เอกลักษณ์หนึ่งของตึกรามบ้านช่องในประเทศไทย คือ ตึกแถว หรืออาคารพาณิชย์ที่ไม่ว่าจะมองไปทางไหนก็เรียงรายอยู่ทุกหัวมุมถนน กลายเป็นสเปซที่ใครหลายคนคุ้นเคย ชั้นล่างเปิดทักทายผู้คนที่ผ่านไปมาด้วยการขายของ หรือประกอบกิจการนานาชนิด ส่วนชั้นบนคือพื้นที่อยู่อาศัยที่ต้องจัดสรรปันส่วนกันให้พอดีจึงจะลงตัว
เพราะในบางครั้ง ‘บ้าน’ ก็ไม่ใช่เพียงพื้นที่อยู่อาศัย แต่ยังถูกปรับเปลี่ยนให้กลายเป็นพื้นที่ทำงาน พื้นที่หาเงิน หรือฟังก์ชันเสริมอื่นๆ เพื่อให้ที่ดินที่มีอย่างจำกัด สามารถตอบสนองการใช้งานหรือไลฟ์สไตล์ของผู้อยู่อาศัยได้มากที่สุด วันนี้ Dsign Something จึงขอรวบรวม 6 ตัวอย่างของบ้านที่เป็นมากกว่าบ้าน บ้านที่นำฟังก์ชันเสริมอื่นๆ มาจับคู่และเรียงร้อยอยู่ภายใต้กรอบของการออกแบบสเปซและอาคารที่เรียกได้ว่า ลงตัวทั้งการใช้งานและการอยู่อาศัย
01 บ้านพริกแกง
บ้านและโรงงานพริกแกง
เมื่อโจทย์ของการออกแบบ คือ การแปลงโฉมบ้านไม้หลังเก่าในจังหวัดสระบุรี ซึ่งเดิมเคยเป็นธุรกิจโรงงานทำพริกแกงของครอบครัวมากว่า 30 ปี ให้ดูทันสมัยรองรับการอยู่อาศัยและธุรกิจของคนรุ่นใหม่อีกเจนเนอเรชัน ทีมสถาปนิกจาก BodinChapa Architects จึงเข้ามารับหน้าที่แปลงโฉม ปรับปรุงอาคารเก่าให้เข้ายุครวมถึงนำเรื่องราวอันร้อนแรงของพริกแกงและครก มาโขลกรวมกัน ก่อนจะเป็น บ้านพริกแกง ที่สะท้อน รูป รส กลิ่น เสียงของบริบทและวิถีชีวิตที่สนุกสนานภายในพื้นที่
อาคารไม้ 2 ชั้นที่ผุพังและนำมาใช้งานต่อได้ยาก และอาคารขนาดเล็กด้านข้างที่ถูกซื้อไว้เพิ่มเติมแต่ยังไม่ได้รับการพัฒนา ทางเจ้าของเองตั้งใจที่จะขยายอาณาเขตพื้นที่ทำงานและพื้นที่อยู่อาศัยให้อยู่ภายในพื้นที่เดียวกันอย่างมีประสิทธิภาพ บริเวณด้านล่างของอาคารจึงเป็นส่วนโรงงานเล็กๆ ที่ใช้สำหรับทำพริกแกง มีพื้นที่ออฟฟิศรอให้เจนเนอเรชันต่อไปมารับช่วงต่ออยู่บริเวณด้านหลัง รวมถึงมีพื้นที่รองรับการพัฒนาผลิตภัณฑ์ เสริมด้วยฟังก์ชันที่รองรับการทำเป็นคาเฟ่ในอนาคต
ด้วยธุรกิจพริกแกงที่ยังคงต้องขายส่ง และไม่สามารถหยุดทำการผลิตได้ชั่วคราว ทีมสถาปนิกจึงต้องวางแผนการทำงานโดยแบ่งการก่อสร้างออกเป็น 2 เฟส เฟสแรกเริ่มต้นด้วยพื้นที่โรงงานที่จัดวางให้อยู่ทางด้านซ้าย ต่อเนื่องด้วยพื้นที่ออฟฟิศและพื้นที่เก็บของ ส่วนเฟสที่สองจะเป็นอาคารทางด้านขวา รวมถึงพื้นที่ชั้นสองที่ถูกวางให้เป็นฟังก์ชันของการอยู่อาศัยทั้งหมด
การตีความหมายจากบริบทส่งผลให้สถาปัตยกรรมสะท้อนเรื่องราวของพื้นที่ได้อย่างไม่ต้องเกิดคำถาม อีกทั้งความไม่ตรงไปตรงมาของบ้านพริกแกงยังทำให้รูปลักษณ์อาคารออกมาร่วมสมัย กลายเป็นทั้งที่พักอาศัยและพื้นที่ทำงานของคนสองเจนเนอเรชันที่หาจุดร่วมกันตรงกลางได้อย่างลงตัว
Architect : คุณบดินทร์ เมืองลือ และคุณพิชชาภา โล่ห์ทอง BodinChapa Architects
Photographer : วิศรุต เกกินะ
อ่านบทความเต็มๆ ได้ที่ https://dsignsomething.com/2020/12/22/baan-priggang/
02 Bann 33 Apartment
เมื่อบ้านต้องอยู่ร่วมกับ Service Apartment
Bann 33 Apartment คือ บ้านที่นำฟังก์ชันของบ้านพักอาศัย และอพาร์ทเมนท์ของผู้เช่ามาอยู่รวมกัน ‘Privacy’ หรือความเป็นส่วนตัวจึงเข้ามาเป็นโจทย์หลักที่ทำให้ทีมสถาปนิกจาก Stu/D/O Architects ต้องคำนึงถึงเป็นอย่างแรกๆ ในการออกแบบบ้านหลังนี้
เป้าหมายหลักๆ ของทางเจ้าของคือต้องการเน้นผู้เช่าเป็นชาวญี่ปุ่น ทำให้ผู้ออกแบบตีโจทย์ในส่วนของอพาร์ทเมนท์ให้มีขนาดค่อนข้างใหญ่สำหรับคนที่จะเข้ามาอยู่เป็นครอบครัว ประกอบกับในส่วนของบ้าน จะมีส่วนพื้นที่ที่มีผู้สูงอายุเข้ามาอาศัยอยู่ด้วย เพราะฉะนั้นโจทย์ของงานออกแบบจึงจำเป็นต้องมีบางส่วนของบ้านอยู่บริเวณชั้นล่างเพื่อสะดวกต่อการอยู่อาศัยของผู้สูงอายุ และมีส่วนชั้นบนเพื่อแยกสัดส่วนของพื้นที่ในการอยู่อาศัยได้อย่างชัดเจน
สถาปนิกออกแบบโดยแยกทางเข้าระหว่างเจ้าของบ้านและผู้ที่เช่าอพาร์ทเมนท์ไว้อย่างชัดเจน โดยจะมีลิฟท์และบันไดหลักของทางผู้เช่าแยกไปต่างหาก เพื่อทำให้เจ้าของบ้านรู้สึกถึงการใช้งานที่แบ่งสัดส่วนของพื้นที่อย่างชัดเจนระหว่างบ้านและอพาร์ทเมนท์
Architect : Stu/D/O Architects
Photographer : จิณณวัตร บริหารกิจอนันต์
อ่านบทความเต็มๆได้ที่ http://bit.ly/2S4l6Qx
03 Baan Talia
บ้านกลางไร่ และครัวเปิด
Baan Talia รายล้อมไปด้วยทิวทัศน์ภูเขาที่สามารถมองเห็นได้แบบพาโนรามา และกลับไปพูดคุยถึงสิ่งที่เบสิกที่สุดอย่าง แสงแดด สายลม เม็ดฝน และสีเขียวของธรรมชาติที่เกิดขึ้นภายในไร่พลิศา ไร่ออร์แกนิกพืชหมุนเวียนบนผืนที่ดินขนาดกว้างในอำเภอหัวหิน
ด้วยพื้นที่รายล้อมไปด้วยบรรยากาศของพืชไม้นานาพรรณที่ตนเองหลงใหล คุณตุ๋ย-อมรรัตน์ จันต๊ะ เจ้าของบ้าน จึงตั้งใจปลูกบ้านหลังหนึ่งเอาไว้กลางไร่ โดยมอบหมายให้ทีมสถาปนิกจาก Physicalist เข้ามารับหน้าที่ออกแบบ
สถาปนิกเล่าว่า “สิ่งสำคัญที่สุดของพื้นที่นี้ ซึ่งเราเห็นตรงกันกับเจ้าของ คือบรรยากาศ เราทำบ้านเพื่อให้อยู่ในบรรยากาศของไร่นี้แล้วมองเห็นวิวพาโนรามาโดยรอบตลอดเวลา อันนี้เป็นคีย์คอนเซ็ปต์ของมัน” ท่ามกลางที่ตั้งที่แวดล้อมด้วยธรรมชาติ การออกแบบบ้านหลังนี้กลับไปสู่โจทย์อันเรียบง่าย โดยมุ่งหวังให้สถาปัตยกรรมเป็นตัวรองที่ช่วยขับกล่อมให้ธรรมชาติได้ทำหน้าที่อย่างโดดเด่นเสียมากกว่า
สถาปนิกเลือกแบ่งฟังก์ชันออกเป็นสองส่วนอย่างชัดเจน โดยพื้นที่ส่วนตัวที่เจ้าของใช้งานทั้งหมดจะอยู่บริเวณชั้นสองเพื่อให้สัมผัสวิวทิวทัศน์ได้กว้างมากที่สุด ส่วนบริเวณชั้นล่างออกแบบเป็นส่วนเซอร์วิสและครัวส่วนกลางซึ่งเปิดให้มีกิจกรรมเวิร์คช็อปที่เปิดรับคนนอกให้เข้ามามีส่วนร่วมได้ตามความตั้งใจของทางเจ้าของ
Architect : กาจวิศว์ ริเริ่มวนิชย์ , กนก นพวงศ์ และสิทธิโชค ชุ่มดี Physicalist Architects
Photographer : ศุภกร ศรีสกุล และกึกก้อง ถิรธำรงเกียรติ
อ่านบทความเต็มๆ ได้ที่ https://bit.ly/34SqIDl
04 One Roof House
บ้านและสตูดิโอถ่ายภาพที่อยู่ภายใต้หลังคาเดียวกัน
บ้านบรรยากาศสบายๆ ในเมืองเชียงใหม่หลังนี้เป็นของ คุณเม่น-ดำรงศักดิ์ รอดเรือน ช่างภาพที่ไว้วางใจให้เพื่อนสนิทอย่าง คุณโน้ต- วรรัตน์ รัตนตรัยรวมทั้งทีมสถาปนิกจาก Mitr Architects มาออกแบบบ้านพักอาศัยและสตูดิโอให้เป็นจริง ภายใต้ความน่าสนใจของสถาปัตยกรรมพื้นถิ่นที่ถูกจัดเรียงในแบบที่แตกต่างจากเดิม
จากโจทย์ของเจ้าของบ้านผู้เป็นช่างภาพ ต้องการบ้านพักอาศัยพร้อมทั้งสตูดิโอถ่ายภาพ Doccupine ซึ่งต้องแยกการใช้งานฟังก์ชันทั้งสองออกจากกันอย่างชัดเจน ในการวางผังและรูปแบบของตัวบ้านนั้น สถาปนิกได้ออกแบบทุกฟังก์ชันให้อยู่ภายใต้หลังคาเดียวกัน แต่ทว่าพื้นที่ภายในกลับมีการแบ่งการใช้งานเป็นสองส่วน โดยไม่มีทางเชื่อมต่อกันระหว่างสตูดิโอและบ้านพักอาศัยได้เลย เพื่อความเป็นส่วนตัวให้กับผู้อยู่อาศัย ในขณะที่มีคนมาเช่าสตูดิโอถ่ายภาพนั่นเอง
Architect: Mitr Architects
Photograph: จิณณวัตร บริหารกิจอนันต์
อ่านบทความเต็มๆ ได้ที่ http://bit.ly/2svdFDN
05 Paper Series A
ความสุขขนาดกระทัดรัดของบ้าน ออฟฟิศ และร้านกาแฟ
การออกแบบที่อยู่อาศัยภายในพื้นที่จำกัด อาจเป็นหนึ่งเหตุผลที่เป็นอุปสรรคต่อความต้องการพื้นที่ใช้สอยที่หลากหลาย แต่สำหรับ คุณสาริน นิลสนธิ สถาปนิกแห่ง D KWA DESIGN STUDIO กลับกลายเป็นความท้าทาย ซึ่งผลลัพธ์ที่ปรากฏออกมาเป็นบ้านขนาดกะทัดรัดที่ใส่หลากหลายฟังก์ชันลงไปอย่างเต็มพื้นที่ ไม่ว่าจะเป็นที่อยู่อาศัย ออฟฟิศ ร้านกาแฟ หรือแม้แต่พื้นที่สวนเล็กๆ หลังบ้าน ภายใต้แนวคิด Compact Tropical ที่ช่วยสร้างบรรยากาศอันแสนร่มรื่นในการอยู่อาศัย
“ผมเริ่มออกแบบจากกระดาษ A4 แผ่นหนึ่ง แล้วเริ่มเขียนฟังก์ชันที่เราต้องการให้อยู่ภายในกระดาษ A4 นั้น” สถาปนิกเริ่มเล่าเรื่องราว ซึ่งเป็นที่มาของชื่อบ้าน Paper Series A
พื้นที่ทั้งหมด แบ่งออกเป็น 3 โซน โซนด้านหน้าเป็นร้านอาหารที่กำลังวางแผนจะเปิดในอนาคต ด้านบนเป็นออฟฟิศสถาปนิก ถัดเข้ามาโซนกลางจะเป็น ส่วนของที่อยู่อาศัย ห้องนั่งเล่น ห้องครัว ต่อเนื่องไปยังโซนหลังบ้านที่เป็นพื้นที่ส่วนตัว อย่างห้องนอน โอบล้อมไปด้วยความเป็นธรรมชาติจากสวนเล็กๆ
นอกจากนั้นการออกแบบยังคำนึงถึงบริบทโดยรอบ ซึ่งเมื่อก้าวเท้าเข้าไปสู่พื้นที่ภายใน จะพบกับห้องนั่งเล่นที่สูงโปร่ง มีบานหน้าต่างกระจกทั้งด้านล่าง และด้านบน เพื่อเปิดรับแสงธรรมชาติในเวลากลางวัน ด้านทิศใต้ของบ้านถูกออกแบบให้เป็นพื้นที่สีเขียวทั้งหมดเชื่อมต่อจากห้องนั่งเล่น รวมถึงมีบ่อปลา บ่อน้ำ และเก็บรักษาต้นไม้ใหญ่ที่มีอยู่เดิมภายในพื้นที่เอาไว้ทุกต้น เพื่อสร้างบรรยากาศที่รายล้อมไปด้วยความร่มรื่น
Owner & Architects: สาริน นิลสนธิ D KWA DESIGN STUDIO
Photograph: จิณณวัตร บริหารกิจอนันต์
อ่านบทความเต็มๆ ได้ที่ http://bit.ly/2SQUG1f
06 StudioK
สตูดิโอ ที่พักอาศัย และแกลอรี่แสดงงานศิลปะส่วนตัว
หากลองสังเกตดูดีๆ ภายใต้ความร่มรื่นแห่งนี้ ยังคงมีภาพความแตกต่างของรูปแบบสถาปัตยกรรมซ่อนอยู่ ทั้งสีสัน วัสดุ รวมถึงฟังก์ชันขั้วตรงข้าม ทั้งหมดที่เรากำลังกล่าวถึงนี้คือ “สตูดิโอเค” สตูดิโอผลิตผลงานศิลปะร่วมสมัยในเมืองเชียงใหม่ของคุณนาวิน ลาวัลย์ชัยกุลศิลปินรางวัลศิลปาธรผู้สร้างสรรค์ผลงานผ่านภาพวาดอันโด่งดัง ซึ่งนอกจากเป็นสตูดิโอแล้ว ยังเป็นที่พักอาศัย รวมถึงเป็นแกลอรี่แสดงงานศิลปะของเขาอีกด้วย
เดิมอาคารแห่งนี้เป็นอาคารคอนกรีตเปลือยรูปตัว L ซึ่งภายในวางผังให้เป็นพื้นที่รองรับการทำงานศิลปะของคุณนาวินและทีมงาน รวมถึงเป็นที่อยู่อาศัยและพื้นที่จัดแสดงงานศิลปะไปด้วยในตัว ซึ่งในส่วนของพื้นที่ทำงานและพื้นที่จัดแสดงศิลปะนั้นอยู่ส่วนด้านซ้ายของอาคาร ออกแบบโดย ‘สำนักงานสถาปนิกแผลงฤทธิ์’ แต่ในส่วนที่พักอาศัยภายใต้อาคารหลังเดิมถูกเติมเต็มเข้ามาในภายหลัง เพื่อเป็นแกลอรี่อีกแห่งสำหรับรองรับงานศิลปะที่มีมากขึ้น ด้วยฝีมือการออกแบบของ ‘คุณสุเมธ กล้าหาญ จาก Materior Studio’
แม้ว่าวัสดุและโครงสร้างภายนอกที่เป็นคอนกรีตเปลือยจะสร้างความรู้สึกถึงความหนักแน่นในรูปแบบของอาคาร แต่พื้นที่ภายในกลับดูปลอดโปร่งไปด้วยการออกแบบช่องเปิดในห้องนั่งเล่นที่เชื่อมต่อไปยังสวนทั้งด้านหน้าและด้านหลัง แสงธรรมชาติและความร่มรื่นจากภายนอกจึงเป็นตัวเชื่อมบรรยากาศและฟังก์ชันทั้งหมดให้อยู่ในพื้นที่เดียวกันได้อย่างกลมกลืน
Architect 1: บริษัทแผลงฤทธิ์ จํากัด
Architect 2: สุเมธ กล้าหาญ Materior Studio
Photograph: จิณณวัตร บริหารกิจอนันต์
อ่านบทความเต็มๆ ได้ที่ http://bit.ly/2U6i7ZU
และนี่ก็คือบ้านทั้ง 6 หลังที่เราหยิบยกมาเล่าให้ฟัง หากมองจากภายนอกบางหลังก็ดูผิวเผินแทบจะไม่รู้เลยว่า มีฟังก์ชันที่มากกว่าบ้านซ่อนอยู่ภายใน แต่บางหลังก็แสดงความชัดเจนในตนเองราวกับจะบอกให้รู้ว่า นี่คือบ้านที่เป็นมากกว่าบ้านธรรมดา ซึ่งแก่นสำคัญคงไม่ใช่รูปร่างหน้าตาของบ้านที่แสดงออกมาเท่านั้น แต่อาจหมายถึงพื้นที่ภายในที่รวบรวมการใช้งานของผู้อยู่อาศัยได้อย่างครบถ้วน
สำหรับใครที่กำลังมองหา A House Is Not (just) a Home หรือมองหาไอเดียการดัดแปลงบ้านไปเป็นพื้นที่อื่นๆ อย่างพื้นที่ทำงาน สตูดิโอ หรือพื้นที่ประกอบกิจการต่างๆ เราหวังว่าบทความนี้จะช่วยสร้างแรงบันดาลใจ หรือเป็นไอเดียให้ได้ไม่มากก็น้อย
รับข่าวสารเรื่องการออกแบบ สถาปัตยกรรม ไลฟ์สไตล์
ทางอีเมล ที่จะส่งตรงถึงคุณทุกเดือน ลงทะเบียนได้ที่ด้านล่างนี้เลย!