Casa Cloud
เบาบางและจางหาย นิยามของบ้าน เมื่อธรรมชาติเป็นส่วนหนึ่งของการอยู่อาศัย

ก้อนเมฆ มักเป็นคำเปรียบเปรยของอะไรบางสิ่งที่ดูนุ่มนวล บอบบางจนบางครั้งก็แทบจะจางหายไป แต่บางวันก็กลับเป็นอะไรที่ผู้คนให้ความสนใจและสังเกตได้ ก้อนเมฆจึงมีคาแร็กเตอร์ประจำตัวที่เรียกได้ว่าโดดเด่นแต่กลมกลืนและเลือนหายไปพร้อมกัน หนึ่งในสิ่งที่ใช้คำเปรียบเปรยนั้น คือ Casa Cloud บ้านโมเดิร์นในบริบทแบบไทย ๆ ที่คุณบุญเลิศ เหมวิจิตรพันธ์ สถาปนิกมือรางวัลจาก BOONDESIGN ตั้งใจสะท้อนตัวตันอันแผ่วเบาของก้อนเมฆและอากาศลงมาในงานสถาปัตยกรรมเพื่อให้กลมกลืนเป็นหนึ่งเดียวกับธรรมชาติ

หน้าตาโมเดิร์น แต่ Typology บ้านแบบไทยๆ

Casa Cloud สร้างขึ้นสำหรับครอบครัวสมาชิกทั้ง 4 ที่หวังให้บ้านหลังนี้กลายเป็นพื้นที่ Reunion ครอบครัวให้กลับมาอยู่พร้อมหน้าพร้อมตากันอีกครั้ง พื้นที่ภายในจึงต้องมีการจัดสรรให้ลงตัวทั้งการเชื่อมต่อ การใช้งานของผู้อยู่อาศัย รวมถึงขนาดของพื้นที่ที่ต้องพอดีกับความต้องการ อีกทั้งความต้องการแสงแดด ลมธรรมชาติพัดผ่านก็เป็นสิ่งสำคัญซึ่ง BOONDESIGN ไม่เคยพลาดที่จะนำมาปรุงแต่งเป็นงานสถาปัตยกรรม

“ส่วนตัวเรามองว่า ธรรมชาติ เป็นสิ่งจำเป็นในการเป็นมนุษย์ เพราะเราก็เป็นส่วนหนึ่งของธรรมชาติ ถ้าเราอยู่โดยต่อต้านธรรมชาติ แสดงว่าเราต้องใช้พลังงานที่ไม่จำเป็น เราเลยกลับมาดูถึงความเป็น Tropical แบบไทยๆ ที่อยู่ร่วมกับธรรมชาติซึ่งเรามองว่ามันมีเสน่ห์ เป็นสิ่งที่คนไทยน่าจะรักมัน ถ้าเราให้ความสำคัญกับมันจริงๆ ก็น่าจะเป็นฟีเจอร์การอยู่อาศัยที่ดีได้” คุณบุญเลิศเล่า

“แนวคิดของบ้านเรือนไทย มันเป็น Typology ของบ้านที่อยู่ร่วมกับแลนด์สเคปได้ดี มันลอยอยู่เหนือแลนด์สเคป มีเสา มีชานบ้าน แต่การใช้งานของเราในปัจจุบันมันไม่ได้เหมือนเมื่อก่อน เพราะเราไม่มีป่า ไม่มีเรือ มีแต่บริบทความเป็นเมืองที่เข้ามาแทนที่”

ภายใต้โฉมหน้าของบ้านที่มีหน้าตาโมเดิร์นด้วยเส้นสายที่เฉียบคม สถาปนิกนำรูปแบบบ้านเรือนไทยที่มีใต้ถุน มีชานบ้านและมีตัวเรือนอยู่บนชั้นสองมาใช้ในการออกแบบ ยกระดับพื้นที่หลักของตัวบ้านอย่าง Living Space ให้อยู่ที่บริเวณชั้นสอง และมีทางลาดยาวรวมถึงลานจอดรถอยู่ที่ระดับครึ่งชั้นของพื้นที่ชั้นหนึ่ง (M1F) เป็นพื้นที่แลนด์ดิงกึ่งกลางที่จะเดินลงไปอีกนิดก็เจอกับพื้นที่ชั้นหนึ่งซึ่งเป็นส่วนเซอร์วิส หรือหากเดินต่อขึ้นไปอีกนิดก็จะพบกับพื้นที่ห้องนั่งเล่นขนาดใหญ่ของครอบครัว

(ไดอะแกรมแสดงแนวคิดการยกระดับพื้นที่)
(Site Plan)

Something More : บ้านรองรับการใช้งานของผู้สูงอายุด้วยลิฟท์ที่มีลักษณะเข้าหน้าออกหลัง ทำให้ลิฟท์สามารถเข้าถึงได้ทุกชั้น แม้กระทั่งชั้นลอย หรือพื้นที่เก็บของ

พื้นที่ใต้ถุนหรือเรียกง่ายๆ ว่าชั้นหนึ่ง ถึงจะไม่ได้ยกเสาแบบบ้านเรือนไทย แต่สถาปนิกก็ออกแบบให้กลายเป็นพื้นที่ใช้งาน อย่างห้องแม่บ้านจำนวน 5 ห้อง เว้นส่วนด้านหน้าไว้เป็นห้อง Party Room สำหรับลูก ๆ หากมีแก๊งเพื่อนมาสังสรรค์ที่บ้านก็เป็นส่วนตัว และไม่ต้องกังวลว่าจะรบกวนการอยู่อาศัยของคุณพ่อและคุณแม่ ในการออกแบบจึงมีทางเดินเชื่อมจากลานจอดรถ สู่พื้นที่สระว่ายน้ำ และไปยังห้องปาร์ตี้ได้เลยโดยที่ไม่ผ่านส่วนอื่น ๆ ของบ้าน อีกทั้งยังเชื่อมสู่พื้นที่สนามหญ้าขนาบยาวได้สบายๆ ตอบโจทย์ลูกชายผู้เป็นนักฟุตบอลมืออาชีพ

แลนด์สเคป อินทีเรีย และสถาปัตยกรรมที่ถูกออกแบบไปพร้อมกัน

เมื่อมีทางลาดเกิดขึ้น นำมาสู่พื้นที่สามเหลี่ยมที่ทำหน้าที่ผสานแลนด์สเคปและสถาปัตยกรรมเข้าหากันได้อย่างกลมกลืนตามที่สถาปนิกตั้งโจทย์ไว้ เกิดเป็นไดนามิกและเส้นสายตามจังหวะของงานออกแบบ แลนด์สเคปจึงเป็นส่วนหนึ่งของสถาปัตยกรรมไปโดยปริยาย ซ่อนพื้นที่ใต้ถุนชั้นหนึ่งให้หายไปด้วยม่านพรรณไม้สีเขียวที่ห้อยลงมาจากพื้นที่เทอเรซและสระว่ายน้ำด้านบน กลายเป็นฟีเจอร์ธรรมชาติที่ช่วยพรางตาและเป็นวิวทิวทัศน์ให้ห้อง Party Room ไปพร้อมกัน

ด้วยความที่ผืนที่ดินอยู่ในลักษณะไข่แดงภายในชุมชนบ้านเดี่ยวที่รายล้อมด้วยโรงงานร้างสภาพไม่น่าดู บ้านพักอาศัยเรือนเคียง และคอนโดใหญ่ที่สามารถมองเห็นบ้านได้ไม่ยาก คุณบุญเลิศแก้ไขปัญหาด้วยการยื่นหลังคาชั้นสองเป็นคาโนปี (Canopy) ยาว 7 เมตร เพื่อเป็นเครื่องมือหนึ่งซึ่งทำหน้าที่คล้าย Transition เชื่อมตัวบ้านเข้ากับแลนด์สเคป ขณะเดียวกันยังปิดบังพื้นที่ชั้นสามให้ดูเหมือนหายลับไปกับท้องฟ้า แต่เมื่อเราใช้งานพื้นที่ชั้นสามก็ยังคงมองเห็นสวนของบ้านได้อย่างครบถ้วน อีกทั้งยังช่วยบดบังเพิ่มร่มเงาให้กับบ้านซึ่งหันหน้าออกสู่ทิศตะวันตก และสร้างความเป็นส่วนตัวให้การอยู่อาศัย

“เราจะเห็นแต่สเปซที่ขับเน้นด้วยคาโนปีที่ยื่นยาวซึ่งเป็นจุดเชื่อมต่อระหว่างสวนและอาคาร เพื่อให้อาคารดูหายไปกับบริบทและแลนด์สเคปโดยรอบ”  ผืนหลังคาระนาบยาว ทำให้เรามองเห็นแต่ความเบาของตัวบ้าน ยิ่งถอยออกมามองในระยะไกล ตัวอาคาร 3 ชั้น ยิ่งกลืนหายกลายเป็นมวลรวมของบ้านที่ดูเผิน ๆ เหมือนบ้านชั้นเดียว พื้นที่ชั้นสามยังถูกออกแบบเป็นระเบียงช่องเปิดยาว ที่เรียกว่า Monsoon Balcony รองรับสภาพอากาศเมืองไทยโดยเฉพาะ ซึ่งคำนวนทิศทางลม แสงแดดเอาไว้อย่างพอดีโดยมีช่องเปิดสูง 1.20 ม. จากระดับราวกันตก

สำหรับพื้นที่ภายในเอง สถาปนิกให้ความสำคัญไม่ต่างกัน โดยออกแบบสเปซทั้งหมดให้เป็นมวลรวมที่ไม่ใช่เพียงการออกแบบห้องกั้นด้วยผนังเท่านั้น โดยพื้นที่อยู่อาศัยเน้น Common Space ห้องรับประทานอาหาร ห้องนั่งเล่นให้อยู่ในพื้นที่เดียวกัน ตามความต้องการของครอบครัว อีกทั้งขับกล่อมคงความเบาและความเป็นธรรมชาติสู่ภายใน ด้วยการออกแบบห้องนั่งเล่นช่วงกว้างกว่า 12 เมตรให้ไร้ซึ่งเสา เช่นเดียวกับช่องเปิดบริเวณห้องนอน ที่เชื่อมสู่ Monsoon Balcony ทำให้ผู้อยู่อาศัยสามารถรับ แสง และลมจากธรรมชาติได้จากทุกมุมของตัวบ้าน

เมื่อตัวบ้านภายนอกใช้สีขาวเพื่อทำให้มวลรวมอาคารดูเบาบางและจางหายไป ภายในจึงเน้นใช้ผนังหินสีดำเพื่อความแตกต่างและสะท้อนบรรยากาศภายนอกเข้ามาในอีกมิติหนึ่ง เพื่อให้ภายนอกและภายในดูต่อเนื่องเป็นพื้นที่เดียว แนวคิดนั้นยังส่งต่อมาสู่งานละเอียดอย่างเฟอร์นิเจอร์ ดวงโคม หรือแม้แต่งานศิลปะที่คุณบุญเลิศเล่าว่าออกแบบเองทุกชิ้น ภายในจึงกลมกล่อมเป็นเรื่องราวเดียวกันได้อย่างไม่มีที่ติ

ถึงแม้ เบาบางและจางหาย จะเป็นแนวคิดของบ้าน แต่หากถามว่า บ้านหลังนี้เลือนหายไปจากสายตาที่เรามองเห็นหรือเปล่า? กลับกัน ตัวบ้านกลับโดดเด่นด้วยองค์ประกอบที่อยู่ถูกที่ถูกทาง ไม่ว่าจะเป็นกล่องคอนกรีตเปลือย หลังคาที่ยื่นยาว ไฟที่ทำให้บ้านในยามกลางคืนส่องสไวราวกับเป็นตะเกียง ทางลาดยาว หรือแม้แต่ธรรมชาติที่สร้างชีวิตให้กับพื้นที่ทั้งหมด ทุกองค์ประกอบและทุกเส้นสายที่คุณบุญเลิศบรรจงใส่ลงไป แสดงถึงตัวตนและการที่มีอยู่ของ Casa Cloud เพื่อให้บ้านหลังนี้เป็นที่อยู่อาศัยของครอบครัวทั้ง 4 ได้อย่างเป็นตัวเองและเป็นส่วนหนึ่งของธรรมชาติ

“ความงามจะเกิดขึ้นก็ต่อเมื่อสิ่งเหล่านั้นมีคุณค่าของมัน หน้าที่สถาปนิก คือ เราต้องทำทุกอย่างให้มันสวยงามแหละ เพียงแต่เราไม่เอาความงามนั้นมาเป็นโจทย์หลัก เราเพียงแต่สร้างโอกาส สร้างความรู้สึกทางสถาปัตยกรรมด้วยเครื่องมือต่าง ๆ เหล่านี้มากกว่า เวลาเราออกแบบ เราจะไม่ออกแบบหลายสกรีมให้ลูกค้าเลือก เราจะมีแนวคิดของงานออกมาก่อน ซึ่งแนวคิดนี้มันจะกลายเป็นจิตวิญญาณของงาน อย่างงานนี้ เราต้องการให้มันกลืนกับแลนด์สเคปในทุกมิติ สถาปนิกเราจึงต้องทำความเข้าใจกับมัน และเราจะใช้มันได้อย่างสบาย ๆ” คุณบุญเลิศทิ้งท้าย

Location: กรุงเทพฯ
Building Area: 1,800 sq.m
Owner : คุณชาลี สมุทรโคจร
Architect & Interior : BOONDESIGN
Civil Engineer : BOONDESIGN
Photo : วิสันต์ ตั้งธัญญา และเกตน์สิรี วงศ์วาร

Writer
Rangsima Arunthanavut

Rangsima Arunthanavut

Landscape Architect ที่เชื่อว่าแรงบันดาลใจในงานออกแบบ สามารถเกิดขึ้นได้จากทุกสิ่งรอบตัว และการบอกเล่าเรื่องราวการออกแบบผ่าน 'ตัวอักษร' ทำให้งานออกแบบที่ดี 'มีตัวตน' ขึ้นมาบนโลกใบนี้