Haimen Shishan Square
จะเป็นอย่างไร? เมื่อโปรเจกต์พัฒนาอสังหาริมทรัพย์ถูกเปลี่ยนให้เป็นพื้นที่สาธารณะของชุมชน

จะเป็นอย่างไร? เมื่อโปรเจกต์พัฒนาอสังหาริมทรัพย์ถูกเปลี่ยนให้เป็นพื้นที่สาธารณะของชุมชน

ชุมชนเมืองเก่าต่างก็มีข้อดีและข้อเสียผสมผสานกันอยู่เสมอ และมักเป็นเงื่อนไขสำคัญเมื่อเมืองต้องการจะวางแผนพัฒนาให้เจริญเติบโตยิ่งขึ้น ประเด็นลักษณะนี้กำลังกลายเป็นปัญหาใหญ่ในประเทศจีนค่อนข้างมากเพราะทุกวันนี้การพัฒนาเมืองใหม่ในแดนมังกรนั้นเกิดขึ้นมากมายในหลายพื้นที่และยังพลิกโฉมหน้าเมืองใหม่ได้แบบก้าวกระโดดในพริบตา แต่ก็ใช่ว่าการพลิกโฉมชุมชนเมืองเก่าในจีนนั้นจะมีปัญหาเสมอไป เพราะหลายเคสในอดีตกลายมาเป็นบทเรียนสำคัญตลอดจนนำไปเป็นข้อมูลสำหรับการศึกษาวิจัยเพื่อนำไปปรับปรุงพัฒนาโปรเจกต์ใหม่ ๆ ให้ดียิ่งกว่าเก่า

 

หนึ่งในโปรเจกต์พัฒนาอสังหาริมทรัพย์ไปพร้อมกับชุมชนที่น่าสนใจในเมืองจีนนี้ถึงแม้จะเป็นโครงการที่ไม่ใหญ่นักแต่ผลงานที่สร้างขึ้นนั้นเป็นการศึกษาชุมชนอย่างเข้าใจและพัฒนาอสังหาริมทรัยพ์ใหม่ให้เกิดประโยชน์กับชุมชนอย่างแท้จริง โปรเจกต์ที่ว่านี้ก็คือ Haimen Shishan Square หรือ Haimen City Sports Service Complex ที่ตั้งอยู่ในเขตไฮ่เหมิน ย่านเมืองเก่าอันเป็นชุมชนที่อยู่อาศัยหนาแน่นในเมืองหนามทง ซึ่งเป็นเมืองชายฝั่งอีกเมืองของมณฑลเจียงซูที่กำลังเติบโต

เจ้าของโปรเจกต์ที่รับผิดชอบในการพัฒนาเมืองย่านนี้ คือ Zhejiang University Urban – Planning & Design Institute Co., Ltd. (ZUP) ที่ก่อตั้งโดยสถาบันออกแบบและพัฒนาผังเมืองของมหาวิทยาลัยเจ้อเจียง โดยทาง ZUP ได้เริ่มพัฒนาโปรเจกต์อสังหาริมทรัพย์ยุคใหม่นี้บนพื้นที่ว่างของชุมชนเมืองเก่า ซึ่งยังไม่เคยมีการพัฒนาโครงการอสังหาริมทรัพย์ใหญ่ ๆ ในแถบนี้มาก่อน การพัฒนาในครั้งนี้ตั้งโจทย์สำคัญไว้หนึ่งอย่างก็คือโครงการอสังหาริมทรัพย์ที่จะผุดขึ้นนี้ต้องไม่ขัดแย้งและถูกต่อต้านจากชุมชนท้องถิ่นเดิมด้วย

ทำให้การพัฒนาโครงการในครั้งนี้มีเป้าหมายในการก่อสร้างเพื่อใช้งานสถาปัตยกรรมผสมผสานกับงานออกแบบภูมิทัศน์ (Architecture & Landscape Design) มาปรับปรุงคุณภาพชีวิตชุมชนแออัดในย่านเมืองเก่าให้ดีขึ้นไปพร้อม ๆ กับการพัฒนาย่านเศรษฐกิจการค้าของเมืองขึ้นใหม่ โครงการ Haimen Shishan Square จึงกลายมาเป็นการผสมผสานการออกแบบการใช้ประโยชน์ของอาคารในหลากหลายรูปแบบและหลากหลายฟังก์ชันเข้าไว้ด้วยกันซึ่งภายในบริเวณนี้จะประกอบไปด้วยฟังก์ชันต่าง ๆ ได้แก่ Commercial Area – ย่านการค้า, Creative Business – ศูนย์กลางธุรกิจสร้างสรรค์, Sports, Entertainment and Leisure – ศูนย์กีฬา บันเทิง และนันทนาการ, Culture and Art – ศูนย์ศิลปะและวัฒนธรรม, ไปจนถึง Park and Nature – สวนสาธารณะและแหล่งธรรมชาติ

แนวคิดหลักของการพัฒนาถูกวางไว้ว่า Reduce the building proportion & increase site planning เพื่อลดทอนการสร้างอาคารให้ยิ่งใหญ่อลังการเกินความจำเป็นตลอดจนเพิ่มความใส่ใจในการออกแบบวางผังอาคารไปจนถึงภูมิทัศน์โดยรอบให้เป็นประโยชน์สูงสุดต่อชุมชนและธุรกิจ นอกจากนี้ยังมีวางคอนเซ็ปต์ภาพรวมจำง่ายในอีกรูปแบบที่สามารถสะท้อนภาพรวมของโครงการได้ดีว่า Street Life อันเป็นการพัฒนาโปรเจกต์ให้มีชีวิตชีวามากกว่าแค่การเป็นตึกออฟฟิศสวยหรูเท่านั้น ขณะเดียวกันการสร้างสถาปัตยกรรมตลอดจนสิ่งแวดล้อมรอบอาคารจะต้องผสานกลมกลืนและเป็นส่วนหนึ่งของวิถีชีวิตชุมชนให้ได้ด้วย

อาคารหลักของ Haimen Shishan Square ถูกออกแบบให้เป็นสถาปัตยกรรมที่ดูล้ำสมัย โครงสร้างที่แปลกตาส่วนบนสุดคล้ายการนำกล่องทรงลูกเต๋ามาหั่นในแนวนอนเป็นสามส่วนแล้วบิดท่อนกลางให้ระนาบของอาคารไม่เสมอกันทำให้เกิดฟาซาดใหม่ของอาคารที่น่าสนใจ ซึ่งหากถอยออกมามองในภาพกว้าง เราจะเห็นภาพของอาคารสุดล้ำยุคคอนทราสต์กับชุมชนเก่าโดยรอบได้อย่างชัดเจนจนเป็นมุมมองแปลกตาแต่ทว่าสร้างความโดดเด่นดึงดูดความสนใจได้ดี

ในขณะเดียวกันความโดดเด่นนี้ก็ไม่ได้มีจุดประสงค์สร้างความแปลกแยกกับชุมชนตั้งแต่แรก กลับกันทางสถาปนิกต้องการพัฒนาสถาปัตยกรรมยุคใหม่ให้เข้ากับชุมชนเสียด้วยซ้ำ นั่นทำให้อาคารหลังนี้จึงมีความสูงไม่มากนักสถาปัตยกรรมนี้จึงเป็นตึกสไตล์ Low-rise building ที่ไม่ดูแปลกแยกจากชุมชนจนเกินไป และเพื่อให้โครงการเป็นส่วนหนึ่งของชุมชนมากยิ่งขึ้น การพัฒนาอสังหาริมทรัพย์โปรเจกต์นี้จึงมีลักษณะเป็นแบบ Commercial Complex & Community Services ศูนย์ธุรกิจและการค้าผสานกับศูนย์สันทนาการชุมชนเพื่อให้คนท้องถิ่นรอบละแวกนี้สามารถเข้ามาใช้ประโยชน์ที่อาคารนี้ได้ราวกับเป็นส่วนหนึ่งของชุมชน

ไม่เพียงสถาปัตยกรรมจะโดดเด่นเท่านั้นเพราะสิ่งที่สะดุดตาไม่แพ้กัน คือการออกแบบภูมิทัศน์โดยรอบที่ไม่ได้เน้นไปยังความสวยงามเป็นหลักแต่เน้นเพื่อทำให้พื้นที่มีฟังก์ชันที่เป็นประโยชน์ต่อชุมชนให้มากที่สุด โซนโดดเด่นที่สุดเห็นจะเป็นการเนรมิตดาดฟ้าของอาคารฐานล่างที่เป็นโซน Community Mall & Sport Complex ให้กลายเป็นลานกีฬาและแหล่งพักผ่อนหย่อนใจของชุมชน โดยบริเวณนี้จะมีสนามฟุตบอล สนามบาสเก็ตบอลขนาดเล็ก ทางเดินเล่น ไปจนถึงลู่วิ่งลอยฟ้า

พื้นที่สันทนาการนี้ออกแบบได้อย่างสวยเท่ทันสมัย โดยเฉพาะลู่วิ่งที่ลัดเลาะไปตามส่วนต่าง ๆ ของโครงการ บริเวณตรงกลางของอาคารฐานล่างนั้นยังเปิดหลังคาโล่งให้เห็นส่วน Community Mall & Sport Complex ด้านล่าง รวมถึงที่พักผ่อนหย่อนใจในโซนต่าง ๆ โดยไฮไลท์ที่เป็นเนินลาดเอียงเขียวขจีที่ลดระดับจากชั้นดาดฟ้ามาจนถึงพื้นดินด้านล่างสุด ทุกพื้นที่สะท้อนการออกแบบสถาปัตยกรรมและภูมิทัศน์ให้ทันสมัยสอดคล้องกันอย่างลงตัว และยังผสานกับวิวของอาคารที่พักอาศัยในชุมชนแถบนี้ ซึ่งโซนนี้ถูกพัฒนาขึ้นให้กลายเป็นสวนสาธารณะแห่งใหม่ในชุมชนไปในคราวเดียวกัน

ในส่วนของอาคารหลัก ถูกพัฒนาให้เป็นอาคารสำนักงานทันสมัยเพื่อเป็นการขยายตัวย่านธุรกิจใหม่รวมถึงเป็นแหล่งรองรับการพัฒนาธุรกิจในชุมชน นอกจากนี้ภายในอาคารยังมีสิ่งอำนวยความสะดวกตลอดจนแหล่งออกกำลังกายอีกมากมาย ตั้งแต่สระว่ายน้ำในร่ม สนามบาสเก็ตบอลในร่ม ฟิตเนส ไปจนถึงห้องสมุดสาธารณะ อาร์ตแกลเลอรี่ และสถานที่จัดกิจกรรมเอนกประสงค์สำหรับชุมชน

บางครั้งเราอาจหลีกเลี่ยงการพัฒนาเมืองใหม่ไม่ได้ และบ่อยครั้งการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ที่เน้นเพียงสิ่งก่อสร้างหรือมุ่งพัฒนาโครงการของตนอย่างเดียวก็อาจกลายเป็นเครื่องมือสำคัญในการสร้างความเหลื่อมล้ำทางสังคมให้เพิ่มยิ่งขึ้นด้วย ทางออกที่ดีที่สุดวิธีหนึ่งก็คงเป็นการต้องหันมาจับมือนั่งคุยกัน ร่วมกันพัฒนาโครงการที่เอื้อประโยชน์กับทุกฝ่ายให้มากที่สุด ไม่ใช่แค่มุ่งเน้นความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมเพียงอย่างเดียวแต่ยังควรจะมุ่นเน้นการเป็นมิตรกับชุมชนไปพร้อมกันด้วย และนี่น่าจะเป็นแนวทางสู่การพัฒนาเมืองแบบวิถียั่งยืนอย่างแท้จริง

Information
ZUP : www.zjdxghy.com

Photo Credit
ZUP : www.zjdxghy.com
The Architecture MasterPrize : https://architectureprize.com/winners/winner.php?id=4577

Writer
Tada Ratchagit

Tada Ratchagit

นักเขียนที่หลงรักการถ่ายภาพ หลงเสน่ห์การเดินทาง หลงใหลงานดีไซน์ไปจนถึงสถาปัตยกรรมทุกยุค ตลอดจนสนใจเรื่องราวของสิ่งแวดล้อมและวิถีชีวิตยั่งยืน