PTK44 House
ส่วนต่อเติม 4×11 เมตรที่ขยายความสุขของครอบครัว

ถึงแม้บ้านจัดสรร หรือบ้านโครงการจะเป็นที่นิยมของคนหมู่มาก เพราะง่าย และประหยัดเวลาในการออกแบบก่อสร้าง แต่เราก็ต้องยอมรับว่า บางครั้งเมื่อช่วงเวลาของการอยู่อาศัยผ่านไปได้สักพัก บ้านจัดสรรก็ย่อมไม่ตอบโจทย์เนื่องจากสเปซที่ค่อนข้างกำหนดตายตัวมาแล้ว ทำให้หลายคนมักจะซื้อบ้านจัดสรรเพื่อไปแปลงโฉม ปรับปรุง หรือต่อเติมให้เหมาะกับการอยู่อาศัยของตนเอง

เช่นเดียวกับ PTK44 House บ้านจัดสรรในย่านพัฒนาการที่คุณพ่อคุณแม่มือใหม่วางแผนเพิ่มพื้นที่ใช้สอยของบ้านต้อนรับสมาชิกตัวน้อย ด้วยไอเดียต่อเติมพื้นที่ทรงกล่องขนาด 4 x 11 เมตร ยื่นออกจากตัวบ้านจัดสรรหลังเดิม โดยตั้งใจให้พื้นที่นี้เป็นส่วนวิ่งเล่นของลูก ๆ ห้องเก็บของ พื้นที่ส่วนตัวของคุณพ่อ เติมเต็มการใช้งานของบ้านโดยมอบหมายให้สถาปนิกจาก Fatt! Studio มารับหน้าที่ออกแบบ

สถาปนิกเริ่มต้นเล่าว่า ทางเจ้าของเป็นเพื่อนของเพื่อนที่มีนิสัยค่อนข้างวางแผนอนาคตชีวิตตัวเองชัดเจน สำหรับงานออกแบบบ้านเพื่อครอบครัวหลังนี้จึงรวมไปถึงการกำหนดผังมาสเตอร์แปลนทั้งหมดในอนาคต โดยแบ่งเป็นการต่อเติม 2 เฟสด้วยกัน เฟสแรก คืออาคารทรงกล่องสีขาวที่เราเห็น ส่วนเฟสต่อมาจะเกิดขึ้นบนพื้นที่สวนซึ่งว่างอยู่ เพื่อให้เป็นบ้านของลูก ๆ ที่สามารถมีพื้นที่ส่วนตัวและอยู่ในขอบเขตรั้วเดียวกัน

(Masterplan)
(Plan)

ในการจะต่อเติมหรือปรับปรุงบ้าน ก็ย่อมทำได้หลายทาง ไม่ว่าจะเป็นรีโนเวท ทุบแล้วสร้างใหม่ หรือการต่อเติมบางส่วนเข้าไปโดยไม่ยุ่งกับของเดิมที่มีอยู่ ซึ่งสำหรับบ้านหลังนี้ สถาปนิกและเจ้าของตกลงใช้วิธีต่อเติมอาคารกล่องเข้าไปแทน เพื่อลดความเสี่ยงที่จะเข้าไปแตะต้องโครงสร้างเดิมที่เป็น Precast (พรีคาสท์) ให้มากที่สุด โดยทีมสถาปนิกจากทำงานร่วมกับวิศวกรผ่านการออกแบบเสาโครงสร้าง 4 ต้น รองรับน้ำหนักของส่วนต่อเติมยาวกว่า 11 เมตร โดยมีคานยื่นออกไปทั้งสองข้าง เป็นข้อดีที่ทำให้พื้นที่บริเวณชั้นล่างมีลักษณะคล้ายใต้ถุนที่สามารถเปิดโล่งตลอดแนว เหมาะกับการวิ่งเล่นของเด็ก ๆ และยังเป็นพื้นที่กึ่งเอาท์ดอร์ที่ครอบครัวสามารถมานั่งรับลมได้ตลอดทั้งวัน

เสาบางต้นของอาคารถูกซ่อนไว้ในผนังบล็อกลม ดีไซน์เว้นช่องเปิดกรอบไม้ ที่กลายเป็นมุมนั่งเล่น อีกทั้งยังทำหน้าที่เป็นระนาบของผนังที่ช่วยบดบังมุมมอง สร้างความเป็นส่วนตัวให้กับพื้นที่ได้เพิ่มเติม

รอยต่อของสะพานเชื่อมกับบ้านหลังเดิมผ่านฟังก์ชันของห้องนอนหลัก เนื่องจากมีผนังเบาเพียงจุดเดียวที่เหมาะสม โดยสถาปนิกใช้วิธีการยื่นพื้นโครงสร้างยาวเข้าไปเสียบตรง ๆ เพื่อลดการโหลดภาระ ไม่ให้โครงสร้างพรีคาสท์เดิมต้องรับน้ำหนักเพิ่มเติม

ส่วนบันไดวนด้านหน้าที่เราเห็นไม่เพียงแต่เป็นองค์ประกอบที่เสริมฟังก์ชันการใช้งานของบ้านเท่านั้น แต่ยังทำหน้าที่เป็นตัวยันโครงสร้าง เพื่อให้อาคารทรงกล่องที่ต่อเติมแข็งแรง และไม่ทำให้บ้านโยกนั่นเอง

หลังจากการก่อสร้างเริ่มต้นขึ้น ก็เป็นเวลาประจวบเหมาะที่เจ้าของตัวน้อยคนที่สองลืมตาดูโลก ทำให้พื้นที่ภายในบ้านหลังนี้ถูกปรับเปลี่ยนให้ตอบรับวิถีชีวิตที่กำลังจะเปลี่ยนไปอีกครั้ง โดยบริเวณชั้นบนจะกลายเป็นห้องเด็ก ส่วนพื้นที่ชั้นมีการปรับบ่อน้ำด้วยการย้ายตำแหน่ง และลดขนาดเพื่อให้เด็ก ๆ สบายวิ่งเล่นได้อย่างสบายใจในอนาคต

กล่าวได้ว่า บ้านก็มีชีวิตไม่ต่างจากเจ้าของ เพราะเริ่มต้นตั้งแต่วันแรกจนเวลาเปลี่ยนผ่าน บ้านย่อมมีการปรับปรุง เปลี่ยนแปลง เติบโตไปพร้อม ๆ กับการอยู่อาศัย บางครั้ง เกิดจากการย้ายหรือปรับอะไรเพียงเล็กน้อย บางครั้งอาจมีการต่อเติมบางส่วนเพิ่มขึ้นใหม่ หรือบางครั้งอาจเป็นการทุบบ้านเกือบทั้งหลังเพื่อสร้างสเปซให้ตอบรับความต้องการที่เปลี่ยนไป แต่แน่นอนว่าทั้งหมดยังคงต้องเกิดขึ้นบนพื้นฐานของพื้นที่ตั้ง บริบทเดิม รวมถึงสารตั้งต้นที่สำคัญอย่างวิถีชีวิตและความต้องการของเจ้าของ เช่นเดียวกับ  PTK44 House หลังนี้

Using area: 80 Sqm.
Location: Pattanakarn 44, Bangkok, Thailand
Design Director : Wattikon Kosonkit
Project architect : Sudarat Munkarn
Design team : Supanna Chanpensri, Ornyupa Noichad
Interior: Surapat Puanmuang
Lighting design: FATTSTUDIO x TRUELIGHT
Structural engineer: Mr. Nuttapol Wangsittikul
M&E engineer: Degree system Co.,Ltd
Contractor: SAMCON Co.,Ltd
Interior contractor: MLT furniture Co.,Ltd
Photographer: Ketsiree Wongwan

Writer
Rangsima Arunthanavut

Rangsima Arunthanavut

Landscape Architect ที่เชื่อว่าแรงบันดาลใจในงานออกแบบ สามารถเกิดขึ้นได้จากทุกสิ่งรอบตัว และการบอกเล่าเรื่องราวการออกแบบผ่าน 'ตัวอักษร' ทำให้งานออกแบบที่ดี 'มีตัวตน' ขึ้นมาบนโลกใบนี้