บ้านกรอบนอก
ที่ห่อหุ้มความเป็นส่วนตัวด้วยการเปิด-ปิดสเปซอย่างนอกกรอบ

ว่ากันว่าบ้านคือพื้นที่ที่เป็นส่วนตัวที่สุด เป็นที่ที่เราสามารถนอนเอกเขนกได้อย่างสบายใจ ตามมาด้วยบ้านต้องเป็นที่ซึ่งปลอดภัยที่สุดเช่นกัน บ้านกรอบนอก หลังนี้จึงสร้างมาเพื่อตอบโจทย์ทั้งความเป็นส่วนตัวและความปลอดภัยของเจ้าของบ้านได้อย่างสมบูรณ์  เราเลยชวนทุกคนมาสำรวจแนวคิดในการออกแบบผ่านบทสนทนาระหว่างผู้เขียนและทวิชากร เหล่าไชยยงค์ สถาปนิกผู้ออกแบบ จาก S PACE STUDIO

ปิดกั้นบริบทโดยรอบ แต่ยังคงเปิดรับทุกสภาพอากาศ

ที่ดินขนาด 3 งาน ถูกแบ่งสัดส่วนเพื่อบ้านกรอบนอกจำนวน 1 งาน ด้านขวาของที่ดินเป็นตัวบ้านเดิม ด้านหน้าเป็นถนนส่วนบุคคล ด้านซ้ายถูกเว้นไว้เพื่อสร้างอาคารพาณิชย์ในอนาคต ด้านหลังเป็นทุ่งนา และเนื่องจากที่นาตั้งอยู่ที่จังหวัดสระบุรี ซึ่งในอนาคตทางเจ้าของบ้านและสถาปนิกมองว่าที่ดินข้างเคียงอาจพัฒนาเป็นโรงงานได้ และด้านซ้ายที่เว้นว่างไว้ก็ยังติดกับถนนแก่งคอย-บ้านนา ถนนใหญ่นำมาซึ่งมลพิษทางเสียงและอากาศ จึงจำเป็นที่จะต้องปินกั้น และสร้างบรรยากาศใหม่ในบ้านที่ดีกว่าขึ้นมาทดแทน

“เราสร้างกรอบล้อมรอบส่วนข้างนอก สร้างความสบายให้แก่ผู้ใช้ ถึงจะปิดล้อมข้าง แต่สามารถเปิดจากภายในได้” สถาปนิกกล่าว จากนั้นจึงเริ่มกำหนดฟังก์ชันจากทิศทางของแดดที่รับรองได้ว่าบ้านนี้จะไม่ร้อนไปทั้งวัน ระบายอากาศได้ดี และยังใช้งานในส่วนของ Semi-Outdoor ได้ผ่านพาวิลเลียนที่ทำหน้าที่เป็นทั้งใจกลางและส่วน Transition Space

ในทิศใต้ที่แดดอ้อมผ่านสถาปนิกเลือกนำฟังก์ชันพื้นที่ภายในบ้านสามชั้นมาไว้ที่ฝั่งนี้ทั้งหมด ส่วนทิศเหนือที่เป็นพาวิลเลียนหัวใจของบ้านจะได้รับการบังแดดบ่ายผ่านเงาของตัวอาคารอีกส่วนตลอดเกือบทั้งวัน เป็นการคำนึงถึงการประหยัดพลังงานไปในตัว (เพราะพฤติกรรมการใช้งานระหว่างวันที่เน้นใช้พื้นที่ส่วนห้องนั่งเล่นทั้งในบ้าน-ศาลาเป็นหลัก)

ระหว่างตัวอาคารและศาลาถูกออกแบบเจาะ Void ช่องเปิดเพื่อสร้างคอร์ทยาร์ดที่โปร่งโล่ง ทำให้อากาศถ่ายเท แทนที่บริเวณรอบนอกที่เราได้ปิดกั้นวิวไป ซึ่งบริเวณคอร์ทยาร์ดนี้เองจะเป็นวิวใหม่ที่ถูกสร้างขึ้น และเป็นเสมือนจมูกของบ้านที่ทำให้บ้านหายใจได้อย่างสะดวก แตกต่างจากบ้านสามชั้นทั่วๆ ไป ที่มักจะทึบตันและค่อนข้างอึดอัด กลับกันบ้านหลังนี้กลับมีลมไหลเวียนได้ดีไม่ต่างจากบ้านชั้นเดียว

อีกส่วนที่สำคัญไม่แพ้กัน คือที่จอดรถที่อยู่ต่ำกว่าศาลา ซึ่งพื้นที่ต่างระดับจะช่วยให้พื้นที่จอดรถกับศาลาแยกจากกันมากขึ้น แต่ยังคงเชื่อมถึงกันได้ด้วยบันได สร้างความเป็นส่วนตัวให้กับคนในบ้าน

สเปซที่หรูหรา แต่ถ่อมตัว

โมเดิร์นอย่างไรให้เคารพธรรมชาติ ? หรูหรา-ถ่อมตัว คำสองคำนี้อาจดูเป็นคำที่ขัดแย้งกัน แต่ที่จริงแล้วสามารถเป็นไปได้ เพราะภายใต้ความโมเดิร์นและสภาพที่ตั้งอากาศร้อนชื้น เราจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องออกแบบบ้านให้ตอบรับกับสภาพอากาศ

เมื่อฝนตก น้ำฝนจะตกลงมาที่คอร์ทกลาง และบริเวณที่หลังคาเทน้ำลงมาจะเหมือนมีม่านน้ำ ซึ่งเป็นการนำธรรมชาติเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของบ้าน แต่ที่ต้องคำนึงคือการระบายน้ำ เจ้าของบ้านจึงออกไอเดียนำอิฐช่องลมที่ข้างในเป็นหินกรวดมาใช้เป็นวัสดุปูพื้นบริเวณคอร์ทเพื่อให้ระบายน้ำได้ดีและสวยงาม ซึ่งอิฐช่องลมจะล้อไปกับผนังของศาลา ส่วนรอบบ้านใช้เป็นหินกรวดโรยไว้ทำให้น้ำไหลลงพื้นดินได้อย่างสะดวก

บ้านหลังนี้หันหน้าเปิดรับแดดเช้า แต่แดดบ่ายเป็นสิ่งที่ไม่น่าอภิรมย์สำหรับใครหลาย ๆ คน สถาปนิกจึงแก้ปัญหาด้วยการจัดพื้นที่ในทิศใต้ให้เป็นส่วนเซอร์วิส เช่น ห้องเก็บรองเท้า พื้นที่ซักล้าง ห้องครัว ส่วนในห้องนั่งเล่นก็จะเป็นชั้นวางทีวี และผนังที่สร้างขึ้นให้เป็นตู้เก็บของขนาดใหญ่เต็มผนัง นอกจากป้องกันความร้อน ยังช่วยให้บ้านเป็นระเบียบด้วย

ส่วนของ common area ชั้นหนึ่ง ผนังบางส่วนจะเป็นกระจกเพื่อมองดูสวนข้างบ้าน และจะมีหน้าต่างบานเปิดเพื่อเชื่อมต่อกับคอร์ท ภายในคอร์ทปลูกเฟิร์นใบมะขามและต้นหมาก เพราะดูแลง่ายและใบไม่ค่อยร่วง ต้นหมากจะสูงชะลูดไปถึงหน้าต่างห้องนอนข้างบน ทำให้เมื่ออยู่บนห้องนอนก็ยังคงมองเห็นในส่วนของใบและลำต้นสีเขียวได้ 

ฟังก์ชันหลักถูกห่อหุ้มด้วยเซอร์วิสทั้งชั้น 1 2 และ 3 ห้องนอนจะเป็นลำดับสุดท้ายที่จะเดินไปถึง ส่วนห้องนอนใหญ่มีประตูเป็นฉากกั้นก่อนเข้าถึงเตียง เพื่อให้เวลานอนผู้ใช้งานรู้สึกเป็นส่วนตัวที่สุด ห้องน้ำคือพื้นที่ที่โอบรับธรรมชาติ เพราะมีการนำแสงธรรมชาติเข้ามาใช้เพื่อให้เกิดความสุนทรีย์ในการอาบน้ำ ซึ่งถือเป็นการพักผ่อนอย่างหนึ่งเช่นกัน

ดีเทลเล็ก ๆ ของบ้าน อย่างบันไดยังมีการสร้างผนังตรงกลางราวจับเพื่อไม่ให้ชั้นหนึ่งมองไปยังชั้นสองได้ ซึ่งนอกจากสร้างความเป็นส่วนตัวแล้ว ยังเป็นการบีบสเปซให้เล็กทำให้เมื่อเดินไปถึงชั้นสองตัวผนังหายไป เราจะรู้สึกได้ว่าพื้นที่ใหญ่ขึ้น ลดความอึดอัดจากการเปลี่ยนถ่ายสเปซจากชั้นหนึ่งที่กว้างมากไปยังชั้นสองที่เล็กกว่าได้อย่างสมบูรณ์

สร้างภาษาทางสถาปัตยกรรมด้วย Lighting และ Material

พูดถึงเรื่องของวัสดุ ที่โดดเด่นคืออิฐช่องลมที่ใช้เป็นผนังของตัวศาลา อิฐช่องลมนี้รูจะเล็กกว่าปกติเพื่อความเป็นส่วนตัวแต่ก็ยังคงมองเห็นภายนอกและรับลมธรรมชาติได้ ในขณะเดียวกันก็สร้างคาแร็กเตอร์ที่อบอุ่น เข้าถึงได้ไม่ยาก และล้อกันไปกับพื้นของคอร์ทยาร์ด ทำให้สองสเปซถูกเชื่อมเข้าหากันด้วยวัสดุนี้

“ในส่วนของประตูบ้านจะมีประตูบานเลื่อนและประตูบานเฟี้ยมขนาดใหญ่ ที่ทำมาจากเหล็กเจาะรูกลม ประตูบานเฟี้ยมจะใช้เชื่อมต่อไปยังตัวบ้านเดิม ซึ่งอีกหน้าที่หนึ่งคือประตูนี้ทำหน้าที่ระบุสถานะว่าวันนี้เจ้าของบ้านกำลังพร้อมรับแขกหรือไม่ รวมถึงฝั่งบ้านเดิมแทนที่จะเป็นรั้วคอนกรีตหนา ก็แทนด้วยต้นไม้ขนาดใหญ่ที่จะเป็น Buffer ให้แก่บ้านได้อย่างอ่อนโยนและไม่ดูปิดทึบจนเกินไป” สถาปนิกกล่าว

ประตูนี้ สถาปนิกดีไซน์เองโดยใช้ เหล็กเจาะรูกลม เหล็กฉาบ และ เหล็กแบนเพื่อสร้างเฟรมให้บานประตูแข็งแรง และไม่โปร่งจนเกินไป รวมถึงสร้าง Shading ทำให้ประตูทำหน้าที่มากกว่าแค่ป้องกันความปลอดภัย แต่ยังเป็นความประทับใจแรก ที่สวยงามให้กับบ้าน

การซ้อนกันของทั้งสามชั้นจะเห็นได้ว่าเหมือนกับบ้านนี้กำลังลอยอยู่ เป็นเทคนิคของสถาปนิกที่สร้างคาแร็กเตอร์ความเบาให้กับบ้านที่มีพื้นที่จำกัดให้ไม่ดูทึบและหนักจนเกินไป ผู้ออกแบบดีไซน์ให้ภายนอกซ้อนชั้นให้เหลื่อมกันเล็กน้อยเพื่อสร้าง Shading ให้อาคารดูเบาและไม่หนักจนเกินไป และยังใช้องค์ประกอบการลอยนี้กับ Lighting ด้วย เพื่อสร้างเอกลักษณ์ให้บ้าน

การตกแต่งภายในเจ้าของบ้านเลือกเป็นโทนขาว-เทาสะอาด เบรคด้วยการใช้ไม้สีครีม-อ่อนเข้ามาช่วยให้เกิดความอบอุ่นมากขึ้น นอกจากนั้นยังใช้ Ambient Light ตกแต่งผนังของศาลาและส่วนห้องนั่งเล่น ให้เหมือนตัวผนังลอยออกมา เข้ากับคอนเซ็ปต์ของบ้านที่ลดทอนผนังที่ดูใหญ่และหนักให้ดูเบามากขึ้น Lighting อื่น ๆ ก็จะมีลักษณะวางเป็นเส้นตรงเพื่อล้อกันไปด้วย

เชื่อว่าบ้านหลังนี้น่าจะตอบโจทย์การอยู่อาศัยสำหรับใครหลายคนที่ชอบความเป็นส่วนตัว แต่จริง ๆ แล้ว มนุษย์นั้นไม่เพียงต้องการพื้นที่ส่วนตัว แต่ยังต้องการสังคมและการอยู่ร่วมกันอย่างสบายใจ พื้นที่ส่วนกลางของบ้านจึงมีผลเป็นอย่างมากต่อการกระชับความสัมพันธ์ในครอบครัวให้ใกล้ชิดกันมากขึ้นแต่ไม่อึดอัดจนขาดความพอดี และที่สำคัญคือธรรมชาติ ที่จะทำให้ใจของเราเป็นสุขกับการมองต้นไม้ในทุกวันนั่นเอง

Location : อำเภอแก่งคอย จังหวัดสระบุรี
Area : 480 ตร.ม.
Budget : งานอาคารหลัก 11 ลบ, ตกแต่งภายใน 2 ลบ, เฟอร์ลอยตกแต่ง 6 ส, ภูมิทัศน์ 4 ส (รวม 14 ลบ)
Contractor : สระบุรีรับสร้างบ้าน (คุณปอน)
Engineer : บริษัท บันได (ประเทศไทย) จำกัด

Writer
Prawpisut Tiangphonkrang

Prawpisut Tiangphonkrang

นักศึกษาสถาปัตยกรรม ที่เชื่อว่าการออกแบบเกี่ยวข้องกับทุกเรื่องบนโลกใบนี้