Kumamoto Castle Reconstruction Observation Path
สถาปัตยกรรมที่พลิกวิกฤติภัยพิบัติสู่โอกาสสร้างมูลค่าใหม่

เมื่อภัยพิบัติมาเยือนทีไรสิ่งที่มักจะเกิดขึ้นตามมาเสมอก็คือความเสียหายจากการที่ถูกภัยธรรมชาติทำลายล้าง เช่นเดียวกับเหตุการณ์แผ่นดินไหวครั้งใหญ่ในเมืองคุมาโมโต้บนเกาะคิวชูเมื่อเดือนเมษายน 2016 ที่ผ่านมาซึ่งภัยพิบัติครั้งนั้นสร้างความเสียหายหลายมิติให้กับเมืองนี้รวมถึงโบราณสถานสำคัญอย่างปราสาทคุมาโมโต้ (Kumamoto Castle)

ด้วยปราสาทเก่าแก่อายุนับ 400 ปีที่ได้รับยกย่องว่าเป็น 1 ใน 3 ปราสาทอันทรงคุณค่าที่สุดของญี่ปุ่นนั้นได้รับผลกระทบแทบทุกพื้นที่ของอาณาบริเวณ อาคารเก่าแก่หลายส่วนเสียหาย ตลอดจนมีสิ่งก่อสร้างกว่า 10% ที่พังทลายลงมาจนไม่สามารถซ่อมแซมได้ นั่นเป็นเหตุผลที่ทำให้ปราสาทแห่งนี้ต้องปิดตัวลงชั่วคราวเพื่อทำการฟื้นฟูบูรณะให้กลับมาดังเดิมโดยจากการประเมินความเสียหายนั้นคาดการณ์ไว้ว่าการบูรณะให้เสร็จสมบูรณ์ดังเดิมครั้งนี้จะต้องใช้เวลาถึงราว 20 ปีเลยทีเดียว

แน่นอนว่าระยะเวลาที่ยาวนานขนาดนั้นย่อมทำให้หลายคนคิดถึงปราสาทสำคัญแห่งนี้ ไม่ใช่เฉพาะชาวเมืองท้องถิ่นเท่านั้นแต่ยังรวมถึงนักท่องเที่ยวทั้งจากในญี่ปุ่นเองและต่างชาติด้วย ที่สำคัญหากมองในแง่เศรษฐกิจของท้องถิ่นไปจนถึงระดับชาติการปิดปราสาทคราวนี้ย่อมทำให้สูญเสียเม็ดเงินจากการท่องเที่ยวอย่างมหาศาลไปด้วย แต่ในทางกลับกันก็ไม่มีใครคาดคิดว่าวิกฤติครั้งนี้กลับมาพร้อมโอกาสบางอย่างที่เกิดขึ้น โอกาสที่งดงามไม่แพ้ปราสาทที่ทรงคุณค่านี้เลยทีเดียว แทนที่จะต้องรอปราสาทปิดกันยาวนานถึง 20 ปี ทางเมืองคุมาโมโต้ก็ได้หารือกับบริษัทที่ได้รับสัมปทานบูรณะปราสาทครั้งนี้อย่าง NIHON SEKKEI, INC. เพื่อแก้ปัญหาที่เกิดขึ้น นั่นเลยกลายเป็นที่มาของโปรเจกต์ไอเดียเจ๋งอย่าง Kumamoto Castle Reconstruction Observation Path หรือ “เส้นทางสังเกตการณ์การบูรณะปราสาทคุมาโมโต้” เส้นทางท่องเที่ยวใหม่ที่กำลังได้รับความสนใจไปทั่วโลกอยู่ในขณะนี้

เส้นทางสังเกตการณ์การบูรณปราสาทคุมาโมโต้นี้สร้างขึ้นมาควบคู่ไปพร้อมกับการซ่อมแซมปราสาท แทนที่จะปิดกันแบบยาวๆ ก็เปิดให้คนทั่วไปได้เข้าเยี่ยมชมการซ่อมแซมไปพร้อมกันเสียเลย นั่นเลยทำให้ปราสาทคุมาโมโต้กลับมาเปิดต้อนรับผู้มาเยือนอีกครั้งได้เร็วกว่าที่คาดไว้โดยหลังจากเหตุการณ์แผ่นดินไหวเพียง 2 ปีเท่านั้นปราสาทก็กลับมาเปิดบริการอีกครั้งในเดือนตุลาคม 2019 พร้อมคอนเซ็ปต์การท่องเที่ยวรูปแบบใหม่ที่โด่งดังขึ้นมาอย่างรวดเร็ว ไปจนถึงมุมมองปราสาทวิวใหม่ๆ ที่แปลกตาในแบบที่ไม่เคยเห็นมาก่อน เพราะจุดชมวิวถูกยกระดับขึ้นมาให้สูงกว่าปกติ แถมทำแนวทางเดินทอดยาวต่อเนื่องแบบที่ไม่สามารถเที่ยวชมปราสาทแบบนี้ได้ในยามปกติแน่ๆ

สะพานแนวระเบียงปราสาทถูกสร้างขึ้นให้เป็นเส้นทางชมปราสาทอย่างใกล้ชิดในรูปแบบใหม่ ถึงแม้ว่าจะเป็นเพียงสะพานชั่วคราวแต่โปรเจกต์นี้กลับใส่ใจรายละเอียดในการออกแบบอย่างพิถีพิถันตลอดจนเลือกใช้วัสดุที่มีคุณภาพไม่ต่างอะไรกับการสร้างสถาปัตยกรรมแบบปกติเลยด้วยซ้ำ ส่วนโครงสร้างของตัวสะพานนั้นเป็นเหล็กคุณภาพสูงที่รองรับน้ำหนักได้ดีรวมถึงทนต่อแรงสั่นสะเทือนได้ยอดเยี่ยมด้วย เมื่อทอดข้ามสิ่งกีดขวางอย่างเช่นกำแพงโบราณก็มีการใช้โครงสร้างแบบฐานโค้งที่คำนวณการรองรับแรงอย่างดี นอกจากเพื่อความปลอดภัยแล้วยังเป็นการรบกวนสิ่งก่อสร้างให้น้อยที่สุดรวมถึงสร้างเพื่อให้ทัศนียภาพโดยรวมดูสวยงามไปพร้อมกันด้วย

ในส่วนของพื้นสะพานนั้นก็เลือกใช้ไม้ฮิโนกิคุณภาพสูงในระดับเดียวกับที่ใช้สร้างบ้านหรือปราสาทต่างๆ ทั้งนี้ทางบริษัทต้องการให้สิ่งก่อสร้างนี้กลมกลืนกับความเป็นธรรมชาติของปราสาทให้มากที่สุดแล้วก็ต้องสวยงามเข้ากับความสง่างามของปราสาทด้วย แล้วรายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ ที่น่าสนใจอีกอย่างก็คือการวางเส้นทางให้รบกวนธรรมชาติดั้งเดิมให้น้อยที่สุดโดยทางบริษัทมีวัตถุประสงค์หนึ่งในการก่อสร้างสะพานนี้ว่าต้องตัดต้นไม้ให้น้อยที่สุดรวมถึงให้ความสำคัญกับต้นไม้เก่าแก่ที่อยู่ภายในโบราณสถานแห่งนี้ด้วย

เราจึงได้เห็นเส้นทางแปลกๆ ที่ไม่ใช่ทางตรงหากแต่เป็นการหักมุมหลบต้นไม้ดั้งเดิมที่อยู่คู่ปราสาทแห่งนี้มายาวนาน เห็นเส้นทางที่ลัดเลาะผ่านต้นไม้เพื่อได้วิวที่สวยงามในอีกรูปแบบ รวมถึงการเห็นมุมบูรณปราสาทที่กลับกลายเป็นว่าเป็นมุมโดดเด่นขึ้นมาสำหรับเส้นทางท่องเที่ยวนี้ รวมถึงได้เห็นเส้นทางท่องเที่ยวชมปราสาทยามค่ำคืนที่งดงามอลังการไม่แพ้ยามกลางวันเลยทีเดียว

สะพานยกระดับ Kumamoto Castle Reconstruction Observation Path นี้มีความยาวกว่า 450 เมตร สร้างสูงขึ้นเหนือพื้นดินราว 3-6 เมตร (แล้วแต่ความสูงต่ำของแต่ละพื้นที่ที่ฐานแต่ละตัวตั้งอยู่) เสริมแนวระเบียงสูงราว 1.2 เมตรเพื่อกันความปลอดภัยของผู้เข้าชมและไม่สูงจนทำให้บดบังการชมทัศนียภาพ ตลอดแนวระเบียงด้านล่างที่ติดกับพื้นสะพานในฝั่งตรงข้ามปราสาทจะมีการติดตั้งไฟ LED ไว้เพื่อให้เห็นทางเดินสะดวกในยามค่ำคืน แต่ออกแบบให้ติดตั้งเพียงด้านเดียวเท่านั้น (ด้านที่ตรงข้ามกับฝั่งติดปราสาท) เพื่อที่จะไม่ให้แสงจ้ากวนสายตาจนเกินไปตลอดจนเพื่อไม่ไปลดทอนความงามของปราสาทยามค่ำคืนที่มีการสาดส่องไฟให้โดดเด่นนั่นเอง นั่นยังไม่นับรายละเอียดยิบย่อยอีกมากมายของการสร้างสะพานสังเกตการณ์บูรณะครั้งนี้ (ที่ไม่รวมถึงการบูรณะปราสาท) รวมถึงเฟสอื่นๆ ในอนาคตที่จะทยอยเปิดเพื่อต้อนรับผู้มาเยือนอีกด้วย

การใส่ใจรายละเอียดในทุกมิติครั้งนี้นอกจากจะทำให้ได้รับคำชื่นชมอย่างมากรวมถึงสร้างแลนด์มาร์กการท่องเที่ยวใหม่ขึ้นมาได้อย่างน่าสนใจแล้วโปรเจกต์นี้ก็ยังสามารถคว้ารางวัลใหญ่ทางด้านการออกแบบอย่าง Good Design Award 2020 มาครองได้ด้วยในหมวด Good Focus Award (Disaster Prevention & Recovery Design) ที่มอบให้กับผลิตภัณฑ์ องค์กร หรือบริการที่เป็นประโยชน์ต่อการป้องกันภัยพิบัติตลอดจนช่วยเหลือฟื้นฟูสาธารณะภัยต่างๆ นั่นเอง แล้วหลังจากที่ได้รับรางวัลบนเวทีใหญ่นี้ก็ทำให้ทั่วโลกหันมาจับตาโปรเจกต์ไอเดียเจ๋งนี้ทันที

อันที่จริงการเปิดให้คนเข้ามาเที่ยวโบราณสถานขณะที่กำลังทำการบูรณะอยู่นั้นก็ไม่ใช่เรื่องใหม่อะไรสำหรับในประเทศญี่ปุ่นนัก เพราะก่อนหน้านี้ปราสาทหลายแห่งที่ปิดซ่อมแซมต่างก็ยังเปิดให้คนเข้ามาเยือนเหมือนปกติ แต่ความแตกต่างสำหรับโปรเจกต์นี้ก็คือการสร้างสรรค์สิ่งใหม่ขึ้นมาที่ไม่เพียงแต่ช่วยแก้ปัญหาด้านต่างๆ ได้ดีเท่านั้นแต่มันยังกลายเป็นแลนด์มาร์กใหม่ที่ใครหลายคนก็อยากมาเที่ยวดูสักครั้งให้ทันก่อนการบูรณะเสร็จ วัฒนธรรมท่องเที่ยวเพื่อเฝ้าติดตามการบูรณะนี้อยู่ควบคู่ญี่ปุ่นมาช้านานเพราะนั่นไม่ใช่การเสียโอกาสทางธุรกิจแต่มันเป็นการให้ชาวญี่ปุ่นได้เรียนรู้กระบวนการแห่งการเอาใจใส่ซ่อมแซมไปในตัว

นับเป็นโครงการบูรณะที่ได้ประโยชน์กันทุกฝ่าย คนท้องถิ่นตลอดจนนักท่องเที่ยวก็ได้เฝ้าชมการบูรณะอย่างใกล้ชิดแบบปลอดภัย โครงการบูรณะโบราณสถานก็สามารถกันคนทั่วไปไม่ให้เข้ามาในเขตก่อสร้างที่อันตรายได้อย่างมีประสิทธิภาพ ไปจนถึงการสงวนพื้นที่ให้บรรดาช่างได้ทำงานอย่างไม่ต้องถูกรบกวนอีกด้วย ทางเมืองเองก็ไม่สูญเสียรายได้จากการท่องเที่ยวแถมยังสร้างรายได้เพิ่มจากแหล่งท่องเที่ยวรูปแบบใหม่อีกด้วย ในขณะเดียวกันการบูรณะก็เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ นับเป็นการพลิกวิกฤติของภัยพิบัติให้กลายเป็นโอกาสสร้างมูลค่ารูปแบบใหม่ที่ยอดเยี่ยมทีเดียว

แหล่งข้อมูลเพิ่มเติม
NIHON SEKKEI, INC. 
Kumamoto City 
Good Design Award 

Photo Credit:
NIHON SEKKEI, INC.
Kumamoto City

Writer
Tada Ratchagit

Tada Ratchagit

นักเขียนที่หลงรักการถ่ายภาพ หลงเสน่ห์การเดินทาง หลงใหลงานดีไซน์ไปจนถึงสถาปัตยกรรมทุกยุค ตลอดจนสนใจเรื่องราวของสิ่งแวดล้อมและวิถีชีวิตยั่งยืน