OPENING HOURS: MONDAY – SUNDAY: 10.00 AM TO 8.00 PM

info@sitename.com | 987654321

Interlude House เมื่อบ้านเปรียบเสมือนโรงละครขนาดเล็ก ที่ผู้อยู่อาศัยสามารถเขียนบทได้อย่างเป็นตัวเอง

ถ้ากรุงเทพฯ เป็นเสมือนละครโรงใหญ่ที่เต็มไปด้วยแสงสี ความวุ่นวาย ทับซ้อนด้วยฉากและอารมณ์ของผู้คนมากหน้าหลายตา Interlude House บ้านแห่งการสลับฉากหลังนี้คงเปรียบเสมือนโลกคู่ขนานที่ตัดขาดจากความวุ่นวายภายนอก เพื่อให้ผู้อยู่อาศัยสัมผัสได้ถึงความเงียบสงบ พักอารมณ์และเตรียมพร้อมก่อนออกไปเจอกับละครบทใหม่ที่เกิดขึ้นในทุกๆ วัน

แนวคิดดังกล่าวได้ทีมสถาปนิกจาก Ayutt and Associates design (AAd) มาเป็นผู้รังสรรค์บ้านใจกลางเมืองกรุงเทพฯ  พร้อมให้ผู้อยู่อาศัยได้สร้างละครเรื่องใหม่ที่ตนเองเป็นผู้เล่นได้อย่างไม่ต้องเกรงใจใคร


Interlude House เริ่มต้นขึ้นบนที่ดินใจกลางเมืองขนาดประมาณ 200 ตารางวา และตั้งอยู่ในซอยตันที่แคบเพียง 4.5 เมตร บ้านถูกรายล้อมไปด้วยคอนโดมิเนียม อพาร์ทเมนต์ สำนักงาน บ้านพักอาศัย และสถานบริการต่างๆ ทำให้ถนนภายในซอยวุ่นวายจากการสัญจรไปมาเกือบ 24 ชั่วโมง ‘ความเป็นส่วนตัว’ ของเจ้าของบ้านจึงกลายมาเป็นหัวใจสำคัญของงานออกแบบ

“เจ้าของบ้านเขาเป็นคู่สามี-ภรรยาที่ไม่มีลูก เขารักการสังสรรค์และชอบเข้าสังคมมาก ดังนั้นนอกจากการที่เราจะออกแบบบ้านหลังนี้เพื่อไม่ให้คนด้านนอกเห็นเข้ามายังภายในแล้ว เรายังต้องออกแบบป้องกันไม่ให้เสียงจากการสังสรรค์ภายในบ้านออกไปรบกวนเพื่อนบ้านด้วย  เป็นเหมือนใจเขาใจเรา” คุณอาร์ต-อยุทธ์ มหาโสม สถาปนิก เล่า

ปรับอารมณ์ ก่อนเข้าสู่โรงละครอันเป็นส่วนตัว

สถาปนิกใช้ประโยชน์จากพื้นที่ฝั่งซ้ายทางทิศใต้ของบ้าน ซึ่งเป็นที่ดินติดกับตัวบ้านผืนเดียวที่ยังคงเป็นที่โล่งและล้อมรอบไปด้วยต้นไม้ใหญ่ริมแนวรั้ว โดยออกแบบวางผังบ้านให้เป็นลักษณะตัวยู และเปิดคอร์ดขนาดใหญ่ภายในบ้าน รวมถึงช่องเปิดทั้งหมดไปทางทิศใต้ เพื่อเป็นการหยิบยืมพื้นที่สีเขียวของเพื่อนบ้านมาใช้เป็นมุมมอง ซึ่งคุณอาร์ตเล่าว่า การที่เราดึงที่ว่างของเพื่อนบ้านเข้ามาเป็นส่วนนึงในองค์ประกอบของงานออกแบบ ยังทำให้ผืนที่ดินดูใหญ่ขึ้น

ในขณะเดียวกัน ทิศอื่นๆ รอบตัวบ้าน ถูกออกแบบให้เป็นผนังทึบทั้งหมดเพื่อเป็นฉากกำแพงขนาดใหญ่ที่บังโลกภายนอกเอาไว้ เช่นเดียวกับก้อนอาคารที่จอดรถสีดำบริเวณหน้าบ้าน ซึ่งออกแบบให้มีความทึบตันและขอบอาคารที่หนา ตัดกับก้อนอาคารสีขาวด้านบนที่บางและคมที่สุด เป็นเน้นความเด่นชัดของ mass อาคาร และสร้างความรู้สึกราวกับว่าอาคารสีขาวด้านบนนั้นดูเบา ลอยอยู่ และบางครั้งก็กลืนหายไปกับท้องฟ้า
เมื่อที่จอดรถถูกเปิดออกเราจะเห็นเพียงมิติของสีดำ ซึ่งปลายตาจะถูกออกแบบช่องเปิดเผยให้เห็นสวนที่อยู่ภายใน สร้างเลเยอร์คล้ายกับการเล่นมิติของฉากละคร การสลับม่าน เพื่อเตรียมความรู้สึกก่อนจะเข้าสู่พื้นที่บ้านซึ่งเป็นส่วนตัวสูงสุด

อาคารสีดำบริเวณที่จอดรถและทางเข้าหลักยังช่วยสร้างลำดับการเข้าถึงได้เป็นอย่างดี ความมืดและสีดำสนิททำให้รูม่านตาของผู้อยู่อาศัยถูกปรับขยายขึ้น ก่อนที่จะเจอเข้ากับคอร์ดกลางบ้านที่มีแสงธรรมชาติส่องเป็นเสมือน spotlight นำทางให้เดินเข้าสู่พื้นที่ภายใน ซึ่งจะรับรู้ได้ถึงความเปิดโล่งซึ่งแตกต่างอย่างสิ้นเชิงกับความมืดบริเวณด้านหน้า ลมที่พัดจากคอร์ดสู่ช่องทางเข้า เสียงน้ำไหลเอื่อยในสระ และความร่มรื่นจากพื้นที่สีเขียวทั้งหมดเริ่มเผยตัวออกมาทักทาย เปิดประสาทสัมผัสทั้งหมดของผู้อยู่อาศัยให้เตรียมพร้อมสำหรับการตัดขาดจากโลกภายนอกอย่างแท้จริง
แปลนบ้าน Interlude House ชั้น 1 และชั้น 2 

บทเกริ่นนำฉากละคร ที่ซึ่ง ‘ธรรมชาติ’ รับบทเป็นพระเอก

คุณอาร์ตเล่าว่า “บ้านหลังนี้ ไม่เหมือนบ้านหลายๆ หลังของ AAd ที่เจ้าของบ้านจะอยู่ในบ้านแล้วเห็นสถาปัตยกรรมทั้งหมดโดดเด่นออกมา  เพราะเราไม่ได้ต้องการให้สถาปัตยกรรมเด่น แต่เราต้องการให้อารมณ์ ความรู้สึกเป็นพระเอก ต้องการให้ธรรมชาติเด่น เราเลยเล่นเรื่องมิติของแสง”

สระว่ายน้ำที่ขนานยาวตลอดแนวทางเดิน สร้างบรรยากาศให้เจ้าของบ้านได้ใช้เวลาร่วมกับธรรมชาติ เพื่อดื่มด่ำ ลม น้ำ เสียง และแสง เสมือนเป็นบทเกริ่นนำของฉากละคร และช่วยสร้างความผ่อนคลายหลังจากที่เจอความวุ่นวายมาทั้งวัน หรือเตรียมพร้อมก่อนออกไปใช้ชีวิตภายนอก แสงที่ตกกระทบสระว่ายน้ำสะท้อนขึ้นสู่ฝ้าเพดานสีขาว เกิดเป็นเงาคลื่นที่เคลื่อนไหวคล้ายงานศิลปะจากธรรมชาติ ควบคู่ไปกับผนังหินอ่อนสีน้ำตาลลายแร่น้ำที่จะทำหน้าที่นำสายตา และพาทุกคนไปที่ห้องนั่งเล่นบริเวณสุดสายตา
ด้วยความที่เจ้าของบ้านมีไลฟ์สไตล์ที่ชอบสังสรรค์ บ้านจึงต้องรองรับเพื่อนฝูงได้มากถึง 30 คน ฟังก์ชันภายในทั้งหมดถูกออกแบบให้เชื่อมโยงกับพื้นที่ภายนอก เพื่อให้เกิดการใช้งานที่คุ้มค่าเมื่อต้องรับแขกจำนวนมาก พื้นที่ทางเดินต่างๆ ออกแบบให้เป็นระเบียงรอบสระว่ายน้ำ ทำให้เกิดเป็น Parallel function ที่สามารถใช้สอยพื้นที่ได้ในรูปแบบที่ต่างกัน

เพราะขนาดของพื้นที่ที่มีจำกัด ทำให้ไม่สามารถปลูกต้นไม้ใหญ่ในพื้นที่ได้มากเท่าที่ต้องการ ทีมสถาปนิกจึงแก้ปัญหาด้วยการออกแบบผนังบริเวณสระว่ายน้ำด้วยอลูมิเนียมสแตนเลสซิกแซ็ก เพื่อช่วยการกระจายแสง สะท้อนพื้นที่สีเขียว สร้างมิติให้ผนังดูเลือนหายไปและใช้พื้นที่สีเขียวเข้ามาแทนที่ ซึ่งผนังบริเวณนี้ยังสะท้อน หักเหองศา ของอาคารที่อยู่โดยรอบ เพื่อไม่ให้มองเห็นพื้นที่ภายในบ้านโดยตรง
บริเวณด้านขวา เป็นที่หลบซ่อนของคอร์ดพื้นที่สีเขียว ซึ่งใช้หลักการออกแบบคล้ายกัน โดยใช้ผนังอลูมิเนียมสแตนเลสซิกแซ็กที่มีการเจาะรู เพื่อเปิดให้ลมธรรมชาติสามารถถ่ายเทไหลผ่านได้ทั่วทั้งบ้าน ต้นไม้ภายในคอร์ดนี้ยังโผล่พ้นขึ้นสู่ชั้นสอง สร้างความผ่อนคลายทางด้านสายตา ผนังซิกแซ็กและรูที่เกิดขึ้นยังทำหน้าที่เป็น Sound Acoustic ที่ช่วยดูดซับเสียง นอกจากนั้น ด้วยลักษณะของวัสดุพื้นผิวเงาและทำองศาหันไปมา ยังสะท้อนพื้นที่สีเขียวให้เกิดขึ้นหลายมุมมอง ภายในคอร์ดต้นไม้เพียงต้นเดียว
ภาพตัดบ้าน Interlude House

พื้นที่ชีวิตและเรื่องราวที่สร้างขึ้นได้เอง

หลังจากผ่านส่วนของการเกริ่นนำภายนอก จึงถึงเวลาเข้าสู่พาร์ทที่เข้มข้นขึ้นอย่างพื้นที่หลักของการอยู่อาศัย การจัดวางฟังก์ชันภายในถูกออกแบบให้เป็น Open Plan ที่เชื่อมโยงพื้นที่ทุกส่วนเข้าไว้ด้วยกัน

นักแสดงนำของเรื่องราวในส่วนนี้ คือ งานศิลปะ ขนาดใหญ่ที่สถาปนิกตั้งใจให้ผู้อยู่อาศัยมองเห็นเป็นอย่างแรกเมื่อเข้าสู่พื้นที่  โดยเฟอร์นิเจอร์และองค์ประกอบตกแต่งภายในทุกชิ้นจะถูกถอดองค์ประกอบมาจากงานศิลปะชิ้นนี้  “อย่าง Chandelier ก็เกิดการทับซ้อนเข้าไปที่ภาพวาดนี้ได้ด้วยเหมือนกัน เราพยายามเอา 2 มิติกับ 3 มิติผสมเข้าด้วยกัน สำหรับบ้านหลังนี้เราโฟกัสงานสถาปัตยกรรม งานอินทีเรีย และงานศิลปะ ให้ไหลรวมเป็นองค์ประกอบเดียวกัน” คุณอาร์ตเล่า
พื้นที่ครัวและ Pantry ออกแบบโดยเน้นงานศิลปะจากหินธรรมชาติลายขาวดำ ซึ่งลวดลายทั้งหมดจะต่อเนื่องกันตั้งแต่พื้นที่ Backsplash จนถึงท็อปเคาน์เตอร์ครัว ส่วนโต๊ะรับประทานอาหารทำจากไม้โบราณอายุกว่า 200 ปี ที่นำมาขัดผิวทำสีขึ้นใหม่ เพื่อให้เกิดลายไม้ในรูปทรงที่ทันสมัยมากขึ้น
จุดเด่นหนึ่งของบ้านหลังนี้ คือ การดีไซน์เคาน์เตอร์ครัวต่อเนื่องกับโถงบันได เพื่อให้การทำอาหารสามารถมองเห็นวิวพื้นที่สีเขียวที่อยู่บริเวณชั้น 2  ซึ่งเราจะเห็นความเนี้ยบของงาน AAd ผ่านเส้นสายของฝ้าเพดาน ราวกันตกบันได ขอบบันได และเคาน์เตอร์ครัว ที่เป็นเส้นตรง ต่อเนื่องกันทั้งหมด พื้นบันไดทั้งหมดยังทำจากหินชิ้นเดียวกัน เกิดเป็นลวดลายที่ต่อเนื่องไหลจากพื้นที่ชั้น 1 สู่ชั้น 2
การออกแบบโถงบันไดและช่องแสง เป็นการเล่นมิติของแสงธรรมชาติ ทำให้แสงสามารถส่องกระทบผนังไม้รวมถึงบันไดแต่ละขั้น เกิดเป็นนาฬิกาแดดของบ้านหลังนี้โดยเฉพาะ เงาที่ตกกระทบและทะลุผ่านขั้นบันไดแทนด้วยเข็มนาฬิกาที่บอกชั่วโมง และนาที ซึ่งธรรมชาติเป็นผู้สร้างสรรค์ความสวยงามของฉากนี้ให้เกิดขึ้น

“เราพยายามสร้างอะไรบางอย่างให้ลูกค้าอินในงานสถาปัตยกรรมของเรา ให้เขาใช้ชีวิตอยู่แล้วรู้สึกว่าสิ่งนี้เป็นของเขาคนเดียว คนอื่นเข้ามาอาจจะมองเห็นแค่มิติของความสวย แต่เจ้าของบ้านจะรับรู้ได้อีกมิติหนึ่ง นั่นคือ เรื่องของเวลา ซึ่งจะเป็นเขาคนเดียวที่รู้ เพราะเขาต้องอยู่บ้านหลังนี้จากวันเป็นเดือน เป็นปี เป็นหลายๆ ปี ”

ฉากแห่งการพักผ่อนและความสงบ ภายในพื้นที่ส่วนตัว

ฟังก์ชันบริเวณชั้นสองเป็นโซนของพื้นที่ส่วนตัวอย่างห้องนอน ห้องนั่งเล่นของครอบครัว และพื้นที่ทำงาน โดยออกแบบให้มีความต่อเนื่องกันทั้งหมด ผนังโดยรอบถูกออกแบบทึบตันและเปิดโล่งด้วยกระจกตามมุมมองของอาคารที่อยู่โดยรอบ ห่อหุ้มด้วยระแนงอลูมิเนียมฟาซาด ซึ่งถูกออกแบบและพัฒนาจนเกิดเป็น Signature Design ของ AAd ทำหน้าที่สร้างความเป็นส่วนตัว ป้องกันความร้อน ป้องกันฝน และช่วยประหยัดพลังงานให้ตัวอาคาร โดยอุณหภูมิที่วัดได้ระหว่างภายนอกฟาซาดและภายในต่างกันมากถึง 10 องศาเซลเซียส
บริเวณห้องนอนถูกปรับอารมณ์ สลับฉากเข้าสู่การพักผ่อน ด้วยการใช้โทนสีที่อบอุ่นมากขึ้น เน้นการใช้วัสดุไม้และผ้าเป็นหลัก เสริมด้วยงานศิลปะที่เข้ากับโทนสีห้องนั้นๆ ส่วนห้องแต่งตัวและห้องน้ำออกแบบไหลต่อเนื่องเป็นพื้นที่เดียวกัน โดยออกแบบให้อ่างอาบน้ำวงรี บิดเกลียวเป็นองค์ประกอบหลักของพื้นที่ราวกับงานประติมากรรมที่โดดเด่น ด้านหลังเล่นมิติของแสงเงาผ่านบล็อคแก้วที่จัดเรียงให้มีความทึบและโปร่งที่ไม่เท่ากัน ทำให้ผู้อยู่อาศัยสามารถมองเห็นวิวท้องฟ้า สัมผัสกับธรรมชาติ หรือบริบทภายนอกได้บ้าง
“คนหลายคนอาจจะไม่ได้เข้าใจงานออกแบบนี้ทั้งหมด แต่อย่างน้อยพี่เชื่อว่ามันสามารถสร้างแบคกราวด์บางอย่างฝังลงในจิตใต้สำนึกได้ระดับหนึ่ง ซึ่งตรงนี้มันจะเป็นสตอรี่ให้ลูกค้า ทำให้เขาสามารถเล่าเรื่องราวของบ้านได้เป็นฉากๆ นี่คือที่มาของ Interlude มันคือการเล่าฉาก เล่าพฤติกรรมของเจ้าของบ้าน การหยุดพักจากการออกไปสู้รบตบมือกับโลกภายนอก กลับมาภายในนั่นคือโลก คือโรงละครของเขาโดยเฉพาะ” คุณอาร์ตทิ้งท้าย 

คงพูดได้ว่าบทสรุปฉากละครของบ้านหลังนี้ คงจบลงด้วยฉากแห่งความสุข และความสงบที่เจ้าของบ้านสัมผัสได้ผ่านการออกแบบองค์ประกอบทางสถาปัตยกรรมผสานกับความเป็นธรรมชาติได้อย่างกลมกลืน ละครโรงเล็กแห่งนี้จึงเปรียบเสมือนจุดพักของชีวิต ก่อนออกไปพบกับความวุ่นวายภายในเมืองใหญ่
Architect : Ayutt and Associates design (AAd)
Interior Architect : Ayutt and Associates design (AAd)
Furniture Designer : Ayutt and Associates design (AAd)
Art advisor : อยุทธ์ มหาโสม
Photographs : Sofography