หนึ่งใน 29 สถาปัตยกรรมบนเกาะอังกฤษที่ได้รับรางวัล RIBA National Award 2022 ในปีนี้ดูจะจะได้รับความสนใจเป็นพิเศษ เพราะนอกจากจะถูกหยิบไปเผยแพร่ในหลายสื่อดังทั่วโลกแล้ว ที่นี่ยังกลายเป็นแหล่งแฮงค์เอาท์ใหม่ของลอนดอนที่กำลังได้รับความนิยมมากขึ้นเรื่อย ๆ เลยทีเดียว ถึงแม้ว่าดูผิวเผินแล้วสถานที่แห่งนี้อาจไม่ได้โดดเด่นเรื่องดีไซน์สักเท่าไร แต่สิ่งที่ได้รับเสียงชื่นชมเป็นอย่างมากก็คือการนำสถานที่มุมอับมาพัฒนาให้เกิดประโยชน์นั่นเอง
สถาปัตยกรรมที่ว่านี้คือ BFI Riverfront อาคารอเนกประสงค์ลุคใหม่ที่เกิดจากการรีโนเวทโถงอเนกประสงค์เก่าของ BFI Sounthbank โรงภาพยนตร์อิสระอันเก่าแก่และมีชื่อเสียงของอังกฤษ พื้นที่เดิมนั้นมีตั้งแต่ร้านอาหารเล็ก ๆ โซนรอชมภาพยนตร์ ไปจนถึงออฟฟิศเก่าโทรม ๆ ซึ่งตั้งอยู่บนพื้นที่ใต้เชิงสะพาน Waterloo Bridge ในฝั่ง South Bank โดยลุคใหม่นี้พลิกโฉมกลายเป็น Pub & Restaurant สุดชิค รวมถึงยังทำหน้าที่เป็นโถงทางเข้าโรงภาพยนตร์เหมือนเคย แล้วยังมีแหล่งแสดงงานศิลปะเล็กๆ ที่มีเสน่ห์ไม่เหมือนใครอีกด้วย
BFI Riverfront อยู่ภายใต้การดูแลของ BFI Sounthbank หรือ British Film Institute (BFI) ที่ตั้งอยู่ในย่าน South Bank แหล่งศิลปวัฒนธรรมตลอดจนความบันเทิงอันโด่งดังในลอนดอน องค์กรด้านภาพยนตร์ที่เก่าแก่และมีชื่อเสียงที่สุดของอังกฤษนี้เดิมทีนี้มีชื่อว่า National Film Theatre ก่อตั้งขึ้นในปี ค.ค.1951 ก่อนที่ภายหลังในปี ค.ศ.2007 จะมีการเปลี่ยนชื่อใหม่มาเป็น British Film Institute (BFI) และใช้มาจนถึงปัจจุบัน หนึ่งในภารกิจหลักของ BFI ก็คือการเป็นพื้นที่ฉายภาพยนตร์ตลอดจนจัดกิจกรรมต่าง ๆ เกี่ยวกับด้านนี้โดยเน้นไปยังภาพยนตร์สายอาร์ตตลอดจนสายอินดี้เป็นหลักซึ่งจะคัดสรรหนังคุณภาพมาจากทั่วโลก
BFI Riverfront โฉมใหม่เป็นอาคารแนวยาวสองชั้นที่มาพร้อมระเบียงดาดฟ้า รูปทรงของอาคารเรียบง่ายคล้ายกล่องสี่เหลี่ยมผืนผ้าธรรมดาที่วางทอดตัวอยู่ใต้เชิงสะพาน Waterloo Bridge อันเป็นหนึ่งในสะพานเก่าแก่ของอังกฤษ ทิศทางด้านยาวของอาคารวางขนานไปกับแม่น้ำเทมส์ (River Thames) ทำให้บรรยากาศของที่นี่เปลี่ยนแปลงไปตามความสวยงามในแต่ละช่วงเวลา ซึ่งพื้นผิวคอนกรีตดิบ ๆ ตลอดจนโทนสีเทาหม่นตามธรรมชาติของสะพานก็ยิ่งช่วยขับให้สถาปัตยกรรมโมเดิร์นแสนเรียบง่ายนี้โดดเด่นยิ่งขึ้นไปอีก
ถึงแม้ว่าฟาซาดอาคารจะไม่ได้มีดีไซน์โดดเด่นอะไรเป็นพิเศษ แต่ความเรียบง่ายของแถบอาคารด้านบนนี่เองที่สร้างจุดเด่นได้ยอดเยี่ยมไม่เหมือนใคร วัสดุที่ใช้ปิดทับบริเวณนี้จะเป็นกระจกใสรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าแนวตั้งวางเรียงต่อกันอย่างสวยงามรองรับด้านหลังด้วยวัสดุสีขาวครีมอีกชั้น จากนั้นก็จัดแสงไฟให้เปล่งประกายสวยงามแล้วนำเอาอักษรชื่อร้าน BFI Riverfront ตลอดจนคำวา Cinema มาวางตกแต่งไว้ด้านหน้าอย่างเรียบง่ายสวยงาม
แน่นอนว่าแรงบันดาลใจในการออกแบบแถบป้ายด้านบนนี้มาจากป้ายไฟสีขาวสว่างตาอันเป็นเอกลักษณ์ของโรงภาพยนตร์ในยุคก่อนที่แสนคลาสสิกนั่นเอง โดยในยามค่ำคืนที่เปิดไฟสว่าง BFI Riverfront ก็จะยิ่งโดดเด่นมีเสน่ห์มากขึ้นด้วย นอกจากทำหน้าที่เป็นป้ายหน้าร้านแล้วขณะเดียวกันมันยังทำหน้าที่เป็นแนวระเบียงของโซนด้านบนด้วย โดยเฉพาะลานเอาท์ดอร์นั่งชิลล์รับลมริมระเบียงที่กลายมาเป็นจุดแฮงค์เอาท์อันโปรดปรานของใครหลายคน
โซนด้านล่างแบ่งออกเป็นสองฝั่งหลัก ๆ โดยปีกด้านหนึ่งจะเป็น Pub & Restaurant ส่วนปีกอีกด้านจะเป็น Café แต่ก็ไม่ได้มีการสร้างผนังแบ่งแยกอย่างชัดเจน แต่ใช้โซนทางเดินที่ปูกระเบื้องตกแต่งต่างลายเป็นตัวแบ่งแทน นั่นทำให้ภาพรวมของร้านไม่ดูตันหรืออึดอัด ทำให้บรรยากาศของทั้งสองร้านกลับดูโปร่งโล่งสบาย อีกสิ่งที่ดูจะทำหน้าที่แบ่งโซนร้านไปในตัวก็คือการเลือกเฟอร์นิเจอร์แต่ละร้านให้มีดีไซน์แตกต่างกัน แต่ก็ยังคงเป็นโต๊ะและเก้าอี้ในกลิ่นอาย Modern Classic แบบเดียวกันเพื่อทำให้บรรยากาศโดยรวมทั้งหมดไปในทิศทางเดียวกัน
ด้วยความจำกัดของพื้นที่ทำให้ไม่สามารถสร้างอาคารให้มีโถงสูงได้นัก สถาปนิกจึงเลือกใช้เพดานในแบบเปลือยฝ้าเพื่อลดความอึดอัด นอกจากจะทำให้อาคารดูสูงโปร่งขึ้นแล้ว การเปลือยฝ้าที่เห็นรายละเอียดดิบๆ ของอุปกรณ์และสีโครงสร้างคอนกรีตด้านบนกลับช่วยทำให้ร้านดูมีเสน่ห์มากขึ้นด้วย โทนสีด้านบนยังกลมกลืนกับด้านล่างซึ่งเป็นโทนสีเข้มสไตล์คลาสสิกผสมผสานกัน ตั้งแต่เฟอร์นิเจอร์ที่เป็นโทนสีดำผสมน้ำตาลเข้ม ไปจนถึงกระเบื้องปูพื้นที่เลือกใช้โทนสีน้ำตาลเข้มผสมผสานสีเหลืองหม่นได้อย่างลงตัว
มาถึงโซนโรงภาพยนตร์ด้านในทางสถาปนิกเลือกเบรกอารมณ์ด้วยการใช้โทนสีที่ตัดกันอย่างเห็นได้ชัด ผนังถูกฉาบด้วยสีชมพูบานเย็นสดผสมผสานการตกแต่งป้ายไฟนีออนและตกแต่งกล่องไฟโฆษณาโปสเตอร์หนังเพื่อเป็นสัญลักษณ์แยกโซนได้อย่างชัดเจน และทำให้ภาพรวมของสถานที่นี้มีเสน่ห์มากขึ้นทีเดียว
อีกจุดเด่นสะดุดตาภายในโซนนี้เห็นจะเป็นเพดานที่เจาะรูวงกลมขนาดใหญ่เพื่อเปิดพื้นที่ให้เห็นชั้น 2 ด้านบน การเจาะเพดานนั้นทำให้ส่วนนี้กลายเป็นอาคารโถงสูงโปร่งยิ่งขึ้น ช่วยลดความอึดอัดให้กับบริเวณอาคารชั้น 1 ได้เป็นอย่างดี จากจุดนี้ถ้าขึ้นมายังชั้นบนเราก็จะเจอกับห้องโถงขนาดใหญ่ฉาบผนังสีชมพูบานเย็นโดยรอบให้เข้ากับโทนสีผนังด้านล่าง บริเวณพื้นที่เจาะรูปวงกลมเชื่อมด้านล่างนั้นก็สร้างระเบียงวงกลมรายล้อมบริเวณนี้ได้เพื่อสร้างเอกลักษณ์ให้กับพื้นที่ให้น่าสนใจยิ่งขึ้น
ด้านบนโซนนี้ปรับเปลี่ยนให้กลายเป็นบาร์เล็ก ๆ แสนมีเสน่ห์สำหรับคนที่ชอบแฮงค์เอาท์ในบรรยากาศส่วนตัวแบบคนไม่พลุกพล่านวุ่นวายมากนัก ผนังสีชมพูบานเย็นโดยรอบมีการตกแต่งภาพถ่ายไว้อย่างสวยงาม แล้วโซนนี้ก็ยังสามารถปรับเปลี่ยนมาเป็น Art Gallery ขนาดย่อมไปพร้อมกันได้อีกด้วย อีกจุดเด่นในส่วนของชั้น 2 นี้คือการเปลือยฝ้าเพดานแบบด้านล่างแต่วัตถุประสงค์ในการเปลือยเพดานตรงส่วนนี้แตกต่างกัน เพราะสถาปนิกจงใจเผยให้เห็นโครงสร้างดั้งเดิมตลอดจนพื้นผิวธรรมชาติที่แท้จริงของท้องสะพานด้านล่าง เพื่อให้เห็นประวัติศาสตร์ ความผูกพัน ตลอดจนเสน่ห์ที่แท้จริงของการผสานสถาปัตยกรรมนี้ให้อยู่ร่วมกับสะพานอย่างกลมกลืน
อีกส่วนที่น่าสนใจ คือโซนโรงภาพยนตร์ด้านในที่มีการปรับโฉมใหม่ให้ทันสมัย ปรับเก้าอี้ให้นั่งสบายและสวยงาม และยังเลือกใช้โทนสีแดงอมชมพูเพื่อให้เข้ากันกับโทนสีของผนังโซนโรงภาพยนตร์ด้านนอกอีกด้วย รวมถึงยังคงเลือกอนุรักษ์เอกลักษณ์สุดเก๋ในแบบฉบับดั้งเดิมไว้ ซึ่งเป็นเพดานรูปสามเหลี่ยมเรียงรายต่อกันจนเกิดเป็นลายกราฟิกอย่างสวยงาม ซึ่งการวางเพดานในรูปแบบนี้ไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อความสวยงามเท่านั้น แต่ยังเป็นการออกแบบเพดานเพื่อควบคุมคุณภาพเสียงภายในโรงภาพยนตร์ให้ดีที่สุดด้วย ตลอดจนช่วยดูดซับเสียงเพื่อลดเสียงรบกวนจากภาพนอกด้านบนของโรงภาพยนตร์ ซึ่งบริเวณนี้คือถนนสัญจรบนสะพาน Waterloo Bridge นั่นเอง
BFI Riverfront โฉมใหม่นี้เป็นผลงานดีไซน์ของสถาปนิกอันโด่งดังแห่งอังกฤษอย่าง Carmody Groarke ออกแบบและตกแต่งภายในโดย Sean Jackson อินทีเรียดีไซน์ผู้โด่งดังแห่งอังกฤษอีกคน สำหรับองค์กรที่มอบรางวัลนี้ก็ได้แก่ Royal Institute of British Architects (RIBA) สถาบันวิชาชีพสถาปนิกแห่งอังกฤษที่เก่าแก่ทรงคุณค่า ซึ่งเหตุผลสำคัญที่ทำให้คณะกรรมการตัดสินประทับใจจนมอบรางวัลให้ในคราวนี้ ก็คือการที่สถาปนิกสามารถออกแบบปรับปรุงสถานที่สำคัญทางประวัติศาสตร์ของประเทศโรงภาพยนตร์และอาคารของ British Film Institute (BFI) และสะพาน Waterloo Bridge ให้สวยงามทรงคุณค่าได้โดยที่ยังคงเสน่ห์ดั้งเดิมไว้ครบถ้วน โดยทั้งสองสิ่งก่อสร้างนี้ได้รับการขึ้นทะเบียน Listed Building หรือ “สิ่งก่อสร้างภายใต้การพิทักษ์” ของอังกฤษในระดับ Grade-II และ Grade II* ตามลำดับ แล้วทางคณะกรรมการยังให้เหตุผลเพิ่มเติมอีกว่าความโดดเด่นของการออกแบบครั้งนี้ก็คือการเป็นสถาปัตยกรรมที่ดูเรียบง่ายแต่มีเสน่ห์ แถมยังดูโมเดิร์นแล้วก็คลาสสิกในเวลาเดียวกัน
Photo Credit
Royal Institute of British Architects (RIBA) : www.architecture.com
Carmody Groarke : www.carmodygroarke.com
Sean Jackson : www.sj-ia.com
Google Map (Street View)
Eventopedia : www.eventopedia.com
รับข่าวสารเรื่องการออกแบบ สถาปัตยกรรม ไลฟ์สไตล์
ทางอีเมล ที่จะส่งตรงถึงคุณทุกเดือน ลงทะเบียนได้ที่ด้านล่างนี้เลย!