เมื่อเราพูดถึง ‘ขนาดจำกัด’ คีย์เวิร์ดที่ตามมาย่อมเป็น ‘ความคุ้มค่า’ อย่างไม่ต้องสงสัย สองคำนี้เป็นโจทย์ของการออกแบบบ้านที่มักจะโผล่มาให้เห็นกันคู่กันอยู่บ่อยครั้ง โดยเฉพาะบ้านที่ตั้งอยู่บนผืนที่ดินใจกลางเมือง เช่นเดียวกับ Settha House บ้าน 6 ชั้นที่ตั้งอยู่บนพื้นที่ดินแปลงหัวมุมขนาดจำกัด 75 ตารางวา ติดถนนเศรษฐสิริย่านใจกลางเมืองในเขตพญาไท ด้วยทำเลทองจึงทำให้โจทย์ของการออกแบบเป็นการวางฟังก์ชันเพื่อให้พื้นที่ใช้สอยตอบโจทย์การใช้งานของครอบครัวทั้งปัจจุบันและอนาคตให้คุ้มค่าและคุ้มทุนในแง่เศรษฐศาสตร์มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ โดยมีคุณอาร์ต-อยุทธ์ มหาโสม จาก Ayutt and Associates design (AAd) เป็นสถาปนิกผู้รับหน้าที่ออกแบบ
“ตัวบ้าน Settha House อาจจะไม่ได้หวือหวาทางด้านดีไซน์เท่ากับบ้านหลังอื่น ๆ ของ AAd เพราะว่าวัตถุประสงค์หลักในการออกแบบบ้านหลังนี้ มันคือเรื่องของฟังก์ชันมากกว่า ซึ่งเรามองว่ามันท้าทายมาก เพราะขนาดของที่ดินมีจำกัดมากเมื่อเทียบกับโจทย์และความต้องการของเจ้าของบ้าน” คุณอาร์ตเริ่มต้นเล่า
ความคุ้มค่าที่มาพร้อมขนาดจำกัด
หลายคนคงคิดว่า ที่ดิน 75 ตารางวา ก็ไม่ใช่พื้นที่จำกัดขนาดนั้น… เพราะที่ดินของบ้านจัดสรรในกรุงเทพฯ มักเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 60-80 ตารางวา แต่ความพิเศษของพื้นที่แปลงหัวมุมติดถนนเส้นหลัก ย่อมมาพร้อมกฏหมายระยะล่นของถนนทั้งสองด้าน ซึ่งทำให้ฟุตปริ้นท์ของอาคารเหลือเพียงแค่ 35 ตารางวาเท่านั้น
ซึ่งภายในพื้นที่ดิน 35 ตารางวานี้ ทางเจ้าของบ้านต้องการให้พื้นที่ทุกชั้นเป็นเพนท์เฮาส์ทั้งหมด โดยชั้น 1 ต้องเป็นพื้นที่จอดรถให้ได้มากที่สุดเท่าที่ไซต์จะทำได้ ส่วนชั้น 2 เป็นพื้นที่อเนกประสงค์เผื่อทำโฮมออฟฟิศ หรือพื้นที่ร้านกาแฟปล่อยเช่าในอนาคต ส่วนชั้นบน ๆ คือห้องนอนคุณพ่อ คุณแม่ ห้องนอนส่วนตัวรวมถึงห้องทำงาน โดยแยกชั้นกันในลักษณะคล้ายคอนโดมิเนียม และที่สำคัญ บ้านต้องเป็นส่วนตัวและโปร่งโล่งไปพร้อมกัน
ความยากส่วนแรก คือ กฏหมายระยะล่นที่ทำให้ที่ดินหน้ากว้าง 14 เมตรเหลือใช้งานได้เพียงแค่ 9 เมตร บ้านทั้งหลังจึงต้องขึ้นในลักษณะแนวตั้งแบบอาคารสูงเต็มพื้นที่ โดยที่ชั้น 1 เป็นพื้นที่โล่งสามารถจอดรถได้ถึง 9 คัน ความยากส่วนที่สอง คือ ทางสัญจร ที่กินพื้นที่ 1 ใน 3 จากทั้งหมด เนื่องจากกฏหมายก่อสร้างที่บังคับให้อาคารพักอาศัยสูงเกินสามชั้นต้องมีบันไดหนีไฟ เมื่อรวมกับบันไดหลัก และลิฟท์ พื้นที่ส่วนมากของบ้านหลังนี้จึงเสียไปกับทางสัญจร
ความยากอีกส่วนหนึ่ง คือ บริบทที่ล้อมรอบไปด้วยตึกสูง ทำให้บ้านอาจเสียความเป็นส่วนตัว สถาปนิกจึงเลือกใช้ฟาซาดอลูมิเนียมซึ่งพัฒนาโดย AAd เอง ปิดล้อมเพื่อสร้างความเป็นส่วนตัวในการอยู่อาศัย ซึ่งเมื่อมองดูจากภายนอก จะเห็นเพียงความทึบที่ไม่ปล่อยให้อะไรเล็ดลอดออกมา แม้แต่แสงสว่างจากไฟในยามกลางคืน แต่กลับกันเมื่ออาศัยอยู่ภายใน จะสามารถมองออกมาเห็นทิวทัศน์ และมีระแนงช่องเปิดที่ยอมให้ลมและแสงธรรมชาติผ่าน
ในเรื่องความเป็นส่วนตัว ผู้ออกแบบยังแบ่ง Zoning ของพื้นที่โดยคำนึงประเด็นนี้เป็นสำคัญ บ้านหลังนี้จึงนำห้องนอนที่ต้องการความเป็นส่วนตัวและต้องปิดล้อมมาจัดวางอยู่ในบริเวณชั้น 3 และชั้น 4 ในขณะที่ชั้น 5 เป็นพื้นที่ส่วนกลาง ซึ่งสามารถเปิดมุมมองด้วยการใช้กระจกผืนใหญ่แบบ Space เห็นวิวทิวทัศน์ของเมืองกรุงเทพฯ อีกทั้งคนที่เดินผ่านไปมาบนถนนด้านล่างก็ไม่สามารถมองเห็นกิจกรรมที่เป็นส่วนตัวได้
(ฟาซาดระแนง ปิดล้อมในส่วนฟังก์ชันที่ต้องการความเป็นส่วนตัวสูง ในขณะที่พื้นที่อื่น ๆ อย่างห้องนั่งเล่นภายในห้องนอน จะเป็นช่องเปิดที่เพิ่มมุมมองและยอมให้แสงธรรมชาติเข้าสู่อาคาร)
‘Sense of Living’ เมื่อธรรมชาติแทรกตัวในอาคารสูง
การสร้างอาคารหลายชั้นเต็มพื้นที่ดินจนแทบจะไม่เหลือพื้นที่ใช้สอย ปัญหาที่ตามมา คือ บรรยากาศของการอยู่อาศัยที่ไม่ต่างอะไรจากการอยู่อพาร์ทเมนท์ หรือคอนโดมิเนียม นอกจาก Zoning ที่พยายามจัดสรรให้มีขนาดกว้างขวางและมีความเป็นบ้านแล้ว ผู้ออกแบบยังพยายามแทรกกระบะต้นไม้และพื้นที่สีเขียวเข้าไปในทุก ๆ ชั้นแม้กระทั่งโถงบันได เพื่อเติม ‘Sense of Living’ ที่ช่วยเพิ่มความเป็นธรรมชาติ และบรรยากาศของความมีชีวิตชีวา “ทุกที่ที่เราอยู่ควรจะเห็นพท สีเขียว ถึงแม้ว่าจะเป็นอาคารแนวตั้ง หลังนี้ก็จะเห็นว่าทุกชั้นที่มี stack ลดหลั่น เราจะใส่พื้นที่สีเขียวเข้าไป”
ด้านขวามือของอาคารถูกออกแบบให้เป็นผนังทึบเซาะร่องสูงตั้งแต่ชั้น 1 จนถึงชั้น 6 ปิดล้อมในทุกชั้น เพื่อรักษาความเป็นส่วนตัวในอนาคต เนื่องจากที่ดินแปลงด้านข้างยังคงเป็นที่ดินว่างเปล่า ซึ่งคาดว่าในอนาคตน่าจะมีการพัฒนาไปเป็นคอนโดมิเนียม อพาร์ทเมนท์หรืออาคารสูง ซึ่งผลพลอยได้จากการออกแบบผนังทึบ ยังทำให้สามารถสร้างอาคารติดระยะล่นได้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ เพื่อขยายขอบเขตพื้นที่ใช้สอยให้ตอบความต้องการของผู้อยู่อาศัยได้มากขึ้น
บริเวณห้องนั่งเล่น และห้องรับประทานอาหารที่ชั้น 5 เป็นโถงสูงสองชั้น ประกอบไปด้วยระเบียง และกระบะต้นไม้ เมื่อมองจากมุมนี้ เราจะเห็นมุมกว้างไกลของเมืองกรุงเทพฯ ซึ่งที่ห้องนั่งเล่นนี้เอง จะเปิดมุมมองให้เห็นต้นไม้สองต้นเพื่อให้เกิดการไหลเวียนของอากาศ ซึ่งเมื่อเปิดหน้าต่าง ลมก็สามารถโฟลวไปที่ห้องทำงานบริเวณชั้น 6 ได้ รวมถึงมุมมองที่เปิดโล่งทางสายตา พื้นที่หลักในบริเวณชั้น 5 และชั้น 6 ก็สามารถมองเห็นกันได้เช่นเดียวกัน
คุ้มค่าและสามารถเปลี่ยนเป็นเงินได้ในอนาคต
ด้วยความที่บ้านหลังนี้ ก่อสร้างและออกแบบไว้เพื่อเตรียมเกษียณอายุของเจ้าของบ้านซึ่งเป็นข้าราชการ โดยที่อาศัยอยู่กับคุณพ่อคุณแม่ มีครอบครัวแต่ไม่มีลูก ความซับซ้อนของอีกโจทย์หนึ่งที่สำคัญ คือ ความยืดหยึ่นของบ้านที่สามารถเปลี่ยนตัวเองไปเป็นเม้ดเงินได้ในอนาคต เริ่มตั้งแต่ที่จอดรถ 9 คัน ซึ่งสามารถปล่อยเช่าได้ เนื่องจากพื้นที่ในโซนนั้นเป็นร้านอาหารจำนวนมากมายที่กำลังมีปัญหาขาดแคลนที่จอดรถสำหรับลูกค้าที่แวะเวียนไปมา ส่วนบริเวณชั้น 2 ซึ่งเป็นพื้นที่อเนกประสงค์ก็พร้อมเปลี่ยนให้เป็นพื้นที่ที่สามารถลงทุนในธุรกิจได้ในอนาคต โดยอาจปล่อยเช่า ทำสถานที่ฟิตเนส ร้านกาแฟ หรือแม้แต่ Co-working Space
“ในเมื่อที่ดินอยู่ในทำเลที่มีศักยภาพ ทางเจ้าของเขาเลยมองว่า แล้วทำไมเราไม่สร้างบ้านพักอาศัยของเรา ให้มันเป็นที่สร้างรายได้ไปพร้อมกันเลย ตอนที่เขาเกษียณ รายได้จากพื้นที่เหล่านี้ อาจเป็นรายได้เสริมเล็กๆ น้อยๆ ก็ไม่เสียหาย”
บริเวณชั้น 3 ซึ่งในปัจจุบันเป็นของคุณพ่อและคุณแม่ ซึ่งค่อนข้างมีอายุ การวางเลย์เอาท์ของพื้นที่ชั้นนี้ จะพิเศษกว่าชั้นอื่น ๆ นิดนึง โดยที่ขนาดประตูทั้งหมดจะมีขนาดที่ใหญ่ขึ้นเผื่อเหตุการณ์ฉุกเฉิน รวมถึงเลย์เอาท์การวางผังในห้องนอน สามารถวางเตียงไฟฟ้าได้อย่างสะดวกสบาย ส่วนด้านหลังจะเป็นเซอร์วิสและห้องแม่บ้านที่แยกกันอย่างชัดเจน เผื่อการจ้างพยาบาลหรือคนดูแลในอนาคต บันไดหนีไฟ บันไดหลักและลิฟท์ จะแยกฟังก์ชันการใช้งานอย่างชัดเจน โดยไม่มีการ Cross Circulation แต่ละชั้นยังมีประตูที่สามารถปิดล้อก และแบ่งการใช้งานได้อย่างเป็นสัดส่วน ซึ่งในอนาคต พื้นที่ชั้น 1-3 สามารถปล่อยเช่าและสร้างรายได้ทั้งหมด โดยที่ไม่รบกวนพื้นที่อยู่อาศัยส่วนตัวของทางเจ้าของ
“เรามีการคิดถึง Zoning ในอนาคต มีการคอนโทรลให้ใครใช้ได้ถึงจุดไหน ซึ่งผมว่า นี่น่าจะเป็นคีย์เวิร์ดที่ตอบโจทย์คนยุคปัจจุบัน ซึ่งมันเป็นแนวคิดที่เราร่วมพัฒนาไปกับเจ้าของบ้าน เป็น Prototype ที่ไม่เหมือนบ้านทั่วไป ปกติเมื่อพูดถึงบ้าน เราจะเน้นเรื่องอยู่สบาย แดด ลม ฝน แต่ไม่ค่อยพูดถึงเรื่องเศรษฐศาสตร์หรือการเงินสักเท่าไร ซึ่งบ้านหลังนี้มันกลมกล่อมตรงที่ว่า เจ้าของบ้านก็อยู่อาศัยได้สบาย มีความเป็นส่วนตัวในขณะที่เขาสามารถสร้างรายได้เสริมไปพร้อม ๆ กัน”
ถึงแม้มองจากภายนอก บ้าน Settha House จะไม่ได้โดดเด่นหรือหวือหวาในเรื่องของการดีไซน์มากสักเท่าไร ออกไปทางเรียบง่าย แต่พื้นที่ภายในกลับถูกแบ่งสรรปันส่วนได้อย่างลงตัวในทุกมิติ ไม่ว่าจะเป็นความเป็นส่วนตัว พื้นที่ธรรมชาติ อากาศและแสงแดดที่หมุนเวียน ความคุ้มค่า หรือแม้แต่การสร้างรายได้ในอนาคต ซึ่งบ้านหลังนี้ยังเป็นต้นแบบของการออกแบบบ้าน THE HAUTE โครงการ Office Residence 5 ชั้นที่ผสมผสานความเป็นบ้านและออฟฟิศได้อย่างลงตัว
รับข่าวสารเรื่องการออกแบบ สถาปัตยกรรม ไลฟ์สไตล์
ทางอีเมล ที่จะส่งตรงถึงคุณทุกเดือน ลงทะเบียนได้ที่ด้านล่างนี้เลย!