ต่อให้หลงรักความศิวิไลซ์ และแสงสีของเมืองใหญ่แค่ไหน บางวันเราก็อยากจะนั่งพักเนิบช้า และสัมผัสความสงบบ้างในบางเวลา การพัฒนาพื้นที่ในเมืองใหญ่จึงมักให้ความสำคัญกับพื้นที่สาธารณะที่หลากหลายเพื่อตอบรับความต้องการของมนุษย์ในทุกช่วงเวลาและทุกห้วงอารมณ์
หนึ่งในนั้นคือ The Glade พื้นที่วัฒนธรรมและไลฟ์สไตล์รูปแบบใหม่ในเมืองที่แสนจะพลุกพล่านอย่างฉงชิ่ง ประเทศจีน ที่ได้รวมเอาร้านหนังสือ ร้านกาแฟและชายามบ่าย ร้านอาหาร บาร์ รวมถึงพื้นที่จัดนิทรรศการมารวมไว้ภายในพื้นที่เดียว ด้วยความตั้งใจของสองทีมผู้ริเริ่ม The Razor’s Edge, One Day และได้ทีมสถาปนิกสัญชาติไทย-จีนอย่าง HAS design and research มารับหน้าที่ปรุงแต่งพื้นที่ที่หลากหลายได้อย่างกลมกล่อมลงตัว
ย้อนกลับไปหลายร้อยปีก่อน หนังสือทางการทหารชื่อ Six Secret Teachings เคยขนานนามเมืองฉงชิ่งให้เป็น ‘เมืองแห่งขุนเขา’ นอกจากนั้น ผลงานภาพวาด ‘the mountain city’ ซึ่งวาดโดยจิตรกรหมึกชื่อดังของจีน Guanzhong Wu ยังทำให้เราสัมผัสได้ถึงภูมิประเทศของฉงชิ่งที่โดดเด่นไปด้วยภูเขา และบ้านที่มีเสาค้ำยันในขนาดแตกต่าง หลดหลั่นเป็นขั้นไปตามธรรมชาติ แต่อย่างไรก็ตามในปัจจุบันภูมิทัศน์เหล่านั้นกลับถูกแทนที่ด้วยตึกสูงระฟ้าและอาคารบ้านเรือนคอนกรีตจำนวนมาก
ในการออกแบบ The Glade ทีมสถาปนิกจึงพยายามเติมเต็มบรรยากาศเพื่อผสานชีวิตในเมืองใหญ่ให้เข้ากับความรู้สึกของชนบท โดยตีความในบริบทที่แตกต่างออกไปผ่านการเลือกใช้วัสดุที่เป็นธรรมชาติและเน้นโทนสีที่เป็นกลางเพื่อสะท้อนจิตวิญญาณของภาพวาด
“ในการออกแบบ เราคำนึงถึงธรรมชาติเสมอ เพราะมนุษย์เป็นส่วนหนึ่งของธรรมชาติ แต่สำหรับ The Glade Bookstore นี้ เป็นอาคารปิดที่อยู่ภายใน เราไม่สามารถมีปฏิสัมพันธ์กับธรรมชาติได้ เราจึงสร้างธรรมชาติขึ้นเองภายในอาคาร” Jenchieh Hung สถาปนิกเล่า
The Glade Bookstore ตั้งอยู่บนอาคารสูง โดยกินพื้นที่ 2 ชั้นและมีขนาดโดยรวมประมาณ 1,000 ตารางเมตร บริเวณชั้นล่างเป็นห้องอ่านหนังสือ พื้นที่พักผ่อน พื้นที่นิทรรศการ และพื้นที่ที่เปิดโอกาสให้ผู้คนได้พูดคุยแลกเปลี่ยนเรื่องหนังสือ บันไดลูกคลื่นนำไปสู่ชั้นต่างระดับ โดยสถาปนิกออกแบบให้มีบรรยากาศคล้าย ๆ เมืองเล็ก ๆ บนภูเขา เพื่อให้บรรยากาศภาพรวมกลายเป็นพื้นที่อ่านหนังสือที่มีชีวิตชีวาและน่าสำรวจ (ปัจจุบันพื้นที่บริเวณชั้น 1 ยังอยู่ในขั้นตอนการปรับปรุงและอาจก่อสร้างขึ้นในภายหลัง)
ส่วนชั้นสองเป็นพื้นที่ร้านกาแฟ ร้านอาหาร เบเกอรี่ รวมไปถึงพื้นที่จัดแสดงนิทรรศการบางส่วนที่สามารถปรับให้ยืดหยุ่น หากไม่มีงานนิทรรศการ พื้นที่ทั้งหมดก็พร้อมปรับเปลี่ยนให้กลายเป็นร้านอาหาร ร้านคาเฟ่ หรือพื้นที่วัฒนธรรมได้อย่างสร้างสรรค์
ภายในพื้นที่ชั้น 2 สถาปนิกเชื่อมต่อพื้นที่ด้วยโทนสีที่แตกต่างแต่แบ่งสัดส่วน และสร้างมวลอารมณ์ให้เกิดขึ้นภายในได้เป็นอย่างดี โดยบริเวณทางเข้าออกแบบขึ้นด้วยผนังสีชาร์โคลโทนสีเข้มและพื้นคอนกรีตขัดมันที่สร้างบรรยากาศสงบ โดยเราจะสังเกตได้ว่าแต่ละพื้นที่จะมีความสูงของเพดานที่แตกต่างกัน โดยสถาปนิกใช้เส้น PVC ขนาด 6 มิลลิเมตรยึดเข้ากับงานผนังในลักษณะคล้ายหลังคาทรงจั่วโค้ง ความสูงต่ำเป็นธรรมชาติล้อไปกับภูมิประเทศดั้งเดิมของเมืองฉงชิ่ง และสะท้อนถึงกลิ่นอายของบ้านไม้ที่มีเสาค้ำยันอันเป็นเอกลักษณ์ดั้งเดิมในภาพวาด และอีกนัยหนึ่งเส้นเหล่านี้ยังทำงานร่วมกับการออกแบบแสงสว่างที่ช่วยสร้างมิติ ความน่าสนใจให้กับแสงและเงาของพื้นที่ได้อีกด้วย
จากบริเวณทางเข้า ทางเดินคดเคี้ยวจะพาผู้มาเยือนเข้าสู่พื้นที่ภายใน ซึ่งความคาดเดาไม่ได้ของทางสัญจรจะสร้างความรู้สึกผ่อนคลายและสร้างบรรยากาศคล้ายกับว่าเรากำลังเดินอยู่ในป่าลึก ลดความทื่อ ตรงไปตรงมาและเติมความเป็นธรรมชาติเข้าไปแทรกซึมแทนที่ เส้น PVC ขนาด 6 มิลลิเมตร ยังถูกนำมาใช้เป็นแพทเทิร์นฟาซาดของอาคารไปในตัว โดยขึงในแนวตั้ง เกิดเป็นเส้นสายขอบเขตของพื้นที่ โดยมีมูฟเมนท์ที่เปลี่ยนแปลงไปตามปัจจัยธรรมชาติอย่างลมในแต่ละฤดู
ส่วนหนังสือจะถูกจัดแสดงอยู่ด้านหลังแผงกระจกฝ้าบนชั้นไม้สนที่มีกลิ่นไม้เป็นเอกลักษณ์ โดยมีการจัดแสดงโชว์หน้าปกของหนังสือเพียงเล่มเดียวคล้ายเทคนิคที่เราคุ้นเคยในร้านขายจิวเวอรี่ หรือ มิวเซียมโชว์ของหายากทำให้ผู้คนที่เดินผ่านไปมารู้สึกสะดุดตากับหนังสือเหล่านั้นได้ง่ายมากกว่า วัสดุกระจกฝ้ายังช่วยเบลอขอบเขตของพื้นที่ และสร้างความไม่ชัดเจนระหว่างจินตนาการและโลกแห่งความเป็นจริง ซึ่ง Hung มองว่าองค์ประกอบที่ช่วยลวงตาเหล่านี้จะช่วยให้ผู้มาเยือนได้ผ่อนคลายจาก ‘อาคารคอนกรีตทึบตัน’ ที่อยู่โดยรอบ
ด้านหลังของกระจกฝ้า เป็นทางเดินเซอร์วิสที่หากใครสัญจรไปมา เป็นต้องเหลียวมามองชั้นหนังสือ และเกิดความรู้สึกอยากเข้าไปเยี่ยมชมพื้นที่ภายใน จากการเบลอขอบเขตให้มองเห็นได้บางส่วน ก็ช่วยกระตุ้นอารมณ์ให้ผู้คนอยากมีปฏิสัมพันธ์กับพื้นที่ภายในได้เป็นอย่างดี
ถัดเข้าไปอีกโซนหนึ่งเราจะพบกับพื้นที่โทนสีขาวสว่างที่ปรับอารมณ์ให้รู้สึกถึงความเปิดโล่งของพื้นที่ได้มากขึ้น อีกทั้งเส้น PVC บนเพดานจะถูกกลับด้านโค้งเพื่อสร้างอารมณ์ที่แตกต่างออกไปในแต่ละฟังก์ชันนั่นเอง
The Glade Bookstore แสดงให้เห็นถึงการผสมผสานของวัสดุและพื้นที่ รวมถึงความสวยงามของโครงสร้างที่เป็นเอกลักษณ์ ถึงแม้โจทย์จะเริ่มต้นด้วยการปรับตัวให้เข้ากับเมืองฉงชิ่งในอดีตในรูปแบบบ้านไม้ทรงสูงแบบโบราณ แต่ผลลัพธ์กลับโชว์เรื่องราวของฟังก์ชันที่ซับซ้อน และความยืดหยุ่นของพื้นที่ร้านหนังสือสมัยใหม่ สถานที่แห่งนี้จึงไม่ใช่เพียงร้านขายหนังสือเท่านั้น แต่เป็นสัญลักษณ์ทางวัฒนธรรมเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตในเมืองที่วุ่นวาย ผสานประสบการณ์การใช้งานพื้นที่ที่มีความหลากหลายและแสนจะละเอียดอ่อน
Information
Location: Guanyin Bridge Pedestrian Street, Jiangbei District, Chongqing, China
Client: The Glade
Lighting design (Thailand): Jenna Tsailin Liu
Lighting design (China): Qiuwei Zheng
Lighting technology: Visual Feast (VF)
Structure consultant: Huazhu Architecture Design Group
Landscape consultant: LISM Landscape Design
Kitchen consultant: Chongqing Bailey Kitchen Co., Ltd.
Construction management: Jason Yin
Construction: Nengqiang Yu
Wood furniture constructor: Chongqing Longyi Decoration Project Co., Ltd.
Photo credit: Yu Bai
ที่มา
dezeen
HAS design and research
รับข่าวสารเรื่องการออกแบบ สถาปัตยกรรม ไลฟ์สไตล์
ทางอีเมล ที่จะส่งตรงถึงคุณทุกเดือน ลงทะเบียนได้ที่ด้านล่างนี้เลย!