Search
Close this search box.

Mit Chit House
บ้านมิตรชิดที่ปิดมิดชิดและชวนครอบครัวมาใกล้ชิดกันกว่าที่เคย

คงจะไม่เว่อเกินไปนัก หากจะบอกว่า ‘บ้าน’ คือ พื้นที่ปลอดภัย เป็นทั้งที่ทั้งพักใจและพักกาย โดยที่เราไม่ต้องระแวดระวัง หรือห่วงภาพลักษณ์ความเป็นตัวเอง จะนั่ง จะเดิน จะนอนในแบบไหน นั่นคือสิ่งที่เราสามารถทำได้ตามใจคิด ‘ความเป็นส่วนตัว (ที่มาพร้อมความปลอดภัย)’ จึงเป็นองค์ประกอบดีๆ ที่มีในทุกบ้านไปโดยปริยาย

เช่นเดียวกับ ครอบครัวของสมาชิกทั้ง 4 ที่ประกอบด้วยคุณพ่อ คุณแม่ และลูกสาวทั้งสอง ผู้อาศัยอยู่ในหมู่บ้านย่านสวนผัก ซึ่งรายล้อมไปด้วยพื้นที่รกร้างและสวนผลไม้ บริบทที่ค่อนข้างเปลี่ยวจึงสร้างความกังวล และความรู้สึกไม่ปลอดภัยในการอยู่อาศัย เมื่อถึงเวลาปรับปรุงบ้านครั้งใหม่สำหรับลูกสาว ต้น-ณัฐพล เตโชพิชญ์ สถาปนิกจาก Looklen Architects จึงได้รับมอบหมายในการออกแบบ Mit Chit House บ้านมิตร-ชิด โดยมีธงปลายทางเป็น นั่นคือ ‘บ้านที่ต้องปลอดภัยและเป็นส่วนตัว’

บ้านที่ปิด ‘มิดชิด’

เมื่อทีมสถาปนิกเริ่มต้นบทสนทนากับลูกค้าและมีโอกาสได้ลงพื้นที่ครั้งแรก สิ่งที่พบ คือ ความห่วงใยของคุณพ่อคุณแม่ที่ส่งผ่านได้อย่างชัดเจน ประกอบกับการที่ที่ดินของหมู่บ้านมีความเว้าแหว่งและถูกปล่อยให้รกร้าง ความเปิดโล่งเหล่านั้น จึงเกิดเป็นไอเดียที่ทำให้ผู้ออกแบบมองหาภาษาของสถาปัตยกรรมที่สร้างทั้งความเป็นส่วนตัว และความปลอดภัยโดยมาจากงานดีไซน์ไม่ใช่เพียงแค่องค์ประกอบผิวเผินอย่างรั้ว หรือกรงเหล็กในแบบที่เราคุ้นเคยกันในบ้านแบบไทยๆ

คุณต้นเริ่มอธิบายถึงกระบวนการออกแบบให้เราฟังว่า “ผมสังเกตบ้านรอบๆ หรือแม้แต่บ้านหลังเดิมของคุณพ่อคุณแม่ เขาจะมีการติดตั้งรั้วกรงเหล็กแสตนเลสอย่างหนาแน่น ไม่ว่าจะเป็นหน้าต่าง หรือประตูหลังทุกบาน ซึ่งผมมองว่าจริงๆ แล้วองค์ประกอบเหล่านั้น มันเป็นวิธีแก้ไขที่ปลายเหตุ  แต่ถ้าผมดีไซน์บ้านให้ไม่มีใครมองเห็นภายในได้เลย ผมว่าคนในบ้านจะมีความปลอดภัยมากขึ้น ดังนั้น เราจะออกแบบให้ไม่มีช่องเปิดจากด้านหน้าบ้านเลยแม้แต่บานเดียว ทั้งหมดจะเป็น Solid”  

เมื่อภายนอกต้องปิดทึบตันเพื่อตัดขาดมุมมองจากเพื่อนบ้านที่รายล้อม ภายในสถาปนิกจึงตั้งใจสร้างความ Contrast อย่างสูงสุดด้วยการออกแบบให้บ้านเปิดโล่ง ใกล้ชิดกับความเป็นธรรมชาติ ตรงกับความชื่นชอบส่วนตัวของทางเจ้าของและยังชวนสมาชิกครอบครัวมาทำกิจกรรมร่วมกันภายในพื้นที่ส่วนตัวแห่งนี้

(ภาพบ้านมิดชิดจากมุมด้านบนที่เห็นบริบทโดยรอบ)

ลูกเล่นของ ‘ผนัง’ สร้างความเป็นส่วนตัว

หลังจากที่ตั้งต้นไอเดียซึ่งมีความชัดเจนในตัวเอง จึงถึงเวลาที่ทีมสถาปนิกต้องมาศึกษาต่อว่าองค์ประกอบใดของสถาปัตยกรรมที่จะทำหน้าที่สร้างความปลอดภัยให้กับผู้อยู่อาศัยได้ กล่าวคือ ลูกค้าต้องรู้สึกถึงความแข็งแรงมั่นคง มีการบังมุมมอง เสมือนมีเกราะป้องกันมาสร้างความเป็นส่วนตัว โจทย์เหล่านั้นนำมาสู่คำตอบของการเล่นองค์ประกอบของ ‘ผนัง’ ซึ่งสถาปนิกเลือกนำมาสร้างเป็นสเปซให้กับบ้านหลังนี้

หากเราทำความเข้าใจห้องหนึ่งห้องในแบบง่ายๆ ห้องนั้นจะอยู่ในรูปทรงสี่เหลี่ยมที่ประกอบขึ้นจากผนังสี่เหลี่ยมทั้งสี่ด้าน แต่สำหรับบ้านมิตรชิด ที่ต้องการความโปร่งโล่งที่มาพร้อมความเป็นส่วนตัว คุณต้นจึงทดลองขยับผนังด้านหนึ่งออกจากกัน ในลักษณะคล้ายตัว L สองตัวที่เคลื่อนไหวขึ้นและลง เกิดเป็นคาแร็กเตอร์ของ Mass อาคารที่น่าสนใจ ซึ่งด้านหน้าจะเกิดเป็นความทึบตัน ในขณะที่ด้านในโปร่งโล่ง อีกทั้งพื้นที่ด้านบนและล่างที่เกิดขึ้น ยังกลายเป็น Double Space ที่เชื่อมโยงสเปซ ทะลุยาวในแนวตั้ง หากเปรียบเทียบเป็นเช็คลิสต์ การออกแบบในลักษณะนี้ก็ตอบโจทย์ดังกล่าวได้แทบจะทุกข้อ

(ภาพอธิบายแนวคิดบ้านมิดชิด)

เมื่อกล่อง (ห้อง) สี่เหลี่ยมที่เราคุ้นเคย ถูกจับมาพลิกไปเรื่อยๆ ทำให้เกิดเป็น Solid และ Void สลับกันไป กลายเป็นมิติของช่องเปิดและช่องปิด ที่สร้างความเป็นส่วนตัวและความโปร่งโล่งได้ในเวลาเดียวกัน คุณต้นใช้วิธีนี้ในการสร้างสเปซ ของบ้านมิตรชิดทั้งหมด ทั้งสี่ทิศจึงเป็นคอร์ดยาร์ดที่เกิดจากการพลิกโมดูลาร์ไปในรูปแบบที่แตกต่าง ประกอบกับการวิเคราะห์มุมมองและสภาวะอากาศ องค์ประกอบธรรมดาที่เราคุ้นชินในงานสถาปัตยกรรมอย่าง ‘ผนัง’ จึงมีโอกาสได้ทำหน้าที่หลากหลายบทบาท ทั้งสร้างความปลอดภัย สร้างมุมมองความเป็นส่วนตัว และยังสร้างสภาวะอากาศที่น่าอยู่อาศัยให้กับสมาชิกที่อยู่ภายใน

(ภาพแปลนบ้านมิดชิดชั้น 1)
(ภาพแปลนบ้านมิดชิดชั้น 2)
(ภาพแปลนบ้านมิดชิดชั้น 3)
(ผนังทำหน้าที่ป้องกันแสงแดดจากทิศตะวันตก และทิศใต้ ในขณะที่มีช่องเปิดบริเวณทิศเหนือและทิศตะวันออก)

Dtips ; เพราะผนังรับบทเด่นเป็นพระเอกของบ้านไปแล้ว ส่วนอื่นๆ จึงต้องมีความน้อยที่สุดเพื่อให้ผนังโดดเด่นตามบทบาทที่ได้รับ บ้านหลังนี้ทีมสถานิกจึงตั้งใจให้ไม่มีเสาเกิดขึ้นเลยแม้แต่ต้นเดียว ในส่วนโครงสร้าง หากมองผิวเผินจึงดูเหมือนว่าผนังแต่ละระนาบเพียงแค่สัมผัสชนกัน ซึ่งต้องมีการก่อสร้างเผื่อระยะของคานประมาณ 3 เซนติเมตร เพื่อให้ระยะของการฉาบผนังทั้งสองระนาบสามารถชนกันได้อย่างพอดิบพอดี

ทึบนอกแต่โปร่งใน

หากจะมีเพียงกำแพงทึบที่ปิดล้อมบ้าน ก็อาจจะทำให้การอยู่อาศัยดูน่าอึดอัดไปเสียหน่อย ธรรมชาติจึงเป็นตัวแปรสำคัญที่จะเข้ามาเติมชีวิตชีวาให้กับการอยู่อาศัยภายใน พื้นที่ Void ที่เหลือถูกออกแบบให้เป็นคอร์ดยาร์ดที่เปิดให้ธรรมชาติเข้าแทรกตัว คอร์ดทั้ง 4 ทิศขนาบข้างไปกับฟังก์ชันหลักภายใน ซึ่งสถาปนิกทำลายความเป็นห้องด้วยการออกแบบพื้นที่ในลักษณะ Open Space การอยู่อาศัยภายในจึงเปิดโล่ง ชื่นชมธรรมชาติได้อย่างเต็มที่ โดยมีผนังบังสายตาจากภายนอกอีกหนึ่งชั้น

พื้นที่ทุกส่วนของบ้านจะมีช่องเปิดมากกว่า 1 ด้านเสมอ และยังติดกับคอร์ดยาร์ดซึ่งเป็นพื้นที่สีเขียวที่มีการจัดสรรพื้นที่สีเขียวได้อย่างสบายตา

ต้นไม้ประธานขนาดใหญ่สร้างความร่มรื่น กลุ่มนกที่มาทำรัง ลมที่พัดเรือนยอดไม้ให้พลิ้วไหว แสงแดดที่ไล้เข้ามาสู่พื้นที่ภายใน ธรรมชาติเหล่านี้จึงสร้างชีวิตให้กับบ้านได้อย่างมีเสน่ห์

เพื่อเชื่อมโยงความเป็นครอบครัว ให้คุณพ่อคุณแม่ยังคงไปมาหาสู่กับลูกสาวทั้งสองได้อย่างง่ายดาย สถาปนิกออกแบบการเชื่อมต่อของบ้านหลังเดิมและบ้านหลังใหม่ด้วยสวนเล่นระดับบริเวณชั้นหนึ่งซึ่งสามารถมาใช้พื้นที่ร่วมกัน และเชื่อมไปยังลานจอดรถของบ้านเก่าได้อย่างสะดวก ส่วนการเชื่อมต่อบริเวณชั้นสอง สถาปนิกออกแบบให้เป็นห้อง Family Room ซึ่งอ้างอิงตำแหน่งและความสูงของบ้านเดิม เพื่อให้คุณพ่อคุณแม่สามารถเดินเชื่อมมายังบ้านหลังใหม่ได้ง่าย ซึ่งห้อง Family Room นี้ยังเปรียบเสมือนหัวใจสำคัญของบ้าน เป็นห้องที่ออกแบบให้โล่งที่สุดโดยเปิดมุมมองสู่พื้นที่สีเขียวทั้ง 4 ทิศและยังมองเห็นการใช้งานของพื้นที่ชั้น 1 ได้

บ้านมิตรชิดสื่อความหมายถึงความมิตรต่อบ้านหลังเดิม ก่อนจะชวนครอบครัวมาสร้างความสัมพันธ์ภายในสเปซที่ออกแบบวิถีชีวิตให้ได้ใกล้ชิดกันกว่าที่เคย แต่ในอีกนัยหนึ่งยังพ้องเสียงกับคำว่า มิดชิด ที่ทำหน้าที่สร้างความเป็นส่วนตัวและความปลอดภัยที่ตรงตัวตามชื่อ

Location :
ซอยสวนผัก ตลิ่งชัน กรุงเทพฯ
Gross Built Area :
350 ตารางเมตร
Owner :
Hiranthip Intaranukulkij
Architect & Interior Team :
Looklen Architects
Lead Architects:
Nuttapol Techopitch
Design Team:
Natcha Sontana, Nonglak Boonsaeng
Structure Engineer :
Taned Khemavas
System Information Engineer:
Suthep Nualnom, Udorn Kantasa
Landscape:
RITT Landscape
Constructor:
Will Studio
Photograph : VARP Photo

 

Writer
Rangsima Arunthanavut

Rangsima Arunthanavut

Landscape Architect ที่เชื่อว่าแรงบันดาลใจในงานออกแบบ สามารถเกิดขึ้นได้จากทุกสิ่งรอบตัว และการบอกเล่าเรื่องราวการออกแบบผ่าน 'ตัวอักษร' ทำให้งานออกแบบที่ดี 'มีตัวตน' ขึ้นมาบนโลกใบนี้

Discover more from Design Makes A Better Life.

Subscribe now to keep reading and get access to the full archive.

Continue reading