สารัตถะแห่งสถาปัตยกรรมสู่การจัดชนชั้นที่ว่างของหลุยส์ ไอ คาห์น

วันนี้เราจะมาเล่าถึงหลักปรัชญาของปรมาจารย์สถาปนิกระดังโลกอย่าง หลุยส์ ไอ คาห์น (Louis Isadore Kahn, 1901-1974) มุมมองที่เขามีต่อชีวิตและธรรมชาติ สู่สารถะแห่งวัสดุ พื้นที่ และสถาปัตยกรรม หลักแนวคิดของคาห์นนั้นมีความสัมพันธ์โดยหัวข้อที่ลึกซึ้งและมีความซับซ้อนมาก เราจึงเลือกนำเสนอบางส่วนของแนวคิดที่เกี่ยวข้องกับหลักการในการจัดชนชั้นของพื้นที่ในสถาปัตยกรรมให้ผู้อ่านเท่านั้น

จากอิทธิพลอันล้นหลามของสถาปัตยกรรมแนวโมเดิร์น (Modern Architecture) ช่วงปี ค.ศ.1940 ผู้คนได้แสวงหาแนวทางใหม่ๆ ต่อรูปแบบทางสถาปัตยกรรมแบบโมเดิร์นที่มีความจำเจ จนเกิดแนวคิดสถาปัตยกรรมโมเดิร์นตอนปลาย (Late modern Architecture, ช่วงทศวรรษ 1970) และสถาปัตยกรรมแบบโพสต์โมเดิร์น (Postmodern Architecture, ช่วงทศวรรษ 1980) แต่คาห์นมีแนวคิดที่ต่างออกไป โดยผสมผสานทั้งสองอิทธิพลเข้าด้วยกัน ในที่นี้คือแนวคิดจากระบบการศึกษาแบบโบซาร์ (Beaux-Arts) จากมหาวิทยาลัยเพนซิลวาเนียที่คาห์นได้เข้าไปศึกษา และ แนวคิดสถาปัตยกรรมแบบโมเดิร์น โดยผลลัพธ์ที่คาห์นตามหานั้นเป็นการสร้างสรรค์กฎเกณฑ์อันไม่ใช่สูตรตายตัว แต่เป็นการแสวงหาถึงแนวคิดอันเป็นสากลซึ่งสามารถใช้ได้กับทุกสิ่งบนโลกรวมถึงสถาปัตยกรรม และเป็นการหวนสู่อดีตในแง่ของจิตวิญญาณ (Spirit) และ สารัตถะ (Essence) มากกว่าเพียงรูปลักษณ์ภายนอก

โบซาร์ (Beaux-Arts) เป็นชื่อของสถาบันสอนวิจิตรศิลป์ที่ฝรั่งเศส โดยมีชื่อเต็มว่า สถาบันวิจิตรศิลป์แห่งกรุงปารีส (École des Beaux-Arts in Paris หรือ School of Fine Arts ในภาษาอังกฤษ) ซึ่งมุ่งเน้นการศึกษาจากปรัชญาและสถาปัตยกรรมแบบคลาสสิคของกรีกและโรมัน ระบบการคิดแบบโบซาร์ได้สร้างแรงบันดาลใจให้กับคาห์น ในแง่ของการจัดลำดับของที่ว่าง (Spatial Hierarchy), การวางผังโดยที่เน้นจุดศูนย์กลางเป็นหลัก (Centralized Spatial Organization), และความสำคัญของการวางผังอาคาร (Priority of Plan) โดยที่ประโยชน์การใช้สอยของพื้นที่จะเป็นตัวกำหนดทั้งแนวคิดและวัสดุของอาคาร จากนั้นจึงเกิดเป็นรูปร่างหน้าตา ฟาสาดของอาคารต่อมา ซึ่งจะสวนทางกับแนวคิดแบบโมเดิร์นโดยยกตัวอย่างเช่น งานของ เลอกอร์บูซีเย (Le Corbusier) ที่เริ่มต้นจากการคิดถึงองค์ประกอบหน้าตาอาคารก่อน จากนั้นจึงทำการจัดวางผังอาคารให้เหมาะสม

National Assembly Building, Dhaka (ค.ศ.1982) https://www.archdaily.com/877738/louis-kahn-the-power-of-architecture

สิ่งที่คาห์นได้รับจากอิทธิพลยุคโมเดิร์นคือเรื่องของวัสดุและเทคโลโนยีการก่อสร้างอาคาร เช่นคอนกรีตเสริมเหล็ก โครงถัก รวมถึงแนวคิดการลดทอนการตกแต่งทางสถาปัตยกรรม (Decorative Minimalism) และความชัดเจนของหน้าตาอาคารที่มาจากรูปทรงเรขาคณิตเบื้องต้น คาห์นเชื่อในการแสดงถึงโครงสร้างอาคารอย่างตรงไปตรงมา ในขณะเดียวกันคาห์นยังคงการจัดวางพื้นที่ซึ่งเชื่อมต่อถึงกันได้แบบโมเดิร์นเอาไว้ แต่ไม่ได้ลดทอนจนถึงขั้นเป็นผังพื้นที่ใช้สอยอิสระ (Free plan) และเน้นความสำคัญของลำดับของการใช้งานพื้นที่แต่ละส่วนแทน จึงเป็นที่มาของแนวคิด พื้นที่ใช้งาน (Served Space) และพื้นที่รับใช้ (Servant Space) นั่นเอง

นอกจากนี้ คาห์นยังมีความเชื่อในเจตจำนงของการดำรงอยู่ (Existence-Will) ของสิ่งต่างๆในธรรมชาติ ไม่ว่าจะเป็นวัสดุ รูปทรง หรือพื้นที่ก็ตาม โดยมีข้อจำกัดทางกายภาพและข้อจำกัดภายนอกเป็นสิ่งควบคุมอีกทีหนึ่ง ดังนั้นสิ่งหนึ่งย่อมกลายเป็นอีกสิ่งหนึ่งที่ไม่ใช่ตัวมันเองมิได้ เช่น อิฐย่อมแสดงคุณสมบัติของอิฐออกมา ไม่สามารถเป็นเหล็กหรือพลาสติกได้ วิธีที่คาห์นเข้าสู่สารัตถะคือการตั้งคำถามต่อวัสดุนั้นๆ อย่างเช่นที่เป็นที่รู้จักกันในบทสนทนาของคาห์นกับ ‘ก้อนอิฐ’ ว่า ‘อิฐ เจ้าต้องการเป็นอะไร’ การเข้าถึงสารัตถะของวัสดุนั้นนอกจากจะเป็นการหยิบยกนำเสนอความงามอย่างแท้จริงของวัสดุแล้ว ยังเป็นการเคารพในตัววัสดุนั้นด้วย

การออกแบบในแนวคิดของคาห์นคือการนำสิ่งที่มีอยู่เดิมหรือสารัตถะของรูปทรง มาพัฒนาจนเกิดเป็นที่ว่างและประโยชน์ใช้สอย เช่นเดียวกับสถาปัตยกรรม คาห์นเชื่อว่าทุกอย่างในจักรวาลมีความเชื่อมโยงข้องเกี่ยวกันและมีความเป็นตัวของตัวเองอย่างชัดเจน เพียงแค่รอการค้นพบเท่านั้น การแต่งเติมหรือดัดแปลงความเป็นตัวตนที่มีอยู่ก่อน หรือ ‘ออร์เดอร์’ (Order) ที่คาห์นเรียกนั้น เป็นการก่อให้เกิดความเสียหายมากกว่า ดังนั้นจึงเป็นหน้าที่ของสถาปนิกที่จะตั้งคำถามว่า ‘ที่ว่างนี้อยากเป็นอะไร’ เพื่อที่จะได้คำตอบซึ่งมีช่วงชีวิตเป็นอนันต์ เช่นเดียวกับผู้สร้างวิหารแพนธีอันในกรุงโรม (Pantheon) ที่มีความเป็นนิรันดร์ ในความแตกต่างของสรรพสิ่งนี้เองที่ก่อให้เกิด ‘สารัตถะ’ (Essence) ตามนิยามของคาห์น ไม่ว่าสิ่งนั้นจะมีการวิวัฒนาการไปมากเพียงไรก็ยังคงสารัตถะดั้งเดิมเอาไว้เสมอ สำหรับคาห์นนั้น ทุกสิ่งทุกอย่างมีความต่อเนื่องกัน (Continuity) แม้ว่าจะเกิดการเปลี่ยนแปลงไปมากเท่าใด จากคำกล่าวของคาห์น ‘What will be has always been’ ซึ่งหรืออาจกล่าวได้ว่าคาห์นนั้นตามหา ‘รูปทรงในอุดมคติ’ (Ideal Form) ซึ่งสามารถจะตอบคำถามใน สารถะของสิ่งนั้น ‘what has always been’ และสิ่งที่กำลังจะเป็น ‘what will be’ ได้นั่นเอง

Yale University Art Gallery, Connecticut (ค.ศ.1953) https://www.archdaily.com/83110/ad-classics-yale-university-art-gallery-louis-kahn

อีกทั้งคาห์นยังเชื่อว่าทุกพื้นที่จำต้องมีความหมายและจุดประสงค์ จากนั้นจะก่อเกิดรูปร่างภายนอกและภายใน (Exterior and Interior), ความรับรู้ต่อพื้นที่ (Feeling of Spaces), และความรู้สึกในการเข้าถึง (Sense of Arrival) เมื่อมองสถาปัตยกรรมเป็น สังคมที่ประกอบไปด้วยห้อง (Society of Rooms) แล้ว ลำดับชนชั้นของพื้นที่แต่ละส่วนจึงเกิดขึ้น ซึ่งสถาปนิกสามารถจัดลำดับความสำคัญของพื้นที่ซึ่งไม่สามารถแยกออกจากกันเหล่านั้นได้ หรืออีกนัยหนึ่งคือสามารถจัดวางพื้นที่สำหรับบริการ (Servant Spaces) ให้สามารถรับรองพื้นที่สำหรับใช้งาน (Served Spaces) ได้ โดยที่ไม่กระทบกับเสปซซึ่งสถาปนิกได้คิดไว้

แนวคิดของจัดพื้นที่บริการและพื้นที่ใช้งานของคาห์นนั้นสามารถเห็นได้ชัดเจนในหลายๆงานที่เขาออกแบบ ไม่ว่าขนาดหรือการใช้งานของอาคารต่างกันโดนสิ้นเชิง เช่นบ้านขนาดเล็กหรือศูนย์วิจัยขนาดใหญ่ ตัวอย่างเช่น บ้านมาร์กาเร็ต เอสเชริก (Margaret Esherick House, ค.ศ. 1961) ที่เมืองฟิลาเดลเฟีย สหรัฐอเมริกา ที่มีการจัดวางพื้นที่บริการและพื้นที่ใช้สอยอยู่ด้วยกัน และมีการแบ่งสัดส่วนอย่างชัดเจน ซึ่งต่างกับงานในยุคโมเดิร์นสมัยนั้น เช่น บ้านฟาร์นสเวิร์ท (Farnsworth House) ในรัฐอิลลินอยส์ ที่มีการจัดวางพื้นที่แบบผังเปิดโล่ง (Open plan) ตามแนวคิดแบบโมเดิร์น

Margaret House, Philadelphia (ค.ศ. 1961) https://www.archdaily.com/202759/ad-classics-esherick-house-louis-kahn
Margaret House, Philadelphia (ค.ศ. 1961) https://www.archdaily.com/202759/ad-classics-esherick-house-louis-kahn
รูป 1 Esherick House ชั้นหนึ่ง https://anonymousarchitecture.co/
รูป 1 Esherick House ชั้นหนึ่ง https://anonymousarchitecture.co/
Farnsworth House (ค.ศ.1951) ผลงานการออกแบบของมิส ฟาน เดอร์ โรห์ https://www.researchgate.net/figure/Plan-of-Farnsworth-House-by-Mies-van-der-Rohe-Source-D-Spaeth-Mies-van-der-Rohe-New_fig8_232909201

ห้องปฏิบัติการวิจัยทางการแพทย์ของริชาร์ดส์ (Richards Medical Research Laboratories, ค.ศ. 1965) ที่เมืองฟิลาเดลเฟีย สหรัฐอมเริกา เป็นอีกหนึ่งตัวอย่างการจัดลำดับพื้นที่บริการและพื้นที่ใช้งานอย่างเป็นสัดส่วนชัดเจน โดยจัดวางพื้นที่บริการให้อยู่รอบนอกของอาคาร ด้วยแนวคิดที่ต้องการให้แยกระหว่างอากาศดีที่เข้าสู่อาคาร และอากาศเสียที่ระบายออกอย่างชัดเจน

ห้องสมุดเอ๊กซีเตอร์ (Phillips Exeter Academy Library ค.ศ.1972) เป็นอีกหนึ่งงานสถาปัตยกรรมที่สะท้อนแนวคิดการแบ่งชนชั้นพื้นที่บริการและพื้นที่ใช้งานได้อย่างชัดเจน และมีความสัมพันธ์กับแนวคิดของแสงสว่าง (Light) ในพื้นที่อย่างเห็นได้ชัด ซึ่งในความหมายของคาห์นแล้วแสงสว่างจากธรรมชาติยังมีความหมายในเชิงปรัชญาด้วย ด้วยการจัดพื้นที่บริการและพื้นที่ใช้งานในลักษณะเป็นวงซ้อนกัน คาห์นวางเอเทรียม (Atrium) ซึ่งมีความสำคัญเป็นจิดวิญญาณของอาคารไว้ตรงกลาง และออกแบบช่องเปิดด้านบนให้พื้นที่ได้รับแสงสว่างธรรมชาติอย่างทั่วถึง ถัดเข้ามาจะเป็นพื้นที่บริการซึ่งไกลจากแสงธรรมชาติที่สุด ประกอบไปด้วยพื้นที่สัญจรหลักและชั้นวางหนังสือ จากนั้นจึงเป็นพื้นที่สำหรับนั่งอ่านหนังสือซึ่งจะได้รับแสงธรรมชาติผ่านหน้าต่างอาคารอีกทีหนึ่ง โดยคาห์นตั้งใจให้คนเข้ามาที่ใจกลางอาคาร เลือกหนังสือ และกลับเข้าสู่แสงสว่างโดยรอบนอกของอาคารอีกครั้ง

Exeter Library, New Hampshire (ค.ศ.1971)

อีกหนึ่งตัวอย่างงานของคาห์นที่โด่งดังที่สุดที่จะไม่กล่าวถึงไม่ได้นั้นคือ สถาบันซอล์ค (Salk Institute for Biological Studies) ซึ่งมีการจัดวางอาคารด้วยความสำคัญของพื้นที่จากศูนย์กลางสู่วงนอกอย่างชัดเจน โครงการประกอบด้วยอาคารสองอาคารวางขนานกันตั้งฉากกัน ตรงกลางเป็นลานกว้างมีร่องน้ำทอดยาวไปที่มหาสมุทรแปซิฟิก จอห์น โลเบลล์ ผู้แต่งหนังสือเรื่อง Between silence and light: spirit in the architecture of Louis I. Kahn ได้ตีความการจัดวางพื้นที่ของคาห์นไว้ว่ามีความคล้ายคลึงกับแมนดาลา (Mandala) ซึ่งประกอบไปด้วยวงกลมซ้อนกันประกอบเป็นรูปลักษณ์ของมนุษย์หรือเทพหนึ่งองค์ ลานกว้างตรงกลางเปรียบเสมือน จิตวิญญาณ (Spirit) ซึ่งเปี่ยมไปด้วยสมาธิ ความสงบนิ่ง และเชื่อมต่อกับธรรมชาติ ต่อมาเป็นสังคม (Society) หรือส่วนทางเดินที่คนสามารถพบปะสัญจรแลกเปลี่ยนความรู้กัน ถัดเข้ามาเป็นจิต (Mind) หรือพื้นที่สำหรับงานวิจัยและงานระบบ วงสุดท้ายคือร่างกาย (Body) หรือส่วนของบันไดและห้องน้ำ ในส่วนของพื้นที่ใช้สอยและพื้นที่บริการยังถูกจัดวางอย่างชาญฉลาด ด้วยการที่ห้องปฏิบัติการต้องการเครื่องมือและงานระบบ คาห์นเลือกที่จะนำเสนอความสัมพันธ์ของพื้นที่ในรูปตัดพร้อมๆกับในผังอาคาร โดยที่พื้นที่บริการหรืองานระบบนั้นจะอยู่ชั้นบนเหนือพื้นที่ของห้องปฏิบัติการ ทำให้งานระบบสามารถเข้าถึงได้ในทุกส่วนของอาคาร และยังจัดวางพื้นที่สัญจรล้อมพื้นที่ใช้งานหรือในที่นี้คือห้องปฏิบัติการเอาไว้ ทำให้ห้องปฏิบัติการเกิดเป็นพื้นที่อิสระที่สามารถรองรับการใช้งานได้หลากหลาย

Louis Isadore Kahn (ค.ศ. 1901-1974) https://www.meer.com/design-museum/artworks/42878

นับได้ว่า หลุยส์ ไอ คาห์น เป็นบรมครูแห่งสถาปัตยกรรมที่แท้จริง การเสาะหาแนวคิดการออกแบบที่เข้าถึงแก่นแท้ของธรรมชาตินั้นได้เป็นแรงบันดาลใจให้สถาปนิกชื่อดังรุ่นต่อรุ่นในเวลาต่อมา ไม่ว่าเวลาจะผ่านมาเท่าไหร่ แต่งานสถาปัตยกรรมและปรัชญาของคาห์นนั้นนับได้ว่ามีคุ้มค่าที่จะเรียนรู้อยู่เสมอ

แหล่งที่มาของข้อมูล
1. https://archnu.files.wordpress.com/2010/07/louis-i-kahn_postmodern.pdf
2. Louis Kahn Essential Text edited by Robert Twombly
3. Between silence and light: spirit in the architecture of Louis I. Kahn by John Lobell
4. Louis Kahn’s Architecture of the Room [Trenton Bath House, Esherick House, Exeter Library] by Stewart Hicks
5. http://www.carlosdemalchi.com/wp-content/uploads/2016/10/DEMALCHI_AR103422.pdf

Writer
Panon Sooksompong

Panon Sooksompong

สถาปนิกที่หลงใหลในการค้นคว้าสู่นักเขียนผู้ถ่ายทอดเรื่องราว จากกองหนังสือที่เอามารองนอน ตอนนี้ได้ฤกษ์จะถูกหยิบมาเปิดอ่านไปพร้อมกัน