The Salient
บ้านแพทเทิร์นแปลกตา ที่กลมกลืนด้วยความรู้สึกและวิถีชีวิตของชุมชน

‘จะเป็นไปได้ไหม? ถ้าบ้านโมเดิร์นไทยสมัยใหม่ ไม่จำเป็นต้องอยู่ในหลังคาจั่วแบบเดิม ๆ’ นี่คือจุดตั้งต้นของ The Salient ที่เกิดจากความต้องการของเจ้าของซึ่งอยากได้บ้านหลังใหม่ที่โดดเด่นในเชิงพาณิชย์ และเปลี่ยนภาพลักษณ์จากที่เคยอาศัยอยู่ในบ้านไม้โบราณสู่บ้านโมเดิร์นทันสมัย โดยไม่จำเป็นต้องไปเปลี่ยนวิถีชีวิตดั้งเดิมที่เคยชิน

ความแปลกแยกทางสายตาแต่กลมกลืนด้านความรู้สึกและการใช้ชีวิต จึงเป็นโจทย์สุดท้าทายที่สถาปนิกจาก AAd – Ayutt and Associates design ต้องมารับหน้าที่ร้อยเรียงความต้องการเหล่านั้นให้ลงตัว ซึ่งนอกจากโจทย์จากเจ้าของแล้ว บ้านหลังนี้ยังแบ่งปันประโยชน์สู่ชุมชน ซึ่งเป็นอีกหนึ่งใจความสำคัญที่สถาปนิกตั้งใจสอดแทรกเข้าไปเพื่อเป็นแรงขับเคลื่อนเล็ก ๆ ในการพัฒนาชุมชนและยกระดับการอยู่ร่วมกันในสังคมผ่านการออกแบบพื้นที่ส่วนตัว

โดดเด่นท่ามกล่างชุมชนเก่า

บ้านหลังนี้ตั้งอยู่ในอำเภอสัตหีบ จังหวัดชลบุรี รายล้อมด้วยบ้านไม้เก่า ตึกแถวยุคกลาง และชุมชนแออัดที่อยู่ด้วยกันมาหลายชั่วอายุคน ฝั่งซ้ายมือของที่ดินเป็นบ้านไม้สองชั้น ส่วนฝั่งขวาเป็นธุรกิจร้านแก๊สและบ้านหลังเดิมของเจ้าของ ประจวบเหมาะที่ทางเจ้าของซื้อที่ดินพล็อตกลางได้พอดี จึงถึงเวลาขยับขยายแปลงโฉมให้กลายเป็นบ้านโมเดิร์นทันสมัย โดยที่ชั้น 1 จะมีฟังก์ชันเป็นพื้นที่ขนถ่ายแก๊สขยายจากบ้านหลังเดิม ส่วนชั้น 2 เป็นพื้นที่อยู่อาศัยส่วนตัวของทางเจ้าของและพื้นที่นั่งเล่นของครอบครัว ในขณะที่ชั้น 3 เป็นห้องนอนส่วนตัวของลูก ๆ 

“ทางเจ้าของเขาอยากรีแบรนด์ให้บ้านหลังนี้กลายเป็นแลนด์มาร์คหนึ่งในชุมชนเมืองสัตหีบ เป็นที่รู้จักด้วยความโดดเด่นของตัวบ้าน แต่เรามองว่าวัฒนธรรมของเขาอยู่กับวิถีชีวิตในต่างจังหวัดมาตลอด เลยอยากดึงบรรยากาศเหล่านั้นเข้าไปใส่ในบ้านที่ดูสมัยใหม่มาก ๆ ลองนึกถึงงานญี่ปุ่น มันไม่ใช่แค่องค์ประกอบที่เรามองเห็นแต่มันคือเรื่องของสเปซ เรื่องของอารมณ์ที่ทำให้เห็นแล้วรู้เลยว่านี่แหละ…ญี่ปุ่น คล้าย ๆ กัน เราเลยอยากทำบ้านหลังนี้ให้หน้าตาไม่เหมือนบ้านไทย แต่สเปซภายทั้งหมดคือวิถีชีวิตไทย ๆ ที่เขาเคยชิน”

ทันสมัยในกลิ่นอายแบบดั้งเดิม

จากวิถีชีวิตของทางเจ้าของส่งต่อสู่แนวคิดของผู้ออกแบบ ด้านหน้าบ้านติดกับถนนจึงถูกดีไซน์ให้กลายเป็นที่จอดรถและลานอเนกประสงค์ที่เปิดคอร์ดโล่ง โดยได้แรงบันดาลใจมาจากใต้ถุนเรือนไทย ซึ่งส่วนนี้ผู้ออกแบบเลือกเปิดโล่งทั้งหมดเพื่อให้สามารถมองเห็นฟาซาดอาคารอะลูมิเนียมที่เป็นตัวแทนของบ้านโมเดิร์นยุคใหม่ ในขณะที่ด้านซ้ายติดกับบ้านไม้เป็นผนังอิฐบล็อกที่เราเห็นได้ทั่วไปในบ้านต่างจังหวัด เล่นแพทเทิร์นด้านข้างและด้านหน้าของก้อนอิฐเพื่อให้เกิดมิติแสงเงาที่น่าสนใจ

นอกจากบริเวณนี้จะเป็นพื้นที่จอดรถ และขนถ่ายแก๊ส ในบางช่วงเวลาที่ไม่มีรถเข้า-ออก พื้นที่นี้จะถูกเปลี่ยนให้กลายเป็นลานอเนกประสงค์ที่พร้อมรองรับฟังก์ชันอื่น ๆ ซึ่งบางครั้งกลายเป็นที่ซ้อมมวยของน้อง ๆ พนักงาน บางครั้งกลายเป็นพื้นที่นั่งพักผ่อนระหว่างขนส่งแก๊ส บางเวลาก็เปิดโอกาสให้เพื่อนบ้านได้เข้ามาหลบแดดทักทายโดยไม่รู้สึกเขอะเขิน และในวันอากาศดี พื้นที่ตรงนี้ยังสามารถมาตั้งโต๊ะปิ้งหมูกะทะ ดื่มด่ำกับมื้ออาหารและการพูดคุยได้ถึงแม้จะอยู่ในขอบเขตของบ้านลุคโมเดิร์นสุดเนี้ยบ

จากคอร์ดตรงนี้สามารถมองขึ้นไปเห็นฟาซาดอาคารได้อย่างชัดเจน

การที่ลานแห่งนี้เปิดโอกาสให้ผู้คนเข้ามาใช้งานได้อย่างเต็มที่ เป็นเพราะมีประตูเหล็กกั้นสองชั้นแบ่งสัดส่วนของพื้นที่ความเป็นส่วนตัวให้ชัดเจน โดยชั้นแรกสุดคือบริเวณด้านหน้าจะเป็นรั้วเหล็กทึบ ถัดเข้ามาเป็นรั้วเหล็กโปร่งอีกหนึ่งเลเยอร์ที่สามารถเปิดเพื่อขยายพื้นที่ให้ต่อเนื่องยาวเป็นผืนเดียว หรือในเวลาที่เจ้าของต้องการความเป็นส่วนตัวก็สามารถเลือกปิดได้ตามต้องการ

การเลือกใช้วัสดุที่แตกต่างกันอย่างสุดขั้วทำให้อาคารเกิดความคอนทราส แต่ผสมผสานเรื่องราวสมัยใหม่ในกลิ่นอายแบบดั้งเดิมได้อย่างลงตัว

พ้นประตูรั้วเหล็กโปร่งเข้าไป เป็นสัญญาณที่บอกว่าความเป็นส่วนตัวกำลังเริ่มต้นขึ้น จากประตูรั้ว และลานที่เน้นใช้วัสดุโทนสีเข้ม เปิดโล่งสู่คอร์ดส่วนตัว ซึ่งเราจะเริ่มเห็นต้นหมากริมรั้ว และผนังอิฐบล็อกเดิมที่ถูกลดทอนแพทเทิร์นให้เหลือเพียงการก่อธรรมดาเพื่อให้แสงเงาของต้นหมากได้โชว์ความเป็นธรรมชาติอย่างเต็มที่ พร้อมมีเพื่อนบ้านซึ่งเป็นอาคารไม้โบราณสองชั้นเป็นแบคกราวด์ แต่ไม่ต้องกลัวเรื่องความไพรเวท เพราะช่องเปิดของเพื่อนบ้านเป็นเพียงหน้าต่างเล็ก ๆ ที่สกรีนมุมมองได้ด้วยไม้ใบหนาอย่างต้นหมาก

“เราเรียนรู้จากยุคโควิดว่า จริง ๆ มนุษย์เป็นสัตว์สังคม คุณเห็นต้นไม้ในบ้านของตัวเองอย่างเดียว มันอาจจะไม่มีความสุขเท่าเห็นเพื่อนบ้านและท้องฟ้า จริงอยู่ที่มนุษย์ต้องการความเป็นส่วนตัว แต่บางครั้งเขาก็อยากเห็นคนอื่น ๆ บ้าง อย่างเพื่อนบ้านหลังนี้ เรารู้สึกว่ามันมีเสน่ห์ อีก 30-40 ปี บ้านแบบนี้อาจจะไม่มีแล้วในชุมชน มันเลยเป็นสิ่งที่มีคุณค่าต่อเจ้าของ เพราะเขาเคยอยู่ในบ้านลักษณะนั้นมาก่อน เขามีความผูกพันกับชุมชน ทุกครั้งที่เจ้าของบ้านจะเดินเข้าบ้าน เราเลยอยากให้เขามองเห็นมุมมองตรงนี้ เห็นเพื่อนบ้านก่อนจะเปิดประตูเข้าไปในบ้านที่เนี้ยบ ๆ ไม่ใช่การออกแบบเพื่อตัดขาดจากชุมชนภายนอกเลย”

ประตูทางเข้าบ้าน เลี่ยงแกนที่ตรงกับลานจอดรถและ ทางเข้าจากรั้วภายนอก เพื่อความเป็นส่วนตัวของเจ้าของ
แปลนชั้น 1
แปลนชั้น 2
แปลนชั้น 3

ได้ประโยชน์ทั้งผู้อยู่อาศัย และชุมชนที่อยู่ใกล้เคียง

เมื่อเข้าสู่ตัวบ้าน พื้นที่ภายในจะเป็นโซนนั่งเล่น พื้นที่รับประทานอาหาร ครัว และแพนทรี่ เชื่อมต่อสู่ระเบียงด้านหลังบ้านที่ยังคงมีรั้วต้นหมากเป็นวิวพื้นที่สีเขียวรวมถึงมีบ่อปลาคาร์ฟเล็ก  ๆ ที่ทางเจ้าของอยากเลี้ยง ซึ่งโซนนี้ออกแบบให้เป็นบานกระจกสูงมองเห็นระเบียงหลังบ้าน และมองเห็นพื้นที่ชั้นสอง เพิ่มความเป็นส่วนตัวด้วยระแนงสามารถเปิด-ปิดได้ในเวลาที่ต้องการ

ที่ระเบียงด้านหลังนี้เอง มีประตูเล็ก ๆ เชื่อมออกสู่ด้านนอกเผื่อสำหรับรับแขกที่มาจากทางตรอกด้านข้างอาคาร โดยเราจะเห็นว่าผนังของระเบียงนี้สถาปนิกเลือกใช้บล็อกแก้วใสเพื่อให้ในยามที่ทางเจ้าของเปิดไฟใช้งานในโซนพื้นที่นั่งเล่น ไฟจะกระจายแสงสว่างสู่บล็อกแก้ว เป็นการแบ่งปันให้บริเวณตรอกด้านข้างซึ่งเป็นมุมอับที่ค่อนข้างมืดในชุมชนมีแสงสว่างมากขึ้น ซึ่งประโยชน์ของบล็อกแก้วใสนี้ยังมีการเบลอมุมมอง โดยคนภายนอกจะเห็นภายในได้เพียงราง ๆ ซึ่งในทางเดียวกัน การมองเห็นภายใน และภายนอกได้บ้างก็จะทำให้เจ้าของสามารถรับรู้ถึงความเป็นไปของเพื่อนบ้าน หรือในด้านของความปลอดภัยเอง การเลือกใช้วัสดุที่โปร่งแสงก็ทำให้คนที่อยู่ภายในบ้านสามารถมองเห็นพฤติกรรมการปีนป่ายได้ง่ายกว่า ในกรณีที่มีขโมย

ขึ้นสู่บริเวณชั้น 2 บริเวณชานพักบันไดภายในบ้าน สถาปนิกออกแบบหน้าต่างเป็นกระจกสี่เหลี่ยมจัตุรัสคล้ายกรอบรูป เพื่อโฟกัสให้มองวิวพื้นที่สีเขียว ซึ่งเป็นสวนต้นไม้ใหญ่ของเพื่อนบ้าน ก่อนที่กระจกสี่เหลี่ยมถัดไปจะเปิดมุมมองให้เห็นต้นไม้ บริเวณระเบียงภายนอกที่ปลูกเสริมเข้าไป “ในเมื่อเรายืมต้นไม้เพื่อนบ้านมาเป็นวิวเรา เราก็พยายามออกแบบคืนต้นไม้ให้เพื่อนบ้านบ้าง นอกจากนั้นบานหน้าต่างขวาบนนี้ ยังมองไปไกล ๆ เห็นทะเลได้อีกด้วย” สถาปนิกเสริม

ออกแบบบันไดขั้นโปร่ง เพื่อดึงแสงธรรมชาติให้เข้าสู่ตัวบ้านมากที่สุด

ในการออกแบบพื้นที่สีเขียวของบ้าน ผู้ออกแบบยังใช้วิธีการเจาะคอร์ดเล็ก ๆ ในบ้าน ไล่เรียงสลับไขว้กันไปมาในแต่ละชั้น ทำให้กิจกรรมที่เกิดขึ้นในแต่ละพื้นที่สามารถมองเห็นวิวพื้นที่สีเขียวได้อย่างต่อเนื่อง อย่างคนที่ใช้งานพื้นที่ชั้น 1 ก็จะสามารถมองเห็นต้นไม้ที่ชั้น 2-3 ต่อเนื่องกัน เป็นการเพิ่มมุมมองด้วยการกระจายสเปซหลาย ๆ จุด

ฟาซาด เกราะกำบังสำคัญของบ้าน

สำหรับห้องนอนส่วนตัวมีระเบียงและคอร์ดต้นไม้ภายนอกเป็นมุมสำหรับพักผ่อน โดยมีเกราะกำบังเป็นฟาซาดอะลูมิเนียมที่ทาง AAD พัฒนามากว่าหลายปี โดยหน้าที่แรกของฟาซาดนี้คือการสกรีนมุมมองจากภายนอก โดยที่ภายในจะสามารถเห็นกิจกรรมที่เกิดขึ้น โดยที่ภายนอกไม่สามารถมองเห็นได้

“เราไม่อยากให้บ้านดูเป็นกระจกเยอะๆ  แต่ฝนตกแล้วเปิดหน้าต่างไม่ได้” อีกหนึ่งหน้าที่สำคัญของฟาซาดจึงเป็นเกราะกำบังสำหรับบ้าน ซึ่งตั้งอยู่ในเมืองทะเลที่มีสภาพอากาศค่อนข้างรุนแรงทั้งฤดูที่แดดร้อนจัด ลมกรรโชก หรือพายุฝน  ฟาซาดที่ยื่นเข้าออกจึงเป็นการควบคุมองศาของลมและเฉดของแสงเงาที่เข้าสู่ห้องนอน นอกจากนั้นฟาซาดยังสกรีนแสงแดดและถ่ายเทความร้อน โดยอะลูมิเนียมจะกักเก็บความร้อนไว้ ก่อนที่สถาปนิกจะสร้างพื้นที่ Air Gap ขนาดใหญ่เพื่อให้ลมถ่ายเทผ่าน ทำให้บ้านโมเดิร์นที่ดูปิดทึบเป็นส่วนตัว สามารถอยู่อาศัยในภาวะสบายได้จริง ๆ

Something More : จะเห็นได้ว่า จุดที่ต้องการเห็นวิวเยอะ รูของอะลูมิเนียมจะถูกขยาย ในขณะที่รูขนาดเล็กจะเป็นพื้นที่ที่ต้องการความเป็นส่วนตัว และบริเวณใดที่ฟาซาดมีการเผยอออก จะเป็นส่วนที่ลมสามารถเข้าได้มาก ซึ่งวิธีการดังกล่าวเป็น Know-how ที่ AAD เรียนรู้และพัฒนามาจากบ้านหลังอื่น ๆ ที่เคยออกแบบนั่นเอง

ไม่ใช่การอยู่อาศัยในปัจจุบันเท่านั้น แต่บ้านหลังนี้ยังคิดเผื่อการดูแลรักษาในอนาคต อย่างบริเวณฟาซาดใกล้ห้องนอนใหญ่ ด้านขวาถูกออกแบบเป็นประตูซ่อนที่สามารถเปิดออกไปเซอร์วิสด้านข้างของตัวบ้านได้ทั้งหมด อีกทั้งยังเชื่อมสู่บ้านเก่าของทางเจ้าของ ทำให้การซ่อมแซมบ้าน หรือดูแลในยามที่มีช่างมาตรวจสอบสามารถทำได้สะดวกและเป็นระบบ

ถ้าจะบอกว่าบ้านหลังนี้ “เด่นที่สุดในสัตหีบ…” ก็อาจจะไม่มากเกินไป เพราะด้วยรูปลักษณ์หน้าตาและความโดดเด่นที่ทันสมัยอย่างสุดขั้ว แต่ในขณะเดียวกันนั้นบ้านหลังนี้กลับถ่อมตัวและกลมกลืนไปกับวิถีชีวิตที่รายล้อม ที่เราประทับใจที่สุดคงจะเป็นการออกแบบสเปซการใช้ชีวิตที่ไม่พยายามไปเปลี่ยนตัวตนและไลฟ์สไตล์ของผู้อยู่อาศัยที่ผูกพันกับชุมชนเก่าในละแวกนั้นมานาน ความธรรมดาในวิถีที่ไม่เปลี่ยนไปจึงทำให้ผู้อยู่อาศัยมีความสุขภายในบ้านหลังใหม่ได้อย่างเป็นตัวเอง

และนอกจากแนวคิดที่แบ่งปันประโยชน์สู่ชุมชนแล้ว การออกแบบบ้านพักอาศัยส่วนตัวที่สร้างประโยชน์ต่อส่วนรวมยังทำให้ ‘เจ้าของเห็นคุณค่าของบ้านตัวเองได้มากยิ่งขึ้น’ อีกด้วย

Photo Credit : Sofography

Writer
Rangsima Arunthanavut

Rangsima Arunthanavut

Landscape Architect ที่เชื่อว่าแรงบันดาลใจในงานออกแบบ สามารถเกิดขึ้นได้จากทุกสิ่งรอบตัว และการบอกเล่าเรื่องราวการออกแบบผ่าน 'ตัวอักษร' ทำให้งานออกแบบที่ดี 'มีตัวตน' ขึ้นมาบนโลกใบนี้