Gare Maritime
วิถีส่งผ่านคุณค่า จากสถานีขนส่งสินค้ายุคเก่าสู่ถนนการค้ายุคใหม่

ต้นคริสต์ศตวรรษที่ 20 ย่านอุตสาหกรรม Tour & Taxis ในกรุงบรัสเซลส์ ประเทศเบลเยี่ยม กลายเป็นศูนย์กลางทางการค้าที่สำคัญแห่งหนึ่งของยุโรป หนึ่งในหัวใจสำคัญของย่านนี้ก็คือ Gare Maritime สถานีขนส่งสินค้าที่ได้ชื่อว่าเป็นชุมทางที่ใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งของยุโรปด้วยเช่นกัน แต่แล้วนับจากยุค 1990s เป็นต้นมาย่านอุตสาหกรรมนี้เริ่มซบเซาและปิดตัวลงในที่สุด กระทั่งช่วงต้นคริสต์ศตวรรษที่ 21 พื้นที่แห่งนี้ก็ถูกเปลี่ยนมือมาอยู่กับบริษัทเอกชนนักพัฒนารายใหม่ แล้วตำนานการฟื้นชีวิตให้กับย่าน Tour & Taxis จึงเริ่มต้นขึ้นอีกครั้ง

Historical Renovation – ฟื้นคืนประวัติศาสตร์ให้กลับมามีคุณค่าอีกครั้ง

ผู้ที่เข้ามารับช่วงต่อในการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ยุคใหม่ก็คือบริษัท Extensa ที่มีหลักการในการฟืนฟูย่านนี้ด้วยการอนุรักษ์สถาปัตยกรรมยุคเก่าควบคู่ไปกับการพัฒนาพื้นที่และธุรกิจแบบยุคใหม่ อันที่จริง โครงการฟื้นชีวิตให้กับย่านประวัติศาสตร์แห่งนี้เริ่มต้นขึ้นตั้งแต่ปี ค.ศ.2014 โกดังสินค้าตลอดจนอาคารสำนักงานเก่าแก่ต่าง ๆ ถูกปรับโฉมให้กลายเป็นศูนย์กลางแห่งวัฒนธรรม ศูนย์แสดงสินค้าและจัดกิจกรรมสุดเก๋ ศูนย์ประชุมล้ำสมัย ไปจนถึงแหล่งไลฟ์สไตล์สุดชิค แต่โครงการปรับโฉมล่าสุดที่ได้รับความสนใจไปทั่วโลกขณะนี้ก็คือการปรับโฉม Gare Maritime ให้กลายเป็นคอมมิวนิตี้ยุคใหม่ในรูปแบบ Mixed Used Development ที่โดดเด่นในเรื่องงานดีไซน์ผสานการอนุรักษ์ไปพร้อมกัน ซึ่งโปรเจกต์ล่าสุดนี้ได้รับการยกย่องว่าเป็นโครงการรีโนเวทโบราณสถานที่ยอดเยี่ยมที่สุดแห่งหนึ่งของโลกเลยทีเดียว

Gare Maritime เป็นอดีตชุมทางรถไฟและสถานขนส่งสินค้าที่ยิ่งใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งของยุโรป สถานีแห่งนี้สร้างขึ้นเมื่อราวปี ค.ศ.1902 ถึงแม้ว่าจะมีการพัฒนาพื้นที่ให้ทันสมัยขึ้นตามยุคสมัยเรื่อยมา แต่สิ่งที่ถูกอนุรักษ์ไว้เป็นอย่างดีเสมอมาก็คือโครงสร้างทางสถาปัตยกรรมที่มีเอกลักษณ์ ซึ่งก็คือโครงเหล็กกล้าที่ผสานความแข็งแกร่งกับรายละเอียดอ่อนช้อยงดงามไว้ด้วยกันอย่างลงตัว ซึ่งโครงสร้างลักษณะนี้ได้รับอิทธิพลมาจากสิ่งก่อสร้างยุคปฏิวัติอุสาหกรรมไปจนถึงสถาปัตยกรรมสมัยใหม่ (Modern Architecture) ที่เริ่มต้นขึ้นราวช่วงปลายคริสต์ศตวรรษที่ 19 นั่นเอง

การฟื้นคืนชีวิตให้กับ Gare Maritime ครั้งนี้ได้บริษัทสถาปนิกฝีมือดีอย่าง Neutelings Riedijk Architects มาเป็นผู้รับผิดชอบรีโนเวทโครงการให้ โดยทางสถาปนิกเลือกที่จะคงโครงสร้างเหล็กกล้าเดิมอันเป็นเอกลักษณ์ไว้ แต่ปรับเปลี่ยนวัสดุมุงหลังคาใหม่โดยเลือกใช้ไม้แปรรูป Cross Laminate Timber (CLT) ผสมผสานกับกระจกใสทดแทน ตลอดจนเลือกใช้กระจกปรับแสงอัตโนมัติมาติดตั้งเป็นฟาซาดรอบโถงอาคารของ Gare Maritime ทั้งหมด

การปูหลังคาด้วยไม้แปรรูป CLT นั้นนอกจากจะทำให้อาคารสวยงามและสัมผัสถึงธรรมชาติได้มากขึ้นแล้ว วัสดุชนิดนี้ยังเบาบางและทนทานอีกด้วย การเลือกใช้วัสดุ CLT ปูหลังคายังสอดรับกับการออกแบบและตกแต่งอาคารย่อยภายในตลอดจนร้านค้าทั้ง 12 ยูนิตชั้นล่างที่เรียงรายตลอดสองข้างทางแนวถนนตรงโถงกลางอีกด้วย ซึ่งฟาซาดของอาคารเหล่านี้ตลอดจนบันไดภายในนั้นตกแต่งด้วยระแนงไม้แปรรูป CLT อย่างประณีตงดงามจนกลายเป็นอีกหนึ่งไฮไลท์ของ Gare Maritime ที่ตัดกับโครงสร้างเหล็กได้อย่างโดดเด่นสะดุดตา แต่ก็ผสานกลมกลืนเป็นหนึ่งเดียวอย่างลงตัวในคราวเดียวกัน ซึ่งโครงการนี้ก็ยังถือว่าเป็นโปรเจกต์ที่ใช้ไม้แปรรูป CLT ในการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ที่เยอะและยิ่งใหญ่ที่สุดในยุโรปอีกด้วย

Sustainable Rebirth – เกิดใหม่อย่างยั่งยืน

วัตถุประสงค์ของการเลือกใช้ไม้แปรรูป CLT นั้นนอกจากความสวยงามและทนทานแล้วก็ยังเป็นการคัดสรรวัสดุยั่งยืน (Sustainable Material) ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ลดการทำลายทรัพยากรธรรมชาติ รวมถึงเป็นแหล่งไม้ที่ตรวจสอบที่มาได้ด้วย หลักการยิบย่อยนี้เป็นการใส่ใจเพื่อให้สอดคล้องกับปรัชญาหลักของโครงการที่ต้องการให้ Gare Maritime เป็นสิ่งก่อสร้างที่มีมาตรฐานตามหลักสถาปัตยกรรมเพื่อวิถียั่งยืน (Sustainable Architecture) ซึ่งต้องใส่ใจในทุกรายละเอียดเพื่อคำนึงถึงสิ่งแวดล้อมและชุมชนในระยะยาวให้มากที่สุด

ในส่วนของสถาปัตยกรรมเพื่อวิถียั่งยืนนั้นยังรวมไปถึงการออกแบบและวางระบบอื่น ๆ ตั้งแต่การเลือกใช้กระจกกรองแสงและปรับเฉดอัตโนมัติ เพื่อให้แสงธรรมชาติเข้าสู่อาคารได้อย่างเหมาะสมกับการใช้ชีวิตภายใน ซึ่งจะช่วยลดปริมาณการใช้งานหลอดไฟลงได้มากทีเดียว ตลอดจนลดการใช้เครื่องปรับอากาศในทุกฤดูได้อย่างมีประสิทธิภาพ และในส่วนของพลังงานไฟฟ้านั้น ทางอาคารเลือกใช้พลังงานสะอาดทดแทนพลังงานจากฟอสซิล ซึ่งแหล่งของพลังงานก็มาจากพลังงานใต้พิภพที่ขุดลึกลงไปกว่า 140 เมตร นอกจากนี้ยังเสริมทัพด้วยพลังงานจากแสงอาทิตย์ที่ได้จากแผง Photovoltaic panels power ซึ่งปูอยู่ตลอดแนวหลังคาด้านบน

ในส่วนของการออกแบบโครงสร้างอาคารภายในมีการคำนวณการไหลเวียนของอากาศและทิศทางลมอย่างเหมาะสม เพื่อให้อากาศภายนอกไหลเวียนเข้ามาในอาคารได้สะดวก ช่วยลดการใช้เครื่องปรับอากาศได้ดีทีเดียว นอกจากนี้ก็ยังมีการบริหารจัดการระบบน้ำใช้สอยภายในอาคารซึ่งเป็นการเก็บกักน้ำฝนไว้ใช้ น้ำส่วนนี้จะนำมารดน้ำพื้นที่สีเขียวภายในโครงการ ขณะเดียวกันก็นำน้ำจากแหล่งนี้ไปใช้ในระบบห้องน้ำของที่นี่ รวมถึงนำไปใช้ในระบบปรับอากาศของอาคาร ตลอดจนรีไซเคิลน้ำกลับมาใช้หมุนเวียนให้เกิดประโยชน์สูงสุด

Modern Boulevard – ถนนสายใหม่ในจิตวิญญาณดั้งเดิม

โครงการ Gare Maritime ทั้งหมดนั้นประกอบไปด้วยโถงอาคารสูงโปร่ง 3 หลังใหญ่เรียงติดกันแล้วเชื่อมต่อระหว่างแต่ละหลังด้วยโถงอาคารขนาดเล็กอีกที อาคารทั้ง 5 หลังเชื่อมต่อพื้นที่กันเป็นเสมือนหนึ่งอาคารใหญ่อีกครั้ง มีการบริหารจัดการพื้นที่ภายในในรูปแบบ Mixed Used Development ที่เป็นอาคารสำนักงานผสมผสานร้านค้าตลอดจนพื้นที่จัดกิจกรรมเอนกประสงค์ ทุกอย่างรวมอยู่ภายในหลังคาเดียวจนกลายเป็นเมืองในร่มที่สมบูรณ์แบบครบครัน

นอกจากนั้นโครงการ Gare Maritime นี้ยังพัฒนาเชื่อมต่อกับ Maison De La Poste (ที่อยู่ติดกันในเขตพื้นที่เดียวกัน) ซึ่งเป็นอาคารไปรษณีย์เก่าแก่ที่งดงามด้วยสถาปัตยกรรมยุคฟื้นฟูกอทิก (Neo-Gothic Architecture) และถูกนำมารีโนเวทให้เป็นศูนย์ประชุมและพื้นที่จัดงานเอนกประสงค์ไปก่อนหน้าเมื่อราวปี ค.ศ.2017 โดยที่ยังคงเอกลักษณ์ทางสถาปัตยกรรมภายนอกตลอดจนรายละเอียดการตกแต่งภายในแบบดั้งเดิมผสานกับการตกแต่งภายในสมัยใหม่ได้อย่างมีเสน่ห์ทีเดียว 

สำหรับโถงอาคารสูงโปร่งทั้ง 3 หลังนั้น ปีกอาคารซ้ายและขวาจะถูกพัฒนาให้เป็นอาคารสำนักงานแสนทันสมัย ส่วนโถงตรงกลางปล่อยโล่งตลอดแนวพร้อมปูพื้นหินทั่วพื้นที่ปรับให้เป็นลานอเนกประสงค์รองรับการจัดกิจกรรมต่าง ๆ ได้มากมาย อันที่จริงพื้นที่บริเวณนี้ได้แรงบันดาลใจมาจากการผสมผสานจัตุรัสแบบโบราณเข้ากับถนนย่านการค้าของยุโรปที่เป็นเส้นทางเดินทอดยาวแล้วขนาบข้างด้วยร้านค้าทั้งสองฝากฝั่ง โดยพื้นที่พลาซ่าบริเวณนี้มีร้านรวงเรียงรายอยู่กว่า 12 ยูนิตโดยรอบ ความพิเศษของพื้นที่นี้อีกอย่าง ก็คือการมีสวนสีเขียวเล็ก ๆ ขนาบข้างไปตลอดแนว เพื่อให้คล้ายกับถนนสายช้อปปิ้งแบบยุโรป โดยได้แรงบันดาลใจมาจากถนนลารัมบลา (La Rambla) อันเป็นถนนคนเดินที่ขนาบข้างด้วยแนวต้นไม้ใหญ่เขียวขจีทั้งสองฝั่งผสานกับร้านรวงต่าง ๆ ซึ่งเป็นย่านการค้าสำคัญใจกลางเมืองบาร์เซโลนา ของประเทศสเปนนั่นเอง

ถึงแม้จะดูเป็นพื้นที่สีเขียวที่แซมเพื่อการตกแต่งภูมิทัศน์ภายในธรรมดา แต่ทว่าความจริงแล้วสวนเล็ก ๆ ตลอดสองแนวถนนที่แบ่งออกเป็น 8 แปลงย่อยนี้ กลับเป็นสวนในร่มที่ได้รับการออกแบบโดยคำนึงถึงศาสตร์ธรรมชาติวิทยาอย่างเป็นจริงเป็นจัง ทั้ง 8 แปลงนั้นจะแบ่งเป็นสวน 4 รูปแบบด้วยกันนั่นก็คือ 1.สวนดอกไม้ (Flower Garden) ที่เต็มไปด้วยดอกไม้นานาชนิดแข่งกันเบ่งบาน 2.สวนพรรณไม้หอม (Parfume Garden) ที่ปลูกพืชมีกลิ่นต่าง ๆ รวมกันไว้ 3.สวนหญ้า (Grass Garden) ที่ผสมผสานหญ้าพันธุ์ต่าง ๆ ทั้งระดับผิวดินและต้นสูงทรงสวยไว้ และสุดท้ายเป็นสวนพรรณไม้ในร่ม (Shadow Garden) สำหรับรวบรวมพันธุ์พืชที่ต้องการแสงน้อยตลอดจนพืชพันธุ์ที่ชอบขึ้นใต้ต้นไม้ใหญ่ สวนเหล่านี้แตกต่างและถูกจัดวางในลักษณะเดียวกันกับตามธรรมชาติ เพื่อให้ผู้มาเยือนสัมผัสบรรยากาศที่ใกล้เคียงกับภายนอกให้มากที่สุด

Gare Maritime ได้รับการยกย่องว่าเป็นเมืองใต้หลังคาที่เดินเล่นเพลิดเพลินได้ราวกับเดินบนย่านการค้ากลางแจ้งจริง ๆ หัวใจสำคัญที่นอกเหนือจากการอนุรักษ์โบราณสถานควบคู่ไปกับการพัฒนาพื้นที่ธุรกิจแบบยุคใหม่ ก็คือการผสานธรรมชาติเข้ามากลมกลืนกับการใช้ชีวิตให้ลงตัวที่สุด

ในทุกวันนี้สถานีขนส่งสินค้าเก่าแก่กลับมามีชีวิตใหม่อีกครั้งและกลายเป็นแหล่งไลฟ์สไตล์ทันสมัยของบรัสเซลส์ไปพร้อมกัน นอกจากนั้นยังสร้างคุณค่าใหม่ให้กับเมืองอีกไม่น้อย ตั้งแต่การเป็นที่ตั้งของบริษัทสตาร์ทอัพระดับโลกมากมาย การเป็นแหล่งจัดงานเทศกาลสำคัญอีกหลากหลายรูปแบบ เป็นแหล่งแสดงงานศิลป์หรืออีเวนท์สุดเก๋ ตลอดจนคว้ารางวัลทางด้านการออกแบบและสถาปัตยกรรมอีกมากมายรวมถึงรางวัลสำคัญอย่าง European Heritage Europa Nostra Awards 2021 ที่มอบให้โดยสหภาพยุโรป (European Union : EU) ในฐานะการอนุรักษ์สถานที่เชิงประวัติศาสตร์ไว้ได้อย่างยอดเยี่ยมและพัฒนาให้เกิดประโยชน์กับยุคปัจจุบันได้อย่างน่ายกย่อง

Writer
Tada Ratchagit

Tada Ratchagit

นักเขียนที่หลงรักการถ่ายภาพ หลงเสน่ห์การเดินทาง หลงใหลงานดีไซน์ไปจนถึงสถาปัตยกรรมทุกยุค ตลอดจนสนใจเรื่องราวของสิ่งแวดล้อมและวิถีชีวิตยั่งยืน