“นี่เป็นความชอบตั้งแต่เด็กเลยนะ เราอยากจะมีบ้านหลังหนึ่งที่มีต้นไม้ใหญ่เป็นส่วนหนึ่งของครอบครัว หรือของชีวิตเรา” คุณหนุ่ม-เลิศวิทย์ ภูมิพิทักษ์ เจ้าของบ้านเริ่มเล่าอย่างมีชีวิตชีวา
ความฝันที่ว่า ถูกเติมเต็มภายใน House(be)hide บ้านหลังใหม่ในหมู่บ้านนวธานี ย่านเสรีไทย ซึ่งโอบล้อมไปด้วยต้นไม้ใหญ่อายุกว่า 30 ปีที่สงบและร่มรื่นราวกับเป็นโอเอซิสกลางเมือง โจทย์ของบ้านเหมือนจะง่ายแต่สุดจะท้าทายด้วยความตั้งใจเก็บต้นไม้เดิมในที่ดินให้มากที่สุด โดย ‘บ้าน’ จะต้องทำหน้าที่เป็นเพียงผู้ตาม และปล่อยให้ ‘ธรรมชาติ’ อย่างต้นไม้ใหญ่รับบทนำ
House (be)hide ธรรมชาตินำ บ้านตาม
ความคอนทราสที่ซ่อนอยู่ภายใน
ด้วยความที่มองว่าต้นไม้เป็นองค์ประกอบหนึ่งที่จะนำพาความสงบ ร่มเย็นเข้ามาสู่การอยู่อาศัย วิถีชีวิตใหม่ของครอบครัวที่เกิดขึ้นจึงเป็นเพียงส่วนหนึ่งที่คุณหนุ่มต้องการให้สอดประสานกับธรรมชาติได้อย่างแนบเนียน ก่อนจะมองหาทีมสถาปนิกมาสานต่อบ้านในฝัน ซึ่งสุดท้ายได้ TOUCH Architect มารับหน้าที่ออกแบบ
การออกแบบฟังก์ชัน การวางแพลนนิ่ง หรือแมสของอาคารล้วนเกิดขึ้นจากบริบทของต้นไม้เดิมภายในพื้นที่ บวกกับความต้องการบ้านที่สงบและเป็นส่วนตัว สถาปนิกจึงนำเสนอแนวคิด House (be)hide ที่แปลความหมายตรงตัวว่า ‘อยู่ข้างหลัง’ รวมถึงความหมายแฝงอย่าง ‘การซ่อนตัวบ้าน’ หรือการใช้ชีวิตเอาไว้ภายใน บริเวณด้านหน้าจึงถูกออกแบบให้มีความปิดทึบ และค่อนข้างเป็นส่วนตัว แต่เมื่อเราเดินเข้าสู่ภายในจะพบกับความแตกต่างอย่างสิ้นเชิง กับบรรยากาศที่เปิดรับความเป็นธรรมชาติ โอบล้อมต้นหูกวางเก่าและเปิดโล่งกลายเป็นพื้นที่เอาท์ดอร์ที่สมาชิกในบ้านสามารถทำกิจกรรมร่วมกันได้อย่างอบอุ่นและเป็นส่วนตัว
เพื่อให้เกิดความรู้สึกแตกต่างอย่างชัดเจน หน้าบ้านออกแบบด้วยรูปลักษณ์โมเดิร์นตามความชื่นชอบของเจ้าของ ส่งคาแร็กเตอร์ดิบ เท่ ในพื้นผิวสีดำเงา เพื่อให้ตัวบ้านทำหน้าที่เป็นแคนวาสที่สะท้อนเงาต้นไม้ระยิบระยับ ใกล้ชิดกับคนมากขึ้นไปอีกหนึ่งมิติ ด้วยรูปลักษณ์ที่ปิดกั้นตัวเองจากภายนอก ทำให้ผู้ที่ผ่านไปมา ไม่สามารถรู้ได้เลยว่าภายในมีธรรมชาติและบรรยากาศสุดผ่อนคลายซ่อนอยู่
ฟังก์ชันที่สอดคล้องกับธรรมชาติและการอยู่อาศัย
“ทำยังไงให้ตัวบ้านสัมผัสกับพื้นที่เอาท์ดอร์ให้มากที่สุด เพราะเราอยากออกไปใช้ชีวิตข้างนอก” ความต้องการที่ชัดเจนของคุณหนุ่มและครอบครัวส่งต่อสู่การวางผังเลย์เอาท์ในลักษณะตัวแอลที่ล้อมรอบต้นหูกวาง และเพิ่มเส้นรอบรูปของสเปซที่เชื่อมต่อสู่พื้นที่ภายนอกให้มากที่สุด
จากด้านหน้าบริเวณทางเข้าบ้าน พื้นที่แรกสร้างความรู้สึกเชื้อเชิญด้วยการทำขั้นบันไดที่ยกระดับเล็กน้อย เสมือนว่ากำลังต้อนรับแขกแต่ในขณะเดียวกันก็ไม่ได้เปิดกว้าง พื้นที่บริเวณดังกล่าวจึงคล้าย Privacy Foyer เล็ก ๆ ที่สามารถมานั่งเล่น นั่งคุยงาน นั่งรับประทานอาหารได้ระหว่างวัน หรือจะปิดกลายเป็นห้องเล็ก ๆ ก็ยังสามารถทำได้
ถัดจากนั้นเป็นโถงเปียโน พื้นที่ห้องนั่งเล่น พื้นที่รับประทานอาหาร แพนทรี่ และครัวที่ต่อเนื่องกันเป็นผืนยาว และที่สำคัญฟังก์ชันทั้งหมดยังเชื่อมสู่พื้นที่สวนภายนอก เพื่อให้ทุกคนในครอบครัวสามารถทำกิจกรรมส่วนตัว ในขณะที่ยังมองเห็น และมีปฏิสัมพันธ์ระหว่างกันได้ดี หรือหากต้องการแบ่งโซนใช้งานที่ชัดเจน ก็มี Soft Partition อย่างผ้าม่านเป็นตัวกั้นสเปซ
“พื้นที่นั่งเล่น เราออกแบบเป็น Double Space ทำให้ห้องนั่งเล่นดูโปร่งมากขึ้นด้วยกระจกสูง ปลูกต้นไม้ริมรั้วเพื่อลดความร้อน และเป็นมุมมองพื้นที่สีเขียวให้กับตัวบ้าน พื้นที่ตรงนี้ยังรวมเข้าไปกับบันได ซึ่งเราตั้งใจวางตำแหน่งใจกลางบ้าน เพื่อให้สมาชิกทุกคนที่ต้องการขึ้นสู่พื้นที่ส่วนตัวชั้นสอง ยังต้องผ่านพื้นที่ส่วนนี้ รับรู้การเคลื่อนไหวของสมาชิกในบ้าน เจอหน้ากันได้ถึงแม้ทุกคนจะมีห้องส่วนตัว” สถาปนิกเล่า
อีกฝั่งหนึ่งของพื้นที่ชั้นหนึ่งเป็น Activity Room ซึ่งเรียกได้ว่าเป็นไฮท์ไลท์ของบ้าน โดยพื้นที่กิจกรรมของครอบครัวถูกออกแบบยกระดับเพื่อแยกจากพื้นที่ส่วนอื่น ๆ โดยชัดเจน นอกจากนั้นหากเราเปิดบานกระจกทั้งหมดที่อยู่ภายใน พื้นที่ทั้งหมดจะเชื่อมต่อกับลานต้นหูกวางเอาท์ดอร์ เป็นส่วนหนึ่งของกันและกันได้อย่างแนบเนียน
“ด้วยความที่ชั้น 1 เป็น living dining ที่ต่อเนื่องกัน เราเลยอยากให้พื้นที่นี้มันแยกตัวออกมา แต่ไม่ตัดขาดจากกัน ถ้ามองจากพื้นที่เอาท์ดอร์ เราจะเห็นว่าแมสอาคารจะมีการขบกับห้องนอนของลูกชายคนโตอยู่ครึ่งหนึ่ง ทำให้ทุกพื้นที่เชื่อมต่อกัน น้อง ๆ จะทำกิจกรรม หรือมีเพื่อนมาเยี่ยมที่บ้าน ก็สามารถมองเห็นซึ่งกันและกันได้”
ส่วนบริเวณชั้นสอง เพื่อให้ห้องนอนมีขนาดที่ค่อนข้างใหญ่ และด้วยความที่ต้นหูกวางเป็นตัวกำหนดฟังก์ชัน ทำให้ชั้นสองต้องวางเลย์เอาท์ห้องนอนในลักษณะ Linear เป็นคอริดอร์ยาว ก่อนจะแจกเข้าสู่ห้องนอนทั้ง 4 ห้อง โดยมีมาสเตอร์เบดรูมอยู่สุดทางเดิน ปีกด้านหลังของตัวบ้านเพื่อให้เกิดความเป็นส่วนตัวมากที่สุด
สำหรับห้องนอนคุณหนุ่มโยนโจทย์เพิ่มเติม โดยอยากให้พื้นที่ชั้นสองสัมผัสและใกล้ชิดกับต้นหูกวางได้ไม่น้อยไปกว่าพื้นที่อื่น ๆ ของบ้าน ทีมออกแบบจึงตีความห้องน้ำภายในมาสเตอร์เบดรูมด้วยบรรยากาศอินดอร์ที่ให้ความรู้สึกเสมือนอยู่เอาท์ดอร์ ด้วยการออกแบบช่องเปิดสกายไลท์ต่อเนื่อง หากยืนอยู่ภายในห้องน้ำ จะเห็นใบของต้นหูกวาง และท้องฟ้าเป็นแบคกราวด์ ไม่ต่างจากการอาบน้ำท่ามกลางธรรมชาติ นอกจากนั้น การใช้วัสดุภายในห้องน้ำยังล้อเลียนธรรมชาติ แต่คงความดูแลรักษาง่าย ด้วยกระเบื้องลายหิน
Something More : ด้วยความที่บ้านมีสเกลใหญ่กว่า 500 ตารางเมตร และไม่ได้มีการใช้กระจกเยอะเท่าไรนัก ทำให้มีพื้นผิวที่เป็นผนังเรียบค่อนข้างเยอะ เสี่ยงต่อการแตกของโครงสร้าง เสียหายในภายหลัง ทางสถาปนิกจึงแก้ไขด้วยการทำ Cladding บางส่วนจากอิฐจริง เพื่อให้ดูแลรักษาได้ง่ายที่สุด ส่วนวัสดุที่ห่อหุ้มบริเวณชั้นล่างเน้นพื้นผิวที่หยาบขึ้น เพื่อคอนทราสกับพื้นผิวดำเงาบริเวณชั้นสอง สำหรับงานรั้ว ออกแบบด้วยอิฐล้อไปกับตัวบ้าน โดยมีแพทเทิร์นบางส่วนที่เปิดโล่งเพื่อรับลมเข้าสู่ภายใน
ถึงแม้ตัวบ้านจะดิบ เท่ในลักษณะโมเดิร์นจัด ที่ตัดตรงเป็นแมสอาคารสี่เหลี่ยมชัดเจนในตัวเอง ส่วนที่ใกล้ชิดกับการอยู่อาศัย ยังสร้างบรรยากาศที่ผ่อนคลายลงด้วยการใช้ไม้จริง ซึ่งเป็นไม้เก่าที่ทางเจ้าของซื้อมาจากบ้านหลังเดิม ทุกส่วนผสมที่ลงตัวภายในบ้าน House(be)hide หลังนี้ จึงพร้อมเป็นบ้านในฝันของครอบครัวสมาชิกทั้ง 5 ที่กลมกล่อมทั้งความต้องการ ความชื่นชอบ และความสุขของครอบครัว
Location: เสรีไทย เขตคลองกุ่ม กรุงเทพฯ
Gross Built Area: 580 ตร.ม.
Architects : TOUCH Architect
Lead Architects: เศรษฐการ ยางเดิม, ภาพิศ ลีลานิรมล และ พิชญา ติยะพิษณุไพศาล
Owner: เลิศวิทย์ ภูมิพิทักษ์
Interior Designer: Creative Territories
Contractor: DWN Builder
Civil Engineer: ชิตติณัฐ วงศ์มณีประทีป
รับข่าวสารเรื่องการออกแบบ สถาปัตยกรรม ไลฟ์สไตล์
ทางอีเมล ที่จะส่งตรงถึงคุณทุกเดือน ลงทะเบียนได้ที่ด้านล่างนี้เลย!