ท่ามกลางผืนทะเลทรายแห้งแล้ง แหล่งน้ำจืดอาจกลายเป็นสมบัติล้ำค่าขึ้นมาทันที แล้วในวันนี้สมบัติล้ำค่าชิ้นนั้นก็กลายเป็นมรดกทรงคุณค่าของแผ่นดิน แหล่งน้ำจืดเล็ก ๆ นี้เป็นเสมือนต้นตอของการกำเนิดชุมชนเล็กๆ ที่ต่อมาพัฒนากลายเป็นมหานครอันทันสมัยขนาดใหญ่ ตลอดจนเป็นเวทีแสดงผลงานสถาปัตยกรรมยุคใหม่ของโลกที่มีสถาปนิกฝีมือดีมากมายแวะเวียนมาฝากผลงานอันโดดเด่นไว้บนผืนทะเลทรายแห่งนี้เสมอ
หนึ่งในนั้นก็คือ Qasr Al Hosn: Al Musallah แลนด์มาร์กใหม่ล่าสุดใจกลางกรุงอาบูดาบี (Abu Dhabi) เมืองหลวงของสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (United Arab Emirates: UAE) ที่แปลงโฉมแหล่งประวัติศาสตร์เก่าแก่ที่สุดของเมืองให้กลายมาเป็นจัตุรัสล้ำอนาคตแห่งมหานคร
ความโดดเด่นของจัตุรัสโฉมใหม่นี้ก็คือการนำเอาเส้นสายและรูปทรงเรขาคณิตมาใส่ลงไปในการออกแบบภูมิสถาปัตย์ตลอดจนสถาปัตยกรรมอย่างสร้างสรรค์ นอกจากจัตุรัสนี้จะกลายมาเป็นพื้นที่สาธารณะหลากประโยชน์แห่งใหม่ของเมืองแล้ว ยังเป็นที่ที่เล่าเรื่องราวประวัติศาสตร์ของเมืองได้อย่างสมบูรณ์แบบอีกด้วย และกลายเป็นอีกหนึ่งผลงานสถาปัตยกรรมชิ้นเอกที่ทั่วโลกกำลังให้ความสนใจไม่แพ้สถาปัตยกรรมชิ้นไหนในเมืองนี้เลย สำหรับแม่งานใหญ่ของการปรับภูมิทัศน์ครั้งนี้ก็คือผู้ดูแลพื้นที่อย่าง The Department of Culture and Tourism of Abu Dhabi หน่วยงานด้านวัฒนธรรมและการท่องเที่ยวของเมืองที่จัดประกวดแบบบนเวทีสากลขึ้นอีกครั้ง แล้วผู้ชนะที่ได้โอกาสแสดงฝีมือในคราวนี้ก็คือ CEBRA Architecture บริษัทสถาปนิกชื่อดังแห่งเดนมาร์กที่เคยฝากผลงานโดดเด่นไว้มาแล้วมากมาย
ถึงแม้ว่าสถาปนิกจะมาจากฝั่งตะวันตกและเจ้าของโปรเจ็กต์นี้เป็นชนชาติตะวันออกกลาง แต่แก่นความคิดหลักที่ถูกนำมาวางรากฐานในการออกแบบแลนด์มาร์กครั้งนี้กลับเป็นหลักปรัชญาจากฝั่งตะวันออกอย่างเรื่อง “หยิน-หยาง” ที่ว่าด้วยความแตกต่างอย่างสมดุล แก่นนี้ถูกถ่ายทอดออกมาเป็นแปลนหลักที่ออกแบบแบ่งพื้นที่แยกเป็นสองโซนหลักให้แตกต่างกันอย่างชัดเจน แต่ในขณะเดียวกันก็เชื่อมผสานเส้นแบ่งให้ดูกลมกลืนกันอย่างลงตัว และสร้างภาพรวมทั้งหมดให้เป็นหนึ่งเดียวกัน
แต่ละฝั่งต่างก็มีหัวใจสำคัญของตัวเองและมีเอกลักษณ์ที่ไม่เหมือนกัน โดยฝั่งแรกจะเป็นโซนที่ตั้งของป้อมปราการ Qasr Al Hosn ซึ่งเป็นอาคารที่เก่าแก่ที่สุดของเมืองและเป็นจุดเริ่มต้นแรกสุดของการกำเนิดมหานครอบูดาบีด้วยนั่นเอง เดิมทีป้อมปราการแห่งนี้ถือกำเนิดขึ้นครั้งแรกในปี ค.ศ.1761 โดย Sheikh Dhiyab Bin Isa เป็นผู้สั่งการให้สร้างขึ้นเพื่อดูแลและป้องป้องแหล่งน้ำจืดอันสำคัญนี้ ก่อนที่ภายหลังชีคพระองค์นี้จะตัดสินใจมาประทับถาวรเพื่อสร้างอาณาจักรของตัวเองขึ้นใหม่ แล้วจึงขยายอาณาเขตป้อมปราการให้กว้างใหญ่ขึ้นเพื่อปรับเปลี่ยนให้เป็นพระราชวังของพระองค์ไปพร้อมกันด้วย
ทุกวันนี้ป้อมปราการกลายมาเป็นอนุสรณ์แห่งชาติอันทรงคุณค่าตลอดจนแหล่งเรียนรู้ประวัติศาสตร์ที่สำคัญของชาติ การออกแบบภูมิสถาปัตย์ในโซนนี้ทางสถาปนิกจึงต้องการคงเสน่ห์แบบวันวานไว้ให้ได้มากที่สุด นั่นทำให้พื้นที่โดยรอบป้อมปราการนั้นถูกปล่อยให้เป็นผืนทะเลทรายตามธรรมชาติดั้งเดิม นอกจากจะช่วยให้เราเห็นภาพอดีตได้อย่างชัดเจนแล้วมันยังช่วยส่งให้ตัวอาคารเก่าแก่นี้โดดเด่นขึ้นด้วย
แน่นอนว่าหัวใจสำคัญที่แท้จริงของสถานที่นี้ก็คือบ่อน้ำจืด ในโซน Qasr Al Hosn จึงยังคงอนุรักษ์บ่อน้ำโบราณเอาไว้ พร้อมกับดีไซน์แปลนใหม่เพื่อเล่าเรื่องราวอันเป็นเอกลักษณ์ในยุคใหม่นี้ไปพร้อมกัน แหล่งน้ำผิวดินถูกปรับเปลี่ยนให้กลายเป็นบ่อน้ำดีไซน์เก๋สำหรับพักผ่อนหย่อนใจ บ่อน้ำนี้วางตัวอยู่บริเวณมุมด้านหนึ่งในแนวกึ่งกลางระหว่างรอยต่อของทั้งสองฝั่งพอดี แล้วจากบ่อหลักก็มีการออกแบบลำธารประดิษฐ์เล็กๆ ในสไตล์โมเดิร์นที่หมือนสายน้ำไหลผ่านไปยังผืนดินต่างๆ อันเป็นภาพสะท้อนถึงสวนสาธารณะแห่งอนาคตได้เป็นอย่างดีทีเดียว
สำหรับพื้นที่อีกฝั่งคือตัวแทนความเป็นยุคปัจจุบันที่ผสานกับยุคอนาคตได้อย่างลงตัว พระเอกของโซนนี้มีอยู่สองสิ่งหลักๆ ซึ่งอย่างแรกก็คืออาคาร Cultural Foundation มูลนิธิทางวัฒนธรรมของเมืองที่เป็นหน่วยงานในสังกัดของ The Department of Culture and Tourism of Abu Dhabi นั่นเอง โดยสิ่งก่อสร้างนี้ก็คือสถาปัตยกรรมดั้งเดิมอันทรงคุณค่าอีกหลังที่ถูกสร้างขึ้นในยุคต่อมาราวปี ค.ศ.1981 ในรูปแบบสถาปัตยกรรมร่วมสมัยสไตล์ Arab-Islamic Architecture ที่ถ่ายทอดกลิ่นอายโมเดิร์นคลาสสิกได้อย่างมีเสน่ห์
ความโดดเด่นของอาคารนี้เห็นจะเป็นรูปทรงอาคารที่เรียบง่ายผสานกับรายละเอียดที่ไม่ซับซ้อนแต่ก็แทรกเอกลักษณ์สถาปัตยกรรมท้องถิ่นเข้าไปอย่างลงตัว โดยเฉพาะอัตลักษณ์ที่มีเสน่ห์อย่างแนวระเบียงซุ้มประตูโค้งที่เรียงรายกันเป็นฟาซาดที่สวยงาม ซึ่งรายละเอียดนี้ก็ได้รับแรงบันดาลใจมาจากป้อมปราการ Qasr Al Hosn ที่ตั้งอยู่ฝั่งตรงข้ามนั่นเอง เป็นการเลียนแบบเพื่อให้เกิดความกลมกลืนกันอย่างลงตัว
ถึงแม้ว่าอาคารภายนอกจะดูเรียบหรูไม่มีอะไรโดดเด่นเป็นพิเศษ แต่ภายในกลับตรงกันข้ามเพราะการตกแต่งได้นำเอาเอกลักษณ์ของศิลปวัฒนธรรมอาหรับเข้ามาผสานกับดีไซน์ร่วมสมัยได้อย่างงดงามทีเดียว โดยเบื้องหลังผลงานอันทรงคุณค่าชิ้นนี้ก็คือผู้ชนะการประกวดแบบในคราวนั้นอย่าง The Architects’ Collaborative (TAC) อดีตบริษัทสถาปนิกอันยิ่งใหญ่ของโลกที่นำทัพโดยหัวเรือใหญ่อย่าง Walter Gropius ผู้เป็นอีกตำนานสำคัญของวงการสถาปนิกนั่นเอง
ในโปรเจกต์นี้นอกจากอาคารหลักของ Cultural Foundation แล้ว พื้นที่โดยรอบถูกปรับภูมิทัศน์ใหม่ทั้งหมด โดยคอนเซ็ปต์ของการออกแบบก็คือการผสมผสานเรขาคณิตหลากรูปร่างหลายรูปทรงให้เข้ากันอย่างกลมกลืน หากมองด้านข้างเราจะเห็นการเล่นระดับที่หลากหลายผสานกับรูปทรงเหลี่ยมที่แปลกตา แต่หากมองจากด้านบนเราจะเห็นการเชื่อมต่อของพื้นผิวรูปทรงเรขาคณิตอย่างเป็นระบบระเบียบซึ่งสื่อถึงความล้ำสมัยของยุคอนาคตได้เป็นอย่างดี โดยรูปแบบเรขาคณิตเหล่านี้ยังได้แรงบันดาลใจในการออกแบบมาจากพื้นผิวดินที่แตกระแหงอันเป็นเอกลักษณ์ทางภูมิศาสตร์ของธรรมชาติในแถบนี้
ภูมิสถาปัตย์เหล่านี้ยังถูกออกแบบให้เชื่อมต่อสู่อีกหนึ่งสถาปัตยกรรมสำคัญอีกอาคารที่ซ่อนอยู่ท่ามกลางโลกแห่งเรขาคณิตอย่างกลมกลืน แล้วยังไม่แย่งความโดดเด่นของพระเอกทั้งสองอาคารไปด้วย อาคารนี้ก็คือ Al Musallah สถาปัตยกรรมที่ถูกสร้างขึ้นมาใหม่เพื่อให้เป็นสถานที่ละหมาดของชาวอิสลาม ตัวอาคารจะเป็นทรงแท่งหลากเหลี่ยมผสานกันคล้ายภูเขาซึ่งเราสามารถลัดเลาะซอกต่างๆ เพื่อเข้าไปยังอาคารด้านในได้ ความกลมกลืนของรูปแบบสถาปัตยกรรมกับการออกแบบภูมิสถาปัตย์โดยรอบนั้นไม่ได้มีแต่เพียงด้านนอกอาคารเท่านั้น เพราะคอนเซ็ปต์นี้ถูกส่งต่อไปยังการตกแต่งภายในที่เต็มไปด้วยรูปทรงเรขาคณิตประกอบเรียงรายกันอย่างน่าตื่นตา
สำหรับรูปทรงและเหลี่ยมมุมสไตล์เรขาคณิตที่นำมาออกแบบ Al Musallah นั้นก็ได้แรงบันดาลใจมาจากถ้ำฮิรออ์ (The Cave of Hira) บนยอดเขานูร (Jabal an-Nour) ใกล้กับนครมักกะฮ์ (หรือที่คุ้นเคยกันในชื่อ นครเมกกะ) ประเทศซาอุดีอาระเบีย ซึ่งที่นี่ก็คือหนึ่งในสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ของศาสนาอิสลามอันเป็นที่ที่ท่านนบีมุฮัมมัดได้รับวะฮียฺ (การวิวรณ์ – การที่สิ่งเหนือธรรมชาติ เช่น เทวดาหรือพระเป็นเจ้าได้เปิดเผยความจริงหรือความรู้สำคัญบางประการแก่มนุษย์) จากอัลลอฮฺเป็นครั้งแรกในโลกนั่นเอง
จากดินแดนทะเลทรายอันเวิ้งว้างแห้งแล้งพัฒนาสู่จัตุรัสทันสมัยที่รายล้อมด้วยตึกระฟ้า การปรับรูปโฉมใหม่คราวนี้ก็เพื่อสร้างความสมดุลของอดีต ปัจจุบัน และอนาคตให้ผสานเป็นหนึ่งเดียวกันอย่างลงตัว เรื่องเล่าของอดีตที่ทรงคุณค่าส่งผ่านสู่เรื่องราวแห่งอนาคตที่มีวิสัยทัศน์ และอนาคตที่รุ่งเรืองก็จะสะท้อนให้เห็นถึงรากของอดีตที่แข็งแกร่งไปพร้อมกัน
ภาพและที่มา :
CEBRA Architecture: https://cebraarchitecture.dk/
Abu Dhabi Culture: https://abudhabiculture.ae/en/experience/culture-centres/cultural-foundation
Cultural Foundation: https://culturalfoundation.ae/
Qasr Al Hosn: https://qasralhosn.ae/
Archdaily: https://www.archdaily.com/930148/qasr-al-hosn-al-musallah-prayer-hall-cebra/5df236de3312fd3636000234-qasr-al-hosn-al-musallah-prayer-hall-cebra-site-plan
Architizer: https://architizer.com/projects/al-musalla-qasr-al-hosn-the-mosque-al-hosn-fort/
ZRS: https://www.zrs.berlin/project/old-watchtower-at-qasr-al-hosn/
Abu Dhabi: https://visitabudhabi.ae/en
รับข่าวสารเรื่องการออกแบบ สถาปัตยกรรม ไลฟ์สไตล์
ทางอีเมล ที่จะส่งตรงถึงคุณทุกเดือน ลงทะเบียนได้ที่ด้านล่างนี้เลย!