Blue Bangkok
เก็บความทรงจำของอาคารเก่ามาบรรจุไว้ในของที่ระลึกขนาดจิ๋ว

การเก็บความทรงจำและเรื่องราวอาคารเก่าของใครหลายคน อาจทำได้ง่ายๆ ผ่านภาพถ่าย
แต่สำหรับ ตู้​-ฐปนัท​ แก้วปานและเนย​-สุภัสสรา​ เนตรบำรุงรัตน์ เรื่องราวทรงคุณค่าเหล่านั้นถูกเลือกมาบรรจุไว้ในรูปแบบ ของที่ระลึกอาคารจิ๋ว ที่ผ่านกระบวนการทั้งการเดินสำรวจเมือง การค้นคว้าข้อมูลเชิงประวัติศาสตร์ และการสเก็ตช์แบบด้วยมือ จนเกิดเป็นเพจและธุรกิจเล็กๆ ในชื่อ Blue Bangkok ที่หวังจะเป็น Soft Power ให้ทุกคนกลับมาอินเรื่องราวของอาคารเก่าผ่านของสะสมชิ้นเล็กชิ้นน้อยที่ไม่ว่าใคร หรือวัยไหนๆ ก็สามารถเข้าถึงได้

ในวันศุกร์สบาย ๆ Dsign Something ชวนทั้งคู่มาพูดคุยถึงที่มาที่ไป เรื่องราวที่ซ่อนความน่าสนใจ และถือโอกาสนี้รับบทเป็นลูกทัวร์ให้ทั้งคู่พาเดินเล่นกับเส้นทาง 4 ตึกเมืองเก่าย่านเยาวราชและถนนทรงวาด ซึ่งเป็นสถานที่ตั้งของคอลเล็กชันใหม่ที่ Blue Bangkok กำลังจะวางขายในงาน Bangkok Design Week ปี 2022 นี้ด้วย

(เนย-สุภัสสรา เนตรบำรุงรัตน์ และตู้-ฐปนัท แก้วปาน)

01 จุดเริ่มต้น : จากคนที่หลงรักในศิลปะและของสะสม

ทั้งสองคนเรียนจบหรือทำงานสายออกแบบมาก่อนหรือเปล่า ถึงมาสนใจในด้านนี้? นั่นคือคำถามแรกที่เราสงสัย
ก่อนจะได้รับคำตอบว่า คุณตู้นั้นจบด้านออกแบบผลิตภัณฑ์ คณะมัณฑนศิลป์ จากมหาวิทยาลัยศิลปากรทั้งปริญญาตรีและโท ส่วนคุณเนยเรียนจบครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งถึงแม้จะมาจากสายวิชาที่ต่างกัน แต่สิ่งที่ทั้งคู่มีเหมือนกัน คือความชื่นชอบในงานศิลปะ

คุณตู้เล่าว่า จุดเริ่มต้นจริงๆ มาจากการที่คุณแม่เป็นนักสะสมแม่เหล็กติดตู้เย็นจากสถานที่สำคัญทั่วโลก ในยามที่ได้ไปเยือนสถานที่ในต่างประเทศจึงทำให้เขาสังเกต หรือเก็บสะสมของเหล่านี้เรื่อยมา “เวลาไปต่างประเทศ เรารู้สึกตลอดเลยว่าของที่ระลึกเขาดีจัง ศิลปะเขาสวยงาม แต่ของไทยส่วนมากเป็นวัด วัง ตัวเลือกมันมีน้อย คุณค่าหรือรูปแบบของศิลปะถูกจำกัด ทำให้ศิลปะของไทย คนนึกถึงแต่ลายไทย ซึ่งพอเราได้สัมผัสร้านค้าชุมชนที่อยู่กับตึกเก่า เราว่านั่นคือ วิถีชีวิตที่ซ่อนอยู่จริงๆ”

“ในต่างประเทศ เรื่องพวกนี้มันไม่ใช่เรื่องแปลกใหม่เลย แต่ในไทย คนเราให้ความสำคัญเรื่องนี้น้อย เงินที่จะจ่ายก็น้อยตาม คุณภาพที่ทำก็ตามราคา แต่พอเราเป็นนักออกแบบ เราชอบศิลปะ เราเลยเห็นช่องว่างตรงนี้ อยากให้มีของที่ระลึกที่มันดูมีเรื่องราวอยู่ในนั้นจริงๆ ” คุณเนยเสริม

“ด้วยความที่เรียนศิลปากร เรารู้สึกว่ามันไม่ใช่แค่เรื่องศิลปะ การออกแบบ แต่มันมีเรื่องโบราณคดีเข้ามาเกี่ยวข้อง หลายๆ อย่างตรงนั้นทำให้เราเปลี่ยนความคิด ก่อนจะเรียนปริญญาโท เราก็มีโอกาสได้ทำ Freelance Designer ที่ไปพัฒนาสินค้าให้ชุมชนท่องเที่ยว การจะสร้างอะไรขึ้นมามันต้องการ Story Telling ดีๆ บางอย่าง สิ่งเหล่านี้จะทำให้ผู้คนเขาอยากมาเที่ยวและเห็นคุณค่าของมัน”

Collection 1 : โมเดลตึกเก่า ชุดตึกเก่าย่านพระนคร
หน้าพระลาน (ตึกสีเหลือง), สราญรมย์ (ตึกสีน้ำตาลอมส้มชมพู), เจริญกรุง (ตึกสีเขียว) และนางเลิ้ง (ตึกสีชมพู)

“ชุดแรก คือ เจริญกรุง เริ่มต้นจากเราไปเจอข้อมูลว่าถนนเส้นแรกของไทย คือ เจริญกรุง แต่จริงๆ แล้วมันไม่ใช่ เราเลยลงพื้นที่ไปสำรวจ ร้านหรืออาคารที่เลือกมาทำก็เป็นสถานที่จริง ซึ่งเป็นตึกที่เราชอบหรือเนยชอบ”

(Collection 1 : โมเดลตึกเก่า ชุดตึกเก่าย่านพระนคร)

02 เรื่องราวระหว่างทาง

นอกจากศิลปะที่ทั้งคู่หลงใหล อีกหนึ่งสิ่งที่เราสัมผัสได้คือความเนิร์ดในเรื่องราวประวัติศาสตร์ เสน่ห์และคุณค่าของอาคารเก่าที่ได้ค้นพบระหว่างทาง ซึ่งคุณตู้และคุณเนยหยิบมาเล่าให้เราฟังได้เป็นฉากๆ ตอนๆ
“อย่างทรงวาดมันสนุกตรงที่ มันเป็นแหล่งรวมเชื้อชาติ ทรงวาดจะมีอาคารฉลุเยอะ ดูมีแพทเทิร์น มีรูปแบบ อาจจะเป็นกลุ่มช่างมุสลิมหรือเปล่า ซึ่งเราก็จะไปสิงตามเพจเฟสบุค กลุ่มอาคารเก่า เวลาเขาลงรูปเราก็ไปดู ไปอ่าน บางทีเขามีจัดทริปเดิน

ถ้าเราสนใจตึกไหน เราผ่านไปแล้วเห็นป้ายมีชื่อเจ้าของตึก เราก็จะเอาไปค้นต่อ ซึ่งเราสองคนสนุกตรงนี้ที่ได้รู้ต่อว่าเขาเป็นใคร ทุกตึกที่ทำเราพยายามหาที่มา อย่างอาคารนี้ก็น่าสนใจตรงที่เขาสร้างตึกขึ้นมาก่อนแล้วครอบโดมไม้ไว้ข้างบนทีหลัง เพราะข้างล่างเป็นโมเดิร์น แต่ข้างบนอ่อนช้อย ปราณีต เราเลยชอบเพราะมันทำให้เราเกิดคำถามหลาย ๆ อย่างให้ไปค้นต่อ  บางทีก็มีเรื่องที่เข้าใจผิดกันไปใหญ่ แล้วได้มารู้ทีหลังว่า เอ้า..มันไม่ใช่แบบที่เราคิด”

“เราพยายามทำคลังข้อมูลเก็บไว้ก่อน แล้วค่อยมาเลือกว่าจะทำอะไร ตึกที่เราเอามาย่อ เรามองว่ามันเป็นตัวแทนของยุคสมัย ย่อลงมาให้คนทั่วไปได้เห็น ได้เข้าใจง่ายๆ อย่างสกาล่าเราชอบมาก มันเหมือนเป็นตัวแทนของยุคสมัยที่เรากำลังรับวัฒนธรรมตะวันตกเข้ามาอย่างจริงจัง แต่กลายเป็นว่าก็โดนทุบไปแล้ว เสียดายที่เราทำไม่ทัน”

Collection 2 : Blue bangkok x TCDC (Bkk design week 2021)
ร้านปิง ปากซอยเจริญกรุง 38, อาคาร NANA ปากซอยเจริญกรุง 43, บ้านเหลียวแล ซอยแฟลตทรัพย์สิน ตลาดน้อย และร้านโบ๊ยเกี้ยเจ๊เนี้ยว ปากซอยศรีเวียง บางรัก
“ส่วนมากที่เราเลือกมาจะเป็นอาคารตึกแถว เราชอบอะไรพวกนี้ เพราะรู้สึกมันใกล้วิถีชีวิต และเข้าถึงตัวคนได้ง่ายกว่า” ความพิเศษของคอลเล็กชันนี้ คือ การร่วมมือกับ TCDC (Bkk design week 2021) ด้วยการย่ออาคารย่านบางรักในขนาดไซส์เล็กกว่าปกติให้กลายเป็นไข่กาชาปองที่ผู้เข้าร่วมงานสามารถมาหมุนเป็นกิจกรรมหนึ่งได้

หากสังเกตได้ คอลเล็กชันจะมีมุมมองที่อาคารลู่ขึ้นด้านบนเล็กน้อย ซึ่งคุณตู้ตั้งใจเล่นมุมมองเรื่องราวเสมือนว่าเรากำลังเดินถ่ายรูปอาคารนั้นๆ อยู่ เพื่อให้ของจิ๋วนี้เชื่อมโยงกับความรู้สึกของผู้คนได้มากขึ้น

(Collection 2 : Blue bangkok x TCDC (Bkk design week 2021)

03 การทำงานในแบบฉบับของ Blue Bangkok

กว่าจะออกเป็นอาคารจิ๋วหนึ่งชิ้นผ่านกระบวนการมาไม่น้อย เริ่มตั้งแต่การลงพื้นที่จริงไปเดินสำรวจย่านนั้นๆ เพื่อให้เข้าใจถึงวิถีชีวิต หรือเข้าใจตัวอาคารได้จากสถานที่จริง หลังจากนั้นจึงกลับไปสเก็ตช์ด้วยหมึกสีน้ำเงินซึ่งเป็นความเคยชินจากสมัยเป็นนักศึกษาออกแบบผลิตภัณฑ์และยังเป็นที่มาของชื่อ Blue Bangkok อีกด้วย หลังจากได้แบบสเก็ตช์จึงเข้าสู่ขั้นตอนการลงสีเพื่อให้ได้โทนที่ลงตัว ก่อนจะส่งไม้ต่อให้ คุณเข้ม​-เชษฐชาติ​ ทาชาติ​ หนึ่งในทีมงาน มารับหน้าที่ขึ้นแบบพิมพ์สามมิติ เพื่อสร้างต้นแบบ ลงสีจริง ส่วนขั้นตอนสุดท้ายเป็นของช่างฝีมือ แกะแบบ ทำพิมพ์ เพื่อให้สามารถผลิตจำนวนมากได้อย่างมีคุณภาพ

“ต้นแบบเราเพนท์เอง ใช้มือล้วนๆ เลย บางรายละเอียดอาจจะไม่เหมือนของจริงซะทีเดียว เพราะเราตั้งใจลดทอน แต่บางองค์ประกอบที่มันเห็นการเชื่อมต่อ การเปลี่ยนผ่านของยุคสมัยเราจะคงไว้ อย่างแอร์ยุคเก่า เสาไฟฟ้า หรือปูนปั้น คอลเล็กชันแรกๆ เราพยายามจำลองบ้าน หรืองานสถาปัตยกรรมออกมาก่อน แต่คอลเล็กชันในงานต่อๆ ไป เราก็ตั้งใจที่จะใส่เรื่องราวเข้าไปมากขึ้น อย่างการเติมแมว หรือสัตว์บางชนิดเข้าไป”

Collection 3 : BlueBangkok x Museum Siam ชุด “มาริโอ้ ตามานโญ่”
ตึกกระทรวงพาณิชย์เดิม (มิวเซียมสยาม), พระที่นั่งอนันตสมาคม, สถานีรถไฟกรุงเทพ (หัวลำโพง) และ ตึกไกรสร บ้านนรสิงห์ (ไทยคู่ฟ้า)
คอลเล็กชันนี้เราลองมิติอื่นๆ คือถ้าเราวาดหน้าตรงมันจะดูใหญ่ ดูนิ่งเกินไป เราเลยเล่นแนวคิด มุมมองด้านข้างของตามานโญ่เพราะเรารู้สึกว่า เวลาเราไปสถานที่ราชการ เราแทบไม่ได้เข้าไปสัมผัสเท่าไร เราจะอยู่ผ่านรั้ว พอเราสร้างความรู้สึกกับสถานที่นั้นจริงๆ มันก็จะทำให้งานดูมีมิติมากขึ้น”

(Collection 3 : BlueBangkok x Museum Siam ชุด "มาริโอ้ ตามานโญ่")

04 ของที่ระลึกไม่จำกัด

เรื่องราวทั้งหมดยังไม่ได้ถูกจำกัดอยู่ภายในอาคารจิ๋วเท่านั้น แต่คุณตู้และคุณเนยตั้งใจให้สิ่งหล่านี้เป็น Pop Culture ที่สามารถส่งต่อพลัง แนวคิดอนุรักษ์ในรูปแบบใหม่ๆ ได้อย่างไม่มีรูปแบบจำกัดตายตัว  

“เรามองหาอะไรใหม่ๆ อย่างบอร์ดเกมส์ หมากฮอต หมากรุก อะไรที่มันสามารถเข้าถึงคนได้ทั้งรุ่นใหม่รุ่นเก่า และนำลวดลายจิตรกรรมฝาผนังสมัยรัชกาลที่ 3 มาผสมผสานกัน มองหาอะไรที่มีฟังก์ชันมากขึ้นอย่างที่เสียบปากกา หรือกล่องดินสอที่เรากำลังพัฒนาอยู่ เราว่ามันคือไลฟ์สไตล์ ที่เราใช้เรื่องราวพวกนี้ ทำเป็นสินค้าอะไรสักอย่าง แต่สอดแทรกทำให้คนรับรู้ถึงข้อมูลมากขึ้น เพิ่มความหลากหลายมากขึ้น”

Collection 4 : โมเดลตึกเก่า ชุดตึกเก่าย่านถนนทรงวาด
“เก่ากว่าย่านเจริญกรุง ก็คือ ย่านทรงวาด ตลาดน้อย สำเพ็ง มันคือ เมืองท่าการค้า ย่านนี้มีความเป็นนานาชาติ ทำให้เกิดการผสมผสานหลายๆ อย่าง ตามด้วยการพัฒนาอาคาร บ้านเรือนเพื่อให้รองรับฟังก์ชันนั้นๆ เช่นร้านค้าบริเวณชั้นล่าง มันน่าสนใจในการที่เราจะเอามาทำเป็นของที่ระลึก”

(Collection 4 : โมเดลตึกเก่า ชุดตึกเก่าย่านถนนทรงวาด)

“เราอยากให้คนที่ไม่เคยรู้จัก พอได้รู้จักเขาก็ไปตามหาข้อมูลดูนะ มันก็เหมือนเป็นแรงกระตุ้นอย่างหนึ่ง อย่างชุดตามานโญ่ เราแทบไม่ต้องกลัวว่ามันจะหายไปเลย เพราะรัฐดูแลอยู่แล้ว แต่อาคารเก่าทั่วไปของชาวบ้าน ของเอกชนตั้งแต่โบร่ำโบราณ เรากลัวมันจะหายไป เราเลยชอบหยิบอาคารที่ไม่ทางการ เป็นของชาวบ้าน ของคนอยู่อาศัยจริงๆ มาทำมากกว่า นอกจากนั้นเรายังทำไกด์แมปด้วย โหลดได้แล้วไปเดินตาม ไม่ใช่แค่ซื้อของที่ระลึกกลับไป แต่เจตนา เรายังตั้งใจให้พวกเขามาเดินเล่นชุมชน มากินข้าว อุดหนุนชุมชน” ทั้งคู่ทิ้งท้าย

ขอขอบคุณสถานที่
Woodbrook Bangkok

Writer
Rangsima Arunthanavut

Rangsima Arunthanavut

Landscape Architect ที่เชื่อว่าแรงบันดาลใจในงานออกแบบ สามารถเกิดขึ้นได้จากทุกสิ่งรอบตัว และการบอกเล่าเรื่องราวการออกแบบผ่าน 'ตัวอักษร' ทำให้งานออกแบบที่ดี 'มีตัวตน' ขึ้นมาบนโลกใบนี้