ช่วงที่ผ่านมาคนไทยได้รู้จักและเข้าใจกับคำว่า “เถียงนา” กันมากขึ้นจากกระแสดัง “เถียงนาโมเดล” ในช่วงวิกฤติ COVID-19 แต่เอาเป็นว่าพักเรื่องนั้นกันไว้ก่อน เพราะสิ่งที่เราอยากหยิบมาเล่ากันในคราวนี้เป็นเรื่องของ “โมเดลเถียงนา” น่าสนใจที่ปรับเปลี่ยนมุมมองบ้านนาแบบเชยๆ ให้กลายเป็นบ้านนามินิมอลสุดเท่จนทำให้อยากย้ายหนีชีวิตในเมืองไปนอนกลางดินกินกลางนากันเลยทีเดียว
เถียงนาตามความหมายท้องถิ่นดั้งเดิมนั้นก็คือเพิงที่พัก (ชั่วคราว) สร้างไว้บริเวณคันนาเพื่อไว้นั่งพักผ่อนจากการทำงานตลอดจนเอกเขนกนอนเล่นรับลมเย็นใจ ถึงแม้ว่าโมเดลเถียงนาที่เราหยิบมาแชร์ไอเดียกันในคราวนี้จะไม่ใช่เถียงนาตามแบบฉบับไทยแท้ดั้งเดิมที่นิยามกัน แต่เราขออนุญาตเหมารวมบ้านริมนานี้ไว้ในการนิยามเฉพาะกิจสำหรับบทความนี้หน่อยแล้วกัน ซึ่งบ้านริมนาหลังนี้จะว่าไปแล้วก็ทำหน้าที่ไม่ต่างจากเถียงนาเช่นกัน และมันเป็นเถียงนาที่ทำให้ใครหลายคนอยากลองเปลี่ยนไปเป็นเกษตรกรกันดูบ้าง
เถียงนามินิมอลนี้เป็นที่พักของเกษตรกรชาวญี่ปุ่นที่ตั้งอยู่แถบชานเมืองเขตมินะมิยาม่า (Minamiyama) เมืองคาโตะ (Kato) จ.เฮียวโกะ (Hyogo) สถาปัตยกรรมแสนเรียบง่ายนี้ประกอบไปด้วยอาคารสองหลังเชื่อมต่อกันอย่างกลมกลืน ในส่วนของหลังแรกเป็นอาคารไม้ชั้นเดียวที่หักมุมตรงกลางเพื่อสร้างลูกเล่นและให้ลงตัวกับพื้นที่จำกัด ภายในเป็นห้องโถงกว้างโปร่งสบาย ติดประตูบ้านกว้างเพื่อเปิดโล่งรับลมได้ หรือปิดเพื่อสร้างความอบอุ่นภายในได้ดีไม่แพ้กัน ส่วนของเพดานเป็นแบบไร้ฝ้า เพื่อโชว์งานโครงสร้างอันประณีตตามแบบฉบับงานไม้ของญี่ปุ่น ขณะเดียวกันก็ช่วยทำให้ห้องดูโปร่งและกว้างขึ้นด้วย พร้อมตกแต่งบ้านตามแบบญี่ปุ่นที่เรียบง่ายและมีเสน่ห์
อาคารหลังแรกสร้างเชื่อมต่อสู่อาคารหลังที่สองอย่างกลมกลืนลงตัวซึ่งอาคารนี้สร้างในรูปแบบและสไตล์แตกต่างกัน เสน่ห์ของอาคารหลังนี้ก็คือการเป็นอาคารปูนสองชั้นแสนเรียบง่ายที่สร้างขึ้นในสไตล์ Modern Barn House ซึ่งได้แรงบันดาลใจมาจากยุ้งฉางเก็บผลผลิตการเกษตรในแถบสแกนดิเนเวียนั่นเอง โดยเอกลักษณ์ของสถาปัตยกรรมสไตล์นี้ก็คือหลังคาจั่วสามเหลี่ยมทรงสูงด้านบนที่ไร้เชิงชาย (หรือมีก็สั้นมาก) ตั้งอยู่บนโครงสร้างอาคารสี่เหลี่ยมโครงสร้างไม่ซับซ้อน
จุดเด่นของอาคารหลังที่สองที่น่าสนใจอีกอย่างอยู่ตรงบริเวณชั้น 2 ซึ่งสร้างสรรค์สไตล์เก๋ด้วยลูกเล่นแสนเรียบง่ายกับการเจาะช่องหน้าต่างเป็นแนวยาวเกือบตลอดผนังอาคาร โดยเจาะช่องหน้าต่างลักษณะนี้ทั้งสองด้านที่ช่วยเปิดช่องแสงให้แสงสว่างส่องมาภายในอาคารได้มากขึ้น ช่วยแก้ปัญหาโถงเล็กๆ ให้ดูกว้าง และลดความอึดอัดได้เป็นอย่างดีทีเดียว
ความสว่างทำให้ลดการใช้ไฟในเวลากลางวันได้เป็นอย่างดี ในขณะเดียวกันช่องหน้าต่างตลอดแนวที่กว้างยังทำให้เห็นวิวมุมมองเกือบรอบทิศอาคารได้สุดลูกหูลูกตาอีกด้วย การออกแบบที่แสนเรียบง่ายนี้ทำให้โถงชั้นสองที่แสนธรรมดามีเสน่ห์ขึ้นมาในทันที และเติมรายละเอียดการออกแบบให้น่าสนใจขึ้นไปอีกขั้นด้วยการยกพื้นให้เป็นสองระดับ ความน่าสนใจต่อมาก็คือเจ้าของบ้านตกแต่งห้องโถงชั้นสองนี้ให้เป็นห้องสมุดเล็กๆ ที่สามารถขึ้นไปนั่งเล่นชมวิว หรือปลีกตัวเงียบๆ ไปเอนกายอ่านหนังสือได้อย่างสบายใจ รวมถึงปรับเป็นห้องนอนได้ตามต้องการอีกด้วย
ใครว่าเถียงนาไม่น่าอยู่ ใครว่าบ้านนาต้องเชยเสมอไป ใครว่าเป็นเกษตรแล้วเท่ไม่ได้ … บางครั้งวิถีชวิตชาวนาก็สามารถปรับเปลี่ยนให้เจ๋งได้เหมือนกัน ตัวอย่างนี้น่าจะเป็นการสร้างสรรค์วิถีชีวิตเกษตรกรในมุมมองใหม่และทำให้โมเดิร์นและน่าอยู่ได้ ไม่ว่าจะเถียงนาหรือบ้านทุ่งก็เปลี่ยนไปจากภาพจำเก่าๆ ได้ทั้งนั้น ที่สำคัญที่พักอาศัยดูดีมีคุณภาพนั้นก็ไม่จำเป็นจะต้องเว่อร์วังอลังการหรือใช้เงินสร้างแบบตำน้ำพริกละลายแม่น้ำเสมอไป แค่เปลี่ยนมุมมองปรับการออกแบบนิดหน่อย สวรรค์บนดินก็เกิดขึ้นได้ไม่ยากเลย
Information
Project: House in Minamiyama New Town
Location: Minamiyama, Kato, Hyogo; Japan
Architect: Terrain Architect
Photo Credit
Terrain Architect
รับข่าวสารเรื่องการออกแบบ สถาปัตยกรรม ไลฟ์สไตล์
ทางอีเมล ที่จะส่งตรงถึงคุณทุกเดือน ลงทะเบียนได้ที่ด้านล่างนี้เลย!