CAFE UNFINISHED Wanghin 46 สัมผัสความอบอุ่นผ่าน ‘หิน’ และ ‘ความไม่สมบูรณ์แบบ’

ความไม่สมบูรณ์แบบในเรื่องใดก็ตาม อาจเป็นสิ่งเราไม่ค่อยถูกใจ หรือพึงพอใจกับมันสักเท่าไหร่นัก แต่ถ้าเป็นทางด้านสถาปัตยกรรมแล้วความไม่สมบูรณ์แบบกลับกลายเป็นความงามในรูปแบบหนึ่ง ที่ผสมผสานไปกับความเรียบง่าย แตกหัก ไม่สมดุล ซึ่งสิ่งเหล่านี้สะท้อนถึงแก่นแท้ของความเป็นธรรมชาติ

และความไม่สมบูรณ์แบบก็ได้ถ่ายทอดลงมาสู่คาเฟ่ CAFE UNFINISHED Wanghin 46 ออกแบบโดย Anatomy Architecture + Atelier ที่สถาปนิกพยายามสะท้อนความเป็น ลาดพร้าววังหิน และชื่อคาเฟ่ที่ไม่มีวันเสร็จสิ้น เข้ามาเป็นไอเดียหลักในการออกแบบ

นำไอเดียจากหินมาใช้ในการออกแบบ

ด้วยตัวคาเฟ่แห่งนี้ตั้งอยู่บนพื้นที่ลาดพร้าววังหิน 46 สถาปนิกจึงนำแนวคิดจากหินนำมาใช้ในการออกแบบ ที่ผสมผสานไปด้วยแนวคิดของหินนำมาทำให้เกิดความรู้สึกที่แปลกตา แต่ดูอบอุ่น และผ่อนคลาย

“การออกแบบอาคารเราได้ศึกษาถึงหินชนิดต่างๆ เพื่อนำมาใช้กับอาคาร แต่เราอยากได้ความรู้สึก และบรรยากาศให้นึกถึงหิน มากกว่าจะออกมาเป็นในลักษณะของหิน ตัวอาคารจึงเลือกใช้วัสดุที่เป็นคอนกรีตทั้งหมด เพราะวัสดุมีพื้นฐานของความเป็นหินอยู่แล้ว ซึ่งการออกแบบหน้าตาอาคารได้แรงบัลดาลใจมาจากสถาปัตยกรรมสไตล์ Brutalism นอกจากนี้ตัววัสดุยังช่วยประหยัดในเรื่องงบประมาณในการก่อสร้างอีกด้วย”

ความงามผ่านความไม่สมบูรณ์

ในส่วนของตัวสถาปัตยกรรมถูกออกแบบให้มีผนังสองชั้น โดยชั้นแรกเป็นคอนกรีตที่ส่วนด้านล่างถูกทำให้มีลักษณะแตกเป็นช่อง ส่วนชั้นที่สองจะเป็นผนังคอนกรีตที่ใช้ยึดกระจก เพื่อเป็นช่องแสงให้กับภายในตัวคาเฟ่ ถัดมาในส่วนด้านหน้าสถาปนิกออกแบบให้มีฟินที่มีลักษณะแตกหัก และมีระดับไม่เท่ากัน โดยการใช้อิฐมวลเบา ซึ่งตัวฟินนี้เป็นการบ่งบอกถึงความไม่เสร็จสมบูรณ์ และชอบการทดลอง ที่ช่วยสะท้อนความเป็นชื่อร้าน CAFE UNFINISHED ได้อย่างชัดเจน

“การที่เราออกแบบให้อาคารดูไม่เสร็จต้องเลือกการใช้ภาษาให้เหมาะสม ซึ่งถ้าเป็นอาคารเก่าแล้วรีโนเวทใหม่ เรารู้สึกว่าง่ายกว่า การที่เราสร้างอาคารขึ้นมาใหม่ให้ดูเก่าเหมือนไม่เสร็จ และต้องน่าเข้าไปใช้งานด้วย เราจึงออกแบบให้ภาษาอาคารดูทึบ แต่มีความวับวับแวมแวมให้ดูน่าสนใจ ซึ่งการออกแบบในครั้งนี้เป็นโจทย์ท้าทายสำหรับเรามากๆ”

เพ่งเล็งไปที่ตัวอาคาร

เนื่องจากบริบทโดยรอบของตัวอาคารไม่มีอะไรสื่อถึงความเป็นลาดพร้าววังหินได้เลย สถาปนิกจึงเลือกใช้รั้วไทรเกาหลีปิดล้อมโดยรอบ เพื่อให้สายตาเพ่งมองไปยังตัวอาคาร นอกจากนี้ช่องทางเดินก่อนเข้าไปยังร้านคาเฟ่ยังได้ออกแบบเป็นสัญลักษณ์ที่สื่อถึงตัวร้านอีกด้วย

“ด้วยตัวอาคารหันหน้าไปทางทิศเหนือ-ใต้พอดี เราจึงออกแบบให้บริเวณสุดช่องทางเดินเป็นโลโก้วงกลมเพื่อให้แสงส่องลงมาเป็นเงาทอดลงมายังพื้นได้ และตัวโลโก้นี้ยังสื่อความหมายถึงคำว่า loading ซึ่งมีที่มาจากคำว่า UNFINISHED”

ภายในที่เต็มไปด้วยรายละเอียด

ภายในคาเฟ่ถูกแยกฟังก์ชันออกเป็น 2 โซน โดยที่โซนแรกเป็นพื้นที่ของบาริสต้า และพื้นที่นั่งพักคอยที่สามารถปรับเปลี่ยนการจัดวางเฟอร์นิเจอร์ได้ตลอด และใช้วัสดุพื้นคอนกรีตลายไม้ พร้อมใช้ต้นหมากจำลองเข้ามาเพิ่มพื้นที่สีเขียว และช่องแสงสกายไลท์ที่ใช้หลังคาเมทัลชีทแบบใส ปิดด้วยฝ้าอะคริลิคใสเพื่อให้เกิดแสงแบบสลัวๆ ลงมาสู่ภายในร้านให้มีบรรยากาศที่ดูอบอุ่นมากยิ่งขึ้น และเพื่อความเป็นส่วนตัวมากขึ้นพื้นที่โซนชั้นล่างออกแบบให้มีการลดระดับตัวพื้นให้อยู่ระดับเดียวกับภายนอก วัสดุพื้นใช้ asphalt เพื่อให้พื้นภายใน และภายนอกดูเป็นส่วนเดียวกันมากยิ่งขึ้น

“เราอยากให้คนที่เข้ามาใช้งานรู้สึกถึงความเป็นลาดพร้าววังหินมากขึ้น จึงใช้วิธีการวางหินเป็นดิสเพลย์รอบร้าน ซึ่งมีน้ำหนักก้อนละ 4-5 กิโลกรัม จึงจำเป็นที่จะต้องใช้โครงสร้างมารับหินทั้งหมด และออกแบบไฟไว้ด้านหลังเพื่อให้ส่องมาที่หิน ซึ่งเป็นองค์ประกอบที่ทำให้สเปซภายในร้านสะท้อนถึงหินได้เพิ่มมากขึ้น”

การออกแบบเฟอร์นิเจอร์

สำหรับตัวบาร์สถาปนิกออกแบบให้มีความยาวถึง 8 เมตร เพื่อเป็นส่วนต้อนรับให้ภายในคาเฟ่ และโชว์อุปกรณ์ของบาริสต้า ตัวบาร์ใช้วัสดุไม้อัดที่ให้ความเรียบง่าย และเพิ่มการวางหินเข้ามาเป็นส่วนประกอบกับตัวบาร์ ในส่วนทางด้านซ้ายจะเป็นส่วนของ slow bar ที่ให้ลูกค้า และบาริสต้าได้พูดคุยถึงเรื่องกาแฟกัน นอกจากนี้ตัวกำแพงที่เจาะช่องเป็นวงกลมยังช่วยให้โซนชั้นล่างได้พูดคุย และเห็นการทำงานของบาริสต้าไปด้วย แต่ก็ยังให้ความเป็นส่วนตัวอยู่

“โต๊ะและเก้าอี้ออกแบบด้วยการใช้ไม้อัด ซีเมนบอร์ด นำมาสร้างแพทเทิร์นขึ้น 30-40 แบบ เพื่อทดลองในการนั่ง ว่าจะมีการล้มหรือเอียงไปทางไหนหรือไม่ เมื่อทดลองแล้วได้แบบที่สมบูรณ์แล้ว จึงนำเฟอร์นิเจอร์เหล่านี้เข้ามาใช้งาน”

องค์ประกอบสำคัญในการออกแบบคาเฟ่

“ด้วยงบประมาณที่จำกัดของ CAFE UNFINISHED Wanghin 46 จึงทำให้ได้แนวคิดใหม่ๆ ที่ทำให้คาเฟ่นี้มีจุดแข็งที่ชัดเจนมากยิ่งขึ้น เช่น คาแรกเตอร์ของอาคารที่ผ่านการตีความหมายของลาดพร้าววังหิน ให้เด่นชัดขึ้นมา รวมไปถึงคิดค้นเมนูที่แปลกใหม่ของโอนเนอร์ อย่างเมนูกาแฟกล้วยแขก ซึ่งการผสมผสานเรื่องราวทั้งสองอย่างนี้เข้าไปจึงจะครบองค์ประกอบของการเป็นคาเฟ่ที่ช่วยดึงดูดให้ผู้คนเข้ามาใช้บริการกัน”

PROJECT TYPE : Cafe & Roaster
AREA : 110 sqm.
COMPLETE YEAR : 2022
INTERIOR DESIGNER : AA+A
PHOTOGRAPHER : Supee Photography

Writer
Watsapon Vijitsarn

Watsapon Vijitsarn