JSBT House
บ้านสามหลังของผู้อยู่อาศัยสองเจนเนอเรชันในรูปลักษณ์ลูกครึ่งไทย-นอร์ดิก

เห็นช่องเปิดสกายไลท์ขนาดใหญ่ทำหน้าที่เป็นทั้งผนังและเพดานแทรกอยู่ในฟังก์ชันสำคัญของบ้าน ใครจะคิดว่านี่เป็นบ้านในสภาพอากาศร้อนชื้นอย่างประเทศไทย แต่ด้วยไลฟ์สไตล์และความชื่นชอบเฉพาะตัว เจ้าของและสถาปนิกจาก Office AT ก็ร่วมมือกันรังสรรค์ให้ JSBT House เป็นส่วนผสมที่ลงตัวของกลิ่นอายบ้านยุโรปเหนือที่นำมาปรุงแต่งให้เข้ากับสภาพอากาศแบบไทย แทรกตัวไปด้วยความร่มรื่นของแมกไม้ที่เข้ามาช่วยเติมเต็ม

ความพิเศษของบ้านหลังนี้ไม่ใช่แค่ความลงตัวกับผู้อยู่อาศัยราวกับสั่งตัด แต่เป็นการจัดวางบ้านสามหลัง สองเจนเนอเรชันให้อยู่บนที่ดินซอยอ่อนนุชขนาด 340 ตารางวาให้เกิดประโยชน์สูงสุดและตอบโจทย์การอยู่อาศัยทั้งความร่มรื่น อยู่สบายและมีความสงบเป็นส่วนตัวไปพร้อมกัน

บ้านสามหลัง สำหรับผู้อยู่สองเจนเนอเรชัน

บนที่ดินสี่เหลี่ยมจัตุรัสนี้ มีโจทย์เริ่มต้นเป็นบ้านสามหลังที่ประกอบไปด้วยผู้อยู่อาศัย  3 ส่วนหลักคือ บ้านของคุณบุญชู และคุณแจ่มใส คู่สามีภรรยาครูสอนโยคะ บ้านของคุณแม่และบ้านของคุณอา การวางผังบ้านบนที่ดินจึงต้องมาดูกันว่าความต้องการของแต่ละบุคคลเป็นอย่างไร ? และควรจะวางไว้ส่วนไหนของที่ดินจึงจะเหมาะสม

แปลนชั้น 1
แปลนชั้น 2

อันดับแรก สถาปนิกเริ่มจากการวางพื้นที่ที่ทุกบ้านต้องใช้งานอย่างที่จอดรถและถนนทางเข้า โดยรวมลานจอดรถของบ้านสามหลังไว้ด้วยกันในจุดเดียว เพื่อลดพื้นที่ถนน พร้อมการเข้าถึงที่ง่ายและสะดวก ถัดเข้ามาบริเวณส่วนด้านหน้าติดกับถนนเป็นบ้านของคุณอาที่มีความต้องการง่าย ๆ อย่างการแยกบ้านเป็นส่วนตัว เมื่อมีแขกมาเยี่ยมสามารถเข้าถึงได้ง่ายโดยไม่จำเป็นต้องผ่านบ้านอีกสองหลัง โดยบ้านหลังนี้สถาปนิกออกแบบให้คล้ายห้องสตูดิโอขนาดเล็ก มีเพียงห้องทำงาน ห้องนั่งเล่นขนาดใหญ่และห้องนอนบริเวณชั้นสอง ซึ่งบ้านคุณอาจะเชื่อมเข้าสู่พื้นที่บ้านคุณแม่ซึ่งมีพื้นที่เซอร์วิสบางส่วนคั่นกลางอย่างเช่น ห้องรับแขก ห้องครัว ห้องเก็บของ ห้องซักรีด และห้องแม่บ้าน เพื่อใช้งานร่วมกัน ช่วยประหยัดพื้นที่ไปในตัว

อีกโจทย์หนึ่งของสถาปนิกและเจ้าของ คือ ความต้องการพื้นที่สีเขียวของบ้านที่มากขึ้น ด้านบนซ้ายของที่ดินซึ่งเป็นทิศที่มีแสงแดดส่องถึงจึงกลายเป็นตำแหน่งของพื้นที่สวนกินสัดส่วนเกือบ 1 ใน 4 ของบ้าน และที่สำคัญบ้านของคุณแม่ และบ้านของคุณบุญชุแจ่มใสยังหันหน้าคนละทางเข้าหาสวนที่ว่า ทำให้ได้สวนส่วนกลางใช้ร่วมกันและยังได้มุมมองเป็นส่วนตัว

“ทุกคนได้แชร์พื้นที่สีเขียวขนาดใหญ่ร่วมกัน แต่ในขณะเดียวกันมุมมองที่เห็นก็ไม่ปะทะกัน เกิดเป็นมุมส่วนตัว แต่ละบ้านสามารถมีมุมโล่ง ๆ ที่มองออกไปได้โดยเป็นส่วนตัว และยังมีศาลามุมสวนสำหรับใช้งานร่วมกันในวันที่มีญาติ ๆ ครอบครัวใหญ่มาเยี่ยมเยือน” สถาปนิกเสริม

และหากสังเกตจากในแปลน เราจะเห็นว่าพื้นที่สีเขียวยังไหลต่อเนื่องมาบรรจบกับพื้นที่จอดรถ เพื่อป้องกันมุมมองและสร้างความเป็นส่วนตัวให้กับบ้านคุณบุญชูแจ่มใสนั่นเอง

บ้านลูกครึ่งไทย – ตะวันตก

เมื่อการวางผังบนที่ดินลงตัว ก็มาถึงโจทย์ความชอบส่วนตัว ซึ่งตอนเริ่มต้นสถาปนิกเล่าว่าคุณบุญชูแจ่มใสมาด้วย Reference บ้านโมเดิร์นสไตล์นอร์ดิกที่มีสกายไลท์ในบ้านค่อนข้างเยอะ แต่ด้วยความที่สองสามีภรรยาใช้ชีวิตยามเช้าก่อนพระอาทิตย์ขึ้นเป็นหลัก อากาศร้อนในเมืองไทยจึงไม่ได้ส่งผลต่อการอยู่อาศัยมากนัก 

ในฟังก์ชันหลัก ๆ จึงมีสกายไลท์สอดแทรกเข้าไปตามรีเควสของทางเจ้าของ อย่างห้องนอน ห้องน้ำ และพื้นที่นั่งเล่น ซึ่งพยายามจัดวางในทิศที่หลบแสงแดดในตอนที่เจ้าของใช้งาน เลือกใช้กระจก Insulated glass เพื่อป้องกันความร้อนเข้าสู่อาคาร และเสริมความร่มรื่น ช่วยกรองแสงด้วยต้นไม้เลื้อยและต้นไม้ที่ได้ทีมแลนด์สเคปจาก Suanleela มาช่วยปรุงแต่งให้ร่มรื่นลงตัว

ความชอบอีกอย่างหนึ่งของทางเจ้าของ คือบ้านโคซี่ที่มีบรรยากาศแบบห้องใต้หลังคาบ้านตะวันตก ซึ่งสถาปนิกก็เลือกที่จะออกแบบบ้านทรงจั่วโชว์ท้องคานของหลังคาเพื่อให้ได้กลิ่นอายที่ทางเจ้าของต้องการ ซึ่งจะเห็นได้ว่าบ้านลูกครึ่งไทย-นอร์ดิกหลังนี้ไม่ได้มีชายคาเหมือนบ้านไทยทรอปิคอลทั่วไป แต่สถาปนิกนำทรงบ้านโมเดิร์นมาปรับให้เข้ากับสภาพอากาศบ้านเรา ด้วยการเซ็ตพื้นที่เข้าไปเป็นระเบียงในบริเวณที่มีช่องเปิดขนาดใหญ่เพื่อป้องกันแดดและฝนให้กับบ้าน

สำหรับการใช้งานพื้นที่ในบ้าน เรียบง่าย ไม่มีฟังก์ชันใดซับซ้อนหรือแตกต่างจากบ้านทั่วไป เพียงแต่ด้วยความที่ทั้งคู่เป็นครูสอนโยคะ จึงต้องการพื้นที่อเนกประสงค์ที่ยืดหยุ่นได้ในหลากหลายจุดของบ้าน เพื่อปรับเปลี่ยนบรรยากาศและมุมมอง ซึ่งบริเวณส่วนหน้าของบ้านจะเป็นตำแหน่งของสระว่ายน้ำที่หันหน้าเข้าสู่สวน กลายเป็นอีกหนึ่งจุดไฮท์ไลสำหรับฝึกโยคะที่สามารถใช้เวลาดื่มด่ำกับบรรยากาศร่มรื่น เป็นธรรมชาติของบ้านได้อย่างเป็นส่วนตัว

Something More : ด้วยความที่มีสวนเป็นส่วนประกอบสำคัญ แมททีเรียลหลักที่ใช้ในการออกแบบบ้าน สถาปนิกยังเลือกใช้วัสดุที่มีสีกลมกลืนกับธรรมชาติอย่างหิน และไม้ สร้างความคอนทราสด้วยการใช้ผนังเหล็กสีดำซึ่งตัดกับสีเขียวของต้นไม้รอบ ๆ และเพื่อตอบโจทย์ความต้องการที่อยากให้บ้านสร้างเสร็จไวของเจ้าของ โครงสร้างเหล็กจึงเรียกได้ว่าแทบจะเป็นคำตอบเดียวในการเลือกนำมาออกแบบ เสริมด้วยวัสดุบางส่วนที่เอื้อให้การก่อสร้างเป็นไปอย่างสะดวก รวดเร็วอย่างงานผนังสำเร็จรูป หรือเมทัลชีท

บ้านหลังนี้คงเป็นอีกหนึ่งตัวอย่างสำหรับ ‘ความพอดีราวกับสั่งตัด’ ที่นำองค์ประกอบ ความชื่นชอบ และความต้องการส่วนตัวมาบรรจุลงในบ้านพักอาศัยหน้าตาไม่เหมือนใคร ประกอบร่างเข้ากับความสัมพันธ์ระหว่างครอบครัวใหญ่ที่เปลี่ยนเป็นความสุข ความผูกพัน ไปพร้อม ๆ กับการอยู่อาศัยได้อย่างเป็นตัวของตัวเอง

Location :  Bangkok, Thailand
Site Area: 1,360 sqm.
Owner : Boonchu & Lapatsanan Tantikarun                    
Architect : OfficeAT
Project Architects : Surachai Akekapobyotin, Juthathip Techachumreon       
Interior Designer :  Voraporn Tantikarun                    
Landscape Designer : Suanleela            
Structural Engineer : Sarawut Yuanteng
System Engineer :  Degree System Co.,Ltd.  
Contractor : S.P. Civil System Co., Ltd.                             
Photographer : Rungkit Charoenwat

Writer
Rangsima Arunthanavut

Rangsima Arunthanavut

Landscape Architect ที่เชื่อว่าแรงบันดาลใจในงานออกแบบ สามารถเกิดขึ้นได้จากทุกสิ่งรอบตัว และการบอกเล่าเรื่องราวการออกแบบผ่าน 'ตัวอักษร' ทำให้งานออกแบบที่ดี 'มีตัวตน' ขึ้นมาบนโลกใบนี้