Dsign Something ชวนทุก ๆ คนไปเดินเที่ยวชมงาน สถาปนิก’65 หรือ Architect Expo 2022 ภายใต้แนวคิด ‘CO – WITH CREATORS: พึ่งพา – อาศัย’ ที่ชวนเหล่าครีเอเตอร์หลากหลายแวดวงมาร่วมกันสร้างสรรค์ผลงานการออกแบบให้มีความเป็นอัตลักษณ์ที่ดูน่าสนใจในทุกชิ้นงาน และงานจัดแสดงนิทรรศการ วัสดุ ผลิตภัณฑ์ นวัตกรรม และเทคโนโลยีในการก่อสร้างที่เกี่ยวข้องกับวงการออกแบบ ซึ่งจัดขึ้นตั้งแต่วันนี้ จนถึง 1 พฤษภาคม 2565 ณ ชาเลนเจอร์ ฮอลล์ อิมแพ็ค เมืองทองธานี
โดยความน่าสนใจอยู่ที่นิทรรศการพาวิลเลี่ยน ที่มีความหลากหลายดีไซน์ และเรื่องราวต่าง ๆ ในแต่ละพาวิลเลี่ยนที่เป็นประโยชน์สำหรับทุก ๆ คน ในวันนี้พวกเราจะขอพาไปชมบรรยากาศภายในงาน สถาปนิก’65 กันสักเล็กน้อย เผื่อใครที่กำลังมองหาแรงบันดาลใจ และความคิดสร้างสรรค์ใหม่ ๆ ให้กับโปรเจกต์ตัวเองอยู่ก็สามารถเดินทางไปที่งานนี้กันได้เลย
บรรยากาศชวนให้เกิดความคิดสร้างสรรค์
หากเข้ามาภายในงาน สถาปนิก’65 จะพบกับจุดเด่น อย่างนิทรรศการพาวิลเลี่ยน ที่มีการเล่าเรื่อง และมีกิจกรรมที่มีมากมายแตกต่างกันออกไป ยกตัวอย่างเช่น นิทรรศการผลงานของนิสิตนักศึกษา นิทรรศการรางวัลอาคารอนุรักษ์ศิลปสถาปัตยกรรม นิทรรศการโมเดลสถาปัตยกรรมที่กำลังจะก่อสร้างขึ้นจริง เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีผลงานศิลปะ ร้านหนังสือสถาปัตยกรรม ร้านวัสดุ เฟอร์นิเจอร์ และเทคโนโลยีการก่อสร้างอาคาร รวมไปถึงเทคโนโลยีล้ำสมัยที่ใช้ร่วมกับอาคาร และอื่น ๆ อีกมากมาย ซึ่งเมื่อเดินครบทุกโซนแล้ว ทุกคนก็จะได้รับแรงบัลดาลใจ และความคิดสร้างสรรค์ใหม่ ๆ กลับบ้านไปอย่างแน่นอน
Thematic Pavilion โดย EDL x SHER MAKER
หนึ่งในสี่ผลงานของ Thematic Pavilion ที่ชิ้นนี้ทาง EDL ได้ร่วมสร้างสรรค์กับ SHER MAKER โดย EDL ได้นำไอเดียจากวัสดุจากกระบวนการตีลังขนส่งนำมาใช้เป็นโครงสร้างหลัก และใช้ไม้มาเป็นโครงสร้างในการยึดติด เพื่อให้เกิดเป็นพื้นที่ปิดล้อม ชวนให้มองเห็นวัสดุในมุมมองการออกแบบใหม่ ๆ และเมื่อเสร็จการจัดแสดงแล้วสามารถนำกลับไปใช้งานใหม่ได้อีกด้วย
ในส่วนของ SHER MAKER ได้หยิบเอา PANAPLAST ลามิเนตโค้งงอ มาใช้ในการทำฝ้าเพดานที่แสงสามารถลอดผ่าน ที่ช่วยให้เกิดภาพบรรยากาศแบบใหม่ ๆ ของสถาปัตยกรรมได้อย่างน่าสนใจ นอกจากนี้ยังมีม้านั่งที่สามารถถอดประกอบใหม่ได้ตลอดด้วยแผ่น COMPACT พาวิลเลี่ยนนี้ยังช่วยสร้างประปฏิสัมพันธ์ระหว่างผู้คนกับผลิตภัณฑ์ได้อีกด้วย
รังมดแดง (Rang Mod Deang) โดย ธรรศ วัฒนาเมธี / อัชฌา สมพงษ์ X ศุภชัย แกล้วทนงค์
ASA Member พาวิลเลี่ยนที่ใช้แนวคิดในการนำเอาความสัมพันธ์ของมด และธรรมชาติ มดต้องพึ่งพาสิ่งรอบตัวในการดำรงชีวิต รวมไปถึงมดตัวอื่นๆ ในรังที่ต้องพึ่งพาอาศัย และมีหน้าที่หลักที่แตกต่างกัน ไม่ว่าจะเป็น มดตัวผู้ ตัวเมีย มดนางพญา และมดงาน ที่ต้องดูแลในเรื่องการสร้างรัง และอาหาร จากแนวคิดดังกล่าวนี้นำมาสู่การออกแบบพาวิลเลี่ยน ที่สะท้อนออกมาเป็นรูปฟอร์มไข่มดแดนผ่านแท่นจัดวาง และโคมไฟแตกแต่ง ตัววัสดุทั้งหมดทำขึ้นจากเหล็ก และวัสดุธรรมชาติที่เป็นวัสดุพื้นถิ่นที่มีความเฉพาะตัวของจังหวัดสกลนคร เพื่อให้ได้ฟอร์ม และรูปทรงสเมือนเป็นรังมดแดง ภายในสามารถรองรับการจัดแสดงโมเดลได้มากถึง 100 ชิ้น จากออฟฟิศสถาปนิก 100 แห่ง ซึ่งพาวิลเลี่ยนนี้เสมือนเป็นสถานที่ฟักตัวอ่อนที่กำลังจะนำเสนอผลงานให้ออกมาสู่โลกภายนอก และเป็นสัญลักษณ์ในการทำงานแบบพึ่งพาอาศัยกันด้วย
Co-breathing house โดย คำรน สุทธิ (Eco Architect) X จีรศักดิ์ พานเพียรศิลป์ (Joez19)
Local innovation ในปีนี้เป็นพาวิลเลี่ยนที่เกิดจากการค้นหาวัสดุ ทดลอง และการออกแบบที่มีความน่าสบาย อยู่ร่วมกับธรรมชาติ ซึ่งเป็นความไอเดียหลักของ คำรน สุทธิ (Eco Architect) ผสมผสานไปกับไอเดียของ จีรศักดิ์ พานเพียรศิลป์ หรือ Joez19 ช่างภาพสายครีเอทีฟที่มักจะพูดถึงธรรมชาติ วิถีชีวิต และความทรงจำ จนนำมาสู่การออกแบบพาวิลเลี่ยน Co-breathing house ที่แบ่งออกเป็น 6 ห้อง ซึ่งแต่ละห้องจะพูดถึงวัสดุพื้นถิ่นที่เกิดจากภูมิปัญญาของไทย และนำวัสดุเหล่านี้มาทำเป็นผนัง และฟาซาด (Facade) ให้ผู้คนได้เข้ามาสัมผัสผ่านมือ ตา และการได้ยิน
Co-with COVID pavilion โดย สาริน นิลสนธิ (D KWA Design Studio) X ผศ.เจะอับดุลเลาะ เจ๊ะสอเหาะ (Patani Artspace)
ด้วยการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 ที่มีทีท่าว่าจะไม่หายไปง่าย ๆ สถาปนิก และศิลปินจึงนำเสนอการออกแบบผ่านโครงสร้างที่ใช้ผ้าเข้ามาเป็นวัสดุหลัก และเลือกใช้ประโยชน์จากเอฟเฟกต์ของวัสดุต่าง ๆ เพื่อจำลองความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์ และสิ่งมีชีวิตที่ตีความออกมาเป็นท่อนำแสง และใช้วัสดุที่มีคุณสมบัติสะท้อนแสงมาเป็นตัวแทนของเชื้อไวรัส ซึ่งเป็นการใช้ชีวิตคู่ขนานกันไปอย่างไม่จบสิ้น เป็นเรื่องราวปกติของทุกสิ่งมีชีวิตที่เป็นส่วนหนึ่งของกันและกันตั้งแต่เราเกิดจนไปถึงวันกลับคืนสู่ธรรมชาติ
‘รส < ลด > สัมผัส’ (Touchless) โดย ปรัชญา สุขแก้ว X สุเมธ ยอดแก้ว
ASA Club พาวิลเลี่ยนที่สร้างสรรค์จากการใช้ลังกระดาษมาทำเป็นโครงสร้างของพาวิลเลียน ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของความน้อย แต่มากไปด้วยการใช้งาน เมื่อใช้งานเสร็จแล้วสามารถนำไปต่อขึ้นในพื้นที่อื่น ๆ หรือทำเป็นหุ่นจำลองจากกระดาษก็คงไม่ใช่เรื่องแปลกอะไร โดยฟังก์ชันการใช้สอยของพาวิลเลี่ยนนี้คือเป็นจุดนัดพบ พักคอย และพื้นที่พักผ่อนของผู้ที่เข้ามาเยี่ยมชมงานในครั้งนี้
The Hijab โดย สาโรช พระวงค์ X เอ็มโซเฟียน เบญจเมธา
ASA Experimental Design พาวิลเลี่ยนที่เป็นผลงานประกวดแบบจากทางสมาคมสถาปนิกสยามฯ ตัวพาวิลเลี่ยนนี้ออกแบบด้วยการใช้ผ้าสีดำมาห่อหุ้มโครงสร้างของพาวิลเลี่ยนผ่านการขึ้นรูปด้วยไม้เคร่า เพื่อสื่อสารถึง ‘ฮิญาบ’ สัญลักษณ์แทนความรู้สึก วิถีชีวิต และวัฒนธรรมของภาคใต้
กำแพงแห่งปัญญา (Wall of Wisdom) โดย ธนชาติ สุขสวาสดิ์ / กานต์ คำแหง X กาญจนา ชนาเทพาพร
ผลงานที่ได้รับรางวัลออกแบบสถาปัตยกรรมดีเด่นและนิทรรศการรางวัลอาคารอนุรักษ์ศิลปสถาปัตยกรรมประจำปี 2565 พาวิลเลี่ยนนี้ได้ออกแบบให้เป็น sculpture architecture รูปฟอร์มที่คล้ายคลึงกับลักษณะการลำเลียงอาหารของใบไม้ ที่ได้แรงบัลดาลใจมาจากธรรมชาติรอบตัว
นอกจากนี้ยังมีนิทรรศการพาวิลเลี่ยน สถาปัตยกรรม ผลิตภัณฑ์ และการเสวนาที่น่าสนใจอีกมากมาย สำหรับใครที่สนใจก็สามารถเดินทางไปได้ที่ ชาเลนเจอร์ ฮอลล์ อิมแพ็ค เมืองทองธานี หรือ ดูข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่: www.ArchitectExpo.com
รับข่าวสารเรื่องการออกแบบ สถาปัตยกรรม ไลฟ์สไตล์
ทางอีเมล ที่จะส่งตรงถึงคุณทุกเดือน ลงทะเบียนได้ที่ด้านล่างนี้เลย!