Ithra Library
สถาปัตยกรรมอาวองการ์ดที่ถ่ายทอดจากแรงบันดาลใจท้องถิ่น

ห้องสมุดดูจะเป็นอีกหนึ่งเทรนด์ใหม่ที่บรรดาสถาปนิกทั่วโลกใช้โชว์วิชั่นการออกแบบของตนในยุคนี้ อีกหนึ่งห้องสมุดสุดล้ำสมัยที่เพิ่งเปิดตัวเต็มรูปแบบอย่างเป็นทางการไปเมื่อปีก่อน คือ Ithra Library ห้องสมุดหน้าตาล้ำยุคที่ตั้งอยู่ภายในสถาปัตยกรรมล้ำสมัยอีกที ซึ่งการออกแบบทั้งภายนอกและภายในนั้นมาในสไตล์แตกต่างทว่าโดดเด่นสะดุดตาไม่แพ้กันเลยทีเดียว

อันที่จริงแล้ว Ithra Library เป็นเพียงพื้นที่ส่วนหนึ่งของอาคารนี้ที่มีเชื่อเต็ม ๆ อย่างเป็นทางการว่า King Abdulaziz Center for World Culture (Ithra) ตั้งอยู่ท่ามกลางทะเลทรายในประเทศซาอุดิอาระเบีย สถานที่นี้มีวัตถุประสงค์สร้างขึ้นเพื่อให้เป็นศูนย์วัฒนธรรมสากลเอนกประสงค์ซึ่งภายในผสมผสานฟังก์ชันหลากหลายรูปแบบเข้าไว้ในอาคารเดียว ภายในมีตั้งแต่ส่วนของห้องสมุด พิพิธภัณฑ์ พิพิธภัณฑ์สำหรับเด็ก ห้องประชุม ห้องนิทรรศการ ห้องแสดงศิลปะ สตูดิโอ ศูนย์การศึกษา โรงละคร โรงภาพยนตร์ แล็ปนวัตกรรม ไปจนถึงร้านอาหารและศูนย์การค้าขนาดย่อมอันทันสมัย

ก้อนหินแห่งอนาคต

สิ่งที่โดดเด่นที่สุดคงหนีไม่พ้นสถาปัตยกรรมสุดล้ำที่เป็นเสมือนก้อนหินขนาดใหญ่วางกองเรียงกันอยู่บนผืนทะเลทรายเวิ้งว้างกว้างไกล สถาปัตยกรรมสไตล์ Avant-garde Architecture นี้ออกแบบโดยบริษัทสถาปนิกสัญชาตินรเวย์อันโด่งดังอย่าง Snøhetta ที่ชนะการประกวดแบบในโปรเจกต์ครั้งนี้ โดยแรงบันดาลใจในการออกแบบนั้นมาจากหินน้ำมันใต้พิภพอันเป็นแหล่งวัตถุดิบอุตสาหกรรมน้ำมันที่เป็นรากฐานสำคัญของเศรษฐกิจซาอุดิอาระเบียนั่นเอง

อาคารเอนกประสงค์รูปทรงเอกลักษณ์นี้มีรูปร่างภายนอกคล้ายก้อนหินขนาดใหญ่หลายก้อนวางเรียงซ้อนกันโดยที่มีก้อนหลักตั้งตระหง่านอย่างโดดเด่นอยู่หนึ่งก้อน สถาปัตยกรรมนี้ประกอบขึ้นจาก 5 อาคารผสมผสานเชื่อมต่อกัน ตั้งแต่อาคารห้องสมุด, อาคาร Idea Lab, โรงละคร Itra Theatre, โรงภาพยนตร์, ตลอดจนอาคารพิพิธภัณฑ์ที่ประกอบไปด้วยห้องนิทรรศการ 4 ห้องใหญ่ไปจนถึงโถงเอนกประสงค์ Great Hall ขนาดใหญ่

นอกจากรูปทรงโค้งมนและสีของพื้นผิวอาคารจะมีเฉดที่ทำให้ดูคล้ายก้อนหินยิ่งขึ้นแล้ว หากเข้าไปดูระยะใกล้และซูมเข้าไปดูรายละเอียดของฟาซาดอาคารก็จะยิ่งทำให้เราร้องว้าว! เพราะลวดลายของฟาซาดนั้นเกิดจากการนำเส้นโลหะมาเรียงร้อยต่อกันอย่างเป็นระเบียบให้เกิดลายเส้นล้ำสมัยที่สร้างสรรค์อย่างประณีตแล้วร้อยเรียงเป็นลวดลายที่สวยงาม ซึ่งสถาปนิกได้แรงบันดาลใจมาจากการนำเส้นลวดมาพันรอบก้อนหินอันเป็นศิลปะรูปแบบหนึ่งที่น่าสนใจ

วัสดุจริงที่ใช้ห่อหุ้มพื้นผิวอาคารภายนอกทั้งหมดนี้ก็คือ CNC bent stainless steel tubes ท่อเหล็กสีเงินแกมเทาที่ผลิตขึ้นเป็นพิเศษเพื่องานนี้โดยเฉพาะ โดยทั้งอาคารใช้ท่อเหล็กยาวไปกว่า 93,403 เส้นเพื่อสร้างสรรค์ให้ฟาซาดของสถาปัตยกรรมนี้สวยงามโดดเด่นมีเอกลักษณ์ไม่เหมือนใคร และเมื่อยามพื้นผิวโลหะสะท้อนแสงแวววาวก็ยิ่งสะท้อนให้เห็นถึงการเป็นสถาปัตยกรรมแห่งอนาคตได้อย่างชัดเจน

ห้องสมุดสุดล้ำ

แน่นอนว่าส่วนที่เชิดหน้าชูตาและเป็นหัวใจสำคัญที่สุดของที่นี่ก็คือ Ithra Library ห้องสมุดทันสมัยขนาดใหญ่ (หลายชั้น) ที่สร้างสรรค์ในสไตล์ล้ำอนาคต ตกแต่งในเฉดสีขาวสะอาดตาที่ตัดกับสีภายนอกอาคารอย่างสิ้นเชิง แกนหลักของอาคารส่วนนี้ออกแบบให้เป็นโถงโล่งสูงใหญ่กลางอาคารที่พาดบันไดเลื่อนผ่านจากชั้นล่างไปสู่ชั้นบนอย่างโดดเด่น

ระเบียงแนววงกลมโดยรอบโถงแต่ละชั้นตกแต่งในลักษณะขอบโค้งมนที่ช่วยทำให้อาคารดูล้ำอนาคตยิ่งขึ้น โถงกลางบริเวณนี้ยังมีจุดดึงดูดสายตา ซึ่งก็คือ ช่องแสงวงกลมบนหลังคาขนาดใหญ่ที่ปูด้วยกระจกใสเพื่อให้แสงธรรมชาติลอดส่องมาภายในได้อย่างสวยงาม ผสานกับเพดานโดยรอบที่มีเอกลักษณ์โดดเด่นไม่แพ้กัน ซึ่งเพดานผิวขรุขระเรียงรายต่อกันเป็นลายกราฟิกเชิงเรขาคณิตสุดอาร์ต วัสดุที่นำมาตกแต่งเพดานนี้ยังเชื่อมต่อสู่การตกแต่งผนังภายในห้องสมุด ซึ่งลวดลายกราฟิกนี้สร้างสรรค์ขึ้นโดยได้แรงบันดาลใจมาจากรอยแตกของผืนดินในแถบภูมิภาคนี้ผสมผสานกับแพทเทิร์นอันเป็นเอกลักษณ์ของอิฐดินโคลนที่เรียงต่อกันเป็นบ้านดิน ภูมิปัญญาท้องถิ่นเก่าแก่ในแถบนี้ที่สืบทอดมาสู่ยุคปัจจุบันด้วยนั่นเอง

สถาปนิกเลือกออกแบบให้ห้องสมุดดูล้ำอนาคตเพื่อสอดคล้องกับปณิธานในการสร้างห้องสมุดแห่งนี้ให้เป็นแหล่งเรียนรู้ของคนในชาติเพื่อนำไปพัฒนาสังคมและสร้างอนาคตให้สดใส ความล้ำอนาคตยังถูกถ่ายทอดสู่การออกแบบและวางผังชั้นหนังสือในแต่ละชั้น โดยรูปทรงของชั้นหนังสือจะถูกออกแบบให้มุมโค้งมนและปรับด้านผนังด้านข้างให้ลาดเอียงจนมีลักษณะดูล้ำอนาคตเพื่อหลีกเลี่ยงภาพจำที่จำเจของห้องสมุดที่เต็มไปด้วยตู้หนังสือทรงสี่เหลี่ยมในแบบเดิมๆ นอกจากนี้ยังมีการเสริมเก้าอี้ให้นั่งพักนั่งอ่านระหว่างชั้นหนังสือด้วย โดยเสริมเก้าอี้ดีไซน์ล้ำสมัยเข้าไปสองรูปแบบก็คือเก้าอี้นั่งแบบมีขาเดี่ยวที่พื้นที่นั่งเป็นทรงเรขาคณิตดูล้ำสมัย แล้วก็เก้าอี้ตันทรงเตี้ยแบบหลายเหลี่ยมซึ่งได้แรงบันดาลใจมาจากก้อนหินในลักษณะเดียวกันกับตัวอาคาร

ห้องนิทรรศการทันสมัยจากแรงบันดาลใจเอกลักษณ์ท้องถิ่น

ถึงแม้จะเป็นเพียงห้องนิทรรศการเอนกประสงค์ของที่นี่ แต่การออกแบบตกแต่งภายในที่ดูตื่นตาตื่นใจนี้ก็กลับทำให้โซนนี้โดดเด่นมีชื่อเสียงขึ้นมาพร้อมกัน ซึ่งเอกลักษณ์ของห้องนิทรรศการนี้ก็คือการตกแต่งผนังที่มีพื้นผิวเชื่อมยาวไปจนถึงเพดานแล้วเจาะรูวงกลมเป็นแพทเทิร์นโดยรอบเพื่อให้แสงไฟส่องลอดผ่านลงมาสร้างมิติของแสงและมุมมองที่ดูน่าสนใจ

แรงบันดาลใจของการออกแบบห้องนิทรรศการนี้มาจาก Mashrabiya แผงฉลุลายอันเป็นเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรมของสถาปัตยกรรมสไตล์อิสลาม (Islamic Architecture) ซึ่งเมื่อแสงสาดส่องผ่านลงมาก็จะเกิดลูกเล่นทอดเงาที่น่าสนใจและสร้างมุมมองลวดลายผสานแสงที่น่าตื่นตา ขณะเดียวกันแสงที่ลอดผ่านรูวงกลมนั้นก็ยังเปรียบเสมือนดวงดาวระยิบระยับบนท้องฟ้าที่เปล่งแสงยามค่ำคืนด้วย ซึ่งธรรมชาติอันงดงามนี้ยังถือเป็นเอกลักษณ์ที่สวยงามของท้องฟ้าในดินแดนอาหรับที่ยังคงความธรรมชาติอย่างสมบูรณ์แบบโดยไร้การรบกวนจากแสงไฟมนุษย์ซึ่งส่งผลให้ดวงดาวบนท้องฟ้าในแถบนี้เห็นได้อย่างชัดเจน และแผ่กระจายเต็มท้องฟ้าอย่างงดงาม

เพชรเม็ดงามกลางผืนทะเลทราย

King Abdulaziz Center for World Culture (Ithra) หรือที่คนส่วนใหญ่เรียกสั้นๆ ว่า Ithra ซึ่งคำนี้เป็นภาษาอราบิกที่แปลว่า “ทำให้เจริญงอกงาม (Enrichment)” เพื่อสื่อถึงวิชั่นขององค์กรในความต้องการพัฒนาประชากรและสังคมซาอุดิอาระเบียให้ก้าวล้ำหน้ายิ่งขึ้นเรื่อยไป โดยองค์กรที่สร้างที่นี่ขึ้นมาก็คือบริษัทยักษ์ใหญ่อย่าง Saudi Arabian Oil Co. ที่เป็นหนึ่งในบริษัทน้ำมันที่ใหญ่ที่สุดอันดับต้น ๆ ของโลก สถาปัตยกรรมกลางผืนทะเลทรายนี้ยังในเมือง Dhahran โซนภูมิภาคตะวันออกของซาอุดิอาระเบีย ใกล้กับบริเวณที่มีการขุดค้นพบน้ำมันครั้งแรกในช่วงปลายทศวรรษ 1930s ซึ่งเป็นจุดกำเนิดความรุ่งเรืองของประเทศที่สืบทอดมาจนถึงปัจจุบัน

อันที่จริงแล้ว King Abdulaziz Center for World Culture (Ithra) เคยประกาศเปิดตัวบางส่วนอย่างไม่เป็นทางการมาแล้วเมื่อปี ค.ศ.2018 แล้วก็ขึ้นแท่นสถานที่ท่องเที่ยวโด่งดังระดับโลกในทันทีเช่นกันหลังจากที่สื่อดังระดับโลกอย่าง TIME คัดเลือกให้ที่นี่อยู่ในลิสต์ Greatest Place 2018 ซึ่งเป็น 1 ใน 100 สถานสุดยอดประจำปีที่ควรไปเยือน

และเมื่อ King Abdulaziz Center for World Culture (Ithra) เปิดบริการเต็มรูปแบบอย่างเป็นทางการเมื่อปีที่ผ่านมานี้ มันก็กลับมาโด่งดังอีกครั้งพร้อมกับการที่ Ithra Library ถูกคัดเลือกให้เป็น Finalist ของ 1 ใน 5 ห้องสมุดที่ผ่านเข้าสู่รอบสุดท้ายบนเวที Public Library of the Year Award 2022 ซึ่งจัดขึ้นเพื่อมอบรางวัลให้แก่ห้องสมุดใหม่แกะกล่องประจำปีที่โดดเด่นในเรื่องการออกแบบห้องสมุดซึ่งรวมถึงสถาปัตยกรรม การตกแต่งภายใน และการบริหารจัดการระบบห้องสมุด แต่น่าเสียดายที่ท้ายที่สุดแล้ว Ithra Library ก็ไม่สามารถคว้ารางวัลชนะเลิศมาครองได้สำเร็จ ทว่าสถาปัตยกรรมที่โดดเด่นที่สุดในบรรดาผู้เข้ารอบสุดท้ายปีนี้กลับทำให้ Ithra Library ได้รับความสนใจมากกว่าผู้ชนะเลิศในปีนี้เสียด้วยซ้ำ

แหล่งอ้างอิงข้อมูลและภาพถ่าย
Snøhetta: https://snohetta.com/projects/39-king-abdulaziz-centre-for-world-culture-ithra
dezeen: https://www.dezeen.com/2016/11/18/king-abdulaziz-center-for-world-culture-nears-completion-snohetta-architecture-news-saudi-arabia/
Saudi Arabian Oil Co.: www.aramco.com
Arquitectura Viva: https://arquitecturaviva.com/works/centro-cultural-cking-abdulaziz-5
Aramco World: https://www.aramcoworld.com/Articles/September-2019/A-House-for-the-World
Architectural Digest Middle East: https://www.admiddleeast.com/architecture-interiors/architecture/the-architectural-landmark-driving-saudi-arabias-development
OLIVIER BLOUIN.PHOTO: http://www.olivierblouin.com/ 

Writer
Tada Ratchagit

Tada Ratchagit

นักเขียนที่หลงรักการถ่ายภาพ หลงเสน่ห์การเดินทาง หลงใหลงานดีไซน์ไปจนถึงสถาปัตยกรรมทุกยุค ตลอดจนสนใจเรื่องราวของสิ่งแวดล้อมและวิถีชีวิตยั่งยืน