและทำให้พื้นไม้เอ็นจิเนียร์เสื่อมสภาพเร็วขึ้น

ออกแบบผนังไร้รอยต่อ

นอกจากพื้นแล้ว องค์ประกอบชิ้นใหญ่อย่างผนังก็สำคัญไม่แพ้กัน การเลือกใช้วัสดุสำหรับออกแบบผนังควรจะไร้รอยต่อ เป็นผืนใหญ่เพียงผืนเดียวเพื่อเอื้อให้ทำความสะอาดได้ง่าย ลดการใช้กระเบื้องชิ้นเล็กๆ ที่ทำให้เกิดร่องยาแนว ที่เชื้อโรคสามารถเข้าไปหมักหมมได้บางจุด รวมถึงการเลือกใช้วัสดุที่มีการออกแบบคุณสมบัติยับยั้งเชื้อโรคโดยเฉพาะ

อีกทั้งลดการใช้องค์ประกอบชิ้นใหญ่บางส่วนที่เป็นตัวกั้นสเปซอย่างผนังเบา ผ้าม่าน หรือฉากกั้นห้อง ก็ช่วยเพิ่มให้อากาศถ่ายเท ลดการเกาะจับของเชื้อโรคและยังทำให้บ้านของเราดูโปร่ง โล่ง ไม่อุดอู้อีกด้วย

Dtips : หลีกเลี่ยงการใช้วัสดุปิดผิวผนังที่มีคุณสมบัติห้ามโดนน้ำ เพราะเท่ากับลดโอกาสในการทำความสะอาด เช็ดล้าง และเลือกใช้วัสดุที่มีคุณสมบัติดูดซับความชื้นได้ดี เพื่อป้องกันไม่ให้เชื้อโรคเพิ่มจำนวนมากขึ้น

เทคโนโลยีไร้การสัมผัส ทางเลือกหนึ่งของการออกแบบ

เทคโนโลยีที่ได้รับความนิยมซึ่งหลายคนอาจเคยคิดว่าไม่จำเป็น กลับกลายเป็นทางเลือกที่สำคัญในยุค COVID-19 อย่างนี้  ระบบสั่งการด้วยเสียงหรือระบบเซนเซอร์ต่างๆ เป็นวิธีหนึ่งที่ช่วยลดการแพร่กระจายและการสัมผัสโดยตรงกับเชื้อโรค ซึ่งสามารถลดโอกาสติดเชื้อได้มากทีเดียว 

การเปลี่ยนอุปกรณ์บางส่วนที่เราต้องสัมผัสโดยตรงบ่อยๆ ให้เป็นระบบเทคโนโลยีไร้การสัมผัส ก็สามารถช่วยลดการแพร่ระบาดของเชื้อโรคได้เช่นเดียวกัน อย่างเช่น ระบบสวิตซ์ไฟ สุขภัณฑ์ในห้องน้ำ หรือลิฟท์ แต่วิธีนี้อาจจะเหมาะสำหรับบ้านหรือสถานที่ที่จำเป็นต้องพบปะบุคคลมากหน้าหลายตา หรือมีสมาชิกครอบครัวจำนวนมาก แต่สำหรับการออกแบบอินทีเรียบ้านทั่วๆ ไป อาจจะใช้การหมั่นทำความสะอาดอุปกรณ์แทน เพื่อลดงบประมาณในการติดตั้งเทคโนโลยีที่ว่านี้

ออกแบบช่องเปิดให้เพียงพอกับแสงธรรมชาติ

ด้วยผลการศึกษาวิจัยทางวิทยาศาสตร์ที่บอกว่า เชื้อไวรัสชนิดนี้ไม่ถูกกับอากาศร้อนสักเท่าไรนัก เนื่องจากสามารถแพร่กระจาย และเติบโตได้ดีในอากาศที่แห้งและเย็น ในการออกแบบอินทีเรียของพื้นที่จึงควรมีช่องเปิดในจำนวนและขนาดที่เพียงพอที่แสงแดดธรรมชาติจะสามารถส่องเข้าถึงพื้นที่ส่วนต่างๆ ได้ เพื่อช่วยฆ่าเชื้อโรค กำจัดความชื้นในอากาศ และยังลดกลิ่นอับ เพื่อให้อากาศภายในได้หมุนเวียนและถ่ายเทตลอดเวลา

Dtips :  การออกแบบช่องเปิดยังรวมถึงพื้นที่ขนาดเล็กอย่างห้องน้ำ ซึ่งหลายคนมักจะมองข้ามเนื่องจากเป็นเพียงพื้นที่เล็กๆ แต่ที่จริงแล้วนั้น ห้องน้ำนี่แหละที่เป็นจุดหมักหมมของเชื้อโรคและสิ่งสกปรกต่างๆ ซึ่งหากเป็นไปได้ การมีช่องเปิดภายในห้องน้ำก็จะช่วยถ่ายเทอากาศ และฆ่าเชื้อโรคบางส่วนได้ไม่น้อย

อะไรที่แน่นเกินไป ก็ผ่อนคลายบ้าง

แน่นเกินไปในที่นี้ คือ ของตกแต่งจำนวนยิบย่อยที่เราเคยนำมาวางตั้งโชว์ หรือเป็นองค์ประกอบเล็กๆ ของพื้นที่ ซึ่งเพิ่มความสวยงามและสมบูรณ์ให้สเปซก็จริง แต่ในอีกแง่หนึ่งก็เป็นตัวดักจับฝุ่น เชื้อโรค และยังทำความสะอาดยากขึ้นกว่าเดิมอีกด้วย การปล่อยสเปซให้โล่งๆ เข้าไว้ มีเพียงเฟอร์นิเจอร์ชิ้นหลักที่จำเป็นก็อาจจะเพียงพอแล้วให้ยุค COVID อย่างนี้ หรือหากจะหาอะไรมาใช้ตกแต่งพื้นที่ ลองหยิบกระถางพันธุ์ไม้ที่มีคุณสมบัติดักจับเชื้อโรคหรือไรฝุ่นมาใช้ตกแต่งแทนก็เป็นทางเลือกที่ดี เพราะนอกจากจะช่วยเรื่องคุณภาพอากาศแล้ว ยังเติมความสดชื่นให้พื้นที่ของเราด้วย

‘แน่น’ ในอีกหนึ่งความหมายคือ พื้นที่ที่เหมาะสมกับจำนวนคน เพราะแน่นอนว่า เราก็ยังคงต้องรักษาระยะห่างทางสังคม (Social Distancing) การจัดวางเฟอร์นิเจอร์ตามพื้นที่ต่างๆ จึงควรที่จะลดจำนวนของเฟอร์นิเจอร์ต่อหนึ่งพื้นที่ให้มีน้อยลง รวมถึงมีการจัดวางให้ห่างกันอย่างน้อย 1 เมตร เพื่อลดการแพร่ระบาดของเชื้อโรค

Dtips :  ไม่เพียงแต่เฟอร์นิเจอร์เท่านั้น การออกแบบทางเดินให้มีขนาดที่กว้างกว่าปกติ ยังเพิ่มระยะห่างระหว่างกัน ลดการใกล้ชิดหรือสัมผัสกับบุคคนอื่นๆ เพื่อลดโอกาสที่จะแพร่เชื้อไวรัสสู่กันนั่นเอง


อ้างอิงข้อมูลจาก
https://www.treehugger.com

 

Discover more from Design Makes A Better Life.

Subscribe now to keep reading and get access to the full archive.

Continue reading