Search
Close this search box.

ลัดเลาะใกล้เมืองกรุงกับ 6 คาเฟ่ลูกผสมไทยสไตล์จีน

ซินเจียยู่อี่…..ซินนี้ฮวดไช้
เมื่อบ้านเมือง อาคาร ตึกรามบ้านช่องเริ่มประดับประดาไปด้วยองค์ประกอบสีแดง หรือสีทอง นั่นเป็นสัญญาณว่า Festive ของชาวไทยเสื้อสายจีนอย่าง ‘เทศกาลตรุษจีน’ กำลังจะมาถึง!

Dsign Something จึงได้ที อยากชวนคุณลัดเลาะย่านใกล้กรุงเทพฯ ไปเยือน 6 คาเฟ่ลูกผสมไทยสไตล์จีน ดีไซน์ดีที่หยิบนำองค์ประกอบแบบไทยและจีนมาผสมผสานกลายเป็นสถาปัตยกรรมร่วมสมัยในสไตล์สุดกลมกล่อม

01  TaiGuan Café
ดื่มดำกับสถาปัตยกรรม อินกับเฟอร์นิเจอร์เก่า และเรื่องราวของอาคารที่เดินทางข้ามเวลามา 200 ปี

TaiGuan Cafe คาเฟ่ในชุมชนตลาดน้อยติดกับศาลเจ้าโจ๋วซือกง ที่รีโนเวทบ้านเก่าอายุกว่า 200 ปี ให้กลายเป็นคาเฟ่สไตล์จีนโมเดิร์นได้อย่างน่าสนใจ ซึ่งหากย้อนไปในอดีต พื้นที่แห่งนี้เคยเป็นโกดังสำหรับเก็บเหล้าในชื่อ ‘ไทง้วนเองกี’ เป็นสถาปัตยกรรมฮกเกี้ยนของย่านที่ถูกอนุรักษ์ไว้เพราะถูกสร้างขึ้นมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5

รูปแบบอาคารเดิมเป็นโครงสร้างไม้ ทั้งเสา และพื้น ส่วนผนังเป็นคอนกรีต มุงหลังคาด้วยกระเบื้องดินเผา ซึ่งในเวลาต่อมามักจะพบปัญหาน้ำรั่ว จึงจำเป็นต้องมีการปรับปรุงบางส่วนเพื่อให้สามารถใช้งานได้ แต่ทางผู้ออกแบบก็ไม่ได้ปรับเปลี่ยนอะไรมากนัก เพราะต้องการคงเสน่ห์ความเก่าของบ้านกว่า 200 ปีเอาไว้ มีเพียงการซ่อมแซมด้วยการปูพื้นใหม่ในส่วนคาเฟ่ด้านหน้า ทำความสะอาดและทาสีผนังใหม่บางส่วน โดยโครงสร้างอาคารก็ยังคงใช้โครงสร้างไม้เดิมเพราะยังใช้งานได้ดีอยู่ ส่วนหลังคาทำการเสริมเมทัลชีทเพื่อป้องกันน้ำรั่ว และในบริเวณที่เป็นช่องเปิดจะใช้อะคริลิกลอนช่วยกันน้ำฝน แต่ในขณะเดียวกันก็เปิดโล่งให้แสงธรรมชาติพาดผ่านพื้นที่ในอาคาร

Designer : จตุพร วงษ์ทอง
Location : ตลาดน้อย กรุงเทพฯ
อ่านบทความ TaiGuan Café ต่อได้ที่ : http://bit.ly/2ZpWDKv

02 Patina Bangkok
สถาปัตยกรรมโบราณที่ซ่อนเรื่องราววิถีชีวิตของคนไทยเชื้อสายจีนไว้ภายใน

อีกหนึ่งหมุดหมายที่ไม่ควรพลาดในย่าน ‘ตลาดน้อย’ คือ Patina Bangkok คาเฟ่ที่เต็มไปด้วยเสน่ห์ความคลาสสิกของสถาปัตยกรรมโบราณอายุกว่า 200 ปี ที่มีวิถีชีวิตแบบดั้งเดิมของคนไทยเชื้อสายจีนซ่อนอยู่ภายใน

สิ่งที่น่าสนใจ คือ บ้านหลังเก่านี้เลือกที่จะคงความคลาสสิกของโครงสร้างเดิมเอาไว้ บริเวณหน้าร้านผสมผสานระหว่างความเป็นไทยและสไตล์จีนเข้าไว้ด้วยกันอย่างกลมกล่อม หลังคาจั่วและหน้าต่างไม้แบบบ้านไทยโบราณ ผสานเข้ากับซุ้มประตูทรงโค้งกลมสไตล์จีนและช่องลมฉลุลาย เมื่อเดินเข้าสู่ภายในเราจะพบกับคอร์ดยาร์ดสองตอน ซึ่งเป็นเอกลักษณ์ของบ้านในแบบจีนโบราณ อีกทั้งยังมีบ่อน้ำแบบจีนโบราณซ่อนอยู่ภายใน

Interior : กาลเวลา
Location : ซอยวานิช 2 ตลาดน้อย กรุงเทพฯ

03 Lhong Tou café
คาเฟ่ใหม่ใส่ความเป็นจีน ที่นั่งจิบกาแฟได้อย่างมีระดับ

Lhong Tou café ตั้งอยู่บนถนนเยาวราช ถนนที่เราขนานนามกันว่าถนนมังกร ซึ่งตำแหน่งของคาเฟ่อยู่ค่อนมาทางจุดเริ่มต้นของถนนสายนี้ เป็นที่มาของชื่อ “หลงโถว” ซึ่งแปลว่า หัวมังกรในภาษาจีน นั่นเอง

ด้วยความตั้งใจที่จะรีโนเวทตึกแถวยุคเก่าหน้ากว้างประมาณ 3.60 เมตร ให้กลายเป็น Everyday Café หมุดหมายในทริปเยาวราชของทุกคน ด้วยความแคบนั้น การรีโนเวทร้านใหม่จึงออกแบบให้มีที่นั่งแบบสองชั้น หรือที่ในภาษาจีนเรียกกันว่า ‘เหล่าเต๊ง’ เสมือนเป็นเฟอร์นิเจอร์ชิ้นใหญ่ที่ถูกออกแบบมาให้นั่งได้มากขึ้นด้วยการต่อเติมที่นั่งชั้นสอง ซึ่งออกแบบรูปร่างของที่นั่งให้ผู้ที่นั่งโต๊ะด้านล่างไม่รู้สึกอึดอัดแต่อย่างใด เพราะเป็นการบรรจุสเกลความสูงที่เหมาะสมตั้งแต่ที่นั่ง โต๊ะ และพื้นที่ชั้นสองซึ่งสูงมากกว่า 1.80 เมตร

ส่วนบรรยากาศภายใน ผู้ออกแบบตั้งใจให้มีกลิ่นอายความเป็นจีนเหมือน ‘โรงเตี๊ยม’ ที่มีโต๊ะกลมและใส่ความโมเดิร์นเข้าไปผ่านลายหินอ่อนสีขาวสะอาด รวมถึงเก้าอี้เล็ก ๆ นั่งรวมกันหลายคนเพื่อจิบชากาแฟ สร้างปฏิสัมพันธ์ระหว่างลูกค้า แถมยังเป็นที่สนใจของคนหลายช่วงวัย ตั้งแต่วัยรุ่นจนถึงวัยอากงอาม่า

Designer : นิธิ วรเนตร, วรรณยศ บุญเพิ่ม และอิทธิ วรเนตร
Location : ถนนเยาวราช กรุงเทพฯ
อ่านบทความ Lhong Tou café ต่อได้ที่ : http://bit.ly/2K2VXhp

04 Jing Jing Ice-cream Bar & Cafe
“จิงจิง” ร้านไอศกรีมโฮมเมดที่มีแต่ความจริงใจ

ไม่ไกลจากวัดมังกร หรือวัดเล่งเนยยี่นัก มีร้านไอศกรีมโฮมเมดเล็กๆ แฝงตัวอยู่ท่ามกลางตึกแถวเก่าย่านเจริญกรุง 14 อย่าง Jing Ice-cream Bar & Café” ร้านเล็กๆ 1 คูหา ที่รีโนเวทตึกแถวเก่า 3 ชั้น มาทำใหม่ในรูปแบบ Chinese-Loft

โดย Jing Jing มาจากภาษาจีนแต้จิ๋ว พ้องเสียงกับคำว่า “จริง” ในภาษาไทย ซึ่งตรงกับแนวคิดของร้าน คือ ของทุกอย่างในร้านจะใช้เนื้อแท้ของวัสดุจริง ๆ เช่น ใช้โครงสร้างของตึกเดิม เฟอร์นิเจอร์เก่าแต่งร้าน รวมไปถึงไอศกรีมก็ใช้วัตถุดิบนั้นจริง ๆ คือไม่แต่งสีและกลิ่นสังเคราะห์ที่จะทำลายเนื้อแท้ของวัตดุดิบนั้นทิ้งไป เพื่อให้ลูกค้าลิ้มรสชาติไอศกรีมรสชาติต่าง ๆ ได้อย่างแท้จริง
Architect: กชกร ภิระบรรณ
Interior: จรัสพงศ์ เชื้อพูล
Location : ถนนเจริญกรุง 14 กรุงเทพฯ
อ่านบทความ Jing Jing Ice-cream Bar & Cafe ต่อได้ที่ : https://bit.ly/3r3U8JS

05 San Yong Café
คาเฟ่จีนสไตล์โมเดิร์นที่เติมความอบอุ่นผ่านวัสดุกลิ่นอายคราฟท์

San Yong (ซันหยง) แปลจากภาษาจีนแต้จิ๋วอย่างตรงตัวว่า เจริญรุ่งเรืองทั้งสามคน โดย ‘หยง’ ยังเป็นหนึ่งในองค์ประชอบชื่อจีนของลูกชายทั้งสาม ทีมสถาปนิกจึงตัดสินใจว่า แนวคิดหลักของร้านคาเฟ่นี้ที่ต้องการนำเสนอ คือ กลิ่นอายและวิถีชีวิตของครอบครัว ยาจีน อาหารจีนประยุกต์ และกาแฟโลกใหม่ (ซึ่งเป็นสิ่งที่ครอบครัวสนใจ) ตีความเป็นงานเอเชียร่วมสมัยโดยเลือกใช้วัสดุธรรมชาติมาถ่ายทอดเป็นความคราฟท์และความขลังผ่านเครื่องจักสาน หวาย ทองเหลือง เครื่องดินเผาและไม้จริง

การดีไซน์ฟาซาดด้านหน้า สถาปนิกเล่าว่าคล้ายกับวิชา Design Fundamental ที่นักเรียนออกแบบทุกคนต้องคุ้นชิน รูปด้านอาคาร (Elevation) จึงออกแบบสีสันและเส้นตรงในสัดส่วนที่เข้ากันอย่างพอดิบพอดี เติมกลิ่นอายความเป็นจีนด้วยกระเบื้องหลังคาดินเผาแบบจีนดั้งเดิมที่นำมามุงเป็นผนังและยึดเข้าด้วยกันผ่านสกรู ซ่อนป้ายชื่อร้านซันหยงเอาไว้ภายใน ชวนนึกถึงร้านอาหารในประเทศแถบเอเชีย ส่วนหนึ่งของรูปด้านอาคารยังออกแบบช่องเปิดหน้าต่างบานสูง ทำหน้าที่นำแสงธรรมชาติให้เข้าสู่พื้นที่ เพื่อลดความทึบตันจากขนาดอาคารที่มีจำกัด

Designer : Bellman Design Studio
Location : ตำบลบางแม่นาง อำเภอบางใหญ่ จังหวัดนนทบุรี
Photographer : ชลัฐพล วลัยกนกและ ภูริวัจน์ เนตีพีระพงศ์
อ่านบทความ San Yong Café ต่อได้ที่ : https://bit.ly/3ArAUAf

06 KOPIHUB
หยิบองค์ประกอบของเข่งติ่มซำมาทำเป็นสถาปัตยกรรมยุคใหม่กลิ่นอายไทยและจีน

KOPIHUB เป็นแบรนด์ติ่มซำ กาแฟ และชาโบราณ สูตรต้นตำรับของคุณแม่ในย่านอ่างศิลา จังหวัดชลบุรีที่ทายาทรุ่นสองเข้ามาบริหารจัดการร้านสาขาใหม่ แปลงโฉมให้ความสำคัญกับงานดีไซน์มากขึ้น สถาปนิกหยิบ ‘เข่งติ่มซำ’ มาเล่นกับงานดีไซน์ทั้งการนำไปใช้อย่างตรงตัว และการนำเส้นสายฟอร์มโค้ง องค์ประกอบการสาน แพทเทิร์นบางส่วนมาถ่ายทอดกลายเป็นสถาปัตยกรรมที่สอดคล้องไปกับแบรนด์

สิ่งที่น่าสนใจ คือ องค์ประกอบร่วมสมัยกลิ่นอายไทย-จีนที่อัดแน่นอยู่ทั่วร้าน ซึ่งสถาปนิกนำวัสดุที่พบจากร้านสาขาแรกอย่างไม้เก่า เข่งติ่มซำเก่า มาผสมผสานกับองค์ประกอบใหม่ที่เลือกใช้อย่างงานกระเบื้องโบราณ การพ่นสีเท็กเจอร์งานผนัง และหน้าต่างรูปดอกไม้ที่คิดแพทเทิร์นขึ้นใหม่โดยเฉพาะ โดยภาพรวมยังหยิบสีครีมและสีแดงมาใช้เป็นหลัก ส่งกลิ่นอายถึงวัฒนธรรมจีนร่วมสมัยได้อย่างกลมกล่อม

Designer : DOES studio
Location : ถนนพะยาสัจจา อ่างศิลา จังหวัดชลบุรี
Photographer : Shootative
อ่านบทความ KOPIHUB ต่อได้ที่ : https://bit.ly/3g331Nn

Writer
Rangsima Arunthanavut

Rangsima Arunthanavut

Landscape Architect ที่เชื่อว่าแรงบันดาลใจในงานออกแบบ สามารถเกิดขึ้นได้จากทุกสิ่งรอบตัว และการบอกเล่าเรื่องราวการออกแบบผ่าน 'ตัวอักษร' ทำให้งานออกแบบที่ดี 'มีตัวตน' ขึ้นมาบนโลกใบนี้

Discover more from Design Makes A Better Life.

Subscribe now to keep reading and get access to the full archive.

Continue reading