จากแนวกำแพงเมืองเก่าจังหวัดสงขลา สู่แนวคิดในการออกแบบ ศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบ (TCDC) แห่งแรกของภาคใต้

หนึ่งในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของไทยในทุกวันนี้คงปฏิเสธไม่ได้ว่าการออกแบบ และการสร้างสรรค์ ได้เพิ่มมูลค่ามหาศาล ที่ไม่ว่าจะเป็นสิ่งของเล็กๆ จนไปถึงสเกลใหญ่ในระดับเมือง ต่างก็ต้องอาศัยเหล่าดีไซน์เนอร์และนักคิดสร้างสรรค์เข้ามาช่วย ซึ่งพวกเขาเหล่านี้ก็ต้องการให้องค์กรทั้งภาครัฐบาล และเอกชนในการสนับสนุนผลงานของพวกเขา เพื่อพัฒนาศักยภาพ และแรงบัลดาลใจ จนสร้างผลงานออกแบบออกที่เหมาะสม ตอบโจทย์กับทุกคนทั้งในปัจจุบัน และในอนาคต ให้เกิดประโยชน์ได้อย่างสูงสุด

และในปี 2566 ที่จะถึงนี้ก็จะได้ฤกษ์เปิดตัว ศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบ สงขลา (TCDC สงขลา) ที่ได้สถาปนิกจาก Quatre Architect เข้ามารับหน้าที่ในการออกแบบในครั้งนี้ โดยเป้าหมายหลักของโครงการคือต้องการให้พื้นทีแห่งนี้กลายเป็นเศรษฐกิจกระแสใหม่ (New Economy) เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในด้านของธุรกิจของเมืองให้มากขึ้น รวมไปถึงการส่งเสริมศักยภาพให้บุคลากรได้เป็นส่วนหนึ่งในการพัฒนาเศรษฐกิจสร้างสรรค์อีกด้วย

ใช้ไอเดียกำแพงเมืองสงขลา

TCDC สาขาที่ 4 นี้คือศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบ สงขลา ได้ใช้แนวคิดที่ว่า “Save the Wall” เนื่องจากกำแพงเมืองเก่าของสงขลาที่เริ่มสร้างมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 3 ถูกเปลี่ยนนำมาถมถนน และสร้างบริบทของบ้านเมืองใหม่ในช่วง พ.ศ.2437-2448 เพราะเมื่อปี พ.ศ.2560 ได้ขุดค้นพบว่าอิฐของกำแพงเมืองได้ถูกนำมาประกอบการสร้างถนนในอดีต ปัจจุบันนี้กำแพงเมืองเก่าที่มีประตูล้อมรอบกว่า 10 ประตู แห่งนี้จึงถือว่าเป็นสัญลักษณ์ที่มีความสำคัญของเมืองสงขลาเป็นอย่างมาก แนวคิดการออกแบบอาคารจึงเป็นเหมือนภาพสะท้อนการอนุรักษ์ทางด้านคุณค่า พร้อมส่งเสริมการพัฒนาให้มีความทันสมัยมากขึ้นด้วย

การดึงภูมิปัญญาดั้งเดิมมาใช้ในสถาปัตยกรรม

ในการออกแบบสถาปนิกเลือกใช้ภูมิปัญญาในอดีตที่นำความเป็นธรรมชาติมาผสมผสานกันกับองค์ความรู้ เพื่อสร้างกำแพงเมืองขึ้นมา ซึ่งหนึ่งในภูมิปัญญานั้นคือวัสดุ อิฐดินเผาเกาะยอ ที่นำมาใช้ในการออกแบบในส่วนของฐานอาคาร ลักษณะเหมือนเป็นกำแพงเมืองหลายระดับมีหน้าที่เป็นทั้งบันได ใต้ถุน และที่นั่ง เมื่อขึ้นไปบนชั้นที่ 2 จะเป็นในส่วนของห้องสมุดที่ออกแบบการเปิดโล่ง และใช้หลังหลังคาอิฐเปิดช่องสกายไลท์ให้แสงลงมาให้กับต้นไม้ภายในอาคารเพื่อเพิ่มความสดชื่นได้มากยิ่งขึ้น โดยตัวอาคารนี้พยายามทำให้ดูกลมกลืนไปกับบริบทของบ้านเรือน และทิวเขา ด้วยการพยายามใช้กระจกที่ชวยดึงสภาพแวดล้อมเข้ามา แต่ก็ยังไม่ลืมที่จะดึงความสนใจด้วยการใช้วัสดุมันวาวที่ตัดกับกระเบื้องท่านางหอมซึ่งศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบ สงขลา นี้จะเป็นจุดสำคัญอีกหนึ่งจุดของเมืองเก่าสงขลาอีกด้วย  

เป้าหมายสำคัญในการสร้างเศรษฐกิจสร้างสรรค์เมืองสงขลา

การเลือกจังหวัดสงขลา เป็นหมุดหมายของการขยายบทบาทเศรษฐกิจสร้างสรรค์ลงสู่ภาคใต้นั้น มาจาก 3 ปัจจัยหลัก ได้แก่

1) มีความสมบูรณ์ทางด้านทุนวัฒนธรรมที่หลากหลาย ทำให้มีศักยภาพในการพัฒนาและสร้างรายได้ใหม่จากเศรษฐกิจสร้างสรรค์ 

2) มีความเข้มแข็งของภาคส่วนท้องถิ่นในการขับเคลื่อนเมือง

3) มีความพร้อมทางด้านเศรษฐกิจ ระบบคมนาคม ระบบสาธารณูปโภค สถานศึกษา และยังเป็นศูนย์กลางการเชื่อมต่อทางเศรษฐกิจของกลุ่มจังหวัดภาคใต้และพื้นที่ชายแดนภาคใต้  

ทั้งนี้ การประกวดออกแบบอาคารศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบ สงขลา จะมีขอบเขตครอบคลุมการออกแบบภูมิสถาปัตยกรรมที่อยู่บนแนวทางการอนุรักษ์เมืองเก่า การออกแบบสถาปัตยกรรมภายใน และการออกแบบป้ายสัญลักษณ์ภายในพื้นที่ทั้งหมด

“สงขลานั้นเป็นจังหวัดที่มีศักยภาพและความพร้อมสูง และยังมีภาคีเครือข่ายท้องถิ่นที่เข้มแข็งในการขับเคลื่อนเมือง เช่น การสมัครเข้าเป็นเมืองมรดกโลกขององค์การยูเนสโก ซึ่งเป็นการสร้างแบรนด์ดิ้งของเมืองให้เกิดความแตกต่างและมีเอกลักษณ์ ควบคู่ไปกับการอนุรักษ์เมืองเก่า สามารถต่อยอดเศรษฐกิจสร้างสรรค์ออกไปได้มาก โดย TCDC สงขลา จะเป็นเหมือนกับ Springboard ที่เข้าไปช่วยกระตุ้น พัฒนา และยกระดับธุรกิจในพื้นที่ภาคใต้ ให้เติบโตอย่างสร้างสรรค์และเป็นระบบ” นายอภิสิทธิ์ กล่าว

สำหรับใครที่ต้องการรายละเอียด และข้อมูลข่าวสารเพิ่มเติมสามารถติดตามได้ที่ www.cea.or.th หรือ www.facebook.com/CreativeEconomyAgency/

Writer
Watsapon Vijitsarn

Watsapon Vijitsarn