Sydney Modern Project
สถาปัตยกรรมจิตวิญญาณญี่ปุ่น ไอคอนิกใหม่ของอ่าวซิดนีย์

อาร์ตแกลเลอรีเก่าแก่มีชื่อเสียงที่สุดในเมืองซิดนีย์ก็คือ Art Gallery of New South Wales (Art Gallery NSW) แหล่งเสพงานศิลป์แห่งนี้ก่อตั้งและเปิดให้บริการมาตั้งแต่ปี 1872 และในปี 2022 นี้ทางองค์กรก็ได้โอกาสเฉลิมฉลองครบรอบ 150 ปี ด้วยการเปิดตัวพิพิธภัณฑ์ศิลปะแห่งใหม่อย่าง Sydney Modern Project ที่มาในรูปโฉมสถาปัตยกรรมสไตล์มินิมอลเรียบง่ายแสนทันสมัย ดีไซน์โดดเด่นนี้ส่งผลให้ Sydney Modern Project กลายเป็นไอคอนิกใหม่ของ Sydney Harbour ที่ได้รับความสนใจจากคนทั่วโลกในทันที

The Modern Minimal – ความเรียบง่ายในดีไซน์สุดทันสมัย

Sydney Modern Project เป็นสถาปัตยกรรมใหม่ล่าสุดที่ผุดขึ้นในบริเวณอ่าว Sydney Harbour พิพิธภัณฑ์ศิลปะแห่งนี้ตั้งอยู่ถัดจาก Art Gallery of New South Wales (Art Gallery NSW) และอยู่ไม่ไกลจากไอคอนิกของโลกอย่าง Sydney Opera House มากนัก หลังจากเปิดตัวผู้คนก็ให้ความสนใจกับแหล่งเสพงานศิลป์นี้กันเป็นอย่างมากโดยเฉพาะโครงสร้างของสถาปัตยกรรมในรูปแบบเราขาคณิตที่คล้ายการนำกล่องสี่เหลี่ยมหลากหลายขนาดมาวางซ้อนเรียงกันอย่างไม่เป็นระเบียบ ดูผิวเผินเหมือนความสลับซับซ้อนทว่าความเป็นจริงแล้วแบ่งสัดส่วนพื้นที่ให้ใช้งานได้ง่ายพร้อมตกแต่งรายละเอียดต่าง ๆ อย่างไม่รกตา

ภาพรวมของงานออกแบบดูเป็นสไตล์ Modern Minimalist เรียบง่ายแต่เก๋ สถาปัตยกรรมรูปแบบนี้ทำให้เราสัมผัสถึงจิตวิญญาณและกลิ่นอายความทันสมัยในแบบฉบับแดนอาทิตย์อุทัยได้อย่างชัดเจนพอสมควร นั่นอาจเป็นเพราะว่าผู้ที่อยู่เบื้องหลังการสร้างสรรค์ผลงานระดับไอคอนิกครั้งนี้ก็คือ Kazuyo Sejima และ Ryue Nishizawa แห่ง SANAA บริษัทสถาปนิกญี่ปุ่นรางวัล Pritzker Prize ผู้โด่งดังระดับสากลนั่นเอง

สถาปัตยกรรมนี้ผสมผสานความเรียบง่ายและความทันสมัยได้อย่างลงตัว การนำเสนอความเรียบง่ายเริ่มตั้งแต่การออกแบบอาคารให้เป็นทรงเหลี่ยมธรรมดาโดยไม่ตกแต่งรายละเอียดอื่นใดเป็นพิเศษ ผนังบางส่วนเป็นพื้นทึบผสานกับผนัง (และฟาซาด) ส่วนใหญ่เป็นกระจกใสบานใหญ่เปิดรับแสงธรรมชาติ ตัวอาคารเกือบทั้งหมดระบายด้วยสีขาวเป็นหลัก ทำให้พื้นที่ด้านในดูโปร่งโล่งสว่างยิ่งขึ้นและทำให้อาคารภายนอกดูคลีนสะดุดตา ดูเหมือนว่ากล่องแต่ละใบจะซ้อนลดหลั่นกันลงมายังด้านล่างโดยมีทางเข้าอยู่ที่อาคารชั้นบนสุดแล้วจึงเดินลงสู่ด้านล่างเพื่อเสพงานในแต่ละส่วน

SANAA ยังคงถ่ายทอดอัตลักษณ์ของตนสู่การออกแบบสถาปัตยกรรมได้อย่างมีเอกลักษณ์เช่นเคย นอกจากนั้นยังมีอีกอัตลักษณ์ (ที่ดูเหมือนจะเป็นเอกลักษณ์ยุคใหม่ของเขา) ที่ถูกนำมาใช้ในโปรเจกต์นี้ด้วยนั่นก็คือการปูหลังคาอะคริลิคใสลอนโค้งใสบริเวณลานเอนกประสงค์ด้านหน้า ซึ่งการออกแบบและใช้วัสดุในลักษณะคล้ายกันนี้ SANAA เคยสร้างอัตลักษณ์โดดเด่นให้กับการออกแบบฟาซาดให้กับโปรเจกต์รีโนเวท Samaritaine ห้างดังเก่าแก่แห่งกรุงปารีสอันโด่งดังมาแล้วนั่นเอง

Sydney Modern Project ตั้งอยู่ถัดจาก Art Gallery of New South Wales เพียงไม่กี่ก้าวเดิน ภาพของอาคารเก่าแก่สไตล์โรมันปะทะกับสถาปัตยกรรมทันสมัยถึงแม้จะดูขัดแย้งกันอย่างสุดโต่งแต่ก็เป็นการเชื่อมศิลปะยุคเก่าให้เข้ากับงานอาร์ตยุคใหม่ได้อย่างน่าสนใจ ทางสถาปนิกก็เลือกออกแบบส่วนเชื่อมผสานเพื่อให้เกิดความกลมกลืนยิ่งขึ้น ซึ่งส่วนนี้คือโซนใหม่ที่เรียกว่า Art Garden  สวนศิลปะแห่งนี้ตั้งอยู่บนแผ่นพื้นโครงสร้างที่สร้างขึ้นมาใหม่ให้พาดทับเหนือทางด่วนเพื่อเชื่อมอาคารทั้งสองเข้าด้วยกันและเพิ่มพื้นที่ใช้สอยสาธารณะไปในตัว นอกจากจะออกแบบภูมิทัศน์ให้ดูทันสมัยแล้วบริเวณนี้ก็จะกลายเป็นพื้นที่จัดแสดงผลงานศิลปะ โดยเปิดอิสระให้ได้เข้าชมฟรีกันแบบ 24 ชั่วโมง เลยทีเดียว

The Gallery – พื้นที่แสดงงานศิลป์ร่วมสมัยแบบไม่จำกัดแขนง

ที่ Art Gallery of New South Wales และ Sydney Modern Project นั้นจัดแสดงงานตั้งแต่คอลเล็กชันศิลปะดั้งเดิมของพิพิธภัณฑ์ซึ่งเป็นงานคลาสสิกทรงคุณค่าไปจนถึงผลงานศิลปะร่วมสมัยแบบไม่จำกัดแขนงจากศิลปินยุคปัจจุบันที่ผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนงานใหม่ ๆ มาจัดแสดงให้ได้ชมอย่างสม่ำเสมอ สำหรับโซน Sydney Modern Project ที่สร้างขึ้นใหม่นั้นมีพื้นที่จัดแสดงงานเพิ่มขึ้นมากกว่าอาร์ตแกลเลอรีเดิมถึงสองเท่า พร้อมแบ่งพื้นที่และโซนจัดแสดงไว้อย่างน่าสนใจ

ไฮไลท์แรกสุดของอาคารใหม่นี้คงต้องยกให้ Yiribana Gallery ห้องจัดแสดงงานบริเวณชั้น 1 ซึ่งเป็นแกลเลอรีแรกที่เจอเมื่อเดินเข้ามา ห้องแสดงงานนี้อุทิศให้กับการจัดแสดงงานศิลป์คอลเล็กชัน Aboriginal and Torres Strait Islander Art ผลงานศิลปะของชนพื้นเมืองดั้งเดิมอันทรงคุณค่าซึ่งย้ายจากอาคารเดิมมาจัดในอาคารใหม่ที่พื้นที่โอ่โถงกว่า และเพื่อเป็นการสร้างให้ Sydney Modern Project เป็นแหล่งแสดงงานร่วมสมัยอย่างแท้จริง

พื้นที่จัดแสดงภายในแบ่งออกเป็นหลายส่วนแต่ไอเดียน่าสนใจที่สถาปนิกแทรกลงไปในการออกแบบจัดสรรพื้นที่ทั้งหมดก็คือแต่ละโซนจัดแสดงหลักจะสามารถเดินออกไปภายนอกอาคารได้ ซึ่งนอกอาคารแต่ละส่วนนั้นจะเป็นลานแสดงงานศิลป์ภายนอกอาคารรวมถึงโซน Art Garden ที่เชื่อมต่อกับส่วนต่างๆ ของอาคารให้กลายเป็นเส้นทางเสพงานศิลป์หลากหลายอารมณ์ที่ไม่จำเจ นอกจากนี้พื้นที่สีเขียวโดยรอบยังกลายเป็นสวนสาธารณะแหล่งพักผ่อนหย่อนใจใหม่ของเมืองด้วยซึ่งเป็นจุดชมวิว Sydney Harbour มุมมองใหม่ที่งดงามทีเดียว

The Mysterious – ห้องศิลป์ต่างมิติ

สำหรับสุดยอดไฮไลท์พื้นที่จัดแสดงงานศิลป์ที่โดดเด่นที่สุดต้องยกให้กับ The Tank ห้องแสดงงานศิลป์สุดลึกลับที่ซ่อนอยู่ส่วนลึกที่สุดของพิพิธภัณฑ์ฯ ที่สำคัญห้องแสดงงานศิลป์นี้ปรับเฉดเปลี่ยนอารมณ์แบบตรงกันข้ามกับด้านบนอย่างสิ้นเชิง จากพื้นที่สีขาว สว่างโล่ง สะอาดตา มาสู่พื้นที่สีดำ เปื้อนเขลอะ และมืดมิด

The Tank มีพื้นที่ทั้งหมด 2,200 ตร.ม. ภายในเป็นโถงกว้างสีดำสูงราวตึกสามชั้น เรียงรายไปด้วยเสาไม้สีดำต้นดั้งเดิมซึ่งสร้างไว้ค้ำยันโครงสร้าง ผนังที่เปื้อนเขลอะยังถูกเก็บไว้เพื่อเล่าเรื่องราวของแทงก์นี้ รวมถึงสภาพของเสาไม้สีดำที่ไม่ถูกปรับเปลี่ยนไปจากเดิม เนื่องจากเป็นแทงก์น้ำมันใต้ดินจึงมีช่องสำหรับดูดถ่ายน้ำมันอยู่ด้านบนเพียงด้านเดียว สถาปนิกเลือกคงลักษณะดั้งเดิมนี้ไว้และเจาะรูให้กว้างขึ้นเพื่อใช้เป็นทางเข้าออกหลักของห้องจัดแสดงงานนี้ จากนั้นเสริมบันไดวนสีขาวล้วนดีไซน์เรียบเท่ทันสมัยเข้ามา เมื่อก้าวลงบันไดสู่ห้องแสดงด้านหลังจะพับการปะทะกันของสองโทนสีที่ตัดกันอย่างโดดเด่น แล้วบันไดนี้ก็ยังเป็นเสมือนสัญลักษณ์ของสะพานเชื่อมผสานโลกศิลปะทั้งสองมิติเข้าไว้ด้วยกัน 

ทางผู้บริหารพิพิธภัณฑ์ฯ ขนานนามว่าที่นี่เป็น Secret Mysterious Space ที่ท้าทายศิลปินในการสร้างสรรค์ผลงานศิลปะให้เข้ากับบริบทของสถานที่เป็นอย่างมากขณะเดียวกันผลงานศิลป์ที่จัดแสดงในห้องนี้ก็ท้าทายผู้เสพให้จินตนาการตีความงานศิลป์ได้อย่างไร้ขีดจำกัด ประกอบกับอัตลักษณ์เฉพาะตัวของพื้นที่อย่างการเป็นห้องปิดสะท้อนเสียงก้องก็สามารถนำไปต่อยอดสร้างสรรค์งานลักษณะนี้ได้ พื้นที่ด้านล่างนี้จึงเปิดรับแสดงงานศิลป์ทุกแขนงตั้งแต่ประติมากรรม ศิลปะจัดวาง ไปจนถึงนาฏศิลป์ ดนตรี ภาพยนตร์ และอื่นๆ อีกมากมายแบบไม่จำกัดไอเดียและวิธีแสดงผลงาน

The Iconic – มาสเตอร์พีชชิ้นใหม่แห่งอ่าวซิดนีย์  

Sydney Modern Project ถูกสร้างขึ้นภายใต้การคำนึงถึงสังคมและสิ่งแวดล้อมอย่างเป็นระบบ เริ่มตั้งแต่เหนือหลังคาอาคารหลักปูแผงพลังงานแสงอาทิตย์เพื่อผลิตพลังงานสะอาดป้อนพิพิธภัณฑ์ พื้นที่สีเขียวโดยรอบมีการวางระดับรองรับและกักเก็บน้ำฝนเพื่อนำเอาไปใช้ในระบบปรับอากาศตลอดจนใช้รดน้ำต้นไม้และสนามหญ้าโดยรอบ ฟาซาดอาคารที่เป็นแผงกระจกขนาดใหญ่นอกจากจะทำให้อาคารดูโปร่งแล้ว แสงธรรมชาติที่ส่องเข้าภายในยังช่วยลดการใช้ไฟส่องสว่างภายในอาคารลงได้อย่างมีประสิทธิภาพ  รายละเอียดต่าง ๆ เหล่านี้เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ Sydney Modern Project ได้รับการรับรองมาตรฐานด้านสิ่งแวดล้อมจากองค์กร Green Building Council of Australia ในระดับ Green Star ถึง 6 ดาวซึ่งเป็นการรับรองมาตรฐานระดับสูงสุด และทำให้ที่นี่กลายเป็นพิพิธภัณฑ์ศิลปะแห่งแรกของชาติที่ได้รับการการันตีในระดับนี้อีกด้วย

ถึงแม้ว่าที่ผ่านมาเมืองซิดนีย์จะมีสถาปัตยกรรมยุคใหม่ไปจนถึงตึกระฟ้าล้ำสมัยผุดขึ้นมากมายแต่ก็ไม่บ่อยนักที่จะมีอาคารดีไซน์โดดเด่นเป็นเอกลักษณ์จนทั่วโลกจดจำ ในการเปิดตัวพิพิธภัณฑ์ศิลปะ Sydney Modern Project ครั้งนี้ผู้ว่าการรัฐ New South Wales ถึงกับประกาศว่าหลังจาก Sydney Opera House เกิดขึ้นในปี 1973 จนกลายเป็นสถาปัตยกรรมไอคอนิกโด่งดังระดับโลก เป็นเวลากว่า 50 ปีมาแล้วที่เมืองนี้ยังไม่เคยมีไอคอนิกใหม่เกิดขึ้นเลย จนมาถึงวันนี้ที่ Sydney Modern Project เกิดขึ้น สถาปัตยกรรมดีไซน์โดดเด่นนี้แหละที่จะกลายเป็นไอคอนิกยุคใหม่แห่ง Sydney Harbour อย่างแน่นอน

แหล่งอ้างอิงข้อมูลและภาพถ่าย
Art Gallery NSW: www.artgallery.nsw.gov.au

Writer
Tada Ratchagit

Tada Ratchagit

นักเขียนที่หลงรักการถ่ายภาพ หลงเสน่ห์การเดินทาง หลงใหลงานดีไซน์ไปจนถึงสถาปัตยกรรมทุกยุค ตลอดจนสนใจเรื่องราวของสิ่งแวดล้อมและวิถีชีวิตยั่งยืน