เมื่อ ‘ไม้’ เป็นตัวแทนของการออกแบบ
ที่เป็นมิตรต่อธรรมชาติ บริบท และสภาพแวดล้อม

หากกล่าวถึงประเทศตัวอย่าง ที่มีการจัดสรรทรัพยากร สถาปัตยกรรมและธรรมชาติให้ใช้ประโยชน์ร่วมกันได้อย่างลงตัว เชื่อว่า ‘สิงคโปร์’  จะติดหนึ่งในลิสต์เหล่านั้นอย่างไม่ต้องสงสัย ตึกระฟ้าหลากหลายสเกลบ่งบอกถึงมหานครศิวิไลซ์ ในขณะที่ธรรมชาติยังคงแทรกตัวเป็นส่วนหนึ่งอยู่ในทุกมุมมอง ประเด็นเหล่านี้ทำให้การออกแบบสถาปัตยกรรมในสิงคโปร์ล้วนใส่ใจธรรมชาติ ความยั่งยืน และสิ่งแวดล้อม จนดูเหมือนจะเป็น Signature ไปเสียแล้ว

หนึ่งในนั้นคือบริษัทออกแบบสถาปัตยกรรมชื่อดังในสิงคโปร์อย่าง AR43 Architects ซึ่งนำโดยสถาปนิกผู้ก่อตั้งคุณ ลิม เฉิง กุย (Lim Cheng Kooi) นักออกแบบผู้มีฝีมือและความใส่ใจในรายละเอียด ไม่ว่าจะเป็นการออกแบบอาคารพาณิชย์ หรืออาคารประเภทที่อยู่อาศัย ผลงานของเขาล้วนมีความโดดเด่นในตัวเอง และหากมองให้ลึกลงไป เราจะพบว่า ความหลงใหลในงานดีไซน์ของเขายังมีความรับผิดชอบต่อสังคม และสร้างประโยชน์ให้กับส่วนรวม เช่นเดียวกับผลงานการออกแบบบ้านหลังล่าสุดในชื่อ Lengkok Merak ที่นำไม้วอลนัทอเมริกันจากสภาส่งออกไม้เนื้อแข็งแห่งอเมริกา หรือ American Hardwood Export Council (AHEC) มาใช้ออกแบบได้อย่างยั่งยืน

AR43 กับปรัชญาการออกแบบที่มาพร้อมความรับผิดชอบ

ปรัชญาการออกแบบที่คุณลิมและ AR43 ยึดถือมาเสมอ คือ การให้ความสำคัญกับการรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อม บริบทและธรรมชาติรอบตัว “ความรับผิดชอบในที่นี้ คือ การรังสรรค์ผลงานที่ตอบสนองต่อความต้องการด้านดีไซน์และงบประมาณของลูกค้า ในขณะที่ให้ความสำคัญกับสภาพแวดล้อมและบริบทโดยรอบไปพร้อมกัน นอกจากนั้นสถาปนิกยังจำเป็นต้องมีส่วนร่วมกับสังคมและวัฒนธรรม เพื่อส่งมอบสิ่งดีๆ เป็นการตอบแทนให้แก่ชุมชน” คุณลิมเล่า

ความรับผิดชอบของ AR43 ยังแสดงให้เห็นผ่านการเลือกใช้วัสดุ ซึ่งวัสดุธรรมชาติมักจะเป็นคำตอบแรกเสมอ ในงานออกแบบที่อยู่อาศัย สถาปนิกเลือกใช้ ‘ไม้’  ซึ่งมีความงามในแบบธรรมชาติและยังสร้างบรรยากาศที่อบอุ่น โดยไม้ส่วนมากที่นำมาใช้ในงานออกแบบ AR43 จะเลือกใช้ไม้ที่ตัดจากป่าที่มีการจัดการอย่างยั่งยืน เพื่อเคารพในเรื่องทรัพยากรธรรมชาติ และการออกแบบสถาปัตยกรรมยั่งยืนตามแนวคิดที่พวกเขายึดถือ

สื่อสารความเป็นธรรมชาติผ่านไม้วอลนัทอเมริกัน

สำหรับบ้าน Lengkok Merak ซึ่งเป็นผลงานล่าสุดของ AR43 เริ่มต้นขึ้นจากการที่เจ้าของบ้านต้องการให้สถาปนิกออกแบบบ้านขนาด 929 ตารางเมตรที่สามารถเข้าออกได้ทั้งสองทางและยกสูงกว่าระดับถนนให้เกิดประโยชน์ได้อย่างสูงสุด สู่ผลลัพธ์ของบ้านที่ดึงดูดสายตาผู้ผ่านไปมาด้วยเนื้อไม้เป็นธรรมชาติ และฟาซาดคอนกรีตที่เกิดจากการตั้งใจฉาบให้พื้นผิวสัมผัสมีมิติและไม่เรียบเสมอกัน พร้อมกับการออกแบบบานเกล็ดอลูมิเนียมที่ล้อไปกับความเป็นไม้ธรรมชาติ

การออกแบบภายใน สถาปนิกเลือกใช้สีในโทนกลางอย่างผนังสีขาวตัดขอบให้เฉียบคมและดูโดดเด่นขึ้นด้วยโทนสีดำ อีกทั้งยังมีการนำไม้ซุง รวมถึงไม้วอลนัทอเมริกันมาใช้ออกแบบพื้นและผนังโชว์แนว โดยจะคัดสรรเฉพาะเนื้อไม้ที่มีลวดลายและสีที่โดดเด่น และนอกจากวัสดุจำพวกไม้ สถาปนิกยังเลือกใช้หินอ่อนจากอิตาลีเข้ามาเติมเต็มพื้นที่ในส่วนของห้องครัว ห้องนั่งเล่น และห้องรับประทานอาหารให้มีลูกเล่นที่น่าสนใจมากขึ้นอีกด้วย

ไม่เพียงอาคารเท่านั้นที่ได้รับความสำคัญ เพราะธรรมชาติก็ถือเป็นองค์ประกอบหลักของบ้านหลังนี้ โดยคุณลิมตั้งใจผสานองค์ประกอบของการออกแบบตามหลัก Biophilic Design หรือธรรมชาติบำบัด ต้นเสือดาวที่แผ่กิ่งก้านอยู่กลางคอร์ดยาร์ด จึงทำหน้าที่เป็นจุดพักสายตาให้กับผู้อยู่อาศัย แสงเงาของต้นไม้ที่เคลื่อนไหวอย่างมีชีวิตส่องกระทบผนัง สอดประสานกับสถาปัตยกรรมได้อย่างลงตัว

บริเวณชั้น 3 เป็นที่ตั้งของห้องนอนใหญ่ ซึ่งสถาปนิกตั้งใจให้บริเวณนี้เป็นจุดพักทอดกายที่เจ้าของบ้านสามารถใช้เวลาได้อย่างสบายใจและเป็นส่วนตัว โดยมีตู้เสื้อผ้าวอล์กอินขนาดใหญ่ตกแต่งด้วยไม้วอลนัทอเมริกัน พร้อมอ่างอาบน้ำไม้ออนเซ็นสไตล์ญี่ปุ่น ที่ช่วยผ่อนคลายและสร้างเอกลักษณ์ กลายเป็นห้องสำคัญของครอบครัว

คุณลิมยังเล่าเพิ่มเติมว่า “ผมชอบที่จะได้เห็นผลงานออกแบบของตัวเองในช่วงเวลากลางคืน เพราะบ้านก็เหมือนกับตะเกียงที่สว่างไสวในยามค่ำคืน มีความลึกลับ ความสวยงามและความมีชีวิตที่ซุกซ่อนอยู่” ด้วยประสบการณ์กว่า 30 ปี และการออกแบบที่คำนึงถึงบริบท และสิ่งรอบตัวของ AR43 Architects นี้เอง ในอนาคต เราคงจะได้เห็นรายละเอียด ความสวยงามและความยั่งยืนของสถาปัตยกรรมที่สอดประสานกับภูมิทัศน์ได้อย่างน่าสนใจ

‘AHEC’ สภาส่งออกไม้เนื้อแข็งแห่งอเมริกา  

สภาส่งออกไม้เนื้อแข็งแห่งอเมริกา หรือ American Hardwood Export Council (AHEC) คือ สมาคมการค้าระหว่างประเทศชั้นนำในอุตสาหกรรมไม้เนื้อแข็งแห่งประเทศสหรัฐอเมริกาซึ่งเป็นตัวแทนผู้ส่งออกไม้เนื้อแข็งท้องถิ่นและสมาคมการค้าผลิตภัณฑ์ไม้เนื้อแข็งรายใหญ่ในประเทศสหรัฐอเมริกา กว่า 25 ปีที่ AHEC เป็นผู้นำด้านการส่งเสริมไม้ในระดับสากลผ่านแบรนด์ไม้เนื้อแข็งอเมริกันที่มีความโดดเด่นและสร้างสรรค์ รวมถึงเป็นผู้ให้คำแนะนำด้านเทคนิคแก่ผู้ผลิตและนักออกแบบทั่วโลก

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมติดต่อ
Anna@sycamore.global หรือ Aaron@sycamore.global

Photo Credits : มาร์ก ตัน Studio Periphery

Writer
Rangsima Arunthanavut

Rangsima Arunthanavut

Landscape Architect ที่เชื่อว่าแรงบันดาลใจในงานออกแบบ สามารถเกิดขึ้นได้จากทุกสิ่งรอบตัว และการบอกเล่าเรื่องราวการออกแบบผ่าน 'ตัวอักษร' ทำให้งานออกแบบที่ดี 'มีตัวตน' ขึ้นมาบนโลกใบนี้