ในช่วงไม่กี่ปีให้หลังจวบจนปัจจุบัน เรียกได้ว่าเป็นยุครุ่งเรื่องของงานสถาปัตยกรรม งานออกแบบภายใน การออกแบบผลิตภัณฑ์ หรือแม้แต่งานศิลปะ ผู้คนเจนเนอเรชันใหม่ต่างให้ความสนใจ และยินดีที่จะใช้เวลาดื่มด่ำกับความงามและความสุนทรีย์มากขึ้น
วันนี้เราจึงขอหยิบยกงานออกแบบสองประเภทที่เห็นได้บ่อยในเมืองไทย และยังเกี่ยวข้องกับวิถีชีวิตในปัจจุบัน อย่างบ้านพักอาศัย (Residential) และงานโรงแรม รีสอร์ท (Hospitality) และถือโอกาสนี้ชวนคุณเป้-จีรเวช หงสกุล สถาปนิกผู้ก่อตั้ง IDIN Architects มาพูดคุยถึงหัวใจสำคัญของสองรูปแบบสถาปัตยกรรมที่แตกต่าง รวมถึงเทรนด์ของการออกแบบยุคใหม่ที่ตรงใจคนเมืองในยุคปัจจุบัน
IDIN Architects สถาปัตยกรรมเหนือกาลเวลาที่ตั้งใจแก้ปัญหาอย่างตรงจุด
“คนส่วนใหญ่มองว่าเราเป็นสตูดิโอที่รักงานออกแบบ เพราะเราทำงานสเกลหลากหลาย เราเติบโตมาจากงานออกแบบบ้านเล็ก ๆ เป็นบ้านตากอากาศ แต่ปัจจุบันเราทำงานทุกสเกลเลย ส่วนใหญ่จะเป็นโรงแรมด้วยซ้ำในช่วงนี้” คุณเป้เริ่มต้นเล่า ซึ่งหากเราจะกล่าวถึงสถาปัตยกรรมในรูปแบบ Residential และ Hospitality แน่นอนว่า IDIN Architects เป็นหนึ่งในสตูดิโอออกแบบผู้ช่ำชองและผ่านประสบการณ์มามากมายไม่ว่าจะเป็นรีสอร์ท Tara Villa, Dusit D2 Hotel, X2 Silom, ARIZE Hotel หรือ PA House, JB House และ KA House
“IDIN Architects จริง ๆ มันมาจากคำว่า Integrating Design Into Nature ซึ่งธรรมชาติในบริบทของเรามันไม่ใช่บริบทในเชิงนิเวศวิทยาอย่างเดียว แต่เป็นธรรมชาติของสิ่งต่าง ๆ ธรรมชาติของไซต์ มันเป็นสัจจะของสรรพสิ่งนั้น ๆ เพราะฉะนั้นเราจะไม่ได้คิดถึงผลลัพธ์สุดท้ายของสถาปัตยกรรมก่อน เราไม่ได้สนใจว่าฟอร์มจะเป็นยังไง แต่เราสนใจประเด็น และวิธีแก้ปัญหา ไอดินทำงานบนความเชื่อที่ว่า สถาปัตยกรรมมันคือการแก้ปัญหาของโปรแกรมนั้น ๆ”
เมื่อสถาปัตยกรรมของ IDIN Architects มุ่งมั่นที่จะแก้ปัญหา ผ่านการวิเคราะห์โปรแกรม สู่การออกแบบสเปซและฟอร์มที่ตอบโจทย์บริบทนั้น ๆ ได้อย่างตรงจุด ผสมผสานผ่านความชอบในสถาปัตยกรรมโมเดิร์นเป็นส่วนตัว จึงนำมาสู่ผลลัพธ์ของงานสถาปัตยกรรมแมสและฟอร์มชัดเจนที่มีคาแร็กเตอร์เฉพาะส่วนตัวจนกลายเป็นลายเซ็นของ IDIN Architects ไปโดยปริยาย
Residential & Hospitality อะไรคือหัวใจสำคัญที่แตกต่าง
“ถ้าเป็นงาน Public Area อย่างงานโรงแรม เราจะใส่ไอเดียลงไปเยอะ ต้องทำแบบนี้สิ…ถึงจะดึงคนมา แต่พอเป็นงานบ้านเราต้องปลูกเรือนตามใจผู้อยู่ ต้องรับฟังเขา ทำให้งานออกแบบบ้านมันมีเรื่องของ Users เข้ามาเกี่ยวสูงมาก ฟังก์ชัน ต้องเวิร์คและใช้งานได้จริงกว่างานที่เป็น Hospitality”
สำหรับโปรเจกต์ประเภท Hospitality ที่ไอดินสนิทสนมและคุ้นเคย คุณเป้เล่าว่าหัวใจสำคัญ คือ ประสบการณ์ (Experience) ความรู้สึกและบรรยากาศที่เกิดขึ้นภายในพื้นที่จะต้องแตกต่างจากชีวิตประจำวันภายในบ้าน อาจยอมให้ฟังก์ชันมีความผิดแปลกไปจากเดิมได้บ้าง เพื่อสร้างประสบการณ์แปลกใหม่ให้ผู้มาเยือน อาบน้ำท่ามกลางแสงจันทร์ เข้าห้องน้ำกลางป่า หรือห้องนอนเปิดกว้างดูดาว เรื่องราวเหล่านี้คือหนึ่งในคาแร็กเตอร์สำคัญ ที่ชวนให้ผู้มาเยือนเกิดความรู้สึกอยากกลับไปที่แห่งนั้นอีกสักครั้งหนึ่ง
(De Capoc ผลงานการออกแบบจาก IDIN Architects)
สิ่งที่แตกต่างในการออกแบบบ้านพักอาศัย หรือ Residential ก็คือเรื่อง ฟังก์ชัน (Function) ที่ต้องตอบโจทย์การใช้งานจริง ๆ ซึ่งควรต้องมาก่อนเป็นอันดับแรก ความสวยงามและดีเทลอาจถูกลดลงในบางจุดเพื่อให้การใช้งานเหมาะสมที่สุดและยั่งยืนกับการพักอาศัยไปอีกเป็นระยะเวลากว่าสิบปี
(JB House ผลงานการออกแบบจาก IDIN Architects)
Urban-Inspired เทรนด์การออกแบบที่ตอบรับความต้องการในปัจจุบัน
“สำหรับโรงแรม รีสอร์ท ที่จะเป็นเทรนด์แน่ ๆ จะเป็นเรื่อง Maintenance และความสะอาด ห้องพักต้อง Hygiene มากๆ ส่วนเทรนด์ของบ้าน เราก็เริ่มเห็นแล้วนะ หลัง ๆ บ้านจะต้องมีห้องทำงาน ห้อง Broadcast เป็นห้อง WFH ฟังก์ชันหลาย ๆ อย่างมีการเปลี่ยนแปลง เช่น ห้องน้ำเยอะขึ้น ทุกคนต้องมีห้องน้ำส่วนตัว ทางเข้าบ้านมี Powder Room ให้ล้างมือ ล้างเท้า ล้างตัวก่อนเข้าบ้าน”
ถอยกลับไป 2 ปีก่อน Covid-19 เราเห็นโรงแรมและรีสอร์ทมากมายผุดขึ้นเป็นดอกเห็ด แต่ละแห่งล้วนขายความยูนีค คาแร็กเตอร์เฉพาะตัวที่เน้นคนเฉพาะกลุ่ม ซึ่งคุณเป้ให้ความเห็นว่า Covid-19 จะทำให้เทรนด์เหล่านี้เปลี่ยนไป โดยหวนกลับคืนสู่ความเรียบง่ายและธรรมดา เพื่อเน้นขายคนกลุ่มคนทั่วไปมากขึ้น ส่วนเทรนด์ในเรื่องอื่น ๆ แน่นอนต้องเป็นเรื่องของ Well-Being & Hygiene ที่ทุกคนหันมาให้ความสำคัญกับสุขอนามัยและความสะอาด การออกแบบที่ดูแลรักษา ทำความสะอาดง่าย แทบจะเป็นเช็คลิสต์แรก ๆ ของงานออกแบบในยุคปัจจุบัน
(PA House ผลงานการออกแบบจาก IDIN Architects)
Unique Aesthetics, Urban-Inspired Design
แรงบันดาลใจชีวิตเมือง สู่ความงามและประสิทธิภาพการทำความสะอาด
“ถ้าลองมองย้อนกลับไป ระยะของเวลาจะสั้นลงเรื่อย ๆ ตอนนี้มันกลายเป็นรายปี 2020-2021 แล้ว สะท้อนว่าการออกแบบอะไรก็ตาม คนจะเบื่อเร็วขึ้นเรื่อย ๆ ทำให้เรารู้สึกว่าการออกแบบอะไรที่มัน Solid มาก ๆ คนจะเกิดคำถามว่า ถ้าอนาคตเบื่อล่ะ จะทำยังไง แม้แต่งานเฟอร์นิเจอร์ยุคหลัง การ Built-in ยังน้อยลงเยอะมาก คนหันมาสนใจ Loose-furniture มากกว่า เราเลยรู้สึกว่าเขาจะอยากได้อะไรที่มันน้อยและเรียบง่ายมาก ๆ”
คุณเป้ยังเสริมว่า ความเรียบง่ายในแบบมินิมอล ยังมีประโยชน์ตรงที่ง่ายต่อการทำความสะอาด ซึ่งเป็นเรื่องที่คนให้ความสำคัญในปัจจุบัน วัสดุหรือผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ ต้องสวยงามและทำความสะอาดง่ายไปพร้อมกัน “มองเฉย ๆ สะอาดตลอดยิ่งดีเลย พี่เจอคอมเมนท์ลูกค้าเกี่ยวกับเรื่องเหล่านี้เยอะมาก วัสดุ ผลิตภัณฑ์ต้องลดรอยต่อให้มันง่ายต่อการคลีน การลูบทีเดียวจบ อย่างห้องน้ำคนจะไม่ค่อยชอบสุขภัณฑ์แบบ two-piece กันแล้ว เพราะว่าคนอยู่บ้านมากขึ้นก็ต้องทำความสะอาดมากขึ้น เหนื่อยมากขึ้น ซึ่งเขาก็อยากเหนื่อยน้อยลง”
ความสำคัญของทุกองค์ประกอบไม่ใช่เพียงสถาปัตยกรรม
แน่นอนว่ากว่าจะออกเป็นสถาปัตยกรรมที่สมบูรณ์ ต้องประกอบไปด้วยองค์ประกอบอีกมากมายหลายแขนง ทั้งการออกแบบภายใน การเลือกใช้วัสดุและผลิตภัณฑ์ หรือแม้แต่การออกแบบภูมิทัศน์ “วัสดุหรือโปรดักต์ต่าง ๆ มันสะท้อนถึงรสนิยม อย่างโรงแรมมันก็เป็นตัวบ่งบอกว่า โรงแรมนี้ใส่ใจใช้เกรดแบบนี้ สวยเลยนะ แต่ถ้าเป็นงานบ้านโครงการ อันนั้นสำคัญหนักเลย เพราะมันจะเป็นตัว represent รสนิยมของโครงการ บางทีลูกค้าบางคนไปเขาจะดูเลย อันนี้ยี่ห้ออะไร เป็นเช็คลิสต์ เหมือนเช็คของว่าโครงการเหล่านั้นให้อะไรบ้าง”
(Dusit D2 Hotel ผลงานการออกแบบจาก IDIN Architects)
“ในแง่ของฟังก์ชัน ถ้าเป็น Hospitality องค์ประกอบที่เราเลือกใช้และการจัดวาง จะต้องเน้นเรื่องการทำความสะอาดที่ต้องสะดวก เพราะมันมีช่วงเวลาของห้องพักชัดเจน ต้องรีบทำความสะอาดเพื่อรับแขกคนต่อไป ในขณะที่องค์ประกอบเหล่านั้นต้องทนทาน เพราะโรงแรมรองรับคนและการใช้งานหนักหน่วงกว่าบ้าน ต้องดีและใช้งานได้ในระยะยาวด้วย”
“เราก็ยอมรับตรง ๆ นะ เวลาเราเลือกทุกอย่าง ไม่ว่าจะเป็นโคมไฟ เก้าอี้ ก๊อก สวิตช์ แว่บแรกเราก็ดูที่ความงามก่อน เพราะเราเป็นดีไซน์เนอร์ไง ความรับผิดชอบเรา คือ ความงาม มันคล้ายกับเวลาเรามองรถยนต์ เราคงไม่ตะโกนชี้แล้วบอกว่า โห…เครื่องแรงม้า แรงบิดเท่านี้ แต่เราเห็นแว่บแรกแล้วรู้สึกว่า สวย มันเป็นอะไรที่เราจับตาได้ก่อน แล้วเราถึงไปค้นหาต่อว่าเครื่องหรือฟังก์ชันมันเป็นยังไง แต่รถยนต์ที่สวยแต่วิ่งไม่ได้ เราก็ไม่เรียกว่ามันเป็นรถนะ”
ดีไซน์ในแบบสร้างสรรค์ ในมุมมองของ IDIN Architects
“ผมมองว่างานดีไซน์ทุกงานมันสร้างสรรค์ในตัวเองอยู่แล้ว เพราะว่าถ้าเราไม่สร้างสรรค์ มันก็จะไม่เกิดงานดีไซน์ อาชีพดีไซน์เนอร์มันเป็นอาชีพที่ขายในสิ่งที่ยังไม่เคยมีใครเห็น เพราะฉะนั้นสร้างสรรค์กับดีไซน์มันแทบจะคำเดียวกันสำหรับผม ก็ฝากงานประกวดแบบ American Standard Design Award (ASDA) ที่เปิดโอกาสให้นักศึกษาและดีไซน์เนอร์ทั่วไปได้มาลองความคิดและไอเดีย ได้ Explore อะไรใหม่ ๆ ซึ่งเราก็คิดว่าน่าจะมีสิ่งใหม่ ๆ อะไรขึ้นมาในวงการ น่าสนุกดี และผมก็เป็นหนึ่งในกรรมการด้วย ก็คงจะรอดูผลงานของทุกคนที่ส่งเข้ามาครับ” คุณเป้ทิ้งท้าย
(Tara Villa โปรเจกต์ Hospitality ผลงานการออกแบบจาก IDIN Architects)
(KA House โปรเจกต์ Residential ผลงานการออกแบบจาก IDIN Architects)
กิจกรรมประกวด American Standard Design Award (ASDA) 2022 ร่วมกับ Dsign Something เปิดโอกาสให้เหล่านักศึกษาและดีไซน์เนอร์ที่สนใจส่งผลงานประกวดออกแบบห้องน้ำในโปรเจกต์รูปแบบ Residential และ Hospitality สมัครเข้าร่วมการประกวด และใช้ไอเดียที่แปลกใหม่เพื่อสร้างแรงบันดาลใจในการออกแบบห้องน้ำ โดยใช้ผลิตภัณฑ์ Studio S จาก American Standard ชิงเงินรางวัลมูลค่าสูงสุดกว่า 2,000 USD พร้อมโอกาสก้าวสู่การประกวดออกแบบในเวทีระดับเอเชียแปซิฟิก โดยได้รับเกียรติจากกรรมการตัดสินซึ่งเป็นสถาปนิกและนักออกแบบชื่อดังทั้ง 4 จาก IDIN Architects , A49 , P49 ,และ PIA Interior รวมถึงกรรมการพิเศษจาก Dsign Something และ Leader – Marketing จากแบรนด์ American Standard Thailand ติดตามรายละเอียดได้เร็วๆ นี้ หรือ ดูข้อมูลผลิตภัณฑ์เพิ่มเติมได้ที่ https://bit.ly/3z5Ni7A
รับข่าวสารเรื่องการออกแบบ สถาปัตยกรรม ไลฟ์สไตล์
ทางอีเมล ที่จะส่งตรงถึงคุณทุกเดือน ลงทะเบียนได้ที่ด้านล่างนี้เลย!