บ้านอากาศเย็น ในซอยเย็นอากาศ
ที่โอบรับความเป็นธรรมชาติสู่การอยู่อาศัย

ที่นี่ คือ ซอยเย็นอากาศ ทำเลดีย่านสาธรใจกลางกรุงเทพฯ ที่เต็มไปด้วยอาคารหลากหลายไม่ว่าจะเป็นโรงแรม คอนโดมิเนียม สถานทูต โรงเรียน หรือร้านอาหาร แต่ที่น่าสนใจกว่านั้น ในซอยเย็นอากาศ 1 ยังเป็นที่ตั้งของบ้านอากาศเย็น ที่ตั้งชื่อสอดคล้องเล่นคำกับชื่อซอยโดยเจ้าของ บ้านคอนกรีตเปลือยหลังใหญ่ทักทายเราผ่านงานดีไซน์ที่ชัดเจน พร้อมโอบรับความเป็นธรรมชาติสู่การอยู่อาศัย โดยหวังให้บ้านพักอาศัยหลังนี้ร่มเย็น และอยู่สบายสมชื่อ โดยได้สถาปนิกคนรู้จักอย่างคุณแจ๊ค-ดนัย สุราสา จาก Studio Krubka Co.,Ltd. มารับบทเป็นผู้ปรุงแต่งเรื่องราวการอยู่อาศัยร่วมไปกับเจ้าของสองสามี-ภรรยา

คาแร็กเตอร์ชัดจากผู้อยู่สู่บ้านพักอาศัย

โจทย์และความต้องการของสองสามีภรรยา ทั้งเหมือนและแตกต่างจากบ้านหลังอื่น ๆ ในส่วนที่เหมือน คือ ความต้องการบ้านเป็นส่วนตัว ซ่อนตัวจากบริบทรายรอบที่ค่อนข้างจอแจไปด้วยร้านอาหารและคอนโดมิเนียม แต่ในส่วนที่แตกต่าง คือ เรื่องราวและกลิ่นอายของความครีเอทีฟ ที่ถูกปรุงแต่งเข้าไปเพิ่มเติมด้วยความที่อยู่ในวงการกำกับหนังโฆษณา คุณหมง-อรรณพ ชั้นไพบูลย์ เจ้าของบ้านจึงต้องการบ้านพักอาศัยที่ยูนีค ไม่เหมือนใคร ผสมความสนุกและความแปลกใหม่ลงไปในบ้านหลังใหญ่

ด้วยอุปนิสัยที่ไม่ชอบการเดินทางบนท้องถนนที่แออัดในกรุงเทพฯ นอกเหนือจากฟังก์ชันพื้นฐานทั่วไป บ้านหลังนี้จึงเรียกได้ว่า รวมเอาทุกสิ่งที่เอื้อต่อการใช้ชีวิตของคุณหมงและภรรยามารวมไว้ภายในบ้านหลังเดียวไม่ว่าจะเป็นห้องดูหนัง ห้องสมุดและฟังเพลง ห้องออกกำลังกาย ห้องสตรีม ห้องครัวขนาดใหญ่ บาร์ ห้องนั่งชมรถ พร้อม Turntable สำหรับหมุนโชว์รถ

บ้านอากาศเย็น ที่โอบรับความเป็นธรรมชาติ

เมื่อบ้านเต็มไปด้วยฟังก์ชันหลากหลาย แต่อยู่อาศัยกันเพียงสองคน แนวคิดหลักที่สถาปนิกตั้งใจเพิ่มเข้าไปจึงเป็นการเน้นปฏิสัมพันธ์ระหว่างพื้นที่ ผ่านการมองเห็นเพื่อให้ผู้อยู่อาศัยสามารถรับรู้และมองเห็นกันและกันได้ตลอดเวลา ซึ่งเดิมที ช่วงที่เริ่มการออกแบบ ที่ดินทั้งหมดมีเพียง 1 งานทำให้การออกแบบระบบทางสัญจร ช่องเปิดต่าง ๆ รวมถึงความสัมพันธ์ของพื้นที่ภายใน ค่อนข้างกระชับและซับซ้อน ซึ่งก่อนก่อสร้างเพียงไม่นาน ทางเจ้าของก็ได้โอกาสซื้อที่ดินเพิ่มอีก 3 งาน ทำให้แบบบ้านที่ลงตัวมีการปรับแก้และขยายกันใหม่ โดยยังคงใช้แนวทางการออกแบบเดิมที่เน้นการปฎิสัมพันธ์ เพียงแต่เพิ่มความสัมพันธ์จากภายในสู่ภายนอกอีกหนึ่งส่วน คลี่คลายความซับซ้อนในแบบเดิมให้ลดน้อยลง และมีความเรียบง่าย ตรงไปตรงมามากขึ้น

เมื่อได้แนวคิดหลักที่บ้านต้องอากาศเย็นและเป็นส่วนตัว สถาปนิกจึงเริ่มวางผังเลย์เอาท์โดยแบ่งพื้นที่ใช้สอยส่วนต่าง ๆ ออกเป็นกลุ่ม ด้วยการกำหนดตำแหน่งของผนังคอนกรีตหล่อ 7 ผนังลงไปบนที่ดิน โดยแต่ละโซนจะเชื่อมโยงถึงกันผ่านช่องเปิดต่าง ๆ ที่ออกแบบบนผนังแต่ละชิ้น ไม่ว่าจะเป็นการเชื่อมต่อในเรื่องการใช้สอย หรือการเชื่อมต่อทางมุมมอง

(ภาพแสดงแนวคิดการออกแบบ การใช้ผนังกั้นความ Private - Public)
(ภาพแปลนชั้น 1)
(ภาพแปลนชั้น 2)

“ส่วนที่เขาอยู่อาศัยส่วนตัวจริง ๆ มันค่อนข้างโดนองค์ประกอบของงานผนังเป็นตัวกั้น แม้แต่ห้องรับแขก โดยแขกที่มาจะเห็นแค่ส่วนรับแขกกับส่วนจัดเลี้ยงเท่านั้น เพราะกำแพงจะดักมุมมองไว้ทั้งหมด แต่พอหลุดเข้าไปในส่วนพักอาศัยส่วนตัวจะเป็นคนละอารมณ์เลย จะมองเห็นห้องครัวไทย ห้องสมุด โดยเราสร้างโอกาสในการมองเห็นระหว่างพื้นที่ด้วยคอร์ดยาร์ดแทรกเข้าไปในบ้าน”

ช่องเปิดแนวดิ่งทั้ง 5 จุดถูกกำหนดลงไปในอาคารกลายเป็นคอร์ดยาร์ดทั้ง 5 จุด ขนาดเล็กใหญ่ปะปนกันไป เพิ่มปฎิสัมพันธ์ระหว่างพื้นที่ภายนอกและภายใน อีกทั้งยังนำลมและแสงธรรมชาติเข้าสู่บ้านหลังใหญ่ ช่วยทอนสเกลไม่ให้บ้านดูใหญ่เทอะทะจนไม่น่าอยู่อาศัย และยังช่วยประหยัดพลังงานและเพิ่มบรรยากาศได้ในบางเวลา ซึ่งแต่ละคอร์ดต่างก็มีบรรยากาศที่แตกต่างทั้งการปลูกต้นไม้จริง ไม้กระถาง หรือสวนหิน

เลย์เอาท์และลำดับการเข้าถึงในแบบที่เป็นตัวของตัวเอง

หลังจากที่ไอเดียคอร์ดยาร์ดนี้ลงตัว เป็นแนวทางที่คุณหมงและภรรยาชื่นชอบ ฝั่งสถาปนิกก็กลับมาตั้งโจทย์ใหม่อีกครั้งถึงความแตกต่างและยูนีคไม่เหมือนใครตามความตั้งใจแรกของทางเจ้าของ จากพฤติกรรมการใช้งานของบ้านในแบบทั่วไป เปิดประตูสู่ห้องนั่งเล่น ห้องรับประทานอาหาร ห้องครัว จึงถูกปรับเปลี่ยนใหม่ทั้งหมด โดยจากประตูด้านหน้า เมื่อเข้าสู่ภายในจะเจอโถงบันไดก่อนเป็นอย่างแรก ถัดไปเป็นครัวไทยที่ถูกวางไว้กลางบ้าน เนื่องจากเป็นพื้นที่โปรดของภรรยาผู้รักการทำอาหาร และดีไซน์ให้เป็นรูปแบบกลาสเฮาส์ตามความชื่นชอบส่วนตัวของภรรยา โดยครัวไทยจะมองขึ้นไปเห็นโถงบันได และห้องสมุดด้านบน ซึ่งเป็นพื้นที่ที่คุณหมงชอบมาขลุกตัว นั่งฟังเพลงอยู่เป็นประจำ

ส่วนพื้นที่ที่ทั้งคู่อยู่อาศัยมากที่สุดอย่างห้องนั่งเล่น จะอยู่บริเวณชั้นสอง เนื่องจากชินกับการอยู่คอนโดมิเนียม ในแบบที่ห้องนอน ห้องนั่งเล่นและ Pantry ต่อเนื่องกันโดยไม่จำเป็นต้องลงบันได ซึ่งในส่วนนี้คุณแจ็คออกแบบโดยยกรูปแบบพื้นที่คอนโดมิเนียมที่ทั้งคู่เคยอยู่อาศัยมาใช้ที่บ้านหลังใหญ่ โดยปรับห้องนั่งเล่นให้อยู่ในลักษณะ Sunken หรือกดระดับลง ได้บรรยากาศแบบญี่ปุ่นตามความชื่นชอบของคุณหมงเช่นกัน

“เราทำตามโจทย์ที่เขาให้มา มันก็ค่อย ๆ เพิ่มความน่าสนใจให้เกิดขึ้นภายในบ้าน เราได้ Input จากทางเจ้าของค่อนข้างเยอะ ซึ่งโชคดีที่เจ้าของทั้งสองคนเขาเป็นสายครีเอทีฟ มีเรื่องราวมาให้สนุกกันตลอด อย่างเช่น เขาให้ไอเดียว่า เขาอยากเห็นฝนตกในห้องนอน ตอนแรกเราก็งงเลย แต่สุดท้ายเราก็ตีความเป็นเรื่องราวข้างนอก ข้างใน เราสร้างผนังขึ้นมาซ้อนทับ และเปิดหลังคาบริเวณนั้นให้ฝนตกลงมา และทำเป็นสวนหินนิ่ง ๆ ข้างเตียง และใช้วัสดุเป็นกระจกใสทั้งหมด จริง ๆ มันอยู่ข้างนอก แต่ในอีกความรู้สึกหนึ่งมันก็เหมือนอยู่ข้างในห้องนอนจริง ๆ”

แรงบันดาลใจจาก Mies van der Rohe และ Tadao Ando

ด้วยประสบการณ์ท่องเที่ยวระหว่างทางของสองสามี-ภรรยา ทั้งคู่เก็บเกี่ยวเรื่องราวมีค่าได้มากมาย หนึ่งในนั้นคืองานดีไซน์ของมาสเตอร์ด้านสถาปัตยกรรมอย่าง Mies van der Rohe ที่ต่างชื่นชอบสถาปัตยกรรมโมเดิร์น การจัดวางองค์ประกอบที่น้อยแต่ทรงพลัง และมาหลงรักวัสดุคอนกรีตผิวเปลือยที่สะท้อนความงามในความไม่สมบูรณ์ของปรมาจารย์ฝั่งตะวันออกอย่าง Tadao Ando เล่ามาถึงตรงนี้ หลายคนคงเข้าใจที่มาของรูปลักษณ์หน้าตาบ้านอย่างไม่ต้องสงสัย

แนวคิดของมาสเตอร์ทั้งสอง ถูกนำมาออกแบบเป็นบ้านโมเดิร์นที่โดดเด่นด้วยวัสดุคอนกรีตหล่อเปลือย โดยนำมาใช้ในผนังหลักทั้ง 7 ผนังที่เราเล่าไปข้างต้น บริเวณทางเข้ายังเป็นโถงบันไดเปิดโล่งที่ออกแบบเพดานหล่อคอนกรีตโค้งลดความแข็งทื่อและลดความหนักของวัสดุที่สุดจะแข็งแกร่ง ประกอบเข้ากับสกายไลท์ที่เปิดนำแสงธรรมชาติไล้เข้าสู่ผนัง โชว์พื้นผิวที่เป็นธรรมชาติของงานสถาปัตยกรรมได้อย่างลงตัว

คุณแจ๊คยังแชร์ทิ้งท้ายให้ฟังว่า “เทคนิคการทำงานกับคอนกรีตแบบนี้ถือว่าใหม่สำหรับทีมออกแบบ และทีมก่อสร้าง ทุกขั้นตอนถูกทดสอบ ทำตัวอย่างเพื่ออนุมัติทุกครั้ง สูตรการทำปูนก็ถูกปรับกันหลายรอบจนได้สีและพื้นผิวที่พอใจกันทุกฝ่าย อย่างด้านหน้าบ้านที่เราปาดคอนกรีต ตอนก่อสร้างจริง ๆ มันทำให้คมยาก แต่คุณหมงแกค่อนข้างเฟอร์เฟ็กต์ชันนิส แกเลยไม่ปล่อยให้ช่างทำผิดแบบ เราก็เลยรู้ว่าการที่จะผลักดันให้งานมันดีได้ ต้องมาจากหลายฝ่าย ซึ่งงานนี้หลัก ๆ ก็ได้แพสชันของเจ้าของบ้านนี่แหละเป็นตัวขับเคลื่อน”

Location: ซอยเย็นอากาศ 1 แขวงทุ่งมหาเมฆ เขตสาทร กรุงเทพฯ
Gross Built Area: 1,600 ตร.ม.
Architects : Studio Krubka Co.,Ltd.
Lead Architects: ดนัย สุราสา
Owner: อรรณพ ชั้นไพบูลย์
Interior Designer: สร้อยพลอย พานิช
Landscape Designer: อนุภาพ พงษ์นะเมตตา
Contractor: MSK Engineering Co.,Ltd
Civil Engineer: แสงชัย รักพานิชมณี
Sanitation Engineer: กิติศักดิ์ วงศ์กระจ่าง
Electrical engineer: วันชัย พิรอดรัตน์
Photo Credits: beer singnoi 

Writer
Rangsima Arunthanavut

Rangsima Arunthanavut

Landscape Architect ที่เชื่อว่าแรงบันดาลใจในงานออกแบบ สามารถเกิดขึ้นได้จากทุกสิ่งรอบตัว และการบอกเล่าเรื่องราวการออกแบบผ่าน 'ตัวอักษร' ทำให้งานออกแบบที่ดี 'มีตัวตน' ขึ้นมาบนโลกใบนี้